3 ก.ย. 2020 เวลา 13:24 • หุ้น & เศรษฐกิจ
นักเศรษฐศาสตร์: ปัญหามันอยู่ที่ ปริมาณหนี้สิน มากเกินไป แล้วเราจะลดมันได้อย่างไร
มีอยู่ 4 วิธี ด้วยกัน
1. ภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ "ลดการใช้จ่าย"
2. การลดหนี้ จากการผิดนัดชำระ และการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่
3. ความมั่งคั่งถูกถ่ายโอน จากคนรวย สู่คนจน (ลดความเหลือมล้ำ) และ
4. ธนาคารกลางพิมพ์เงินเพิ่มเติมในระบบ
นักศึกษา: พี่ครับผมอยากรู้ในกรณีที่ 4 ก่อนเลยได้ไหมครับ ว่ามันมีกลไกอย่างไร เพราะผมสังเกตว่าข่าวมักจะบอกว่าธนาคารมีการพิมพ์เงินเข้ามาในระบบมากขึ้นทุกวัน
นักเศรษฐศาสตร์: ใจเย็นๆ ครับ ในแต่ละช่วงขั้นตอนจะมีกลไกของมันที่สัมพันธ์กันอยู่ และทั้ง 4 วิธีต่างเกิดขึ้นในสภาวะ Deleveraging
นักศึกษา: ยังไงหรอครับ
นักเศรษฐศาสตร์: โดยปกติ การใช้จ่ายจะเริ่มถูกตัดก่อน
เราจะเห็นทั้งภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ เริ่มลดการใช้จ่าย เพื่อจะได้มีเงินจ่ายหนี้คืน
ซึ่งเรามักจะได้ยินในชื่อที่ว่า "มาตรการรัดเข็มขัด"
นักศึกษา: งั้นก็แสดงว่า เมื่อผู้ขอกู้ ชะลอการก่อหนี้ใหม่ และเริ่มจ่ายคืนหนี้ที่ค้างอยู่ ปริมาณหนี้เก่าก็จะเริ่มลดลง
นักเศรษฐศาสตร์: ใช่ครับ เรามักคาดหวังว่าปริมาณหนี้เก่าจะลดลง
แต่ทว่ามันมักจะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะเมื่อการที่เราลดการใช้จ่าย
รายจ่ายของคนๆ หนึ่ง คือรายได้ของอีกคนหนึ่ง จึงทำให้รายได้ของทุกคนลดลง
ซึ่งรายได้มักลดลงเร็วกว่า การจ่ายคืนหนี้ ทำให้สุดท้ายภาระหนี้สินก็แย่อยู่ดี
การรัดเข็มขัด หรือ ลดค่าใช้จ่ายเป็น "นโยบายชะลอเศรษฐกิจ" ธุรกิจต่างๆ ถูกบังคับให้ ลดต้นทุน ซึ่งหมายถึง อัตตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น
ซึ่งจะนำไปสู่ กระบวนการต่อมา "ปริมาณหนี้สินต้องลดลง"
นักศึกษา: ปริมาณหนี้สินต้องลดลง ทำได้ด้วยหรอครับ
นักเศรษฐศาสตร์: เมื่อผู้ขอกู้มากมายเริ่มรู้ตัวว่าตัวเองไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ได้ และหนี้สินของผู้ขอกู้ คือ ทรัพย์สินของเจ้าหนี้
เมื่อผู้ขอกู้เบี้ยวหนี้ของธนาคาร คนที่ฝากเงินกับธนาคารก็เริ่มกลัวว่าธนาคารจะไม่มีเงินจ่ายคืน เงินฝาก
คนที่ฝากเงินธนาคารเลยต้องรีบไปถอนเงินออกจากธนาคาร
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้คือสภาพที่ ธนาคารถูกรีดสภาพคล่อง (เงินหมด) และภาคครัวเรือน กับ ธุรกิจ รวมถึง ธนาคาร พากันผิดชำระหนี้ไปตามๆ กัน
ซึ่งอาจนำไปสู่ การหดตัวทางเศรษฐกิจ ที่รุนแรงมากขึ้น หรือ ที่เรียกว่า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Depression)
ในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ผู้คนเริ่มค้นพบว่า ความมั่งคั่งที่สะสมไว้ อยู่ดีๆ มูลค่าก็หายไป
นักศึกษา: พี่ช่วยยกตัวอย่างเสริมหน่อยได้ไหมครับ
นักเศรษฐศาสตร์: งั้นเรามาดูตัวอย่างในร้านเบียร์เหมือนเดิม
เมื่อเราซื้อเบียร์ โดยการ ดื่มก่อนจ่ายทีหลัง เราได้สัญญากับบาร์เทนเดอร์ว่าจะจ่ายเงินคืน
คำสัญญาเรา ได้กลายเป็นทรัพย์สิน ของ บาร์เทนเดอร์
แต่ถ้าเราไม่ทำตามสัญญา โดยการไม่จ่ายเงินคืน ทรัพย์สินที่บาเทนเดอร์ถือ (คำสัญญา) ก็จะไม่มีค่าในทันที ทรัพย์สินนั้นก็แค่หายวับไป
ผู้ให้กู้ต่างก็ไม่อยากให้ทรัพย์สิน (หนี้ที่ให้ยืม) หายไป จึงต้องหาทาง "ปรับโครงสร้างหนี้ (Debt Restructuring)"
2
การปรับโครงสร้างหนี้ อาจหมายถึง ผู้ให้กู้อาจได้เงินคืนน้อยลง (ลดหนี้ให้) หรือ อาจต้องใช้เวลานานขึ้น (ต่อเวลาหนี้) หรือ อาจได้รับผลตอบแทนน้อยลง (ลดดอกเบี้ย)
อย่างไรก็ตาม กระบวนการต่างๆ มีจุดประสงค์ในการ ลดปริมาณหนี้
นักศึกษา: อย่างงี้ก็แสดงว่า ผู้ให้กู้ ยินยอมที่จะได้รับเงินคืนบางส่วน ดีกว่าไม่ได้รับอะไรคืนเลยสินะครับ
นักเศรษฐศาสตร์: จะบอกแบบนั้นก็ได้นะครับ ถึงแม้ว่า หนี้บางส่วนจะถูกลดลงไปบ้างก็จริง
การปรับโครงสร้างหนี้ก็ยังอาจทำให้รายได้ลดลง มากกว่า ภาระหนี้สินที่ลดลงก็ได้ ซึ่งทำให้สุดท้าย ภาระหนี้สิน ยิ่งแย่หนักลงไปอีก
ไม่ต่างกับการลดการใช้จ่าย การลดหนี้ต่างก็เป็น "นโยบายที่ชะลอเศรษฐกิจ" เช่นกัน
การชะลอตัวของเศรษฐกิจ กระทบรัฐบาลเช่นกัน เพราะรายได้ที่ลดลง และการจ้างงานที่น้อยลง ทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้น้อยลงเช่นกัน
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ยังต้องเพิ่มการใช้จ่าย เพื่อทดแทนอัตราว่างงานที่สูงขึ้น
คนที่ว่างงานที่ไม่มีเงินเก็บ ต่างต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐบาล นอกจากนั้น รัฐบาลยังสามารถออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ (Stimulus Plan) โดยการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว
การดำเนินงบประมาณขาดดุล พุ่งสูงขึ้น ในช่วง Deleveraging เพราะรัฐบาลต้องใช้จ่าย มากกว่าที่เก็บภาษีได้
นี่คือสิ่งที่เรามักได้ยินคำว่า งบประมาณขาดดุล
เพื่อรองรับการดำเนินงบประมาณขาดดุล รัฐบาลต้องเลือกระหว่างขึ้นภาษี หรือ กู้ยืมเพิ่มเติม
แต่ในขณะที่ รายได้ของประชาชน ลดลง และอัตราการว่างงานที่สูง รัฐบาลจะไปเก็บเงินจากที่ไหนกันละ
นักศึกษา: ผมนึกไม่ออกเลยครับ
นักเศรษฐศาสตร์: ง่ายๆ เลยครับ นั้นก็คือ คนรวยไง
เนื่องจากรัฐบาลจำเป็นต้องหาเงิน และความมั่งคั่งของคนในประเทศ มักกระจุกตัวอยู่กับคนส่วนน้อย (แต่รวยมาก)
รัฐบาลก็จะพยายามหาวิธีเก็บภาษีจากคนรวยเหล่านี้ ซึ่งจะทำให้เกิดการ การกระจายความมั่งคัง และลดความเลื่อมล้ำในสังคม
คนที่ไม่มีเงิน ก็จะเริ่มสะสมความมั่งคั่งได้ใหม่อีกครั้ง (ลืมตาอ้าปากได้)
เมื่อเวลาผ่านไปพอคนรวย ถูกกดดัน จากทั้งเศรษฐกิจที่ถดถอย และราคาสินทรัพย์ที่ลดลง ภาษีที่เพิ่มขึ้น จนเริ่มไม่อยากจะช่วยเหลือคนที่ไม่มีอีกต่อไป
เศรษฐกิจก็จะตกต่ำลงเรื่อยๆ พาไปสู่ความขัดแย้งทางสังคม
ความไม่สงบอาจก่อตัว ไม่ใช่แค่ในประเทศเท่านั้น แต่สามารถลามไปจนเกิดเป็น ความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ ประเทศเจ้าหนี้ และลูกหนี้
สถานการณ์เหล่านี้ มักนำพาไปสู่ ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งบางทีอาจรุนแรงมาก
ในปี 1930 ฮิตเลอร์ก็ใช้เหตุผลจะปลดหนี้เยอรมันจากเจ้าหนี้ยุโรป ทำสงครามเพื่อกดดันยุโรป และสหรัฐ ให้ทำอะไรบางอย่างเพื่อหยุดความตกต่ำทางเศรษฐกิจในเยอรมัน
นักศึกษา: สถานการณ์ย่ำแย่มากเลยครับ อย่างงี้จะมีทางออกหรอครับ
นักเศรษฐศาสตร์: อย่าลืมว่า เงินที่ทุกคนพูดถึง มันคือ "เครดิต"
ดังนั้นเมื่อ เครดิตหายไป ผู้คนต่างเริ่มไม่มีเงิน ประชาชนต่างโหยหาเงิน (สภาพคล่อง) แต่เราจำได้ไหมว่าใครพิมพ์เงินได้
นักศึกษา: ธนาคารกลาง ทำได้
นักเศรษฐศาสตร์: ใช่แล้วครับ ถ้าให้ลองนึกภาพดูจะเห็นเหมือนเป็นพระเอกที่เปิดตัวมาหล่อๆ เพื่อมาช่วยนางเอกที่ตกระกำลำบาก
เมื่อการลดดอกเบี้ย จนติด 0 ใช้ไม่ได้ผล ธนาคารจึงจำเป็นต้องพิมพ์เงินแทน
แตกต่างจาก การลดการใช้จ่าย การลดหนี้ และการกระจายความมั่งคั่ง (ล้วนเป็นนโยบายชะลอเศรษฐกิจ)
1
การพิมพ์เงิน เป็น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง
ธนาคารกลางทำการพิมพ์เงินมาดื้อๆ เลย และใช้เงินนั้น ซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน และพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาล (ยัดเงินใส่มือประชาชน)
นักศึกษา: แล้วเรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นจริงไหมครับ
นักเศรษฐศาสตร์: เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นใน สหรัฐอเมริกาในช่วง Great Depression และในปี 2008 เมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve) พิมพ์เงินออกมา
ทำให้ธนาคารกลางอื่นในโลก พากันพิมพ์เงินออกมาเช่นกัน
จากการซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน ทำให้ราคาสินทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้คนเริ่มมีเครดิต
อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ก็ช่วยได้แต่คนที่เป็นเจ้าของสินทรัพย์ทางการเงินนั้นๆ
อย่างที่เห็น ธนาคารกลาง ทำได้แค่พิมพ์เงินเพื่อไปซื้อสินทรัพย์ทางการเงินเท่านั้น
ดังนั้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งธนาคารกลาง และรัฐบาลต้องช่วยกัน โดยธนาคารกลางจะพิมพ์เงินเพื่อไปซื้อ พันธบัตรรัฐบาล (ให้รัฐบาลยืมเงิน)
ทำให้รัฐบาลสามารถดำเนิน งบประมาณขาดดุล และเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ ผ่านแผนกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ และก่อให้เกิดการจ้างงาน
มองดูอีกที มันก็คล้ายกับว่า รัฐบาลพยายามก่อหนี้ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ต้องยอมเสี่ยง (สร้างเครดิตขึ้นจากอากาศ) เพื่อลดภาระหนี้สินของเศรษฐกิจในภาพรวม
ผู้กำหนดนโยบาย จำเป็นต้องสร้างความสมดุลในเชิงนโยบาย เพื่อให้ ภาระหนี้สินของเศรษฐกิจค่อยๆ ลดลง
นักศึกษา: ก็แสดงว่า นโยบายชะลอเศรษฐกิจ จำเป็นต้องสมดุลกับ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
นักเศรษฐศาสตร์: ใช่แล้วละ หากสามารถรักษาสมดุลเอาไว้ได้ ทุกอย่างก็จะสวยงาม
"เล่า" ให้เป็นข้อสังเกตกับเหตุการณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน และเรามาร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา