30 ส.ค. 2020 เวลา 10:18 • สิ่งแวดล้อม
นำเรื่อง สัตว์สงวน มาให้คุณ
EP.08 เลียงผา
(ชื่อภาษาอังกฤษ: Serow)
(ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Capricornis sumatraensis)
เลียงผาเป็นสัตว์กีบคู่จำพวกเดียวกับวัว ควาย แพะ และแกะ เมื่อโตเต็มที่มีความสูงที่ไหล่ประมาณ 1 เมตร ขายาว และแข็งแรง ใบหูยาวคล้ายใบหูลา ขนตามลำตัวค่อนข้างยาว หยาบและมีสีดำ ด้านท้องขนสีจางกว่า มีขนเป็นแผงยาวบนสันคอ และสันหลัง มีต่อมน้ำตาอยู่ใต้ตา ต่อมนี้มีหน้าที่สร้างสารที่มีกลิ่นฉุนเพื่อใช้ในการทำเครื่องหมายประกาศอาณาเขต มีเขาทั้งในตัวผู้ และตัวเมีย เขามีลักษณะตอนโคนกลม หยักเป็นวงแหวนโดยรอบค่อยๆ เรียวไปทางปลายเขาโค้ง ไปทางด้านหลังเล็กน้อย เขาจะยาวขึ้นต่อเนื่องทุกปี อาจยาวสูงสุด 32 เซนติเมตร เส้นรอบวงโคนเขาประมาณ 15 เซนติเมตร ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าตัวตัวผู้ และเขาสั้นกว่าตัวผู้
รอยเท้าของเลียงผามีขนาดใกล้เคียงคล้ายรอยเท้าเก้ง แต่กีบเลียงผาค่อนข้างขนานกัน ไม่งุ้มเข้าหากันอย่างสัตว์กีบชนิดอื่น และปลายกีบของเลียงผาค่อนข้างทู่กว่าของเก้ง
ในเวลากลางวันเลียงผาจะอยู่ในถ้ำ หรือในพุ่มไม้ หรือตามภูเขาที่มีหน้าผาสูงชันมีป่าปกคลุม ออกหากินในตอนเย็นถึงพลบค่ำ และในเวลาเช้ามืด อาหารได้แก่พืชต่างๆ ทุกชนิด เลียงผามีประสาทหู ตา และรับกลิ่นได้ดี สามารถปีนป่าย และกระโดดไปตามหน้าผาชันได้อย่างคล่องแคล่ว และปีนต้นไม้ก็ได้ นอกจากนี้ยังว่ายน้ำได้เก่ง จึงพบได้ตามเกาะด้วย
เลียงผาจะผสมพันธุ์ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ตกลูกครั้งละ 1-2 ตัว ใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 7 เดือน เลียงผามีอายุขัยได้ถึง 10 ปี
เลียงผามีเขตแพร่กระจาย ตั้งแต่แคว้นแคชเมียร์ มาตามเทือกเขาหิมาลัยจนถึงแคว้นอัสสัม จีนตอนใต้ พม่า อินโดจีน มลายู และสุมาตรา ในประเทศไทยพบอาศัยอยู่ตามภูเขาสูงในหลายภูมิภาคของประเทศ เช่น เทือกเขาตะนาวศรี เทือกเขาถนนธงชัย เทือกเขาเพชรบูรณ์ และภูเขาทั่วไปในบริเวณภาคใต้ รวมทั้งบนเกาะในทะเลที่อยู่ไม่ห่างจากแผ่นดินใหญ่มากนัก
จากการที่เลียงผาชอบอยู่ตามหน้าผาชัน ช่วยให้หลีกเลี่ยงสัตว์นักล่าได้ดี แต่โชคร้ายที่เป็นเป้าโดดเด่นของปืนนายพราน และหน้าผาหินปูนซึ่งเป็นที่อยู่หลักก็ถูกทำลายไปมากด้วยฝีมือมนุษย์
ปัจจุบันเลียงผาจัดเป็นเป็นสัตว์หายาก ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพไว้อยู่ในระดับอันตราย เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนของไทย อยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ของไซเตส
ในระยะหลังเลียงผามีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการถูกล่าอย่างหนักเพื่อเอาเขา กระดูก และน้ำมันมาใช้ทำยาสมานกระดูก และพื้นที่หากินของเลียงผาก็ถูกบุกรุกทำลายอย่างรวดเร็ว จากการทำการเกษตรตามลาดเขา และบนพื้นที่ที่ไม่ชันจนเกินไป
ขอบคุณทุกท่านที่อ่านจนจบ
หวังว่าทุกท่านจะได้รับสาระความรู้ไม่มากก็น้อย
หากมีข้อผิดพลาดประการใด ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้นะครับ ติชม แนะนำกันได้ครับ
หากคุณชอบ ขอให้กดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม เพื่อเป็นกำลังใจสนับสนุนเพจเล็กๆ เพจนี้ด้วยนะครับ
แล้วกลับมาพบกันใหม่
นำเรื่องมาให้คุณ ขอม้าไปก่อน แฮร่~ ลาไปก่อน
ด้วยภาพของเลียงผา 🤗🦌

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา