2 ก.ย. 2020 เวลา 00:55 • การศึกษา
บารมี ๓๐ ทัศ คืออะไรบ้าง ต่างกับบารมี ๑๐ ทัศอย่างไร ?
2
บารมี ๓๐ ทัศ คือ การขยายบารมี ๑๐ ทัศ แยกออกเป็น ๓ ส่วนในแต่ละบารมี ตัวอย่างเช่น ทาน แยกเป็น ทานบารมี ทานอุปบารมี ทานปรมัตถบารมี ศีล แยกเป็น ศีลบารมี ศีลอุปบารมี ศีลปรมัตถบารมี
บารมีทั้ง ๑๐ ทัศ สรุปโดยย่อได้ดังนี้
๑.ทานบารมี คือ การให้และการเสียสละ คนทั่วไปหวงไม่ยอมให้เพราะเสียดายทรัพย์ แต่พระบรมโพธิสัตว์ยอมตายไม่ยอมหวง พร้อมที่จะให้แม้แต่ชีวิตตัวเอง ถ้าไม่มีหัวใจอย่างนี้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ ต้องพร้อมที่จะโปรดสรรพสัตว์ทั้งหลาย จะต้องสร้างบารมียาวนานมาก
หัวใจที่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้นต้องไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่โลภพร้อมที่จะแบ่งปันให้กับทุกคน ถ้าให้ทานแบบธรรมดา อย่างมากก็ได้เป็นพระอรหันต์ คือ ฟังธรรมแล้วตรัสรู้หมดกิเลสเอาตัวรอดไปเพียงคนเดียว หรือสอนคนอื่นได้ระดับหนึ่งแล้วก็เข้านิพพาน
แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยอมที่จะสร้างบารมียาวนาน เปรียบให้เห็นเหมือนหลุมถ่านเพลิงยาวไกลไปหมื่นจักรวาลเดินลุยไปไม่ได้กลัวความร้อน มุ่งมั่นเดินไปจนสุดทางให้ได้ด้วยเรี่ยวแรงลูกผู้ชาย หรือเห็นข้างหน้าเป็นน้ำทองแดงเดือดพล่านไกลไปหมื่นจักรวาลก็พร้อมที่จะกระโดดลงไป แล้วว่ายไปจนถึงเป้าหมายอย่างสุดกำลังด้วยเรี่ยวแรงของลูกผู้ชาย
เพื่อโปรดสรรพสัตว์เพราะหัวใจไม่เคยหวงอะไรแม้แต่ชีวิตตัวเอง ดังนั้นการให้ทานบารมีเรื่องเล็ก คนทั่วไปเห็นน้ำทะเลธรรมดามองไปคิดว่าถ้าจะให้ว่ายไปให้ถึงเกาะระยะทางตั้ง ๑๐ กิโลเมตรสงสัยไม่ไหว มันไกลเหลือเกินเดี๋ยวจมน้ำกลางทาง แล้วน้ำก็เย็น ก็ล้มเลิกความตั้งใจ
สุเมธดาบส คือ พระบรมโพธิสัตว์ ได้รับพุทธพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้า ว่าดาบสผู้นี้จะได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอีก ๔ อสงไขยแสนมหากัปข้างหน้า พระนามว่า พระศากยสัมมาสัมพุทธเจ้า สุเมธดาบสเปรียบการสร้างบารมีว่า เหมือนกับการคว่ำโอ่งไม่เหลือน้ำ
คือ ไม่ใช่ว่าแบ่งปันให้ แต่ให้แบบไม่เหลือเลย หัวใจการสร้างทานบารมีของพระบรมโพธิสัตว์เป็นไปอย่างนั้น หัวใจท่านมีแต่ความปีติดังกับว่าจะตรัสรู้ในวันพรุ่งนี้ แล้วท่านก็ทบทวนวิสัยของบัณฑิตว่าต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้สามารถตรัสรู้ธรรมที่ได้รับพุทธพยากรณ์ แล้วด้วยบุญที่สร้างไว้มากมายข้ามภพข้ามชาติมานับอสงไขยกัปไม่ถ้วนนั้น จึงมีปัญญาสอนตัวเองว่า เราต้องบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ ประการ โดยเริ่มจากทานบารมีเป็นประการแรก
๒.ศีลบารมี จะต้องรักษากาย วาจาและใจให้สะอาดบริสุทธิ์ แบบยอมตายไม่ยอมชั่ว จะให้ไปทำชั่วไม่ยอม ให้ไปผิดศีลขอตายดีกว่า ความคิดที่จะไปเบียดเบียนกลั่นแกล้งใคร ไปโหดร้ายหยาบคายต่อใครหมดไปจากใจ ท่านเปรียบเสมือนจามรีรักษาขนหาง จามรีเป็นสัตว์ที่ขนสวยงามมากนำไปทำเสื้อขนสัตว์หรือทำของที่มีราคาแพง จามรีหวงขนมาก ถ้ามันเข้าไปในป่าขนไปติดอะไรอยู่ แม้นมีศัตรูไล่กวดทำร้ายวิ่งหนีไปแต่ขนไปติดหนามจะหยุดปลดให้ขนหลุดก่อนแล้วค่อยหนีเอาตัวรอด โบราณจึงผูกเป็นโคลงโลกนิติสอนใจว่า
“จามรีขนข้องอยู่ หยุดปลด
ชีพบ่รักรักยศ ยิ่งไซร้
สัตว์โลกซึ่งสมมติ มีชาติ
ดูเยี่ยงสัตว์นี้ได้ โลกซ้อง สรรเสริญ”
ถ้าเรารักษาศีลเหมือนจามรีรักษาขน ชีวิตพร้อมสละยอมตายไม่ยอมชั่ว รักษาศีลอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันอย่างนี้ ศีลเราจะบริสุทธิ์ ไม่มักง่ายดูชีวิตสัตว์อื่นเป็นของไร้ค่า แม้เป็นสัตว์เล็กสัตว์น้อยก็ตาม
๓. เนกขัมมบารมี คือ การหลีกออกจากกามแล้วออกบวช ยอมตายไม่ยอมเป็นทาสของกาม สุเมธดาบสเปรียบการสร้างเนกขัมมบารมี เหมือนกับนักโทษที่ออกจากเรือนจำแล้วไม่อยากกลับไปในเรือนจำอีก ภพที่เราอาศัยอยู่นี้ เรียกว่า กามภพ คลุมตั้งแต่มนุษย์ไปจนถึง สัตว์ต่าง ๆ ในโลก เปรต อสุรกาย สัตว์นรก เทวดา นางฟ้า ล้วนยังวนเวียนในเรื่องกาม แล้วกามคุณที่ขังสัตว์ไว้ มันเป็นคุกที่หลวมดูไม่ชัด คนแต่งงาน มีคู่ครอง มีลูก จริง ๆ แล้วมันคือคุกอย่างหนึ่ง
คนเราถ้าโดนมัดแน่น ๆ ก็จะพยายามดิ้นให้หลุด แต่กามคุณเหมือนถูกมัดหลวม ๆ โดยที่คนถูกมัดไม่รู้ตัว เลยไม่คิดจะพาตัวเองให้รอดจากคุก คนโสดทำงานวันหนึ่งได้เงินมา ๓๐๐ บาท เกิดศรัทธาจะทำบุญ ๑๕๐ บาท ยังทำได้ไม่ห่วงใคร แต่พอมีครอบครัว มีเงิน ๓๐๐ บาท ทำบุญได้สัก ๒๐-๓๐ บาทก็เก่งแล้ว จะห่วงหน้าพะวงหลังสารพัด มาวัดฟังเทศน์ รักษาศีล เจริญภาวนาก็ลำบาก
เหมือนกับเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อตอนมหาดเล็กมากราบทูลว่าพระโอรสประสูติแล้วทรงอุทานว่า “ราหุลัง ชาตัง” แปลว่า “ห่วงเกิดแล้ว” ราหุล แปลว่า “ห่วง” ทำให้เจ้าชายน้อยได้ชื่อว่า เจ้าชายราหุล กลับเข้าวังเห็นพระนางพิมพาบรรทมอยู่แล้วมีพระโอรสน่ารักนอนอยู่ข้าง ๆ เห็นแล้วความรักก็เกิดท่วมหัวใจ แต่ตัดใจไม่ยอมอุ้มเพราะถ้าอุ้มความรักก็ยิ่งเพิ่มพูนขึ้นจะตัดใจไม่ลง
เป้าหมายแห่งการตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเบี่ยงเบนไป พระองค์จึงตัดใจขึ้นม้ากัณฐกะออกบวชโดยมีนายฉันนะตามเสด็จออกบวชบำเพ็ญเนกขัมมบารมี ตั้งใจบำเพ็ญเพียร ๖ ปีเต็ม จึงตรัสรู้ธรรม แล้วในที่สุดก็ได้มาโปรดพระนางพิมพาจนเป็นพระอรหันต์เถรี ส่วนเจ้าชายราหุลก็ได้ออกบวชได้เป็นสามเณรอรหันต์ พระองค์ได้ให้สิ่งมีค่าสูงสุดเป็นโลกุตรสมบัติให้กับพระชายาเดิมและพระโอรส
๔.ปัญญาบารมี คือ การหาความรู้ด้วยความเคารพ พยายามแสวงหาความรู้อย่างเต็มที่ พูดง่าย ๆ ว่าสร้างบารมีโดยยอมตายไม่ยอมโง่ สุเมธดาบสเปรียบการสร้างปัญญาบารมีเหมือนพระภิกษุออกบิณฑบาตตามลำดับตรอกโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ เลือกตระกูล ใครรอใส่บาตรท่านรับทั้งนั้น
การแสวงหาปัญญาเราต้องมีใจพร้อมที่จะน้อมรับความรู้จากทุกคนโดยไม่ถือทิฐิมานะ จะเป็นใครก็ตามให้ความรู้กับเราได้รีบน้อมรับจากเขาอย่างเต็มที่ปัญญาจะเพิ่มพูนขึ้น บางคนมีอายุมากถ้าครูที่สอนมีอายุน้อยกว่าจะรู้สึกเสียหน้าเสียศักดิ์ศรี
๕. วิริยะบารมี คือ ความกล้าที่จะทำความดี สร้างบารมีโดยยอมตายไม่ยอมแพ้ กล้าหาญยืนหยัดที่จะทำความดีต่อไป จะทำความดีต้องมีความกล้าเพราะจะมีสิ่งต่าง ๆ มาขู่ให้เรากลัว เช่น พอจะทำบุญให้ทานบอกว่าเดี๋ยวหมดตัว นั่งสมาธินานบอกระวังจะเป็นบ้า บวชนานบอกว่าเสียงานเสียการ เป็นต้น
คนที่มีวิริยะบารมีจะไม่กลัวสามารถยืนหยัดสร้างความดีตลอดไปไม่เลิกรากลางคัน เปรียบเสมือนราชสีห์ที่ไม่ย่อหย่อนในอิริยาบท (ราชสีห์ไม่ใช่สิงโต ถ้าจะเปรียบไป สิงโตเท่ากับลูกแมว ราชสีห์จับช้างกิน แค่ยืนแล้วคำรามที่เรียกว่าบันลือสีหนาทออกไป เสือสิงห์กระทิงแรดสลบกันเป็นแถว นั่นคือศักดานุภาพของราชสีห์ตัวจริงนั่นเอง) ราชสีห์จะมีศักดิ์ศรี ถึงเวลานอนจะกำหนดอิริยาบถคือจำท่านอนก่อน
พอตื่นจะไม่ลุกทันทีจะสำรวจว่ายังอยู่ในท่าเดิมตอนก่อนจะนอนหรือไม่ ถ้าไม่เหมือนมีการขยับตัวในระหว่างนอนเกิดขึ้นแม้จะหิวก็จะนอนใหม่จนตื่นแล้ว สำรวจท่าตนเองว่าไม่มีการขยับในระหว่างนอนจึงจะยอมลุกขึ้น ราชสีห์ยังมีความสม่ำเสมอในท่านอนขนาดนี้ ท่านจึงบอกว่าให้สร้างความเพียรอย่างสม่ำเสมอ เหมือนราชสีห์ที่ไม่ย่อหย่อนในอิริยาบท
๖. ขันติบารมี คือ สร้างบารมีโดยยอมตายไม่ยอมแพ้ วิริยะบารมีทำต่อเนื่องมีความเพียรที่จะบุกไปข้างหน้า แต่ขันติบารมีเป็นตัวติดตามให้ทำไปได้สม่ำเสมอหนักแน่น สุเมธดาบสเปรียบขันติเหมือนกับแผ่นดินที่อดกลั้นในสิ่งที่เขาทิ้งลงมา จะสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง แผ่นดินก็ไม่โวยวายอดกลั้นต่อสิ่งที่ได้รับ
ผู้ที่มีขันติบารมีจะต้องอดกลั้นต่อสิ่งที่ดีบ้างไม่ดีบ้างที่คนอื่นมากระทบเราได้ ไม่เฉพาะเรื่องไม่ดีอย่างเดียว แม้แต่เรื่องดี เขามาชื่นชมยกย่องก็ต้องทนให้ได้อย่าไปหลงเพลินกับคำยอ โบราณบอกว่า เขาด่าไม่โกรธนี่ว่ายากแล้ว แต่เขาชมแล้วไม่ยิ้มนี่ยากกว่า แต่ถ้ายิ้มแล้วเหลิงจะเสียคน เพราะฉะนั้น ต้องมีขันติบารมีทนได้ทุกระดับ
๗. สัจจะบารมี คือ การสร้างบารมีแบบยอมตายไม่ยอมคด เป็นคนตรง ตั้งสัจจะต่อสิ่งใดแล้วตรงต่อเป้าหมายนั้นไม่เบี่ยงเบนไป ท่านเปรียบเหมือนดาวประกายพรึกที่เปลี่ยนตำแหน่งแต่ไม่เปลี่ยนวงโคจร เปลี่ยนตำแหน่งเพราะว่าเราอยู่บนโลกซึ่งในแต่ละฤดูกาลโลกมีการหมุนเอียงองศาไม่เท่ากัน ทิศทางแดดจึงมีการเปลี่ยนแปลง แต่ดาวประกายพรึก เส้นทางวงโคจรไม่เคยเปลี่ยนคงอยู่กับที่ เราต้องมีสัจจะบารมีอย่างนั้น ตั้งสัจจะสิ่งใดต้องทำสิ่งนั้นให้สำเร็จให้ได้ มีแต่จะต่อยอดขึ้นไปเรื่อย ๆ จะถอยหลังกลับเป็นไม่มี
๘. อธิษฐานบารมี คือ การตั้งผังชีวิต กำหนดทิศทางแผนผังชีวิตไว้เสร็จสรรพ แล้วสร้างบารมีแบบยอมตายไม่ยอมเปลี่ยนใจ เหมือนพระบรมโพธิสัตว์เมื่อตั้งจิตอธิษฐานว่าจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคต อย่าว่าแต่ยอมตายชาติเดียวเลยต่อให้ต้องตายกี่ชาติก็ไม่ยอมเปลี่ยนผัง
กว่าที่พระองค์จะตรัสรู้ได้ศีรษะที่พระองค์ตัดออกให้เป็นทานมากกว่าผลมะพร้าวในชมพูทวีป ท่านเปรียบอธิษฐานบารมีเหมือนกับภูเขาที่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวกับแรงลมหรือสิ่งใดอยู่นิ่งสนิทกับที่ ตราบใดภูเขาใหญ่ยังไม่ย้ายที่ข้าพเจ้าจะยังไม่เปลี่ยนใจ
๙. เมตตาบารมี คือ มีความเมตตาปรารถนาดีต่อทุกชีวิต ยอมตายไม่ยอมไร้น้ำใจ พร้อมจะมีน้ำใจเมตตาเอื้อเฟื้อต่อทุกคน เปรียบเหมือนกระแสน้ำที่ให้ความชุ่มเย็นชำระล้างให้กับคนดีและคนไม่ดีเสมอกัน ไม่ได้เลือกที่รักผลักที่ชังเช่นเดียวกับพระองค์ฉันนั้น เช่น ความรู้สึกของพระองค์ทรงมีเมตตาต่อพระเทวทัตที่ร้ายกับพระองค์เสมอกับพระอานนท์ซึ่งเป็นอุปัฏฐากดูแลมาตลอด
๑๐.อุเบกขาบารมี คือ การวางใจเป็นกลาง ยอมตายไม่ยอมหวั่นไหวต่อสิ่งใด ๆ ใจนิ่งแน่วเป็นอุเบกขา ไม่มีลำเอียง ข้อนี้จะเป็นตัวคุมทั้ง ๙ ข้อข้างต้นให้ไปได้อย่างสม่ำเสมอ ท่านเปรียบเหมือนกับแผ่นดิน วางเฉยทั้งในสิ่งที่สะอาดและไม่สะอาด ขันติบารมีเหมือนกับแผ่นดินที่อดกลั้นต่อสิ่งต่าง ๆ ทั้งดีและไม่ดี
แต่พอถึงข้ออุเบกขา คือ เฉย ๆ ไม่ต้องอดทน แม้ความรู้สึกว่าต้องอดทนก็ไม่มี รักษาอุเบกขาจิตไว้ได้ เหมือนกับสำนวน “กระบี่อยู่ที่ใจ” คือใจนิ่งสนิทไปเลยจุดที่จะทนได้หรือไม่ได้นั้นไป ไม่มีความรู้สึกว่าต้องทน
จะเห็นได้ว่า กว่าที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ธรรมมาสอนเราได้นั้นแสนยาก ผ่านความยากลำบากนานับประการ แต่พระองค์สู้สร้างบารมีอย่างไม่ย่อท้อจนตรัสรู้ธรรมในที่สุด เพราะมุ่งหวังจะสอนชาวโลกแต่พิจารณาให้ดีพระองค์อุตส่าห์สร้างบารมีมายาวนานถึง ๒๐ อสงไขยแสนมหากัปกว่าจะตรัสรู้ธรรม ตรัสรู้แล้วมีเวลาเผยแผ่สั่งสอนชาวโลกอยู่เพียง ๔๕ ปีเท่านั้นเอง เหมือนเราเรียนหนังสือมา ๒๐ ปี แต่มีเวลาใช้งานแค่ ๑ วัน ดูเหมือนไม่คุ้มกันเลย
ถ้าพวกเราสามารถจะช่วยให้ความคุ้มเพิ่มขึ้นได้เราต้องตั้งใจศึกษาธรรมะ และตั้งเป้าหมายช่วยกันเผยแผ่ธรรมะให้ขยายกว้างไกลออกไปให้เต็มแผ่นดิน ให้ชาวโลกทั้งหลายได้ศึกษาพุทธธรรมอย่างจริงจัง นี่คือการปฏิบัติบูชาทดแทนพระคุณพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างดีที่สุดสมตามเจตนารมย์ที่พระองค์ตั้งไว้แต่ต้น ให้สัจธรรมคำสอนของพระองค์อยู่ยั่งยืนนาน
นี่คือสิ่งที่ชาวพุทธทั้งหลายควรมีจิตสำนึกแล้วทำอย่างเต็มกำลัง อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา รักษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ยั่งยืนนาน เป็นแสงสว่างส่องนำทางชีวิตแก่ชาวโลกทั้งปวงไปนานแสนนาน
จึงจะได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่ดี มีความกตัญญูต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมีสุขสำเร็จทั้งในภพนี้ ภพหน้า จนกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม ดังปัจฉิมโอวาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”
โฆษณา