12 ก.ย. 2020 เวลา 23:46 • ท่องเที่ยว
ช๕๖_เจดีย์เชียงยัน ปริศนาปราสาทห้ายอด วัดพระธาตุหริภุญชัย
....จากผังเมืองรูปวงรีหรือรูปหอยสังข์แบบทวารวดี ของเมืองลำพูนหริภุญไชยในอดีต มายังศูนย์กลางของเมืองคือวัดพระธาตุหริภุญไชย ทางด้านเหนือของวัดมีเจดีย์เก่าแก่อยู่องค์หนึ่งเชื่อว่ากว่าครึ่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวหรือผู้ศรัทธาที่เข้าไปที่วัดพระธาตุนั้นอาจจะไม่รู้ว่ามีที่ไปมาอย่างไร
....เจดีย์องค์นี้อยู่นอกกรอบกำแพงแก้วของวัด พระธาตุหริภุญชัย กลางที่จอดรถทำเลเป็นสนามบาสฯหน้าโรงเรียนและหน้าสังฆาวาสที่คณะหนึ่งในวัดพระธาตุฯ ชื่อคณะเชียงยัน ความเป็นมาเป็นไปที่แท้จริงของเจดีย์องค์นี้(ถ้ารู้) อาจทำให้เราไขปริศนาหริภุญไชยในอดีตได้อีกหลายต่อหลายเรื่อง แม้ความเข้าใจในปัจจุบันนี้ว่าสร้างในสมัยล้านนารุ่นใกล้กับที่สร้างองค์ธาตุหลวงแล้ว แต่ประวัติศาสตร์เป็นกลไกของการเคลื่อนที่เคลื่อนไหว ช่วงเวลาแต่ละช่วงเวลาย่อมมีร่องรอยที่อาจสื่อสารและประกอบเรื่องราวต่อกันได้
.
เจดีย์เชียงยันในอดีต ภาพจากพิพิธภัณฑ์หริภุญไชย
คณะเชียงยัน
......ขอตั้งต้นกันที่รูปประติมากรรมจำลองวิหารมหาโพธิ์ พุทธคยาที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง
ของจีน(พ.ศ.๑๙๔๖-๑๙๖๗) เพราะว่าพุทธคยาองค์จริงนั้นถูกปล่อยให้ร้างและปราศการทำนุบำรุงอยู่นานมากก่อนมีการปรับปรุงใหม่ในรุ่นหลัง พุทธคยาจำลองนั้นแสดงให้เห็นถึงเจดีย์บริวารองค์หนึ่ง(ในกรอบสีเหลือง)เป็นแบบวัชรบัลลังก์หรือทรงปราสาท๕ ยอด (ที่มาภาพ: หนังสือกึ่งพุทธกาลพุทธศิลป์ไทย) และในวงสีแดงก็ดีในวงสีขาวก็ดีล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่น่าศึกษาถึงความเกี่ยวเนื่องกับงานในภูมิภาคนี้
ประติมากรรมจำลองวิหารมหาโพธิพุทธคยา
ภาพจาก หนังสือกึ่งพุทธกาลพุทธศิลป์ไทย museum press
......อาจกล่าวได้ว่าที่นี่เป็นต้นทางหรืออาจจะอ้างอิงถึงกันต่องาน เจดีย์ทรงปราสาทห้ายอดในที่ต่างๆตั้งแต่ วัดป่าสักที่เชียงราย สุโขทัย(วัดพระศรีมหาธาตุ) ศรีสัชนาลัย(วัดเจดีย์เจ็ดแถว)และ กระทั่งราชินีแห่งเจดีย์ที่ วัดพระแก้วเมืองสรรค์หรือสรรคบุรี แม้แต่องค์ธาตุหลวง ที่มีการตีความว่าเป็นปราสาท๕ยอดมาก่อน
วัดเจดีย์เจ็ดแถวศรีสัชนาลัย
วัดมหาธาตุสุโขทัย
วัดพระแก้วเมืองสรรค์ราชินีแห่งเจดีย์ คำว่าราชินีแห่งเจดีย์ เป็นคำที่อาจารย์ยูร หรือ นณปากน้ำ เป็นคนเรียกด้วยหมายถึง ลักษณะเจดีย์ ที่เป็นต้นเค้า ของ เจดีย์ในอยุธยากลุ่มหนึ่งที่เชื่อกันว่าสร้างมาก่อนการตั้งกรุงศรีอยุธยา
พระธาตุหริภุญชัย
.....แม้กระทั่งผมเองผมมากราบพระธาตุหลวงที่นี่ หลายครั้งแต่ละครั้งก็ได้แต่มาชื่นชมในองค์พระเจดีย์บ้างปทุมเจดีย์บ้างมาตามหาพระอัษฐารส(แต่ไม่พบ)บ้าง องค์ธาตุหลวงซึ่งอาจถือว่าสัดส่วนสวยที่สุดในล้านนาในความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่ความใหญ่โตหรือเก่าแก่ แต่ในสายตาของคนทำงานด้านสถาปัตยกรรม ที่นี่มีสัดส่วนอันพอเหมาะพอดี วันนี้ในต้นปีนี้(๒๕๖๐)ผมตั้งใจมาดูเจดีย์ที่ผมไม่เคยเห็นองค์จริงเลยได้แต่เห็นในรูป แม้แต่เดินหาก็ยังไม่พบก็ได้แต่ถามพระภิกษุรูปหนึ่งที่พบ ท่านชี้ไปด้านเหนือแล้วบอกว่าอยู่ตรงหน้ากับคณะเชียงยัน ชื่อเจดีย์กับชื่อคณะเป็นชื่อเดียวกันซึ่งเดิมเคยมีชื่อว่าคณะสงฆ์ศรีเชียงยันซึ่งนักประวัติศาสตร์อ้างอิงกันไว้ * มีบันทึกของพระภิกษุตารนาถ ชาวธิเบต(พ.ศ.๒๑๑๘-๒๑๗๗)ว่าท่านได้เคยเดินทางมาศึกษามนต์ลับที่วัดแห่งนี้* อ้างอิงmuseum press
ในสมัยต้นหริภุญไชยมีพุทธศาสนาหลักเป็นสายมหายาน จากอิทธิพลรอบด้านและหลักฐานทางโบราณคดี แต่หลักฐานของพระภิกษุชาวธิเบตก็พอบอกเราได้ว่าที่นี่มีอิทธิพลของวัชระยานในสายธิเบต(ทางแก้ว) อยู่ปะปนกันในยุคล้านนา ในวัชระยานในมุมมองของพวกเราอาจจะดูลึกลับและแปลกแยก(จากเถรวาท) เพราะภาพพจน์ที่เขียนส่วนใหญ่ในบ้านเราเกิดจากมุมมองของเถรวาท จึงมีกระแสแห่งความลึกลับหรือที่ต้องตีความ แต่วัชระยาน ก็เป็นพุทธสายหนึ่งที่เข้มแข็งและมั่นคง การท่องมนตราก็เป็นวิธีการภาวนาวิธีหนึ่ง พื้นฐานหลักในศาสนา ก็เป็นเช่นเดียวกันเช่นเรื่องความจริงสี่ประการคือเรื่องทุกข์สมุหทัยนิโรธมรรค ก่อนที่พระสุมนเถระจะนำเถรวาทเข้ามาเผยแพร่ในล้านนานั้น การสืบ
ทอดพุทธศาสนาจากสมัยหริภุญไชยน่าจะเป็นมาทั้งสองทางคือ สายจากลพบุรีหรือลวปุระเมืองต้นทางของพระนางจามเทวี(ถ้าทฤษฎีนี้เป็นเรื่องจริง) กับสายของมอญและทวารวดีที่มาจากข้างตะวันตก
ระเบียบแห่งสายฟ้า๑๖
...๏หนึ่งนี้เจดีย์...........ตีความนานมา
หลากหลายนัยพา......รุ่นหลังคิดเวียน ฯ
.
...๏ปราสาทห้ายอด....แทงทอดฟ้าเขียน
งามเอ่จับเจียน............ลำพูนพูนใจ ฯ
.
...๏หั้นซุ้มสี่มุม............โอบอุ้มโลกไว้
สี่ทิศป้องภัย................จาตุราชา ฯ
.
...๏หั้นนาคเลื้อยพัน.....คายคั้นเหรา
คุ้มองค์ปฎิมา...............พุทธาอ่าเผย ฯ
.
...๏ลายช่อเครือชั้น......เกี่ยวพันกอดเกย
ล้านนาเชิงเชย.............จับมุมงามงาย ฯ
.
ดูลวดลายที่ตกแต่งชัดๆ เป็นกลีบบัวงดงามมาก
.
...๏กลีบบัวรัดรอบ.........ปลียอดกาบกราย
สามชั้นฟั้นลาย..............โอบอายอ่ากุม ฯ
.
...๏ระฆังทรงเครื่อง........กระหนกเจื่องแปดมุม
ลุนลายเชื่อมคุม.............เพลินตีความไกล ฯ
.
...๏มหายานยานเยื้อน.....ปักรากหริภุญไชย
ก่อนเถราวาทสมัย...........ก่อนสุมนอังเชิง ฯ
.
...๏ปริศนาแผ่เผย............สายพุทธดำเกิง
ครอบล้านนาเริง..............เจื่องฟ้ายังคง ฯ
.
...๏ดูซิเจดีย์....................จับสรีสืบตรง
ดูไม้ยอดองค์ ..................กี่สุดพุทธนาน ๚ะ
.
วาดวัดโคลง
.....เจดีย์องค์นี้ยังมีข้อถกเถียงเรื่องที่มาที่ไปอยู่หลายกรณีของนักประวัติศาสตร์เช่นกรณีของคำเรียกชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า เจดีย์แม่ครัว(พ่อครัว)กล่าวว่า คนที่มาช่วยงานจัดทำองค์พระธาตุใหม่ในยุคล้านนาแล้วเอาอิฐที่เหลือมาทำ แม้ในส่วนตัวจะไม่ค่อยเห็นด้วยนักแต่บันทึกเก็บไว้ก่อน มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจว่า ที่นี่อาจจะเป็นแบบแรกในสมัยหริภุญชัย ขององค์พระธาตุหลวง สังเกตว่าทางเลือกของความเป็นไปได้ขององค์พระธาตุหลวงในสมัยหริภุญไชยนั้น มีหลายทางเลือกแล้ว จากข้อบันทึกที่ว่าเป็นเจดีย์ทรงปราสาทโถงโล่ง อย่างไรก็ตามเมื่อมองเจดีย์องค์นี้นานๆ ผมได้กลิ่นอายของลพบุรีมาเหมือนกันของกลีบบัวตกแต่งที่ยอดเจดีย์ของปูนปั้นรูปซุ้มทั้งสี่ อาจจะมีอคติแต่ผมเห็นความเชื่อมต่อกันของเจดีย์เมืองสรรค์กับที่นี่ จะใช่หรือไม่ใช่ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ต้องสรุปไปในทิศทางใด แม้จะมีข้อมูลมาสายหนึ่งบอกว่าลายปูนปั้นดังกล่าวเป็นงานที่มาซ่อมแซมในยุคกลางของล้านนาแล้ว ผมเพียงพยายามจะผูกโยงความสัมพันธ์ระหว่างเจดีย์ต่างๆ ที่จะก้าวเข้าไปหาเจดีย์ที่(อาจจะ)ขนานนามว่าเก่าแก่ที่สุดองค์หนึ่งของประเทศไทย "เจดีย์จามเทวี"
.....เจดีย์ตั้งอยู่ในโรงเรียนตำแหน่งที่ตั้งกลายเป็นที่จอดรถ ขณะไปนั่งเสก็ตช์รูปเจดีย์เชียงยันที่ขอบสนามบาสฯนั้น มีเด็กน้อยเข้ามาดูลุงแกเสก็ตซ์รูป คุณแม่แกก็นั่งม้าหินตัวถัดไปในที่จอดรถใต้ร่มไม้ ตั้งแต่ต้นจนเสก็ตช์เสร็จ ลุงเลยใช้ให้เด็กน้อยถือสมุดเสก็ตช์ถ่ายรูปกับองค์เจดีย์ และพยายามแต่งรูปให้ใบหน้าเธอให้ดำๆหน่อยหนึ่ง ใครจะได้จำเธอไม่ได้เดี๋ยวมีคนคว้าเธอไปเป็นดารา
วาดวัด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา