14 ก.ย. 2020 เวลา 23:06 • ท่องเที่ยว
ช๕๘_ปทุมวดีเจดีย์_เจดีย์นางกษัตริย์
ในวัดพระธาตุหริภุญไชย
ไม่ไกลจากวัดจามเทวีนัก ที่วัดพระธาตุหริภุญไชย มีเจดีย์รูปทรงฐานสี่เหลี่ยมมีซุ้มพระพุทธรูปด้านละ๑๕องค์สี่ด้านรวมเป็นหกสิบองค์ ลักษณะเดียวกับที่วัดจามเทวีอยู่องค์หนึ่ง จากข้อมูลพูดถึงว่าสร้างหลังจากพระธาตุหริภุญไชยเล็กน้อยถือว่าเป็นองค์คู่กับองค์พระธาตุ โดยพระธาตุแต่เดิมก็ไม่ใช่ทรงนี้ มีคำกล่าว(บันทึก)ว่าเป็นทรงปราสาท ส่วนจะเป็นปราสาทแบบไหนก็เป็นที่ตีความกันในชั้นหลังและอาจจะเป็นทรงเดียวกันกับเจดีย์กู่กุฏิหรือปทุมวดีเจดีย์นี้ก็ได้ หรือทรงเช่นเดียวกับที่วัดป่าสัก เชียงแสน โดยพระธาตุหริภุญไชยนั้นสร้างในสมัยพระเจ้าอาทิตยราช คือประมาณเกือบสี่ร้อยปีนับแต่ตั้งราชวงศ์จามเทวีหรือพศว.๑๗ และเท่ากับกับว่าสร้างหลังจากเจดีย์จามเทวี(กู่กุฎิ)เกือบสี่ร้อยปี ในสี่ร้อยปีของอารยธรรมน่าจะทำให้เกิดการรังสรรค์ใหม่ๆของสถาปัตยกรรมและศิลปะ แต่ถ้าเรามองผาดก็จะมีรูปทรงของกุฏาคาร(ซุ้มแต่ละช่องและแต่ละชั้น) กับรูปองค์พระเท่านั้นที่ดูเปลี่ยนไป และถ้าสังเกตว่าเจดีย์เหลี่ยมแต่ละองค์ที่ผ่านมารูปร่างของกุฎาคารนั้นก็ไม่เหมือนกัน อาจเป็นเรื่องของยุคสมัยและการปรับปรุงบูรณะตกแต่งเพิ่มในแต่ละช่วงเวลา เจดีย์องค์นี้กล่าวเพียงว่าพระมเหสีของพระเจ้าอาทิตยราชคือพระนางปทุมวดีเป็นผู้สร้างและตำแหน่งนี้อยู่ห่างจากเจดีย์จามเทวีน่าจะประมาณกิโลเมตรเศษๆเท่านั้น ตรงนี้ทำให้เราอาจจะเห็นรูปรอยของคำว่าเจดีย์สตรีต่อเนื่องกับต้นทางได้หรือไม่
ดั้น
๑.๏ ตามปิรามิดเจื่องเจ้า......จามเทวี
รอยรูปกู่กุดนี้......................แบบพ้อง
เคียงข้างธาตุคำชี้................หริภุญ ไชยเนื่อง
ปทุมวดีเจดียสร้อง...............กลางเวียง ฯ
๒.๏สิงคีคำสุดแมนแน้..........แลลิบ
เสียดสูงเสียดนำเคียง..........คู่เค้า
สง่าหนุนยอดธาตุวิบ............แววล้ำ
เช่นราชินีโอบเกล้า..............เจื่องจับ ฯ
.
๓.๏ เทินแท่นห้าชั้นซ้อน.......ลำดับ
สามกุฎาคารเรียงขับ............รูปซุ้ม
สิบห้าองค์ด้านนับ.................รวมได้
หกสิบองค์พุทธคุ้ม................สี่ด้าน ฯ
๔.๏แปลกสถาปัตยกรรมหั้น...ลับเร้น
ครั้นหริภุญไชยม้าน...............เกลื่อนแก้ว
สืบต่อต่อรอยเค้น...................ล้านนา
คงตามพื้นเดิมแล้ว..................ป้ายปรุง ฯ
๕.๏แลอดีตธาตุคำแก้ว.......หริภุญไชย
ก่อนทรงรูปจรุง..................จรัสเร้น
เฉกเจดีย์ป่าสักสมัย............ล้านนานำ
ฤารอยกู่กุดเค้น...................พิสดาร ๚ะ
.
โคลงชมวัด
.....สังเกตตัวรูปซุ้มของกุฏคารจะมีลักษณะโค้งห้าโค้งต่อกัน อย่างที่อาจเรียกได้ว่าทรงดอกจิก(ดอกจิกในไพ่มีสามโค้ง)ในแต่ระดับก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน บางคนเห็นอาจจะได้กลิ่นอายของอินเดียโชยมา แต่เป็นอินเดียอีกฝั่งทะเลหนึ่ง(อาระเบีย) จะใช่หรือเปล่าก็ไม่ทราบแต่ก็ทำให้เราเห็นพัฒนการที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงแม้แต่ในอินเดียก่อนที่จะส่งผ่านศิลปะวัฒนธรรมมายัง พื้นที่แถบบ้านเรานี้ แต่ก็เป็นลวดลายเดียวกับที่วัดจามเทวี พอดูบางช่องก็เป็นสามโค้ง บางแถวที่ดูเหมือนสมบูรณ์ก็ปิดด้านนอกเป็นบันแถลงอย่างงานลพบุรีซึ่งนั่นก็มีอินเดียเป็นต้นทางเหมือนกัน กลิ่นอายของอารยธรรมทราวิทหรือดาวิเดียนเป็นต้นรากของอารยธรรมหริภุญชัยหรือเปล่า แต่ใครๆเขาว่าเป็นลพบุรีนี่นา จริงแล้วก็ไม่น่าจะต้องตีความเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะถ้าที่หริภุญไชยนี่เป็นที่รวมของผู้คนการค้าและความสัมพันธ์ก็ย่อมมีการติดต่อกันเชื่อมโยงมาจากวัฒนธรรมในหลายทิศหลายทางจากอาณาจักรรอบตัวในเวลานั้น
.....ก่อนจากก้าวไปหาเจดีย์กู่กุด กู่กุฎิ หรือเจดีย์จามเทวีนั้น เรามีข้อมูลเปรียบกับเจดีย์ในรูปแบบเดียวกันนี้สามองค์คือที่นี่ ที่พญาวัดน่าน และที่เจดีย์เหลี่ยมแห่งกุมกาม ที่สี่องค์มีช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ใหม่ที่สุดคงเป็นที่น่าน พศว.๒๐ ที่กุมกามก็น่าจะเป็น พศว.๑๙ ยุคที่พญามังรายสร้างเมืองที่นี่ก็น่าจะเป็นยุคพญาอาทิตย์ราชแห่งหริภุญไชย พศว.๑๖ ถ้าเรามองเพียงสถาปัตยกรรม น่าจะดูสับสนมากเพราะ ในแต่ละช่วงเวลาของงานทางศาสนามีการทำนุบำรุงอยู่ตลอด โดยเฉพาะงานตกแต่งอาจจะเป็นสมัยไหนก็ได้ที่ทำการบูรณะ เรื่องบางเรื่องเราต้องนำปัญหาแขวนลอยไว้บนอากาศก่อน และก้าวเข้าสู่เจดีย์จามเทวีต่อไป
รูปแรกวัดพญาวัด ที่น่าน รูปที่ 2 วัดเจดีย์เหลี่ยม รูปที่ 3 วัดจามเทวี
วาดวัด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา