Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Wasabi
•
ติดตาม
2 ก.ย. 2020 เวลา 11:46 • สุขภาพ
โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease: GERD) คืออะไร?
โรคกรดไหลย้อน คือ โรคที่เกิดจากการไหลย้อนกลับของกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะ ทำให้อาหารขึ้นไปอยู่ในหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ
GERD
แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. โรคกรดไหลย้อนธรรมดา หมายถึง โรคที่กรดไหลย้อนขึ้นมาจะอยู่แค่ภายในหลอดอาหาร จะไม่ไหลย้อนขึ้นเกินหูรูดหลอดอาหารส่วนบน ส่วนใหญ่จะมีอาการแค่บริเวณหลอดอาหารเท่านั้น
2. โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง หมายถึง โรคที่มีอาการทางคอและกล่องเสียง จากการไหลย้อนกลับของกรดขึ้นมาเหนือหูรูดหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ทําให้เกิดการระคายเคืองของคอและกล่องเสียง
#สาระจี๊ดจี๊ด
พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เกิดขึ้นได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน หรือแม้แต่ตอนที่ไม่ได้รับประทานอาหารก็ตาม
สาเหตุของกรดไหลย้อน
1. หูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารผิดปกติ
โดยส่วนมากจะพบในผู้สูงอายุ เนื่องจากหูรูดเสื่อมสภาพไปตามช่วงวัยและอายุที่มากขึ้น จึงทำให้อาหารและน้ำย่อยในกระเพาะถูกดันกลับขึ้นมาในหลอดอาหารได้ง่าย เป็นผลให้เกิดอาการกรดไหลย้อน ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้จากการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือยางบางชนิด
2. กระเพาะอาหารบีบตัวลดลง
ทำให้อาหารและน้ำย่อยที่ย่อยแล้วคั่งอยู่ในกระเพาะอาหารเป็นเวลานาน เนื่องจากไม่สามารถบีบตัวให้ลงสู่ลำไส้ได้หมดในทันที เป็นผลให้เกิดแรงดันในกระเพาะอาหารมากขึ้น ซึ่งจะทำให้หูรูดถูกดันเปิดออกและดันเอาอาหารและน้ำย่อยย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหารนั่นเอง
3. ความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหาร
ทำให้อาหารที่รับประทานลงไป เคลื่อนลงสู่กระเพาะช้า หรือทำให้อาหารที่ไหลย้อนขึ้นมาจากกระเพาะอาหารค้างอยู่ในหลอดอาหารนานกว่าปกติ
4. ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ
- โรคอ้วน ในคนอ้วนจะมีความดันในช่องท้องที่สูงกว่าคนปกติทั่วไป ซึ่งส่งผลให้ความดันในกระเพาะอาหารสูงขึ้นตามไปด้วย จึงเสี่ยงเป็นโรคกรดไหลย้อนได้มากกว่าปกติ
- การตั้งครรภ์ เนื่องจากในภาวะครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น จึงทำให้เกิดความดันในกระเพาะเพิ่มขึ้นไปด้วย ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์จึงเสี่ยงต่ออาการกรดไหลย้อนได้สูง
- การสูบบุหรี่เป็นผลให้กรดในกระเพาะอาหารหลั่งออกมามากขึ้นและทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวน้อยลง จึงมีโอกาสที่กรดจะไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหารได้ง่าย
-ความเครียด ส่งผลให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดออกมามากขึ้น จึงทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อโรคกระเพาะและโรคกรดไหลย้อน
อาการของกรดไหลย้อน
- แสบร้อนบริเวณหน้าอกและลิ้นปี่ (heartburn) อาจมีปวดร้าวไปที่บริเวณคอ รู้สึกเหมือนมีก้อนจุกอยู่ที่คอ กลืนลําบาก กลืนเจ็บ เจ็บคอ แสบคอ เรอบ่อย คลื่นไส้ รู้สึกเหมือนมีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาที่คอหรือปาก
- จุกแน่นหน้าอก เหมือนอาหารไม่ย่อย มีกลิ่นปาก เสียวฟัน หรือฟันผุร่วมด้วยได้
ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียนหลังรับประทานอาหาร
- เสียงแหบเรื้อรัง หรือแหบเฉพาะตอนเช้า อาจมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม เกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณกล่องเสียง ทำให้เกิดกล่องเสียงอักเสบ
- ไอแห้ง ๆ กระแอมไอบ่อย มีอาการไอเรื้อรัง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารหรือขณะนอน รู้สึกสำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกในเวลากลางคืน
- บางคนอาจมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล มีน้ำมูกไหลลงคอ หูอื้อ หรือปวดหูได้
#สาระจี๊ดจี๊ด
โรคกรดไหลย้อนไม่ได้มีความรุนแรงถึงขนาดทำให้เสียชีวิต แต่ทำให้เกิดความทรมาน รบกวนการใช้ชีวิตในประจำวัน
วิธีป้องกันโรคกรดไหลย้อน
1. รับประทานให้น้อยลงแต่บ่อยขึ้น
กระเพาะอาหารที่แน่นมากเกินไป จะมีแรงดันต่อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างเพิ่มขึ้น มีโอกาสที่อาหารบางส่วนจะไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหารได้
2. หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะ
อาหารที่มีไขมันสูง อาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม ผักบางชนิด เช่น มะเขือเทศ หัวหอม กระเทียม เป็นต้น
3. ไม่เข้านอนทันทีหลังรับประทานอาหารเสร็จ
การนอนหลับไปพร้อมกับกระเพาะที่เต็มแน่นด้วยอาหาร จะทำให้เกิดการกดเบียดหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง เพิ่มโอกาสที่กรดจะไหลย้อนขึ้นไปได้
4. นอนยกหัวสูง
การนอนหัวสูง จะช่วยลดแรงดันจากกระเพาะต่อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างได้ เช่น วางก้อนอิฐ หิน หรืออะไรก็ตามที่แข็งแรงมั่นคงรองขาเตียงฝั่งหัวนอน หรืออาจใช้หมอนรูปลิ่มหนุนหัวให้สูงขึ้น
5. ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม
ควรพยายามลดน้ำหนัก เพราะยิ่งน้ำหนักมาก โดยเฉพาะคนที่มีภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน ความดันในช่องท้องก็จะเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้มากขึ้นด้วย
6. ไม่สวมเข็มขัดหรือเสื้อผ้าที่รัดแน่นบริเวณเอว
เสื้อผ้าหรือเครื่องแต่งกายที่รัดแน่นบริเวณท้อง จะกดเบียดกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารไหลท้นกลับไปในหลอดอาหารได้
7. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
ควรเลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากนิโคตินในบุหรี่ทำให้หูรูดของหลอดอาหารคลายตัว และบุหรี่ยังกระตุ้นการสร้างกรดในกระเพาะอาหารอีกด้วย
8. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ทุกชนิด
เนื่องจากแอลกอฮอล์เพิ่มปริมาณการสร้างกรดในกระเพาะอาหาร และทำให้หูรูดหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัว ส่งผลให้กรดไหลย้อนกำเริบได้
9. ลดความเครียด
ควรหากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายความเครียด เช่น นอนหลับ นั่งสมาธิ ออกกำลังกาย อ่านหนังสือที่ชอบ หรืออะไรก็ตามที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย จะช่วยลดการหลั่งกรดที่มากเกินไปได้
10. จดบันทึกอาการกรดไหลย้อน
จดบันทึกเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้อาการกำเริบ อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ช่วงเวลาที่เกิดอาการ วิธีการรักษาที่ผ่านมา ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับตัวคุณมากขึ้น และช่วยให้คุณและแพทย์วางแผนการรักษาได้ง่าย และตรงจุดมากขึ้นด้วย
11. รับประทานยาสม่ำเสมอ
ควรรับประทานยาสม่ำเสมอทุกวัน หากคุณต้องรับประทานยาเพื่อรักษาอาการกรดไหลย้อน และมีแนวโน้มจะลืมได้ง่าย แนะนำให้แปะโน้ตไว้เพื่อเตือนตัวคุณเอง เช่น นำยาไปด้วยเมื่อต้องออกไปข้างนอก
วิธีรักษากรดไหลย้อน
1. รับประทานยาลดกรด
เพื่อลดการหลั่งกรดในกระเพาะ ช่วยรักษาและป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต เป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะช่วยลดอาการต่าง ๆ การกำเริบของโรค และช่วยป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ โดยการแก้ไขที่ตรงจุดที่สุด คือ การแก้ที่ต้นเหตุ ควรดูแลตนเองอยู่เสมอถึงแม้ว่าตัวของคุณอาการจะดีขึ้นหรือหายดีแล้วก็ตาม
- หลีกเลี่ยงอาหารที่เพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะ เช่น อาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มคาเฟอีน น้ำอัดลม กระเทียม หัวหอม เป็นต้น
- ผ่อนคลายความเครียด เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกกำลังกาย นั่งสมาธิ สวดมนต์ หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ชอบ ก็จะช่วยลดการหลั่งกรดในกระเพาะได้เป็นอย่างดี
- ควบคุมน้ำหนัก โดยเฉพาะในคนที่น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน หมั่นออกกำลังกายและควบคุมอาหารที่รับประทาน เมื่อน้ำหนักลด ความดันในกระเพาะอาหารก็จะลดลง ทำให้กรดและอาหารในกระเพาะดันหูรูดหลอดอาหารน้อยลง อาการกรดไหลย้อนก็จะลดลงตามด้วย นอกจากนั้นยังส่งผลดีต่อสุขภาพด้านอื่น ๆ และทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรง
- หลีกเลี่ยงการนอนราบหรือการก้มหยิบของทันทีหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ ควรรอให้อาหารย่อยก่อน 2-3 ชั่วโมง และไม่ควรออกกำลังกายหลังรับประทานอาหารเสร็จทันทีเช่นกัน เพราะจะทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย
ควรรับประทานอาหารครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามากเกินไป
3. ผ่าตัด
เป็นวิธีการรักษาที่เหมาะสำหรับผู้ที่รักษาด้วยยาเป็นเวลานานแล้วไม่สามารถควบคุมอาการหรือหยุดยาได้ผู้ที่ไม่สามารถรับประทานยาได้เป็นเวลานานและได้รับผลข้างเคียงจากยา
4. บรรเทาอาการด้วยสมุนไพร
สมุนไพรบางชนิดสามารถบรรเทาอาการกรดไหลย้อนให้ทุเลาลงได้ และมีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพอีกมากมาย ตัวอย่างสมุนไพรที่สามารถนำมาแก้อาการกรดไหลย้อนได้ เช่น
ขมิ้นชัน บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้
ขิง เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ช่วยขับลม ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย ทำให้อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากกรดไหลย้อนลดลงได้ มีหลากหลายรูปแบบให้เลือกรับประทาน เช่น ยาชง ยาผง ยาแคปซูล เป็นต้น
กะเพรา เป็นสมุนไพรที่นำมาต้มดื่มช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้ โดยให้นำกะเพรา 1 กำ มาต้มกับน้ำประมาณ 2-3 ลิตร ด้วยไฟปานกลาง 20 นาที ดื่มครั้งละ 1 แก้ว (250 ml) หลังอาหาร 3 มื้อ และควรดื่มหลังรับประทานอาหารแล้ว 10-15 นาที
#สาระจี๊ดจี๊ด
จุดมุ่งหมายสำคัญในการรักษาโรคนี้ คือ ลดปริมาณกรดในกระเพาะ และป้องการไม่ให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นไป
#สาระจี๊ดจี๊ด
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงเป็นวิธีที่ตรงจุดที่สุดที่จะช่วยลดอาการต่างๆ ป้องกันไม่ให้เกิดอาการ และช่วยลดการกลับมาเป็นซ้ำของโรคได้
#Wasabi ขอเพียงมีส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยให้คุณ!
"เจริญเติบโต ก้าวหน้า สำเร็จ อย่างภาคภูมิใจ"
พิสูจน์อักษรโดย วาลีพ
แหล่งที่มา
https://www.samitivejhospitals.com/th/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99-2/
#สาระจี๊ดจี๊ด #Wasabi #ความรู้ขึ้นสมอง
9 บันทึก
29
11
17
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สุขภาพ โรคภัย การแพทย์
9
29
11
17
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย