4 ก.ย. 2020 เวลา 15:57 • สิ่งแวดล้อม
โลกร้อน!! >> เปิดแอร์!! >> โลกร้อนขึ้นอีก!! >> เปิดแอร์แรงขึ้นอีก!!! >> บรู๊มมมม เป็นโกโก้ครั๊นซ์ 😣🌋
แท้จริงแล้วแอร์ที่เราใช้สู้อากาศร้อนคือจิ๊กซอร์ชิ้นสำคัญในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน?? 🧐
2
สารพัดเครื่องระบายความร้อนของระบบปรับอากาศตามอาคารต่าง ๆ ที่เห็นกันจนชินตาในเมืองใหญ่
คงเคยได้ยินกันบ้างคำพูดล้อเล่น "โลกร้อนเหรอ จะต้องไปกลัวอะไรก็เปิดแอร์แรง ๆ ซิ" ความจริงประโยคนี้มีนัยะที่น่าสนใจซ่อนอยู่
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เราคงได้ยินข่าวที่หลายพื้นที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนเข้าโจมตี ซึ่งในหลายพื้นที่มีผู้คนต้องเสียชีวิตมากมาย
แต่กับประเทศที่ร่ำรวยปัญหานี้ไม่ได้คร่าชีวิตเพราะมีเครื่องปรับอากาศช่วยคลายร้อน แต่กลับสร้างปัญหาอื่นแทน
นั่นคือการโหมเปิดแอร์ในพื้นที่จนทำให้ไฟดับเพราะความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเกินกว่าที่ระบบจะรองรับได้ อย่างล่าสุดที่แคลิฟอร์เนียเกิดไฟดับในหลายพื้นที่เนื่องจากเกือบทุกบ้านพร้อมใจกันเปิดแอร์
คลื่นความร้อนลูกล่าสุดที่เจ้าโจมตีแคลิฟอร์เนียจนทำลายสถิติความร้อนเป็นประวัติการณ์
ซึ่งนี่กำลังจะเป็นปัญหาที่ระบบไฟฟ้าทั่วโลกจะต้องเผชิญ โดยการคาดการณ์ของ International Energy Agency (IEA) ประเมินว่าในปี 2050 ทั่วโลกจะมีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศมากกว่า 5,600 ล้านเครื่อง
1
ทั้งนี้ในอนาคตอันใกล้เครื่องปรับอากาศจะไม่ใช่เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเพื่อความสะดวกสบายเท่านั้น แต่ในบางพื้นที่มันคือเครื่องมือที่ช่วยให้มีชีวิตรอดจากภัยร้อน
กราฟคาดการณ์จำนวนเครื่องปรับอากาศที่จะถูกติดตั้งไปจนถึงปี 2050
เอาง่าย ๆ ในเมืองใหญ่ปัจจุบันนี้ในช่วงหน้าร้อนเราสามารถอยู่ในบ้าน ในห้องพัก โดยมีแค่พัดลมนั้นมันเป็นเรื่องยาก
และลองคิดถึงว่าในปีหน้าหากมีคลื่นความร้อนเข้าโจมตีแถวบ้านเราเครื่องปรับอากาศก็จะกลายเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้ามาตราฐานในทุกบ้านไปโดยปริยาย
1
ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นอย่างมากของจำนวนเครื่องปรับอากาศทั่วโลกนั้นจะมาจากประเทศอินเดีย จีนและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
เพราะยังมีช่องว่างของจำนวนประชากรที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเครื่องปรับอากาศได้ในวันนี้ ประกอบกับราคาของแอร์ที่น่าจะถูกลงและความจำเป็นในการที่เกือบทุกบ้านจะต้องมีแอร์ไม่งั้นอยู่ไม่ได้
สัดส่วนการติดตั้งเครื่องปรับอากาศต่อครัวเรือนในประเทศต่าง ๆ
ซึ่ง IEA ประเมินว่ากว่า 40% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้นในปี 2050 จะเป็นความต้องการใช้ไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศ ซึ่งคิดเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ต้องการเพิ่มขึ้นมากกว่า 6.2 ล้านล้านหน่วยต่อปี
นั่นหมายถึงทั่วโลกต้องมีแหล่งผลิตไฟฟ้าจำนวนมหาศาลเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในส่วนนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าแบบเดิมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งก็เร่งปัญหาโลกร้อนให้หนักขึ้น
หรือจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะมาทดแทนได้เพียงพอและไม่ส่งผลกระทบราคาค่าไฟได้หรือไม่ (ถ้าจะผลิตไฟจากแผงโซล่าเซลล์ให้รองรับความต้องการขนาดนี้ก็ต้องติดแผง 300 วัตต์กว่า 20 ล้านแผง)
1
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเครื่องปรับอากาศหรือแอร์ที่เราใช้กันอยู่นั้นเป็นอุปกรณ์ชี้เป็นชี้ตายอนาคตมนุษยชาติต่อภัยโลกร้อนที่กำลังจะมาถึงก็ว่าได้ แต่เรากำลังละเลยที่จะนำมันมาใช้สู้กับภัยโลกร้อน
กราฟคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสำหรับเครื่องปรับอากาศในอนาคต
ซึ่ง IEA ประเมินว่าถ้าสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องปรับอากาศให้ดีได้แล้ว เราอาจลดความต้องการใช้พลังงานที่คาดการณ์ไว้ได้กว่าครึ่งเลยทีเดียว
และเจ้าเครื่องปรับอากาศนี้ยังมีส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างยิ่งยวดมาตั้งแต่ก่อนหน้าแล้ว เพราะสารทำความเย็นเมื่อก่อนนั้นคือสาร hydrofluorocarbons ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก (ไม่พูดถึง CFC นะเพราะโดนแบนไปแล้ว)
จึงได้มีความตกลงในพิธีสารมอนทรีออลในปี 2016 ในการลดใช้สารทำความเย็นกลุ่มนี้ และเริ่มมีการใช้สารทำความเย็นทดแทนในกลุ่ม HFOs อย่างโพรเพน หรือแม้แต่คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีผลต่อประสิทธิภาพการทำความเย็น
ทั้งนี้เครื่องปรับอากาศในปัจจุบันนั้นมีหลักการทำงานไม่แตกต่างจากที่มันเคยเปิดตัวเมื่อเกือบหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา แม้จะมีความพยายามคิดค้นการทำความเย็นในรูปแบบใหม่ ๆ อยู่บ้างก็ตาม
ซึ่งงานหลักอย่างหนึ่งของแอร์ในการทำความเย็นนั้นคือการเอาความชื้นออกจากอากาศเพื่อให้เรารู้สึกสบาย แต่ก็เป็นงานหนักที่ลดทอนประสิทธิภาพการทำความเย็น
ปัจจุบันเครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงจนลดการใช้พลังงานได้เกือบครึ่งก็พอมีอยู่ในตลาดแต่ก็เหมือนกับรถไฮบริดที่ประหยัดน้ำมันแต่ตัวรถก็ต้องแพงกว่ารถน้ำมัน จึงทำให้เครื่องปรับอากาศประสิทธิภาพสูงมักเป็นตัวเลือกท้าย ๆ ของผู้บริโภคอยู่ดี
แม้ว่าปัจจุบันจะมีการกำหนดค่าประสิทธิภาพการทำความเย็นขั้นต่ำของเครื่องปรับอากาศไว้ในกฏหมายบ้านเราแล้วก็ตาม รวมถึงการติดฉลากเบอร์ 5 ให้กับแอร์ที่ขายในท้องตลาด
ฉลากเบอร์ 5 ที่แอร์ตัวไหนไม่มีก็แทบจะขายไม่ออก
แต่การจะทำให้เครื่องปรับอากาศมีประสิทธิภาพสูงพอเพื่อสู้ปัญหาโลกร้อนในราคาที่ผู้บริโภคยอมรับได้ยังคงต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจังมากกว่านี้
ซึ่งก็ยังดีที่ปัจจุบันแอร์อินเวอร์เตอร์เริ่มมีราคาที่เป็นตัวเลือกได้มากขึ้นในท้องตลาด
เพื่อเป็นการกระตุ้นการพัฒนาเครื่องปรับอากาศให้มีประสิทธิภาพสูงพอที่จะสู้กับภาวะโลกร้อนจึงได้มีการตั้งรางวัล global cooling prize ขึ้นมา
ผู้ให้การสนับสนุน global cooling prize
โดยมีเงินรางวัล 3 ล้านเหรียญฯ สำหรับการประกวดเทคโนโลยีการทำความเย็นรูปแบบใหม่ที่จะนำมาใช้ต่อสู้ภาวะโลกร้อนนี้
เป้าประสงค์เพื่อค้นหาเทคโนโลยีการทำความเย็นที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศลดลงอย่างน้อย 5 เท่า ได้เทคโนโลยีระบบปรับอากาศที่ใช้พลังงานลดลง 3-5 เท่า
ถ้าการประกวดสำเร็จได้ตามเป้า เทคโนโลยีใหม่นี้อาจช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกได้อย่างน้อย 1 องศาไปจนถึงปี 2100 และลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ถึง 3.2 ล้านล้านหน่วยต่อปี
ซึ่งปัจจุบันได้ 8 ผู้เข้ารอบสุดท้ายในการประกวดนี้แล้ว โดยเป็นกิจการจากอินเดีย อเมริกา ญี่ปุ่น จีน และอังกฤษ
มีทั้งผู้เล่นเดิมในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ และเหล่า Startup
ผู้เข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย
โดยแต่ละเจ้าก็มีเทคโนโลยีที่น่าสนใจมากมาย อาทิเช่น
- Solid-state Barocaloric cooling technology การทำความเย็นโดยไม่ต้องใช้สารทำความเย็นที่อาศัยการเปลี่ยนสถานะของสารทำความเย็นในรูปของเหลวและก๊าซ
- การใช้ Membrane พิเศษช่วยดึงความชื้นออกจากอากาศก่อนเข้าสู่กระบวนการปรับอากาศ (Fresh air) เพื่อลดภาระในการลดความชื้นของอากาศ
- การใช้ Condensing Unit ชุดเดียวร่วมกับ Evaporator 3 ชุด และอาศัยการควบคุมการจ่ายสารทำความเย็นให้เหมาะสมกับภาระการทำความเย็น และที่ Condensing Unit นี้ยังมีระบบ evaporative cooling ที่ลดอุณภูมิอากาศที่เป่าเข้าแผงระบายความร้อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำความเย็นสูงสุด
ใครสนใจลองเข้าไปดูรายละเอียดแต่ละเทคโนโลยีกันได้ครับ แต่ส่วนใหญ่จะเน้นการบริหารจัดการการใช้พลังงานตามภาระการทำความเย็นและการจัดการความชื้นในอากาศ
การพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปรับอากาศนั้นจริง ๆ แล้วสามารถทำได้เลยไม่ต้องรอ เช่น การออกแบบอาคารที่มีหลังคาที่กันความร้อนจากแสงแดดได้ดี (Cool roof) เช่น โซล่ารูฟ หลังคาเขียว
การทาสีอาคารด้วยสีกันร้อน ติดฟิมล์กันความร้อนที่กระจก ใช้ผนังที่มีการใส่ฉนวนกันร้อน การดูแลช่องลมรั่วออกจากห้องปรับอากาศ เป็นต้น
หรือแม้แต่การพัฒนาวัสดุพิเศษที่ใช้ระบายความร้อนจากระบบทำความเย็นกลับสู่อวกาศผ่านการแผ่รังสีความร้อนด้วยความยาวคลื่นแสงช่วงพิเศษ ที่สามารถทะลุผ่านโมเลกุลของก๊าซในบรรยากาศออกไปได้ (ช่วยคายความร้อนออกจากโลกโดยตรง)
แผงคายความร้อนออกนอกโลกกลับสู่อวกาศกันเลยทีเดียว
ซึ่งการติดตั้งแผงระบายความร้อนแบบใหม่นี้สามารถประยุกต์ใช้กับระบบปรับอากาศเดิมที่มีอยู่แล้วโดย SkyCool ผู้พัฒนาระบบนี้ประเมินว่าแผงแบบนี้สามารถช่วยลดอุณหภูมิให้อาคารลงได้ 10-70% ขึ้นกับรูปแบบอาคารและสภาพอากาศ
1
ปัจจุบันเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาในอุตสาหกรรมระบบปรับอากาศเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการทำความเย็นใหม่ ๆ นั้นยังน้อยมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมพลังงาน รถ EV แบตเตอรี่ ฯลฯ
แต่ก็ยังมีข่าวดี เพราะเมื่อเทียบกันแล้วในปี 2015 ที่มีแค่ 8 กลุ่มทุนกับเงินทุนเพียง 40 ล้านเหรียญฯ แต่ในปีทีผ่านมามีกลุ่มทุนกว่า 35 กลุ่มพร้อมเงินทุนสนับสนุนกว่า 350 ล้านเข้ามากระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้
ก็ได้แต่หวังว่าผู้คนจะเริ่มตระหนักและหันมามองการพัฒนาให้แอร์ที่เราใช้กันอยู่นั้นมีประสิทธิภาพสูงพอที่จะช่วยชะลอโลกร้อนแทนที่จะเร่งให้เราวิ่งเข้าไปสู่หายนะ
อย่าให้เหมือนในเรื่อง TENET เลยนะ
อย่าให้ถึงขั้นที่ลูกหลานเราต้องส่งอัลกอริทึ่มทั้ง 9 กลับมาจัดการคนรุ่นเราเพื่อให้พวกเขารอดพ้นจากภัยโลกร้อนเลยนะ (ใครยังไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ก็ต้องขออภัย 😁)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา