4 ก.ย. 2020 เวลา 21:11 • ประวัติศาสตร์
ครูบาล้านนา
การสถาปนาครูบาในล้านนานั้น
ทำ ครั้งสุดท้ายในสมัยเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
ชุดที่ได้รับการสถาปนา รดน้ำมุรธานั้น
ก็คือ ครูบาหลวงวัดฝายหิน(อภัยสารทะ)
จากนั้น การคณะสงฆ์ล้านนา
ก็ถูกเรียกอำนาจการบริหาร-จัดการ
เข้าไปรวมศูนย์อยู่ที่ กรุงเทพมหานครฯ
และ ครูบาหลวงอภัยสารทะ
ก็ได้รับสถาปนาเป็น
เจ้าคณะจังหวัดรูปแรกของ จังหวัดเชียงใหม่
ประเพณีการสรงน้ำ
หรือ รดน้ำพระสงฆ์ขึ้นเป็นครูบา
จึงหายไปจากล้านนานับแต่นั้น
ครูบาศรีวิชัย คือผู้ได้รับผลกระทบอย่างมาก
จากกระบวนการรวมศูนย์นี้
เนื่องเพราะมาในจังหวะหัวเลี้ยวหัวต่อพอดี
เมื่อพิธีกรรมดังกล่าวหายไปจาก ล้านนา
กลับปรากฏว่า ในรัฐฉาน เมืองยอง
และ เมืองเชียงตุง อันเป็นบ้านพี่เมืองน้อง
ของเชียงใหม่ และ อำนาจทาง กรุงเทพ
ไม่สามารถข้ามเข้าไปได้
ยังคงมีประเพณีในการสรงน้ำ
สถาปนาครูบาสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งมีลำดับชั้นของพระสงฆ์ผู้
จะเข้ารับการแต่งตั้งอยู่ ๔ ระดับ ดังนี้
สมณศักดิ์ของคณะสงฆ์ นครเชียงตุง
๑. สมเด็จพระอาชญาธรรม เป็นตำแหน่งสูงสุดในคณะสงฆ์ เป็นผู้มีอายุ ๗๐ และมีพรรษา ๕๐ ขึ้นไป
๒. พระครูบา เป็นตำแหน่งของพระสงฆ์สงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้มีอายุ ๔๐ และมีพรรษา ๒๐ ขึ้นไป
๓. พระสวามี เป็นตำแหน่งของสงฆ์ผู้อุดมด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นผู้มีอายุ ๓๐ และมีพรรษา ๑๐ ขึ้นไป
๔. พระสวาทิ เป็นตำแหน่งของสงฆ์ผู้ทรงศีล สมาธิ ปัญญา เป็นผู้มีอายุ ๓๐ และมีพรรษา ๑๐ ขึ้นไป
ทั้ง นี้ การถวายสมณศักดิ์จะอยู่ในดุลยพินิจของคณะสงฆ์ และสำนักโฆปก(คล้ายสำนักงานพระพุทธศาสนา)ของนครเชียงตุง ซึ่งในบางกรณี อาจมีการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษเพื่อความเหมาะสม เช่นครูบาบุญชุ่ม เป็นต้น
ก่อนการสถาปนาจะมีการป่าวประกาศให้ ประชาชนได้ทราบก่อนว่า จะยกยอพระภิกษุรูปนี้ขึ้นไปเป็นครูบาขอให้ศรัทธาชาวบ้านได้ไปร่วมอนุโมทนา สมเด็จอาชญาธรรม(ใส่) วัดเชียงยืนราชฐาน องค์ปัจจุบันโปรดเมตตาเล่าให้ฟังว่า“ หากพระภิกษุรูปใด ไม่มีศีลธรรม บ่มีคุณสมบัติตามที่นำเสนอมา อันเป็นการมุสาคณะสงฆ์ หลอกลวงเอาฐานะที่ไม่สมควรแก่ตน ยังแห่ไม่เสร็จก็จะเป็นไข้ ไม่สบาย แสดงว่าไม่มีบุญที่จะได้รับการสถาปนา แต่หากสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่เจ็บไข้ นั้นย่อมหมายความว่า เป็นผู้มีบุญญาธิการ บุญศีลธรรมกัมมัฏฐานคุ้มครอง ควรแก่การยกยอขึ้นสู่ตำแหน่งนั้น ๆ”
นอกเหนือจากตำแหน่งที่เป็นทางการ ทั้ง ๔ นี้ยังปรากฏว่าที่เชียงตุงยังมีตำแหน่งทางสังคมอีกตำแหน่งหนึ่ง ที่อยู่ในฐานะเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของปวงชนไม่เฉพาะบ้าน หรือเมืองใดเมืองหนึ่ง นั้นคือ ตำแหน่ง “เจ้าหน่อต๋นบุญ” จะใช้เรียกขานพระภิกษุ-สามเณรผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ มาตลอดอายุการบวช
ประมาณเมื่อ ๔ ปีที่แล้วได้มีโอกาสไปร่วมงานประเพณีเข้ากรรมฐานของคณะสงฆ์ตำบลเมืองลัง วัดยางขวาย มีการเทศน์ธรรมมหาชาติ ขณะที่เรากำลังฉันข้าวกันอยู่นั้น ก็ได้ยินศรัทธาป่าวประกาศว่า “สามเณรศีลมั่นมาแล้ว” หันไปมองเป็นสามเณรน้อย อายุประมาณ ๑๑-๑๒ ปี ท่าทางสงบเสงี่ยมสำรวม ถามชาวบ้านว่า ทำไมเรียกว่า สามเณรศีลมั่น ได้รับคำอธิบายว่า“ตั้งแต่บวชมาเณรถือศีล กินเจ มาโดยตลอด ไม่ซุกซนเหมือนเณรน้อยทั่ว ๆ ไป ที่สำคัญการวัตรปฏิบัติก็ดี เรียบร้อย จึงเป็นที่เคารพรักของชาวเชียงตุง”
จากนี้ไปหากยังมีความมั่นคงอยู่ถึงเป็นพระภิกษุ ก็จะเรียกว่า “ตุ๊เจ้าศีลธรรม” ดังที่ครูบาศรีวิไชยของล้านนาเรา ได้รับการเรียกขานอีกนามหนึ่งว่า “ครูบาศีลธรรม” หากท่านได้ตั้งใจประพฤติดี ไม่หวั่นไหว ถึงขั้นสัจจะอธิษฐานว่า ขอเป็นพระโพธิสัตว์ หรือขอบำเพ็ญบารมีช่วยเหลือผู้คนให้พ้นทุกข์ ขอเป็นพระพุทธเจ้าองค์ในอนาคต เช่นนี้ก็จะได้ชื่อว่า "เจ้าหน่อต๋นบุญ"
เท่าที่ทราบ ที่รัฐฉานฟากฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำอิรวดี ตลอดระยะเวลา นับ ๒๐๐ – ๓๐๐ ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน มีผู้ที่คณะสงฆ์และชาวบ้านยกย่อง ชาวบ้านแทบทุกหลังคาเรือนมีรูปของท่านไว้กราบไหว้บูชา และ เรียกขานขนานนาม ว่าเป็น เจ้าหน่อต๋นบุญนั้น มีเพียง ๒ รูป คือ
๑. พระพี่หลวงป่าบง เวียงยอง
๒. ครูบาบุญชุ่ม ญาณสงฺวโร (เมืองพงสยาดอ)
เข้า ใจว่า หากคณะสงฆ์จะเมตตาพิจารณา หลักคิดและวิธีการในการยกย่องสถาปนา ครูบาของนครชียงตุง เพื่อนำมาปรับประยุกต์ใช้ในบ้านเมืองของเรา ก็คงส่งผลดีต่อการคณะสงฆ์อยู่ไม่น้อย
๑. เพื่อเป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรมของคณะสงฆ์ล้านนาที่ยังมีการเคลื่อนไหวตามใจชอบ ให้กลับเข้าสู่กระบวนการของสงฆ์อีกครั้งหนึ่ง
๒. เพื่อเสริมสร้างมาตรฐานในการปกครองสงฆ์ ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
๓. เพื่อเป็นฐานในการปฏิบัติของคณะสงฆ์ในปัจจุบันและอนาคตสืบไป
น่า จะเข้าทำนองว่า “ใหม่ก็เอา เก่าก็ไม่ทิ้ง” ทั้งเก่าและใหม่ผสมผสานเพื่อความบริสุทธิ์ เพื่อความงามของวงการสงฆ์สืบไป--
ขอบคุณเรื่อง
--Peeraphong Rattanaseenurangkul

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา