Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Mythology
•
ติดตาม
8 ก.ย. 2020 เวลา 08:05 • ประวัติศาสตร์
ปกรณัมเทพเจ้าฮินดู (Hindu Mythology) ต้นกำเนิดแห่งปกรณัมอารยธรรมตะวันออกทั้งมวล ตอนที่ 1 : ยุคสมัยแห่งเทพ
Vishwaroopa (Wikipedia)
สวัสดีครับ หายหน้าหายตาไปนาน ตอนนี้ก็พ้นช่วงสอบและโปรเจ็คท์ไปแล้วด้วย เลยมีเวลามาเล่าเรื่องราวกันแล้วนะครับ กับผม Krishna
แน่นอนครับ ชื่อ Krishna ชื่อของบล็อกเกอร์ ก็มีที่มาจากเทพเจ้าฮินดู คือ พระกฤษณะนั่นเอง อวตารปางที่ 8 ของพระนารายณ์ ผู้เผยคัมภีร์ภควัทคีตา บทเพลงแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า
Lord Krishna in teenagers (eternalreligon.org)
เชื่อไหมครับ ตำนานเทพฮินดู ได้กลายมาเป็นต้นแบบของตำนานเทพเจ้าหรือศาสนาต่างๆที่เกิดขึ้นมาภายหลังมากมายครับ ทั้งพุทธ เชน ชินโต หรือแม้กระทั่งคริสต์ (หากหลักฐานที่ค้นพบถูกต้อง)
ที่สำคัญฮินดูยังมีมหากาพย์ หรือ วรรณกรรมอันยิ่งใหญ่ระดับโลก ถึง 2 เรื่อง นั่นคือ รามายณะ (Ramayana) และ มหาภารตะ (Mahabharata) ทั้งสองเรื่องนี้ ว่ากันว่า ได้รับการสดับฟังจากทวยเทพ ซึ่งทำให้ทั้งสองมหากาพย์ จะคงอยู่นิจนิรันดร์คู่ฟ้าดินตราบสิ้นกัลป์
Ramayana (Left) and Mahabharata (Right) (WorldZz.com)
นี่คือความยิ่งใหญ่ของปกรณัมฮินดูครับ และวันนี้ ผมจะมาเปิดปฐมบทแห่งตำนานเหล่านี้ เริ่มกันที่ ยุคสมัยครับ เพราะถ้าหากไม่สามารถแบ่งแยกยุคสมัยกลได้ ก็อาจจะไม่สามารถปะติดปะต่อได้ถึงพัฒนาการทางความคิดและความเชื่อของเหล่าผู้รจนาเรื่องราวและอาจจะไม่สามารถคาดคะเนถึงช่วงเวลาที่ตำนานแต่ละเรื่องเกิดขึ้นมาได้
ผมเชื่อว่าทุกท่านคงรู้จักเทพเจ้าของฮินดูไม่น้อยครับ เช่น พระพรหม พระนารายณ์ (พระวิษณุ) พระศิวะ พระอินทร์ พระยม(ยมราช) พระแม่อุมาเทวี พระพิฆเนศ พระแม่ลักษมี พระราม พระลักษณ์ เป็นต้น
ใช่แล้วครับ ชื่อเหล่านี้ เกี่ยวข้องกับเทพปกรณัมฮินดูทั้งสิ้นครับ พูดวันนี้ คงไม่หมด ฉะนั้น ขอเริ่มกันที่ยุคสมัยกันก่อนนะครับ ซึ่งผมก็จะขอนำเรื่องราวและหลักธรรมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มาแทรกบ้างนะครับ เพราะศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เชื่อมโยงหลักธรรม สัญลักษณ์ พิธีกรรม และ ตำนาน กับเทพเจ้าอย่างลึกซึ้ง ว่ากันว่า คัมภีร์พระเวท (Vedas) มิได้คิดขึ้นโดยมนุษย์ แต่ได้สดับฟังจากเทพเจ้า หรือที่เรียกว่า ศรุติ ที่แปลว่า เสียงจากเทพเจ้า
การแบ่งยุคสมัยของศาสนานั้น แบ่งได้ยากมากครับ เพราะหลายตำนาน ต่างคนต่างแต่ง ต่างคนก็ต่างได้ยินศรุติที่ไม่ใช่ที่เดียวกัน ดังนั้น ก็จะแบ่งกันโดยใช้การเข้ามาของชาวอารยันครับ
ชาวอารยัน (Arayan) ได้เข้ามาในอนุทวีป หรือ อินเดีย เมื่อประมาณ 3000-4000 ก่อน ชาวอารยันมีผิวขาว สูง จมูกโด่ง และมีอารยะ (หากสังเกตดีๆจะพบว่า มีลักษณะหน้าตาคล้ายชาวตะวันตกไม่น้อยเลย เพราะจากหลักฐาน ก็เชื่อว่า อารยัน อพยพมาจากตะวันตก) ต่างจากชนพื้นเมืองเดิม คือ ชาวทราวิศ หรือ ดราวิเดียน (Dravidian) หรือ มิลักขะ ที่ตัวเตี้ย ผิวคล้ำ ดูไม่มีอารยะ (ในสายตาของชาวอารยัน)
North India (Arayan) and South India (Dravidian) people
ซึ่งอารยธรรมของชาวทราวิศหรือชนพื้นเมืองเดิม ก็มีมาอยู่ก่อนแล้วครับ นั่นคือ อารยธรรมสินธุ (Indus civilization) ซึ่งก็ได้มีเทพเจ้าท้องถิ่นอยู่แล้ว
The route of Aryan to India (Wikipedia)
ชาวอารยัน ได้เข้ามาอาศัยในแผ่นดินใหม่ โดยการยึดครอง และกดขี่ชาวพื้นเมือง แล้วพวกเขาก็ได้ผนวกตำนานเทพเจ้าของชาวอารยันกับของชนพื้นเมืองเดิมครับ
นี่คือจุดเริ่มต้นของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูครับ การแบ่งยุคสมัย เป็นได้ดังนี้ครับ
1. สมัยอริยกะ (950 ปีก่อนพุทธกาลขึ้นไป)
2. สมัยพระเวท (950-475 ปีก่อนพุทธกาล)
3. สมัยพราหมณ์ (474 ปีก่อนพุทธกาล - พ.ศ. 43)
4. สมัยฮินดูแท้ (57 ปีก่อนพุทธกาล - ต้นพุทธกาล)
5. สมัยสูตร (พ.ศ. 60 - 360)
6. สมัยอวตาร (พ.ศ. 220 - 660)
7. สมัยเสื่อม (พ.ศ. 861 - 1190)
8. สมัยฟื้นฟู (พ.ศ. 1200 - 1740)
9. สมัยภักติ (พ.ศ. 1740 - 2300)
สมัยต่างๆ ถ้าหากไทม์ไลน์ซ้อนทับกันก็ไม่ต้องไปใส่ใจมากนะครับ เพราะบางยุคสมัย ก็เกิด 2 สิ่งพร้อมกัน หรือบางยุคสมัย ก็มีความครุมเครือมาก จนประมาณเวลาได้ไม่แน่นอน ขอให้สนใจเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัยก็พอครับ
มาเริ่มกันที่สมัยแรกครับ
สมัยอริยกะ เป็นช่วงแรกสุดที่ชาวอารยันเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอนุทวีปนี้ ชาวอารยัน เข้ามาพร้อมกับความเชื่อในเรื่องเทพเจ้า เช่น พระอินทร์ (เทพแห่งฟ้าฝนและราชาแห่งทวยเทพ) พระสาวิตรี (เทพแห่งดวงอาทิตย์) พระวรุณ (เทพแห่งท้องทะเล) และพระยม (เทพแห่งโลกใต้พิภพ) ส่วนพวกทราวิท หรือ มิลักขะ นับถือธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีพิธีกรรมคือการเซ่นสรวงบูชา และบูชาด้วยไฟ ให้ควันไฟไปถึงสวงสวรรค์ให้เหล่าเทพรับรู้และประทานพร เมื่ออารยันเข้ามา รบชนะทราวิท ก็ได้ผนวกรวมเทพอัคนี (แทนมิลักขะ) เป็นบริวารของสาวิตรี
Hindu deities in first era
สมัยที่สอง สมัยพระเวท มีการแบ่งบูชาเทพ 3 หมวดครับ คือ บนสวรรค์ (สาวิตรี) บนอากาศ (พระอินทร์ พระรุทร) และบนดิน (พระยม พระอัคนี) และมีการผนวกรวมเทพเจ้าท้องถิ่นเข้ามาเพิ่ม และแบ่งชนชั้นเป็นสถานะ 3 ประการ คือ นักบวช นักรบ และ เกษตรกร และที่สำคัญ คัมภีร์พระเวท ก็ได้เกิดขึ้นมา เริ่มแรกมี 3 เล่ม คือ ฤคเวท สามเวท และยชุรเวท เรียกรวมกันเป็น ไตรเพท เชื่อว่า ได้สดับฟังจากเทพเจ้า หรือ ศรุติ นั่นเองครับ คัมภีร์พระเวท จึงถือได้ว่า มีความศักดิ์สิทธิ์มาก
1
Birth of scriptures step (hinduismwayoflife.com)
ในยุคนี้ อารยัน ก็ต่างมีการแบ่งพรรคแบ่งฝ่ายเป็นเผ่าหรือชนกลุ่มย่อยๆ และแต่ละเผ่า จะมีนักบวชที่เรียกว่า พรหมา กระทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆ และ ปุโรหิตประจำเผ่า มีหน้าที่ให้คำปรึกษาทั้งในเรื่องของพิธีกรรม การบูชา และดวงชะตา ทำให้ชนชั้นนักบวช ได้รับความสำคัญในยุคต่อๆมาเช่นกัน
เกร็ดความรู้อีกสักเล็กน้อย : คัมภีร์พระเวท คำว่า เวท แปลว่า ความรู้ หรือปัญญา ซึ่งเป็นรากศัพท์ของคำว่า Wisdom และ วิทยา อีกด้วย ในทางนิรุกติศาสตร์ เชื่อว่า คำเหล่านี้ที่มีการออกเสียงและความหมายเหมือนกัน มีจุดร่วมเดียวกัน คือ เป็นภาษากลุ่มอินโดยูโรเปียน (Indo-European) และภาษาที่เป็นรากเหง้าของทุกภาษาบนโลกใบนี้ เชื่อกันว่า คือภาษา PIE (Proto Indo European) นั่นเอง ซึ่งก็น่าสังเกตนะครับ ตำนานเทพปกรณัมหลายชาติ มีเรื่องราวบางอย่างที่สอดคล้องกันมาก เช่น ตำนานน้ำท่วมโลก ที่ปรากฏในทุกตำนานทั่วโลก ไม่เว้นแต่อินเดีย (ไว้ผมจะเล่าวันหลังนะครับ)
Proto Indo European language tree
สมัยต่อมา สมัยพราหมณ์ สืบเนื่องต่อมาจากยุคก่อนหน้า ที่นักบวชได้รับความสำคัญมากขึ้น จนยุคนี้ ชนชั้นพราหมณ์ ได้รับการนับถือเสียยิ่งกว่าวรรณะกษัตริย์เสียอีกครับ และสมัยนี้ เปลี่ยนจาก พลีกรรม เป็น บูชายัญแทน ซึ่งเริ่มมีการใช้สิ่งมีชีวิตเป็นๆมาสังเวยกันแล้ว ไม่เว้นแต่มนุษย์ พิธีกรรมในยุคนี้ มีความเชื่อเป็นเช่นนี้ครับ คือ
1. ถ้าทำพิธีกรรมจนทวยเทพพอใจ จะได้รับการตอบแทน
2. ถ้ากระทำยัญกรรมด้วยความบากบั่น หรือบำเพ็ญตนอย่างแรงกล้า สามารถไปเกิดเป็นเทพบนสวงสวรรค์ได้
กษัตริย์ จะทำพิธีเพื่อประกาศตนและเสริมบารมีอยู่ 2 อย่าง คือ
1. พิธีราชสูยะ : ทำเพื่อประกาศตนเป็นกษัตริย์ของเมืองนั้นๆ (วันสถาปนา) อย่างเป็นทางการ และเพื่อเป็นส่วนบุญส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษ ให้ได้ไปสถิตอยู่ในอมราวดี บนสวรรค์
Rajsuya yagna of King Yudhishtira in Mahabharata (Pinterest.com)
2. พิธีอัศวเมธ : ทำเพื่อเสริมบารมีแก่กษัตริย์ โดยการส่งม้าอุปราการไปยังเมืองต่างๆ แล้วจะมีทหารติดตามไปด้วย ถ้าหากม้าไปที่เมืองไหน แล้วเมืองนั้นต้อนรับเป็นอย่างดี ก็จะผ่านไป ถือว่าสวามิภักดิ์ แต่ถ้าหากจับม้าเอาไว้ ก็จะทำสงครามกัน เมื่อครบ 1 ปี ก็จะฆ่าม้าตัวนั้น โดยการบูชายัญแก่พระประชาบดีทั้งหลาย
Ashvamedha Yagya (Wikipedia)
สมัยนี้ มีการเพิ่มเทพสำคัญอีก 2 องค์ครับ คือ พระวิษณุ(พระนารายณ์) เดิมเป็นเทพแห่งท้องทะเล และพระศิวะ เดิมเป็นเทพแห่งขุนเขา
และวรรณะทั้ง 4 ก็เกิดขึ้นครับ เพื่อความเป็นระเบียบในการปกครอง
วรรณะทั้ง 4 คือ
พราหมณ์ เกิดมาจากศรีษะของพระพรหม เชื่อว่าเป็นวรรณะที่สูงส่งกว่าวรรณะอื่น ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมและถ่ายทอดศิลปะ วิทยาการ แก่ผู้อื่น
กษัตริย์ เกิดจากแขนของพระพรหม ทำหน้าที่ปกครองเมือง และทำสงคราม
แพศย์ เกิดจากตักของพระพรหม ทำหน้าที่เป็นพ่อค้า เกษตรกรต่างๆ
ศูทร เกิดจากเท้าของพระพรหม เป็นชนชั้นต่ำสุด ใช้แรงงาน ไม่มีสิทธิ์อ่านคัมภีร์พระเวท
Varna (caste) in hinduism form Lord Brahma’s organ (Matichon.com)
หากมีการแต่งงานข้ามวรรณะ ก็จะเกิดวรรณะใหม่ๆ เกิดขึ้นครับ ไม่เพียงแต่วรรณะจัณฑาลอย่างเดียวอย่างที่เข้าใจกัน
ต่อมาครับ สมัยฮินดูแท้ครับ (สมัยพราหมณ์รายละเอียดเยอะมาก) ยุคนี้ เทพยุคเก่าๆ เช่น พระอินทร์ พระยม พระวรุณ ก็จะถูกลดบทบาทไปครับ แล้วเอาพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ มาขึ้นแทน แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น ปรัชญาต่างๆที่เราคุ้นเคย ก็จะกำเนิดขึ้นครับ
ทั้งความเชื่อแบบอติเทวนิยม (บูชาเทพเจ้าตามลำดับความสำคัญ) แนวคิดเรื่องปรมาตมัน (ดวงวิญญาณอันเป็นจุดกำเนิดและจุดหมายของดวงวิญญาณย่อย หรือ อาตมัน และอาตมันที่เป็นอิสระจากสังสารวัฏแล้ว ก็จะเข้าสู่โมกษะ เพื่อไปรวมกับสกลวิญญาณ หรือ ปรมาตมัน นั่นเองครับ ไว้ผมจะมาอธิบายแบบละเอียดนะครับ) กฏแห่งกรรม ที่จะติดตามอาตมันไปทุกชาติภพ ศาสนาพุทธก็ได้แนวคิดนี้มาจากฮินดูล่ะครับ
Paramatman, Trimurti and the Cycle of life
และคัมภีร์พระเวท ก็ครบสี่ครับ เพิ่มเติมมาคือ มีคัมภีร์อาถรรพเวท ซึ่งเกี่ยวกับไสยศาสตร์และมนตร์คาถาอาคมต่างๆ อีกคัมภีร์ที่เกิดขึ้นมาคือ คัมภีร์ อารัณยกะ สำหรับโยคีที่ละทิ้งบ้านเรือนเพื่อเข้าสู่หนทางแห่งการหลุดพ้น
ที่สำคัญเลยคือ ยุคนี้ ตรีมูรติก็ได้บังเกิดขึ้น คือ พระพรหม (ผู้สร้างสรรพสิ่ง) พระวิษณุ (ผู้รักษาสรรพสิ่ง) และพระศิวะ (ผู้ทำลายสรรพสิ่ง) เทพเจ้าทั้งสาม ถือเป็นสยมภู หรือ กำเนิดขึ้นมาเอง พร้อมกับจักรวาล
Trimurti, Brahma (Left) the Creator, Vishnu (Middle) the Preserver and Shiva (Right) the Destroyer (Wikipedia)
ขอจบยุคสมัยแต่เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ คราวหน้า จะมาต่อกันที่ยุคสมัยอุปนิษัท เมื่อพิธีกรรมเริ่มหมดศรัทธา เมื่อเหล่าผู้คนเริ่มแสวงหาเส้นทางที่แท้จริงสู่การหลุดพ้น และความเสื่อมของศาสนาฮินดูที่กำลังจะคลืบคลานเข้ามา อะไรจะเปลี่ยนไป ขอยกยอดไปไว้ครั้งหน้านะครับ เร็วๆนี้ สวัสดีครับ
@Krishna
9 บันทึก
3
5
5
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Hindu Mythology - เทพปกรณัมฮินดู
9
3
5
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย