Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Mythology
•
ติดตาม
10 ก.ย. 2020 เวลา 03:30 • ประวัติศาสตร์
เทพปกรณัมฮินดู EP.2 ยุคสมัยแห่งการแสวงหาจิตวิญญาณ (ต่อจาก EP.1)
หลังจากที่ผ่านสมัยของฮินดูแท้ ที่กำเนิดพระเวท 4 และตรีมูรติกันแล้ว ศาสนาฮินดู ก็มีความมั่นคงและเป็นหลักมากขึ้น สังเกตได้จากการเปลี่ยนชื่อศาสนาครับ
ในสมัยก่อนฮินดูแท้ ศาสนาจะเรียกว่า พราหมณ์ เพราะพราหมณ์เป็นผู้เชื่อมต่อกับเทพเจ้า และเป็นผู้ดำเนินพิธีกรรมต่างๆ ทางศาสนา ผู้ที่ตั้งวรรณะ 4 ก็คือพราหมณ์นั่นเอง
แต่เมื่อผ่านยุคสมัยมา ความแตกแยกในศาสนาก็เกิดขึ้น และยังมีความเชื่อหรือเทพเจ้าท้องถิ่นมากมายกำเนิดขึ้นมา เพื่อให้ความเชื่อไปเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงจำเป็นต้องรวมเรื่องราวต่างๆเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งเรื่องเล่า สัญลักษณ์ และพิธีกรรม ให้ไปในทางเดียวกัน ทำให้ก่อกำเนิดศาสนาขึ้นมาใหม่ ในชื่อ ศาสนาฮินดู แปลว่า ศาสนาของชาวอินเดีย
มีสมัยที่แยกออกมาจากสมัยฮินดูแท้ คือ สมัยอุปนิษัท อยู่ปลายสมัยฮินดูแท้ มีความพิเศษคือ ผู้คนต่างแสวงหาหนทางสู่การหลุดพ้น หรือ โมกษะ สืบเนื่องมาจากการกำเนิดของความเชื่อในเรื่อง ปรมาตมัน หรือ บรมวิญญาณ (Supreme spirit) ที่อยู่เหนือทวิสภาวะทั้งปวง คือ ทุกข์-สุข, ร้อน-หนาว, มี-ไม่มี
Gajendra Moksha (pictured) is a symbolic tale in Vaishnavism refer to Moksha (Wikipedia)
เปรียบเสมือน พระเจ้า (God) ในศาสนาเอกเทวนิยม (Monotheism) ปรมาตมัน ไม่มีเบื้องต้น ไม่มีบั้นปลาย ไม่มีดับสูญ ไม่มีกำเนิด สมบูรณ์ในตนเอง และเป็นจุดมุ่งหมายสุดท้าย ของอาตมัน หรือ ดวงวิญญาณที่สถิตอยู่ในกายเนื้อ (เรียกรวมกันว่า ชีวาตมัน) อาจจะอยู่ในรูปของมนุษย์ เดรัจฉาน เทวดา อสูร เป็นต้น
อาตมัน เมื่อร่างเนื้อดับสูญ อาตมันนั้นไม่แตกดับไปตามกายเนื้อ เป็นอมตะ และจะไปหาร่างเนื้อใหม่เป็นที่สถิต ตามแต่ผลกรรมที่กระทำไว้ในชาติก่อนๆ วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเข้าสู่โมกษะ (แปลว่า การหลุดพ้นจากสังสารวัฏ) เพื่อไปรวมกับปรมาตมัน เปรียบเสมือนแม่น้ำสายเล็ก ที่ไหลรวมกันลงสู่มหาสมุทรใหญ่
หากบรมวิญญาณคือมหาสมุทร อาตมันก็เป็นเพียงหยดน้ำเล็กๆ แต่ถ้าหากค้นพบมรรคา หรือหนทางที่จะไปสู่โมกษะ ก็ย่อมไหลลงสู่มหาสมุทรใหญ่ได้
และหนทางไปสู่การหลุดพ้นนั้น แต่ละสำนักก็มีหลักปรัชญาและหลักปฏิบัติแตกต่างกันไป เช่น ปรัชญาสางขยะ ปรัชญาโยคะ เป็นต้น สมัยนี้ ได้กำเนิดคัมภีร์ที่สำคัญอีกหนึ่งคัมภีร์ครับ คือ คัมภีร์อุปนิษัท หรือเรียกว่า เวทานตะ (แปลว่า ที่สุดแห่งพระเวท) มี 108 เล่ม ซึ่งรวบรวมหลักปรัชญาทุกสำนักมาไว้ในชุดเดียว
Brihadaranyaka Upanishad manuscript page, verses 1.3.1 to 1.3.4 (Wikipedia)
ปลายยุคอุปนิษัท ได้มีฤาษี 2 ท่านที่สำคัญมาก คือ ฤาษีวาลมิกี ผู้รจนามหากาพย์รามายณะ เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราม อวตารปางที่ 7 ของพระนารายณ์ และฤาษีวยาส ผู้เรียบเรียงคัมภีร์พระเวทใหม่ และรจนา มหากาพย์มหาภารตะ เป็นเรื่องราวของพระกฤษณะ อวตารปางที่ 8 ของพระนารายณ์เช่นกัน ทั้งสองมหากาพย์นี้ เป็นเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ที่ชาวอินเดียทุกคนนับถือและเชิดชู เพราะเป็นเนื้อเรื่องที่เล่าถึงการต่อสู้ของความดีและความชั่ว (เชิดชูชาวอารยันที่เอาชนะชนพื้นเมือง)
Great sage Valmiki the author of Ramayana
ขอเพิ่มเติมสักเล็กน้อยนะครับ ในสมัยนี้ ยังไม่ค่อยมีความเชื่อด้านการอวตารของเทพเจ้านะครับ เพราะแค่แต่งมาเพื่อให้สอดคล้องประวัติศาสตร์จริง และแฝงหลักธรรมเฉยๆครับ
Great sage Vyasa tells Mahabharata and write by Ganesha
สมัยต่อมา สมัยสูตร ขึ้นชื่อว่าสูตร ก็แปลว่า มีการจัดทำตำราต่างๆเพิ่มขึ้น และสรุปหลักธรรมเป็นสูตรๆ กันไป เช่น ศึกษาศาสตร์ ไวยากรณ์ศาสตร์ โชยติสศาสตร์ (เกี่ยวกับการดูดาว) นิรุกติศาสตร์ (ศาสตร์เกี่ยวกับประวัติและที่มาของภาษา รวมทั้งแปลความหมายคำต่างๆที่มีความซับซ้อน ทั้งการเขียน แหล่งที่พบ และยุคสมัย) และมีการเพิ่มเติมเนื้อเรื่องในมหาภารตะต่อจากสมัยก่อนหน้านี้ (หากสังเกตเรื่องราวในมหาภารตะดีๆ จะพบว่า เนื้อเรื่องหลายช่วง มีความไม่สอดคล้องกัน จึงเป็นไปได้ว่า มีผู้รจนามากกว่าหนึ่งท่าน และต่างยุคสมัยกันด้วย)
สมัยอวตาร เป็นสมัยที่มีความเชื่อในเรื่องการอวตาร (Avatar) ลงมาของเทพเจ้า เพื่อช่วยเหลือมนุษย์จากวิกฤตการณ์ต่างๆ เช่น การอวตารของพระวิษณุ หรือ นารายณ์สิบปาง ซึ่งพระรามกับพระกฤษณะก็เป็นอวตารของพระนารายณ์เช่นกัน เพื่อช่วยเหลือมนุษย์จากปีศาจร้าย ไม่เพียงแต่พระวิษณุเท่านั้น เทพองค์อื่นๆ อาจจะมีร่างอวตารลงมาเช่นกัน ตามแต่หน้าที่ หรือคำสาปที่ติดตัว เช่น พระยม ที่ถูกสาปให้ลงมาเกิดเป็นมนุษย์ นามว่าวิฑูร ในมหาภารตะ พระศิวะ อวตารลงมาเป็นหนุมาน เพื่อช่วยเหลือพระราม
Dassa-avatar (Ten avatars) of Lord Vishnu
และเชื่อว่าในยุคนี้ ได้กำเนิดคัมภีร์ที่ชาวอินเดีย หรือชนทั่วโลกให้ความสำคัญเสียยิ่งกว่าคัมภีร์พระเวทสี่ หรือคัมภีร์ใดๆในศาสนาฮินดู นั่นคือ คัมภีร์ภควัทคีตา (Bhagavad Gita) หรือ บทเพลงแห่งองค์ภควันต์ เป็นรูปแบบของปุจฉา-วิสัชนา ระหว่างเจ้าชายอรชุนแห่งปาณฑพ (วิญญาณ) กับพระกฤษณะ (บรมวิญญาณ/พระผู้เป็นเจ้า) ซึ่งก็เป็นส่วนที่ฮิตที่สุดในมหาภารตะเช่นกัน
ใครที่ได้อ่านคัมภีร์ภควัทคีตา ถือว่าได้รู้หลักธรรมทุกอย่างในฮินดูแล้วสิ้น เพราะภควัทคีตา สรุปเอาเนื้อหาที่เป็นแก่นของพระเวท อารัณยกะ และอุปนิษัท 108 มาไว้หมดแล้ว (หลักปรัชญาข้างใน คล้ายหลักธรรมของพุทธศาสนาเป็นอย่างมากในหลายจุดครับ จะต่างกันก็เพียงแค่เป็นเทวนิยมเท่านั้น) จึงเป็นที่นิยมกว่าคัมภีร์อื่นๆ โดยเฉพาะศาสนาฮินดูที่ถูกนำไปเผยแพร่ในโลกตะวันตก จะให้ความสำคัญกับภควัทคีตามาก
Krishna propagates Bhagavad-Gita to Arjuna before Kurukshetra war begin
และเมื่อมีเจริญ ก็ต้องมีเสื่อมครับ ศาสนาฮินดูก็เช่นกัน เกิดความแตกแยกกันทางความเชื่อ ทำให้เกิดนิกายย่อยมากมาย ตามเทพเจ้าที่ตนเชิดชูให้อยู่เหนือสุด นิกายไวษณพ (Vaishnavism) นับถือพระวิษณุเป็นใหญ่และเชิดชูอวตารของพระวิษณุทั้ง 10 หรือ 24 ปาง (จากคัมภีร์ภควัทปุราณะ และวิษณุปุราณะ) เน้นความร่าเริงและสนุกสนาน ตามอุปนิสัยของพระกฤษณะ ที่รักษาสมดุลทั้งทางโลกและทางธรรมได้อย่างลงตัว
นิกายไศวะ (Shaivism) นับถือพระศิวะเป็นใหญ่ เน้นการบำเพ็ญพรตแบบปัจเจก คล้ายลักษณะของพระศิวะ เน้นการกระทำโยคะ ดัดตน เพื่อรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระศิวะ
Yogis in Shaivaism (Nativeplanet.com)
นิกายศักติ (Shakti) นับถือพระแม่ หรือศักติของมหาเทพเป็นใหญ่ คือ พระแม่ปารวตี ชายาของพระศิวะ พระแม่ลักษมี ชายาของพระวิษณุ และพระแม่สรัสวตี ชายาของพระพรหม เชื่อว่าพลังแห่งการสร้างสรรค์และจักรวาลทั้งปวง กำเนิดมาจาก อาทิศักติ หรือพระแม่แห่งจักรวาล และแบ่งภาคเป็น 3 เทวีอีกที และให้กำเนิด 3 มหาเทพ
Prakiti the mother of the universe and Trimurti (Pinterest)
และยังมีนิกายอื่นๆอีกมากมาย แล้วแต่ว่านับถือเทพองค์ใดเป็นใหญ่ เช่น นิกายคณะพัทยะ นับถือพระพิฆเนศเป็นใหญ่ นิกายพรหม นับถือพระพรหมเป็นใหญ่ (ในยุคนี้ พระพรหมโดนลดบทบาทมากๆเลยครับ นิกายนี้แทบจะไม่เหลือแล้ว ส่วนว่าทำไมพระพรหมโดนลดบทบาท จะต้องเล่ากันยาวเลยแหละครับ) ที่สำคัญ ก็เกิดคัมภีร์ขึ้นมามากมาย ที่แต่งขึ้นมา เพื่อเชิดชูเทพเจ้าที่ตนนับถือ จะแต่งยังไง ใครโดนลดบทบาท แล้วแต่ศรัทธาของแต่ละนิกายเลยครับ เราเรียกชุดคัมภีร์นั้นว่า คัมภีร์ปุราณะ (Purana) มี 18 เล่ม แต่ละเล่ม ก็จะมีเนื้อหาอวยเทพเจ้าตามนิกาย เช่น นิกายไวษณพ ก็จะแต่งคัมภีร์วิษณุปุราณะ หรือ มัสยะปุราณะ นิกายไศวะ ก็จะแต่งคัมภีร์ศิวะปุราณะ เป็นต้น
urana Manuscripts from 15th- to 18th-century (Wikipedia)
แต่ในท่ามกลางความขัดแย้งนี้เอง ความเป็นหนึ่งเดียวก็ได้เกิดขึ้น สามมหาเทพ รวมเป็นหนึ่งเดียว ถูกเรียกขานโดยเสียงทิพย์ “โอม” นั่นเอง
โอม (Om) เกิดจากคำสามคำมารวมกัน
อะ- หมายถึงพระศิวะ
อุ- หมายถึงพระวิษณุ
มะ- หมายถึงพระพรหม
รวมกัน เป็นโอม เชื่อว่า เป็นสุรเสียงแห่งการสร้างสรรค์จักรวาล เป็นถ้อยคำที่อยู่เหนือทุกถ้อยคำ
Om symbol (Pinterest)
สมัยฟื้นฟู คือสมัยที่มีการปรับเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างให้ดีขึ้น เพราะต้องแข่งกับพุทธศาสนาที่กำลังแผ่ขยายในอินเดียมากเช่นกัน โดยฮินดู พยายามทุกวิถีทาง เพื่อกีดกันการเผยแพร่ศาสนาพุทธ เช่น การนำหลักธรรมของศาสนาพุทธบางอย่างมารวมกับศาสนาฮินดู การผนวกพระพุทธเจ้า ให้เป็นอวตารปางที่ 9 ของพระนารายณ์ (ให้มานับถือศาสนาฮินดูแทน) เรียกได้ว่า disruptive ศาสนาพุทธกันอย่างแรงครับ
แต่ในช่วงนั้น ศาสนาพุทธได้แพร่ขยายไปถึงแดนตะวันออกไกลและตะวันออกเฉียงใต้บ้างแล้ว ดังนั้น พุทธศาสนิกชนส้วนใหญ่ก็จะไม่ค่อยพบในอินเดียครับ
Painting of Adi Shankara, exponent of Advaita Vedanta with his disciples by Raja Ravi Varma (Wikipedia)
และสุดท้าย สมัยปัจจุบัน คือ สมัยภักติ (ภักดี) ได้เจริญขึ้นในภาคเหนือ นับถือพระวิษณุเป็นใหญ่ และมีอยู่ 3 นิกาย คือ
1. นับถือพระราม
2. นับถือพระกฤษณะ
3. นับถือพระราม หรือ พระกฤษณะ แต่ปฏิเสธว่าเป็นอวตารของพระวิษณุ แต่พระวิษณุต่างหาก ที่เป็นอวตารของพระราม / พระกฤษณะ (คือที่เคยอวตารกลับมาใหญ่กว่าตนเองน่ะครับซับซ้อนใช่ไหมครับ)
และเกิดปรัชญาสำนักต่างๆ ที่ได้พัฒนาและปรับปรุงให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น เช่น ลัทธิโยคะ ลัทธิสางขยะ ลัทธิมิมางสา ลัทธิเวทานตะ เป็นต้นครับ ขอจบแต่เพียงเท่านี้นะครับ เดี๋ยวมันอาจจะกลายเป็นบล็อกศาสนาไปเลย
เอาล่ะๆ ยุคสมัยต่างๆของศาสนาฮินดู จบแต่เพียงเท่านี้ครับ เพื่อให้พอทราบวิวัฒนาการของทวยเทพและยุคสมัยที่เกิดตำนานเรื่องเล่าแต่ละเรื่อง ต่อไป จะขอนำเสนอในเรื่องของ ตรีมูรติแต่ละองค์ครับ ว่าในพระหัตถ์ ถืออะไร สื่อถึงอะไร มีหน้าที่อะไรบ้าง รหัสลับที่แฝงอยู่คืออะไร
ของจบไว้แต่เพียงเท่านี้ สวัสดีครับ
@Krishna
2 บันทึก
1
4
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Hindu Mythology - เทพปกรณัมฮินดู
2
1
4
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย