16 ม.ค. 2021 เวลา 13:37 • ปรัชญา
สุขสันต์วันครูนะครับ
วันนี้จึงขอมาเล่าเรื่องสั้นๆ เกี่ยวกับปกรณัมฮินดู เนื่องในโอกาสวันครู เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเทพีแห่งปัญญา และศิลปวิทยาทั้งปวง นั่นคือ พระแม่สรัสวตี (Saraswati) หรือ สุรัสวดี
เรื่องราวของพระแม่สรัสวตีมีไม่มาก เทียบกับเรื่องของพระแม่ลักษมีกับพระแม่ปารวตี ที่เป็นชายาของพระวิษณุและพระศิวะ พระแม่สรัสวตีก็คือชายาของพระพรหม เทพแห่งการสรรค์สร้าง
สรัสวตี แปลว่า นางผู้มากด้วยสายน้ำทั้งมวล สรัส แปลว่า สายน้ำที่มากล้น และวตี แปลว่านางผู้ครอบครอง สายน้ำนี้อาจจะสื่อถึงแม่น้ำสรัสวตี หรืออาจหมายถึงปัญญาที่มีมากล้นดุจสายน้ำ
พระแม่สรัสวตีจะปรากฏในรูปของหญิงสาวห่มอาภรณ์ด้วยสาหรี่สีขาวบริสุทธิ์ เรียบง่าย สื่อถึงธรรมชาติอันแสนบริสุทธิ์ เหลือจะเข้าใจ และจิตวิญญาณอันแสนบริสุทธิ์ด้วยปัญญา นางมักจะอยู่อย่างสันโดษ ในพระหัตถ์ของนาง มีคัมภีร์และวีณา เครื่องดนตรีเก่าแก่ของฮินดู สื่อถึงความรู้แจ้งในศิลปศาสตร์ทุกแขนง มีพาหนะเป็นห่าน หรือนกกระสา เพาระมีความเชื่อว่า ห่านสามารถแยกนมออกจากน้ำได้ แสดงถึงสติปัญญา
Saraswati Devi
สิ่งสำคัญคือ นางคือคำตอบของพระพรหมที่สงสัยว่า “ข้าคือใคร” ในยามที่จะต้องสร้างจักรวาล เมื่อพระพรหมคือคำถาม นางก็คือคำตอบ พึ่งพาอาศัยกัน
การกำเนิดของนาง ตามคัมภีร์ปุราณะ เล่าว่านางถือกำเนิดจากพระพรหม ซึ่งได้เนรมิตสตรีคนแรกขึ้นมา นามว่า ศตรูปา แปลว่า นางผู้มีหลายรูป นางก็เป็นทั้งบุตรีและชายาของพระพรหมเช่นกัน ถือเป็นบุคคลวัตของสัจธรรม สิ่งใดที่พระพรหมเริ่มต้นด้วยความเขลา พระแม่สรัสวตีก็ทรงยุติมันด้วยปัญญา
แต่ถึงกระนั้น เมื่อพระพรหมทอดพระเนตรเห็นพระแม่สรัสวตี หรือ ศตรูปาแล้ว กลับไม่มองนางในฐานะคำตอบของคำถาม แต่มองนางในฐานะ วัตถุแห่งกามารมณ์ พระองค์ปราถนาในตัวนางเสียยิ่งกว่าจะเรียนรู้คำตอบจากนาง
คัมภีร์อุปนิษัทเล่าว่า บุตรีจึงแปลงกายเป็นห่านตัวเมียเหาะทะยานเพื่อหลบหนีสายตาอันมากด้วยราคะจากผู้เป็นบิดา แต่พระพรหมก็แปลงร่างเป็นห่านตัวผู้ไล่ตามนางไป นางจึงแปลงร่างเป็นม้าและโคตัวเมีย พระพรหมก็ยังแปลงร่างตามเป็นม้าและโคตัวผู้ ทุกครั้งที่นางพยายามหลบหนีโดยการแปลงร่าง พระพรหมก็ยังไล่ตามโดยแปลงร่างเป็นสัตว์ตัวผู้ประเภทเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ สรรพสัตว์ทั้งหลายบนโลกจึงเกิดขึ้นตามมา โดยนางศตรูปาซึ่งแปลว่า นางผู้มีหลายรูป
ในคัมภีร์ศิวปุราณะ เล่าไว้ต่อว่า พระพรหมหลงไหลในตัวนาง ถึงกับแบ่งเศียรออกเป็นสี่เศียร เพื่อเฝ้าดูนางทั้งสี่ทิศตลอดเวลา ซ้ำยังไม่พอ เมื่อนางเหาะหนีขึ้นด้านบนเพื่อหลบสายตา พระพรหมก็ยังเนรมิตเศียรที่ห้าขึ้นมาอีก หมายถึงราคะกิเลสที่มากเหลือ
จนร้อนถึงพระศิวะ จำเป็นต้องปราบราคะจริตในตัวของพระพรหมให้สิ้น จึงอวตารมาในร่างของ ไภรวะ (Bhairava) ปางดุของพระศิวะ เด็ดเศียรที่ห้าของพระพรหมทิ้ง ตั้งแต่นั้นมา อหังการและความปรารถนาในกามของพระพรหมก็หมดสิ้นไป แต่เศียรทั้งสี่ยังคงอยู่ เพราะหมายถึงตัวตนที่ควรดำรงอยู่เพื่อแสวงหามรรควิถีแห่งการหลุดพ้น
Bhairava cuts Brahma’s fifth face (photograherdirect.com)
ขอจบเรื่องราวของเทพีแห่งปัญญาของศาสนาฮินดูไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอปัญญาจงมีแด่ท่าน และระลึกถึงครูบาอาจารย์ที่ได้ถ่ายทอดศิลปวิทยามาให้เราใช้ดำรงชีพ ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง สวัสดีครับ
@Krishna

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา