8 พ.ค. 2021 เวลา 15:48 • นิยาย เรื่องสั้น
Hindu Mythology - เทพปกรณัมฮินดู ตอนที่ 4 : สาวิตรี (Savitri) ความรัก ปัญญา และผู้เอาชนะความตาย
สวัสดีครับ กลับมาพบกับผม @Krishna กันอีกครั้ง วันนี้จะขอมาเล่าเรื่องของ เทพปกรณัมทางฝั่งฮินดูบ้าง หลังจากเขียนเรื่องของปกรณัมกรีกมานานแสนนาน
อย่างที่ว่าไปนั่น ผมมาเล่าเรื่องนี้ เพราะมีเหตุที่จำเป็นต้องเล่าต่อจากเทพปกรณัมกรีกตอนที่แล้ว เรื่องของออร์ฟิอุส ชายหนุ่มรูปงามผู้สูญเสียดวงใจไปถึงสองครา เพราะมิอาจพาคนรักหวนคืนกลับมาหาเขาได้
แต่เรื่องราวนี้ที่ผมจะเล่า นั้นต่างออกไปครับ นี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ตัวเอก จะต้องใช้สติปัญญา และความเพียร เพื่อพาตัวคนรักกลับมาจากความตาย และทำสำเร็จเสียด้วย
และนี่คือเรื่องราวของ นางสาวิตรี ผู้นำพาสามีกลับมาจากความตาย และยังเป็นผู้ที่เอาชนะพระยม เจ้าแห่งความตาย ด้วยปัญญาที่แหลมคม
Yama and Savitri
ผมบอกไว้ก่อนนะครับว่า ส่วนใหญ่เรื่องราวความรักในเทพปกรณัมฮินดู ไม่ว่าจะต้องผ่านบทพิสูจน์แห่งรักหนักหนาเพียงใด มักจะจบแบบ Happy Ending นะครับ ไม่เหมือนนิทานรักในกรีก ที่ชอบแต่งเป็น Tragedy ทำร้ายตับของพวกท่าน
เอาล่ะ อย่าให้เวลาล่วงผ่านไปมากกว่านี้ มาเริ่มต้นเรื่องราวของหญิงงามผู้เอาชนะความตายกันเถิด
ดังที่ได้สดับมา…เรื่องราวของนางสาวิตรี เป็นเรื่องแทรกอยู่ในมหากาพย์ มหาภารตะ (Mahabharata) มหากาพย์ที่ยาวที่สุดในโลก เกี่ยวกับการสู้รบกันระหว่างพี่น้อง
นั่นคือ ฝ่ายปาณฑพ (Pandavas) หรือฝ่ายธรรมะ นำโดยพี่น้องปาณฑพทั้งห้าคน ล้วนเป็นบุตรแห่งเทพ
และฝ่ายเการพ หรือฝ่ายอธรรม นำโดย พี่น้องเการพ 100 คน
เหตุแห่งการเล่าเรื่องของนางสาวิตรี เกิดขึ้น ณ เหตุการณ์ช่วงหนึ่งในมหาภารตะ
1
บัดนั้น ฝ่ายปาณฑพแพ้สกาพนันกับฝ่ายเการพ จึงต้องเนรเทศตนเองออกจากเมืองที่ปกครอง และเร่ร่อนใช้ชีวิตในป่าเป็นเวลา 12 ปี และอีกหนึ่งปี ที่ต้องซ่อนตัวไม่ให้ใครหาตัวเจอ หากเปิดเผยตัวก่อนครบกำหนด จะต้องกลับไปเร่ร่อนในป่าใหม่อีก 12 ปี กับอีกหนึ่งปีที่ต้องซ่อนตัวเช่นเดิม
ในขณะนั้นที่ใกล้จะครบ 12 ปีที่ใช้ชีวิตในป่า เผอิญว่า นางเทราปตี (Draupadi) ชายาแห่งพี่น้องปาณฑพทั้งห้า (ใช่ครับ นางมีสามีถึงห้าคนพร้อมกัน ผมจะเล่ารายละเอียดเรื่องการแต่งงานของเทราปตีกับพี่น้องปาณฑพในอีกตอนหนึ่งนะครับ เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก) ได้ถูกฉุดลักพาตัวไปโดยท้าวชัยถรัท (Jayadratha) น้องเขยของทุรโยธน์ พี่คนโตฝ่ายเการพ ในขณะที่นางอยู่เฝ้าอาศรมกลางป่ากามัยกะอยู่เพียงผู้เดียว
1
ในขณะนั้น พี่น้องปาณฑพออกไปหาอาหาร เมื่อกลับมาถึงอาศรม ก็พบว่านางเทราปตี ชายาของเหล่าพี่น้องได้หายตัวไปจากอาศรมเสียแล้ว
ยังไม่ทันจะได้โศกเศร้าหรือไปตามหาเทราปตี ก็มีฤาษีท่านหนึ่งมาเยี่ยมเยียนเหล่าปาณฑพ ฤาษีท่านนั้นชื่อว่า ฤาษีมารคันเฑยะ (Markandeya) ฤาษีผู้มีใบหน้าเยาว์วัยตลอดกาล ด้วยพรแห่งองค์พระศิวะมหาเทพ (Shiva)
ท่านฤาษีทราบดีถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ณ บัดนี้ของเหล่าปาณฑพทั้งห้า ท่านจึงยิ้มแย้ม และปลอบใจยุธิษฐิระ พี่ชายคนโตของปาณฑพด้วยถ้อยคำที่นุ่มนวล
กล่าวว่า นางเทราปตี คือชายาที่แสนประเสริฐและจงรักภักดีต่อผู้เป็นสวามียิ่ง เปรียบได้ดังนางสีดาแห่งองค์ราม และนางสาวิตรี ผู้ใช้ปัญญาเอาชนะยมราช เพื่อพาสวามีกลับคืนมาจากความตาย รับรองว่า เทราปตีจะกลับมาหาพวกท่านเป็นแน่แท้
ว่าแล้ว พระฤาษีมารคันเฑยะ ก็ได้เริ่มเล่าเรื่องราวของนางสาวิตรี ผู้ทรงปัญญา ณ บัดนี้
สาวิตรี (Savitri) นางเป็นบุตรีแห่งท้าวอัศวบดี (Ashwapati) เจ้าผู้ครองแคว้นมัทระ (Madra) และมเหสี นางมัลวี (Malavi) ธิดาแห่งเจ้าผู้ครองแคว้นมัลวะ (Malava)
การกำเนิดของนาง กล่าวว่า พระราชา ท้าวอัศวบดี ได้กระทำพิธี บำเพ็ญเพียรภาวนาขอบุตรจากเทวีสรัสวตี (Saraswati) เทวีแห่งปัญญา และศิลปวิทยาทุกแขนงศาสตร์ เนื่องด้วยพระราชาไม่มีโอรสธิดามาแสนนานแล้ว
Saraswati Devi - Goddess of Wisdom
พระองค์ได้บำเพ็ญภาวนา นานถึง 18 ปี และแล้ว พระแม่สรัสวตี ชายาแห่งพระพรหมผู้สร้างสรรพสิ่ง (Brahma) ก็พึงพอใจในการปฏิบัติตนของพระราชาผู้นี้ จึงได้ลงมาให้พรแก่ท้าวอัศวบดี
พระแม่ จักประทานบุตรีแก่พระราชา แต่บุตรีคนนี้ จักเป็นผู้ที่มีปัญญาเฉียบแหลม รูปร่างที่สวยงามสง่า โฉมหน้าที่งดงาม กิริยามารยาทก็แสนหมดจด และผู้คน จะจดจำและกล่าขานวีรกรรมของนางไปชั่วนิจนิรันดร์กาล
ไม่นานหลังจากนั้น พระนางมัลวี ก็ได้ตั้งครรภ์เสียที เมื่อมาถึงคราวคลอดออกมา วันที่ทารกน้อยได้ลืมตาดูโลกเป็นวันแรก ฤาษีนารทมุนี (Narada muni) เทพฤาษีสาวกแห่งองค์พระวิษณุ ผู้รักษาโลก ได้มาเยี่ยมเยียน พร้อมกับตั้งชื่อให้กับทารกหญิงคนนี้ว่า สาวิตรี
Narada Muni - Heavenly Hermit and the follower of Lord Vishnu
ตามชื่อของเทวีผู้ประทานพรอันแสนประเสริฐแก่พระราชา เพื่อระลึกถึงพระคุณแห่งเทพีผู้ทรงปัญญา และเป็นสิริมงคลแก่ตัวนาง ว่าจักเติบโตมาพร้อมด้วยสติปัญญาที่แยบคาย เช่นเดียวกับเทพีผู้ประทานบุตรีคนนี้แก่ท้าวอัศวบดี
เพิ่มเติม : อีกพระนามหนึ่งของพระแม่สรัสวตี ก็คือ สาวิตรี ครับ จะเห็นได้ว่ารูปคำมีคงามคล้ายคลึงกัน
แล้วก็เป็นเช่นนั้น เจ้าหญิงสาวิตรี เติบโตมาพร้อมกับใบหน้าที่สวยสดงดงาม กิริยามารยาทที่หมดจด และที่สำคัญที่แสนจะวิเศษและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวนาง ก็คือ สติปัญญาที่มากล้นและเฉียบแหลมกว่ามนุษย์คนใด
อันว่าเป็นไปดังพรของพระแม่สรัสวตีที่ได้ตรัสไว้แก่ผู้เป็นบิดาของสาวิตรีทุกประการ
แต่ด้วยเหตุนี้แล ก็ไม่มีเจ้าชายจากแว่นแคว้นแดนใดที่อาจกล้ามาท้าทายและสู่ขอนางเลยสักคนเดียว เพราะเขาเหล่านั้น เกรงกลัวต่อปฏิภาณไหวพริบและปัญญาของเจ้านางสาวิตรีไปเสียทุกราย
ท้าวอัศวบดีผู้เป็นบิดา ก็ทรงวิตกกังวลใจ ว่าเจ้าหญิงผู้ปราดเปรื่องจะต้องเป็นหม้าย ไม่มีคู่ครองไปตลอดชีพ เพราะไม่มีผู้ใดเลยที่หาญกล้ามาสู้หน้านาง
พระองค์จึงตัดสินใจมอบสิทธิในการเลือกคู่ครองแก่บุตรสาวคนเดียวของพระองค์ เพราะถ้าหากรอกันต่อไป เกรงว่าจะหาชายที่คู่ควรแก่นางได้ยาก ยากเท่ากับการค้นหาเพชรงามในแม่น้ำคงคาอันแสนกว้างใหญ่ อันทอดยาวลงมาจากสวงสวรรค์
บัดนั้น สาวิตรีก็ได้ออกท่องป่าพร้อมด้วยข้ารับใช้และองครักษ์จำนวนหนึ่ง เพื่อตามหาชายที่จะมาเป็นคู่ครองของนาง ชายที่ศีลเสมอกันกับนาง
และนางก็ได้มาถึงยังอาศรมฤาษีกลางป่าแห่งหนึ่ง นางได้พบกับชายหนุ่มรูปงาม ในลักษณะของผู้ถือศีลพรตอย่างโยคี เขามีชื่อว่า สัตยวาน เขาได้ช่วยเหลือนางจากสัตว์ป่าที่จะเข้ามาจู่โจมนาง
Savitri and Satyavan
และนางก็ได้รู้ว่า แท้จริงแล้วเขาคืออดีตเจ้าชายแห่งแคว้นศัลวะ เขาอยู่อาศัยในป่าแห่งนี้กับบิดาและมารดาของเขา บิดาของเขาก็คืออดีตราชาแห่งแคว้นศัลวะ (Shalwa) นามว่า ทยุมัตเสน (Dyumatsena) มารดาของเขานามว่า ไสพยา
อดีตพระราชาอันว่าบัดนี้อยู่ในรูปของโยคีนั้น แต่เดิมสมัยยังครองราชย์ ทรงเกิดอาการพระเนตรบอดทั้งสองข้าง เหล่าพระญาติก็ต่างหมายจะแย่งชิงบัลลังก์ จนท้าวทยุมัตเสนและมเหสี ก็ต่างอุ้มทารกน้อย ซึ่งก็คือสัตยวานในขณะนั้น หลบหนีออกมาจากแคว้น และใช้ชีวิตอยู่ในป่าเยี่ยงวานปรัสถ์มาจนถึงทุกวันนี้
บัดนี้ องค์ชายก็เติบใหญ่ และยังคอยดูแลรับใช้บิดามารดาอยู่ไม่ห่างอย่างลูกกตัญญูมาตลอด นางสาวิตรีและสัตยวานต่างตกหลุมรักซึ่งกันและกัน นางสาวิตรีถูกใจสัตยวานในแง่ของความเป็นลูกกตัญญูต่อบิดามารดา และเป็นผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตน
ฝ่ายสัตยวานก็ชอบใจสาวิตรีตรงที่นางเป็นสตรีที่มิได้มีดีแค่ภายนอก แต่ยังดีงามไปถึงภายใน อันแสดงออกมาผ่านปัญญาที่มากล้นของนาง
และแล้ว นางก็ได้กลับกรุงมัทระ ไปเข้าเฝ้าพระบิดา เพื่อแจ้งว่า นางได้พบกับเนื้อคู่ของนางแล้ว
ขณะนั้น พระราชาอัศวบดี ก็กำลังสนทนาอยู่กับนารทมุนี เทวฤาษีที่มาเยี่ยมเยียนพระราชาพอดี ทันทีที่ฤาษีนารทได้ยินชื่อของชายที่เจ้าหญิงเลือก ก็กล่าวแก่นางสาวิตรีว่า
“กุลธิดาเอ๋ย จริงอยู่ที่ชายที่เจ้าเลือก สัตยวานนั้นมีคุณสมบัติเพรียบพร้อมทั้งกายวาจาใจ และยังกตัญญูต่อบิดามารดา
“แต่รู้เอาไว้เถิด ข้อบกพร่องเพียงอย่างเดียวที่อาจลบล้างคุณธรรมทั้งหมดของเขา ก็คือ เขานั้นจะมีอายุสั้น นับแต่นี้ไปหนึ่งปี เขาจะตกเป็นของยมราช มิมีผิดเพี้ยนไป
“ตัดใจเสียเถิดสาวิตรี ไปหาสวามีคนใหม่ที่อาจเพรียบพร้อมมากกว่านี้ และอยู่เคียงข้างเจ้า มอบความสุขให้เจ้าได้นานากว่านี้”
Narada Muni predicted the fortune of Satyavan - Savitri’s husband
สาวิตรี ก็มิได้หวั่นไหว นางตอบกลับไปด้วยใจที่สงบนิ่ง ความว่า
“ในชีวิตข้านั้น มีโอกาสเพียงครั้งเดียวที่จะได้เลือกคู่ครอง และข้าก็ได้เลือกเขาไปแล้ว การผิดเพี้ยนต่อคำสัตย์ย่อมไม่มีสำหรับข้าพเจ้า แม้นเขาจะอยู่กับข้าได้อีกเพียงขวบปี แต่ข้าก็จะรักเขาตลอดไป ไม่มีใครจะอยู่เคียงข้างข้าได้เช่นสัตยวานอีกต่อไป”
นารทมนีได้เห็นความแน่วแน่ของสาวิตรี ก็ประทับใจและสรรเสริญนางในฐานะผู้ยึดมั่นในรักแท้ พร้อมกล่าวให้พระราชาเคารพในการตัดสินใจของบุตรี ก่อนจะกลับไปสู่สวงสวรรค์ นารทก็อวยพรให้พระนางมีชีวิตคู่ที่ยืนยาว แล้วก็จากไป
จากนั้น ท้าวอัศวบดี ผู้เคารพการตัดสินใจของลูกสาว ก็ได้จัดงานวิวาห์แด่นางสาวิตรีและสัตยวานอย่างสมเกียรติ ณ ป่าที่ตั้งของอาศรมของสัตยวานนั่นเอง
เมื่อพระบิดากลับสู่เมืองแล้วหลังเสร็จสิ้นพิธี นางสาวิตรีก็ได้ปลดเปลื้องเครื่องอาภรณ์อันหรูหราทั้งปวง แล้วสวมใส่เสื้อผ้าย้อมฝาดเรียบง่าย ให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตในป่า
นางสาวิตรีก็ได้ดูแลปรนนิบัติพ่อแม่สามีเป็นอย่างดี ครอบครัวของสัตยวานช่างแสนโชคดีที่สัตยวานได้บุตรสาวสะใภ้ที่ทั้งสวยและฉลาดมาเป็นคู่ครอง ทดแทนกับการที่ต้องเสียบ้านเสียเมืองได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ
แต่ว่า…วันเวลาแห่งความสุขก็แสนสั้นนัก ไม่ช้า ก็จะถึงวันครบกำหนดที่สัตยวานจะต้องตาย นางสาวิตรีคอยนั่งนับวันที่ล่วงเลยไป เมื่อเวลา 3 วันก่อนวันตายของสัตยวานจะมาถึง นางได้บำเพ็ญเพียรภาวนา ถือธุดงค์ อดอาหารถึงสามวันสามคืน ทำพิธีกรรมเพื่อต่อลมหายใจสามี
และแล้ว วันที่สัตยวานจะต้องจากไป ก็มาถึง วันนั้น สาวิตรีติดตามสัตยวานเข้าป่าไปตัดฟืนด้วย ซึ่งแปลกกว่าทุกวัน เพราะปกตินางจะอยู่เฝ้าบิดา-มารดาของเขา เพราะนาง มีบางอย่างที่จะต้องกระทำให้สำเร็จ
และแล้ว สัตยวานก็เกิดอาการไม่สบายทั่วร่างกายระหว่างกำลังตัดไม้ จึงของีบหลับบนตักของสาวิตรี ทันใดนั้น สัตยวานก็สิ้นใจลง ภายในอ้อมกอดของนางสาวิตรี
แต่ยังมิทันจะได้ทุกข์โทมนัสใดๆ บุรุษร่างกายกำยำ ผิวสีดำคล้ำ ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ ในมือถือบ่วงและคทา มีพาหนะคือควายสีนิล ใบหน้าดุดัน แต่ก็แฝงไปด้วยความเที่ยงธรรม
เขาคือ ยมราช (Yama) เขาได้มารับดวงวิญญาณของสัตยวานไปด้วยตนเอง เพราะสัตยวาน มีจิตวิญญาณที่สูงส่ง กอปรด้วยคุณธรรม จึงสมควรแล้วที่เจ้าแห่งความตายจะมารับตัวไปด้วยตนเอง
Yama came to receive the soul of Satyavan
ทันทีที่พระยม ใช้บ่วงยมบาศ รัดดวงวิญญาณของสัตยวานเสร็จสิ้น ก็กำลังจะจากนางสาวิตรีไป แต่นางก็มิได้ยอมแพ้ แม้จะอยู่ในอาการโศกเศร้า
นางวางร่างของสัตยวานที่ไร้ลมหายใจไว้บนพื้น แล้วรีบรุดวิ่งตามพระยมไป ด้วยผลจากการประกอบพิธีถึงสามวันสามคืน ทำให้นางสามารถตามยมราชได้ทัน ด้วยพรจากพระแม่สรัสวตี
พระยม เมื่อเห็นนางตามมาติดๆ ก็รู้สึกแปลกใจ นางสาวิตรี ก็เริ่มเสวนาข้อธรรมะอันลึกซึ้งเกี่ยวกับปรัชญาฮินดูแก่ยมราช พระองค์รู้สึกพึงพอพระทัย จึงให้พรนางหนึ่งข้อ ยกเว้นชีวิตของสัตยวาน
นางขอพรว่า “ให้บิดาของสามีหม่อมฉัน มีดวงตากลับมามองเห็นดังเดิม”
ยมราช ก็ให้เป็นไปตามนั้น แล้วก็จากไป
แต่นางสาวิตรี ก็ยังติดตามยมราชต่อไปอีก คราวนี้ ก็เริ่มสาธยายข้อธรรมกับพระยมอีกครั้ง
พระยมก็พึงพอใจ ให้พรอีกหนึ่งข้อ ยกเว้นแต่ชีวิตของสวามีนางเช่นเคย
นางขอให้พระราชาทยุมัตเสน ที่บัดนี้ต้องหลบหนีครองเพศวาณปรัสถ์ ได้กลับคืนบัลลังก์
พระยมผู้เที่ยงธรรม ก็พรไปตามนั้น แล้วก็จากไป พร้อมอ้อนวอนให้พระนางอย่าติดตามตนมาอีก เพราะใกล้จะถึงเขตแดนที่มนุษย์มิอาจรุกล้ำเข้าไปได้แล้ว
แต่นางสาวิตรีก็มิหยุดยั้ง นางยังติดตามพระยมต่อไป คราวนี้นางได้อธิษฐานต่อพระแม่ลักษมี พระแม่ก็ประทานดอกบัวมารองรับนาง ให้เคลื่อนที่ติดตามยมราชได้ทันอีกครา แล้วนางก็เริ่มสาธยายธรรมะแก่พระยมอีกครั้ง
พระยมก็พึงพอพระทัยอีกครั้ง จึงได้ให้พรข้อที่สามแก่นาง แต่ก็ยกเว้นชีวิตของสัตยวายเช่นเคย คราวนี้นางขอให้พระราชา ท้าวอัศวบดี บิดาของนาง ให้ทรงมีโอรสหนึ่งร้อยคน เพื่อให้มีพระราชามีทายาทสืบสันตติวงศ์ต่อไปได้มิขาดสายลง
พระยมให้พรตามนั้น แล้วก็จากไป พร้อมกับขอให้นางสาวิตรีอย่าได้ติดตามตนมาอีก เพราะจะถึงเขตแดนแห่งคนตาย ยมโลกแล้ว ที่ที่นางผู้ยังมีลมหายใจ มิอาจรุกล้ำเข้าไปได้
แต่นางสาวิตรีก็มิหวั่นต่ออุปสรรค นางได้ระลึกถึงพระแม่สรัสวตี เทวีแห่งปัญญา พระแม่ก็ตอบรับเสียงอ้อนวอนจากนาง โดยการส่งหงส์ประจำตัวของพระองค์ ให้พานางสาวิตรีติดตามพระยมไปจนถึงยมโลก
พระยม แลเห็นสาวิตรีติดตามมาอีกจนได้ คราวนี้พระองค์ก็อ้อนวอนให้นางกลับไปเสียแต่โดยดี นี่เป็นเขตแดนแห่งคนตาย นางมิอาจอยู่ที่นี่หากยังมีลมหายใจได้
นางสาวิตรี ก็เริ่มเอ่ยข้อธรรมอีกครั้ง แต่คราวนี้ เป็นบทสรรเสริญพระคุณความดีและเกียรติของตัวพระยมผู้เที่ยงธรรมต่อทั้งสามโลก พระยมก็พึงพอใจอีกครั้ง ให้พรข้อที่สี่แก่นาง ด้วยเงื่อนไขห้ามเป็นชีวิตของสัตยวานเช่นเคย
คราวนี้ สาวิตรีขอพรข้อที่สี่ ความว่า ขอให้นางได้มีบุตรหนึ่งร้อยคนกับสัตยวาน เพราะมันย่อมไม่ถูกต้องหากนาง ในฐานะสตรีผู้ซื่อสัตย์ต่อสามีจะแต่งงานใหม่
พระยมก็ให้พรไปตามนั้นเช่นเคย และสั่งให้สาวิตรีกลับไปได้แล้ว
แต่ทว่า สาวิตรีกลับไม่ยอมไปไหน นางได้ทียมราชเสียแล้ว นางเอ่ยวาจาที่จะต้องทำให้พระยมต้องพ่าย เพราะอะไรน่ะหรือ
“พระองค์ผู้ทรงเป็นนายเหนือความตายของทุกชีวิต พระองค์ประทานพรให้ข้ามีบุตรถึงร้อยคนกับสวามีของข้า แต่พระสวามีของหม่อมฉันล่ะ ยังอยู่กับท่าน หากมิมีเขาอยู่เคียงข้างกายข้า แล้วพรของท่านจะสัมฤทธิ์ผลได้ด้วยประการใดกัน พระเจ้าข้า”
พระยมผู้เที่ยงธรรม ได้ยินดังนั้นก็ตระหนักได้เสียทีว่า เสียทีแก่นางสาวิตรีผู้มีปัญญาหลักแหลมเข้าแล้ว ก็หัวเราะลั่น แล้วเอ่ยปากตอบกลับไปว่า
“ให้พรเป็นไปตามนั้น เราจะคืนสวามีของเธอให้แก่เธอไป สัตยวานก็จะมีอายุนับร้อยปี มีโอรสที่เกิดกับเธอหนึ่งร้อยคน เป็นพรอันประเสริฐแก่ตัวเธอ ผู้เอาชนะเราด้วยปัญญา”
Yama gave the Satyavan’s soul back to Savitri
จากนั้นพระยมก็ได้คลายบ่วงยมบาศที่รัดดวงวิญญาณของสัตยวานออก ให้กลับไปสู่กายเนื้อของสัตยวานอีกครั้ง แล้วก็จากนางไป
นางสาวิตรี บรรลุผลสำเร็จแล้ว ก็กลับไปสู่ที่ ณ สัตยวานหลับไหลอยู่ เมื่อนางได้มาถึง สัตยวานก็ตื่นขึ้นมา เขามีความรู้สึกว่า ตนเองตื่นมาจากการหลับไหลอันยาวนาน ความเจ็บป่วยได้หายเป็นปลิดทิ้ง และจำได้ลางๆว่ามีบุรุษร่างกำยำถือบ่วงเข้ามาใกล้เขา แต่ทุกสิ่งก็เหมือนจะเป็นภาพฝันไปเสียแล้ว
วันรุ่งขึ้นสาวิตรีก็ได้บอกความจริงแค่สัตยวานและผู้เป็นบิดามารดา ที่บัดนี้ ดวงเนตรกลับมามองเห็นโลกอีกครั้ง ทุกคนซาบซึ้งในการกระทำของสาวิตรียิ่ง ไม่นาน เหล่าชาวเมืองศัลวะจำนวนมากได้มาเข้าเฝ้าพระราชาที่อาศรม เพื่อเชื้อเชิญพระราชาให้กลับไปครองเมือง
บัดนี้ เหล่าศัตรูผู้มาชิงบัลลังก์ ได้ถูกเหล่าเสนาอำมาตย์จัดการไปจนหมดแล้ว เหล่าบริวารก็ต่างพากันหลบหนีไปจนสิ้น จึงสมควรที่ท้าวทยุมัตเสน จะเสด็จคืนสู่บัลลังก์อีกครา
และแล้ว พระราชาทยุมัตเสน ก็ได้กลับมาสู่ศัลวะ ในฐานะราชาอีกครั้ง เจ้าชายสัตยวาน อยู่ในตำแหน่งยุพราช ฝ่ายท้าวอัศวบดี บิดาของสาวิตรี ก็ได้มีโอรสด้วยนางมัลวี นับร้อยคน เพื่อสืบราชสมบัติต่อไป ดังพรของพระยม
ต่อมาเมื่อท้าวทยุมัตเสนสิ้นพระชนม์ลง สัตยวานก็ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากบิดา และนางสาวิตรี ก็ได้เป็น มหารานี เคียงคู่กับสวามีผู้เป็นที่รักสืบมา นับร้อยร้อยปี มีความสุข ชั่วกาลนาน
และเรื่องราวของพระนางสาวิตรี ผู้ทรงปัญญา ที่เอาชนะได้แม้แต่ความตาย ก็จบลงด้วยประการฉะนี้แล
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับเรื่องราวของสาวิตรี ยาวนิดนึงนะครับ เพราะผมไม่อยากให้พลาดรายละเอียดสำคัญๆที่จะทำใหัเรื่องราวนั้นสนุกและเข้มข้นยิ่งขึ้น เรื่องของสาวิตรี ให้ความรู้สึกลุ้นระทึกแบบเดียวกับเรื่องของออร์ฟิอุส แต่ทว่าออร์ฟิอุสให้อารมณ์โรแมนติกแบบโศกนาฏกรรม
แต่เรื่องของสาวิตรี พยายามชี้ให้เห็นถึงความซื่อสัตย์ต่อคู่ชีวิต และการใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหา และก็ยังให้ข้อคิดสำคัญว่า ผู้เป็นอิสตรี ก็สามารถมีปัญญาไม่ต่างจากเพศชาย และปัญญาที่แท้ ก็สามารถเอาชนะความตายได้
และเป็นที่น่าสังเกตว่า สาวิตรีเป็นผู้หญิงไม่กี่คนในวรรณกรรมที่มีสิทธิในการเลือกหลายอย่างในชีวิตสูงมาก อาจด้วยเพราะการสนับสนุนจากบิดามารดา และด้วยปัญญาที่เป็นเกราะคุ้มครองนาง ให้นางสามารถเลือกในสิ่งที่คู่ควรกับนางได้อย่างแท้จริง
ยังไงก็ขอจบเรื่องราวของนางไว้แต่เพียงเท่านี้นะครับ ตอนหน้าผมอยากจะมาเล่าเรื่องราวของความรักอีกเช่นเคย ทุกท่านคงจะอ่านเรื่องราว Bad Ending ของกรีกจนเอียนแล้ว คราวนี้ผมขอมาเล่าเรื่องราวความรักแบบ Happy Ending ของกรีกบ้าง
คำใบ้ : คู่รักคู่นี้ ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ ฝ่ายหนึ่งถอยหนี ฝ่ายหนึ่งไล่ตาม จนสุดท้าย พวกเขาก็พิสูจน์ให้เราได้รับรู้ ว่าความรัก และจิตวิญญาณ มิอาจถูกพรากจากกันได้
รอติดตามนะครับ สำหรับวันนี้ ผมขอลาไปก่อน แล้วเจอกันใหม่ ภายในสามวัน สวัสดีครับ
Viva La Vida
@Krishna

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา