14 ก.ย. 2020 เวลา 04:27 • ความคิดเห็น
องค์กรควรทำการสัมภาษณ์พนักงานตอนลาออก (Exit Interview) ไหม
เมื่อวันก่อน นักข่าวจาก นสพ.ฉบับหนึ่ง โทรมาขอสัมภาษณ์ เกี่ยวกับกรณีช่างภาพสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ลาออก แล้วไปโพสด่าการทำงานของช่องตัวเองทางโซเชียลมีเดีย จนเป็นข่าวเกรียวกราว
คำถามคือ องค์กรควรทำการสัมภาษณ์พนักงานตอนลาออก (Exit Interview) ไหม อย่างน้อยเพื่อให้พนักงาน ได้พูดถึงความอัดอั้นตันใจ แทนที่จะไประบายออกทางสื่อสังคมออนไลน์
ผมตอบไปยาว แต่สรุปสั้นๆ ดังนี้
1. Exit Interview : การสัมภาษณ์พนักงานลาออก อาจเป็นช่องทางในการสื่อสารที่ดูเหมือนว่าจะสายเกินไป แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำ เพราะอย่างน้อย ก็ทำให้รู้ว่าพนักงานคิดและรู้สึกอย่างไร ลาออกเพราะปัจจัยดึง (Pull) จากภายนอก หรือปัจจัยดัน (Push) จากภายใน
2. Post Exit Interview : แต่การสัมภาษณ์ตอนลาออก อาจไม่ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนและตรงตามความเป็นจริง เพราะพนักงานหลายคน อาจรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะพูดอะไรตรงๆ ณ เวลานั้น หลายๆ องค์กร จึงทำการสัมภาษณ์พนักงานที่ลาออกไปแล้วอีกครั้ง โดยเว้นระยะสัก 3-6 เดือน เรียกว่า “Post Exit Interview”
3. Stay Interview : นอกจากได้ทราบว่าพนักงานลาออกด้วยเหตุผลใด โดยการสัมภาษณ์ตามข้อ 1 และ 2 แล้ว องค์กรควรทราบด้วยว่าพนักงานที่ยังทำงานอยู่ เขาทำงานอยู่เพราะเหตุผลใด อะไรเป็นปัจจัยดึงดูดให้เขาทำงานที่นี่ต่อไป เรียกว่า “Stay Interview”
4. Satisfaction & Engagement Daily Survey : ปกติ ความอึดอัด ลำบากใจ ของพนักงาน ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่วันเดียว แต่ใช้เวลาสั่งสมความไม่สบายใจมาเป็นระยะๆ การสัมภาษณ์ตอนลาออก หรือ การสัมภาษณ์ขณะที่ยังทำงานอยู่ คงทำได้เป็นครั้งคราว ดังนั้น เพื่อให้มีช่องทางในการวัดอุณหภูมิความรู้สึกของพนักงานเป็นประจำสม่ำเสมอ องค์กรควรทำการสำรวจความพึงพอใจหรือความรู้สึกผูกพันของพนักงานทุกๆ วัน โดยใช้แอพพลิเคชั่น ที่มีอยู่มากมายในท้องตลาด ซึ่งเป็นการถามคำถามง่ายๆ ทุกๆ วัน เพื่อจะได้รู้ว่าพนักงานรู้สึกอย่างไร เช่น ถามว่า “วันนี้ พลังในการทำงานของคุณอยู่ในระดับใด - สูง กลาง ต่ำ” เป็นต้น
จริงอยู่ พนักงานลาออกเป็นเรื่องปกติ แต่ความรู้สึกที่มี หลังจากลาออกไปแล้ว เป็นส่ิงที่องค์กรสามารถบริหารจัดการได้ ถ้าใส่ใจและตั้งใจทำให้ดี
อย่าลืมกดติดตาม LINE OA : Leadership Hacks (https://is.gd/qB4UgH) สำหรับข่าวสารและอาหารสมองดีๆ
โฆษณา