Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นิ้วโยก Moving_Finger
•
ติดตาม
15 ต.ค. 2020 เวลา 06:57 • นิยาย เรื่องสั้น
EP 3: David Beckham อดีตนักฟุตบอลชื่อดัง มีลูกชายคนหนึ่งชื่อ Brooklyn อ่านได้ว่า บรู๊คลิน มันเป็นย่านที่เขากับภรรยาสองคนมาสวีทกันสมัยก่อน และก็จ้ำจี้กันจนเกิดเป็นเจ้าตัวน้อย ก็เลยตั้งชื่อเหมือนกันกับเขตพื้นที่ไปเพื่อเป็นที่ระลึกไปซะงั้น ให้ตายเถอะผมไม่เคยได้ยินชื่อของลูกใครชื่อ Manhattan, The Bronx, Staten Island หรือ Queens เลยนะ มันคงพอบอกได้ว่า ชื่อ Brooklyn นั้นมันมีความ Cool มากที่สุด ในห้าเขตนิวยอร์กเลยทีเดียว จินตนาการไม่ออกเลยว่า ถ้า Beckham มาเดทกับภรรยาแถว ๆ สะพานซังฮี้ ลูกออกมาชื่อ ซังฮี้ เบคแฮ่ม, พิษณุโลก เบคแฮ่ม แฮ่! เท่ไม่หยอกเชียวนะว่าไหม
สวัสดีค้าบ ผมชื่อ อ็อตโต้ มีแขนใหญ่โตเป็นอวัยวะ!
กลับมาเข้าเรื่องกันดีกว่า หลังจากที่ผมสอบ (สัมภาษณ์) ผ่าน ได้เข้าสู่รั้วของมหาวิทยาลัยร้านอาหาร คณะแรกที่ผมได้เข้าเรียน คือ คณะ Cashier & Telephone service เป็นภาษาอังกฤษแล้วฟังดูเท่ห์ อุเทนทีเดียว จริง ๆ คือ เป็นคนคิดเงิน ทอนเงิน กับรับโทรศัพท์เท่านั้นเอง แหม่! สำหรับอดีตหลงจู้ที่บ้านทำธุรกิจค้าขายอย่างผม บอกได้เลยว่าไม่มีปัญหาอะไรเล๊ย ๆ ๆ กับแค่รับเงินมาแล้วก็ทอนตังลูกค้า ซื้อเท่าไหร่ทอนเท่านั้น จบปริญญามามีหรือจะบวกเลขแค่สองสามหลักไม่ได้ฟ่ะ ขนมกรุบแบบนี้ไม่อยากจะโม้!
แต่ถ้าเรื่องราวมันง่ายแค่นี้ ผมคงไม่มานั่งเขียน เอ็น.วาย.กู. ให้เมื่อยหรอกครับ นี่มันแค่จุดเริ่มต้น ก้าวแรก คณะแรกเท่านั้นเอง เราคงเคยได้ยินใช่ไหมครับ ที่เวลาเข้ามหา'ลัย แล้วได้ยินเรื่องเล่าสยองขวัญ อย่างห้องน้ำผีที่อยู่ชั้นสาม หรือหอสยองขวัญมีคนแขวนคอตายไรงี้ คนล่ะอย่างกับบ่อนผีชลบุรีนะครับ บ่อนไรวะ ไม่เจอไพ่ ไม่เจอโต๊ะ ไม่เจอแม้แต่คนเล่น บ่อนผีจิม ๆ แฮ่! เรื่องน่าสะพรึงกลัวอย่างแรกที่เด็กใหม่ทุกคนจะต้องเจอ จะไม่เล่าถึงคงเป็นไปไม่ได้ นั่นคือ 'เสียงเรียกปริศนา...' โบร๋ว….
“ตรู๊ด...ตรู๊ด............ ตรู๊ด...ตรู๊ด..........” เอิ่ม ตั้งชื่อซะน่ากลัว เหมือนรายการ The Shock ที่จริงแล้วมันคือเสียงโทรศัพท์บ้านธรรมดา แต่ลองคิดดูนะครับ ว่าคุณเติบโตมาในประเทศที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเป็นหลัก และที่เล่าเรียนมาในรั้วโรงเรียนตั้งแต่เด็กจนโตนั้น คุณก็พูดได้แค่ว่า Good morning teacher, how are you? , I'm fine thank you, sit down. ซึ่งมันใช้ในชีวิตจริงไม่ได้เลย ๆ ๆ การที่ต้องรับโทรศัพท์ด้วยภาษาอังกฤษนั้น มันจึงเป็นเรื่องที่น่ากลัว หลอนสัส เชื่อได้ว่า Freshy ปีหนึ่งทุกคนกลัวโมเม๊นท์นี้ที่สุด และผมเองก็เช่นกัน เสียงโทรศัพท์บ้าน ๆ มันน่าสะพรึงกลัวอย่างที่ผมไม่เคยรู้สึกมาก่อน เสียงที่ดังเป็นจังหวะ เนิบ ๆ ตามปรกติ แต่เหมือนว่าวันนี้เสียงโทรศัพท์มันค่อย ๆ กระชั้น เร่งความถี่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาที่มันดัง
"ตรู๊ด.ตรู๊ด... ตรู๊ด.ตรู๊ด..." ผมมองโทรศัพท์สีขาวครีมเครื่องเล็ก ด้วยหัวใจที่เต้นไม่เป็นส่ำ!
“อ้าว! ทำไมไม่รับซะทีล่ะ อ็อตโต้” เสียงของพี่รัตน์ที่นั่งอยู่ข้าง ๆ ปลุกผมให้ตื่นจากภวังค์ ผมไม่มีทางเลือก กลั้นใจหยิบหูโทรศัพท์ขึ้นมา
“แกร๊ก...ฮัลโหล” ผมรับสายด้วยใจที่ตุ้ม ๆ ต่อม ๆ
“เฮ้ฮาวอาร์ยู ไอไลค์ทูออเด้อฟูํดส์ฟอร์เดลิเว่อรี่พลีส” ปลายสายเป็นเสียงฝรั่งแท้ ที่พูดมาแบบไม่มีช่องเว้นวรรคเลย ให้ตายเถอะ! มันมาแบบเร็วมาก แบบที่ฟังไม่รู้เรื่องเลยสักคำ นอกจากคำว่า เดลิเว่อรี่ ซึ่งแปลว่าขนส่ง ผมเดาความได้ว่า นี่เขาคงต้องการสั่งอาหารให้ไปส่งที่บ้านเขา
“เยส โอเค โน พร็อบแบร็ม ว๊อท ดู ยู ว๊อน” ผมตอบกลับไปแบบเด๋อ ๆ ก็ถ้าแปลแบบบ้านเราก็แปลได้ว่า “เออ โอเค ไม่มีปัญหา จะกินอะไรล่ะ” คือ มันห้วนไปอ่ะนะ เหมือนคนไม่มีการศึกษาพูดยังไงยังงั้นเลย 555 ก็กรูจบปริญญาตรีมา ได้แค่นี้ก็บุญแล้วอ่ะนะ
“ไอวอนนาแฮฟ วันกรีนเคอรี่ชิกเก้นท์วิทเอ๊าท์เอ๊กแพล้น แอ่นวันไพน์แนฟเปิ้ลฟรายไรซ์วิทชริมส์ โนแคชชูลนัท แอ่นทูไทยไอซ์ทีวันไลท์ไอซ์ แอนฮ็อตซอสออนเดอะไซด์ กรีนเคอรี่พลีสเม็กอิทไมลด์ น็อตทูสไปซี่” เจ้าของภาษาสวนกลับมาแบบเป็นพรืด เร็วเหมืิอนรถไฟหัวกระสุน! แต่สำหรับคนที่หูเพิ่งจะเริ่มกระดิกกับภาษาอังกฤษได้ประมาณสิบวัน สองสัปดาห์ แบบผมนั้น ก็ได้แต่ร้อง ว๊อทดาฟลั๊ก! คือ คุณมึงจะพูดเร็วอะไรเบอร์นั้น ขอเร็วแบบรถไฟไทยได้ไหมอ่ะ!
“ซอรี่ แคนยูสปีควันมอไทม์ อะลิเติ้ลบิท สโลว์ลี่พลีส” ผมพูดไปพลางพยามยามจดรายการอาหารที่คู่สายสั่งมา กรีนเคอรี่ แปลว่าแกงเขียว นั่นก็คือ แกงเขียวหวาน ไม่ใส่อะไรนะ เอ๊กแพล้น แล้วไอ้เอ๊กแพล้นนี่มันอะไรหว่า กับอะไรวะที่เขาสั่งมาอย่างที่สอง กรูฟังไม่ทัน หัวหนัก สมองไม่ทำงาน มันเบลอไปหมด ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรไปแล้ว ได้แต่หันไปมองหน้าพี่รัตน์ พร้อมส่งสัญญาณ S.O.S. ขอความช่วยเหลือ พร้อมสายตาอ้อนวอน ซึ่งพี่รัตน์ก็ได้แต่มองหน้า ส่ายหัวหนึ่งที ก่อนจะคว้าเอาโทรศัพท์ไปคุยกับลูกค้าเอง และเพียงแค่ชั่วครู่เดียวเท่านั้น พี่รัตน์ก็ปิดการขายได้สำเร็จ เขียนรายการลงบิลแล้วก็เดินเอาไปเสียบในช่องเสียบตั๋วให้ทีมครัวทำงานต่อได้แบบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
“พี่รัตน์ครับ เขาสั่งอะไรบ้างอ่ะครับพี่” ผมถาม
“เขาสั่งแกงเขียวหวานไม่เอามะเขือม่วง*” พี่รัตน์ตอบแบบสบายๆ
“มะเขือม่วง?” ผมทวนคำ ตอนนี้ผมรู้แล้วว่า ไอ้เจ้าเอ๊กแพล้นนั่นคือมะเขือม่วงนี่เอง ได้ล่ะ ต่อไปผมจะไม่พลาดอย่างเดิมอีกเด็ดขาด ก่อนที่จะรีบจดบันทึกคำศัพท์ใหม่ ๆ ลงไปในสมุดเล่มเล็ก ๆ ที่ผมพกติดตัวไว้
“แล้วอีกอันนึงนะ เขาก็สั่งข้าวผัดสัปปะรดไม่ใส่เม็ดมะม่วงหิมพานต์**” พี่รัตน์สอนอีกคำศัพท์ แคชชูลนัทคือ เม็ดมะม่วง ผมรีบจดยิก ๆ ลงในสมุดทุกคำที่พี่รัตน์สอน พี่รัตน์เสริมต่อ
“โต้ต้องอ่านพวกเมนูด้วยนะ เพราะว่ามันจะมีคำศัพท์ที่เราใช้บ่อย ๆ คนที่นี่เรื่องเยอะ เดี๋ยวไอ่โน่นกินได้ ไอ้นี่กินไม่ได้ บางคนแพ้ด้วย กินเข้าไปแล้วมีอาการแพ้ ถูกส่งเข้าโรงพยาบาล เขาซู*** เราได้นะ เราต้องเอาให้ชัวร์ อันไหนเราไม่รู้ ไม่แน่ใจ อย่าเดาเอาเองว่าไม่เป็นไร ต้องตรวจดูให้แน่ใจนะว่า เรารับออเด้อถูกไหม ถ้าทำผิดไป เราต้องทำไปให้เขาใหม่ เสียทั้งค่าอาหารค่าเวลา" พี่รัตน์สอนอย่างอดทน ให้มือใหม่อย่างผมได้เข้าใจ
"และที่สำคัญ คือ ห้ามผิดเด็ดขาด เพราะเราต้องเสียค่าอาหารที่ทำผิดไปด้วยนะ!” พี่รัตน์เน้น
“เสียตังเองด้วยเหรอครับ!” ผมอุทานออกมาเลย โอ้วแม่เจ้า อาหารจานนึง อย่างพวกข้าวผัด ผัดไทของร้านก็ตกที่ประมาณ $12-16 ถ้าเป็นพวกเป็ด ปลา ก็ทะลุหลัก $20 ต่อจาน ถ้าผิดไปสักสองจาน ค่าตัวคืนละ $50 บาทของผมก็คงมีอันสูญ แถมเผลอ ๆ ต้องควักตังเติมอีกต่างหาก ว่าแล้วผมทำตัวเลียนแบบดาราที่ชอบกลัวของแปลก ๆ กลัวเป็ด กลัวทุเรียน กลัวสัปปะรด ส่วนผมกลัวโทรศัพท์! กลายเป็นคนมีอาการไม่กล้ารับโทรศัพท์ กลัวว่าจะไม่เข้าใจ กลัวว่าจะรับออเด้อผิด กลัวว่าจะจดที่อยู่ไม่ถูก สรุป กลัวแมร่งไปหมด! ถ้ามีทอนตังลูกค้า ผมก็จะรีบเข้าไปรับก่อนเลย ส่วนถ้าโทรศัพท์เข้ามา ผมก็จะแอบมองพี่รัตน์ก่อนว่าแกอยากจะรับไหม ซึ่งพี่รัตน์ก็ใจดี ช่วยรับให้เสมอ ๆ ผมก็เลยไม่ต้องรับโทรศัพท์เท่าไหร่นัก หรือโชคดีที่รับมาแล้วไม่ยากในการฟังเท่าไหร่นัก
สองสามวันหลังจากนั้น ผมก็รับผิดชอบงานได้ดีทอนเงินให้กับลูกค้าไม่เคยผิด ปิดบัญชีตรงเป๊ะไม่เคยพลาด รับโทรศัพท์ก็ไม่มีปัญหา ทุกอย่างราบรื่นไปได้ด้วยดี กลับบ้านทุกวันพร้อมรอยยิ้มกับเงิน 50 บาทและข้าวหนึ่งกล่องเสมอ ๆ พอเวลาผ่านไปสามเดือน พี่แอนดี้ก็เพิ่มเงินค่าตัวให้เป็นวันล่ะ $200 เพราะผมทำงานเก่ง อีกสามเดือนผมก็ได้รับการโปรโมทเป็น Manager ท่ามกลางสายตาริษยาของเว๊ทรุ่นเดอะ ขี้อิจฉาทั้งสอง สุดท้ายผมก็เป็นเจ้าของร้านอาหารบ้าง ร้านขายดี มีความสุข จบ ปิดหนังสือได้! ถุ๊ย!!!!!! ไม่มีซะหรอก! ไม่ใช่รัฐบาลนะ มัวแต่สร้างภาพ งานการไม่ทำ ที่มโนมาทั้งหมดนั้นโคตรตรงข้ามกับความจริงเลย!
อาจเป็นโชคดีที่ผมเริ่มงานวันธรรมดา เลยยังไม่เจอของแรงตั้งแต่วันแรก อย่างพวกคืนวันศุกร์ วันเสาร์ที่เป็นวันยุ่งของร้าน และขายดีกว่าใครเพื่อน ปรกติที่ร้านเริ่มจะยุ่งตอนประมาณเจ็ดโมงเย็น และก็จะยุ่งที่สุด ตอนสองทุ่มถึงสามทุ่มครึ่ง คือลูกค้าจะมากันให้พรึ่บแบบเต็มร้านพร้อมกันเลย เว๊ทสามคนก็วิ่งกันหัวหมุน รับออเด้อ เสิร์ฟน้ำ ออกอาหาร วางบิล เก็บเงินลูกค้า อาหารต่าง ๆ ที่รับออเด้อมาจากทางโทรศัพท์ ถูกแพ็คใส่ถุงเอาไว้แล้วกองเป็นพะเนิน รอให้พี่โก้แม๊กซิกัน Delivery guy ที่มีอยู่ถึงสี่คน เอาไปส่งให้ตามบ้านแบบไม่มีพัก โทรศัพท์สองเครื่องต่างก็ทำงานแบบ Non-stop เสียงดังตลอดแทบจะทุกนาที
ผมเองจากที่พี่รัตน์คอยช่วยอยู่ แต่พอเข้าช่วงยุ่งมาก ไหนจะต้องรับโทรศัพท์ จะต้องทอนเงิน ไล่เคลียร์อาหารที่ลูกค้าสั่ง ต้องบอกรายละเอียดกับพี่แม๊กซิกันคนส่งอาหารอีก แกเองก็ไม่สามารถที่จะมาคอยช่วยผมได้ ถ้าผมไม่สามารถทำงานได้เหมือนกับพี่รัตน์ พี่รัตน์ก็มีหวังแย่ และสุดท้ายผมเองก็อาจจะได้ไปหางานใหม่ ผมเห็นสภาพพี่รัตน์เหมือน Swordman ที่เก่งกล้าในสนามรบ ผมเองก็ต้องเลื่อนขั้นจาก Novice เป็น Swordman ให้ได้ล่ะวะ เอาวะ สู้โว๊ย! วีรบุรุษสร้างจากสถานการณ์ ไม่ใช่รัฐประหารเหมือนบางประเทศ! ย๊า!!! ตรู๊ด... ตรู๊ด...เสียงโทรศัพท์ดังเข้ามา.... ผมไม่รอช้า คว้าหมับรับสายทันที
“ฮัลโหล ดีสอีสครัวข้าวไทย ฮาวเมไอเฮ้ฟยู๊” ผมเริ่มต้นพูดช้า ๆ เน้น ๆ สำเนียงไทยจ๋า ก็กูสำเนียงไทยอ่ะ จะกลัวอะไร ทุกประโยคผมพูดเหมือนพี่รัตน์ตอนแกรับโทรศัพท์ อาศัยว่าทั้งจด ทั้งจำเอาตอนที่ได้ยินพี่รัตน์รับโทรศัพท์
“เยส ไอฟ์ไลค์ทูออเด้อฟอร์เดลิเวอรี่พลีส” ปลายคู่สายพูดมา นางตอบกลับมาแบบเน้นแต่ละคำเช่นกัน ผมเงยหน้าน้ำตาแทบไหล เพราะฟังออก นางอยากจะสั่งให้เดลิเวอรี่ ไม่รอช้า รีบขอที่อยู่นางทันที
"แคนไอแฮฟยัวร์โฟนนัมเบอร์ แอนแอดเดรสพลีส" ผมขอเบอร์โทรกับที่อยู่ลูกค้าสาวทันที ผมรีบจดพร้อมทวนให้แน่ใจ เบอร์ต้องไม่ผิด ที่อยู่ต้องถูก ถึงผมรับออเด้ออาหารผิด อย่างน้อยก็ยังตามส่ง ตามแก้ได้
“อีสต์วันซิ๊กตี้เอ็ต ฟิฟต์แอฟ อพาร์ทเมนท์ทูแอฟ” นางบอกมาว่า บ้านนางเป็นอพาร์ทเม้นท์ ที่อยู่คือ 168 ถนน 5th AVE ห้อง 2F ในสมัยนู้นที่การสั่งอาหารยังต้องใช้การโทรสั่งทางโทรศัพท์เท่านั้น แอฟสั่งอาหารแบบ Grubhub หรือ Uber Eat ยังไม่เกิด แผนที่ไม่ต้องพูดถึง คนส่งอาหารทุกคนจำได้หมดว่าที่อยู่ไหนอยู่ที่ถนนไหน ขอแค่ผมจดที่อยู่ถูกก็พอ เพราะถ้าเกิดไปผิดที่มันก็จะเสียเวลา คนสั่งอาจจะโมโหหิวที่อาจจะได้อาหารช้า แถมพี่โก้คนส่งจะโกรธที่ต้องถีบจักรยานไปส่งอาหารผิดที่ เสียเวลาเพิ่มขึ้น แถมได้เงินทิปน้อยลงด้วย
ที่อยู่ของที่นิวยอร์กนั้นไม่ค่อยมีความคิดสร้างสรรค์ ใช้แค่สองอย่างก็หาบ้านเจอแน่ ๆ หนึ่งคือบ้านเลขที่ สองคือชื่อถนน ซึ่งแค่นี้มันง่ายเกินไป ไม่ติ๊ส! สู้ประเทศกำลังพัฒนาอย่างบ้านเราไม่ได้ ที่ต้องมีการระบุรายละเอียดลงไปเต็ม ๆ นอกจากบ้านเลขที่ ที่มีทับกันไปทับกันมาแล้ว ก็ยังมีชื่อถนน มีชื่อซอย มีชื่อตรอก มีชื่อหมู่บ้าน ในหมู่บ้านยังมีแบ่งโซน เจอเขต เจออำเภอ เจอตำบล ต้องกรอกซะละเอียดยิบ จนกูไม่รู้แล้วว่าบ้านกูอยู่ไหน! ขนาดประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกายังเอาอย่างไม่ได้ นับถือๆ
ที่อยู่ในนิวยอร์กนั้น เค้าระบุแค่สองอย่างคือบ้านเลขที่กับชื่อถนน ไม่ว่าจะเป็นถนนใหญ่เรียกว่า Boulevard (บูลโลวาท์) เล็กลงมานิดนึงก็เรียก Avenue (แอฟเวนูว) ฝรั่งเรียกย่อ ๆ ว่า ‘แอฟ’ เล็กลงมาอีกก็เป็น Street (สตรีท) เป็น Place (เพลส) ถ้าที่อยู่คือ 168 5th AVE ก็แปลว่า ตั้งอยู่บนถนนที่ 5th Avenue บ้านหลังเลขที่ 168 คือถ้าขับรถไปตามถนน 5th Avenue ล่ะก็ ยังไงก็ต้องเจอ ฝั่งนึงเลขคี่ อีกฝั่งเลขคู่
ปัญหาโลกแตกที่ผมมักจะเจอก็คือ เรื่องชื่อถนน ด้วยความที่ใหม่กับสถานที่ แถมถนนใน Brooklyn ก็เป็นชื่อซะเยอะ ไม่เหมือนกับใน Manhattan ที่เป็นตัวเลข พอลูกค้าบอกมาเป็นชื่ออย่าง Carroll, Walter, Butler, Wyckoff ผมก็ฟังไม่รู้เรื่อง คือ ชื่อมึงจะยากไปไหนวะ Fukoff! เอ้ย นั่นไม่ใช่ชื่อถนน 555
“ไม่แน่ใจอะไรอย่ามั่ว ทวนเข้าไปกี่รอบก็ต้องเอาให้แน่ใจ” พี่รัตน์บอก ทุกครั้งถ้าผมเจอชื่อแปลก ๆ ผมก็จะเปิดกระดาษแผนที่เช็คเลยว่า ชื่อถนนถูกแน่ไหม สะกดเป็นตัว ๆ ก็ยอม อาจจะช้า น่าหงุดหงิดในบางที แต่ก็ดีกว่าทำผิด เพราะผิดเมื่อไหร่...กูจ่าย พี่รัตน์บอก ตัวใครตัวมัน 555 ผ่านไปสองสัปดาห์ จากที่มีปัญหาจดออเด้อผิดอยู่เนือง ๆ จากที่โดนพี่โก้บ่น ก็เริ่มดีขึ้นเพราะผมจำได้แล้วว่ารับออเด้อยังไง ถนนชื่ออะไร มีผิดอยู่บ้าง แต่ก็น้อยลงเรื่อย ๆ
เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ร่วม ๆ สองเดือนแห่งการลำบากปีนป่ายหน้าผาของการทำงานที่นี่ จากการที่เริ่มเป็นแคชเชียร์ ได้เรียนรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ เรื่องของการทำบัญชี ที่ห้ามผิดและต้องตรงเป๊ะๆ แม้จะเป็นแค่หลักห้าเซ็นท์ก็ตาม ได้เรียนรู้ว่าการรับออเด้อมาผิด ต้องจ่ายค่าข้าวเอง และกลับบ้านแบบโดนหักเงินค่าตัวจากห้าสิบบาท เหลือยี่สิบสองบาทมันเป็นยังไง
ได้เรียนรู้เรื่องราวนอกเหนือไปจากร้านอาหาร เช่น รถไฟที่นิวยอร์ก ถ้าเลยเวลาเที่ยงคืนไปเมื่อไหร่ล่ะก็ รถไฟจะเริ่มงอแง วิ่งช้าทำตัวเลียนแบบรถไฟไทยบ้างล่ะ บางทีบทจะหยุด จอดแช่เป็นห้าเป็นสิบนาทีก็มี เวลาที่ร้านครัวข้าวไทยปิดคือห้าทุ่ม ผมต้องปิดบัญชีปิดร้านและเผ่นลงรถไฟให้ได้ก่อนเที่ยงคืน ท่ามกลางสายตาอันกดดันจากสองเว๊ทแก่ ๆ ที่จ้องจะให้ผมปิดบัญชีให้ได้เร็ว ๆ จะได้รับเงินกับรีบเผ่นกลับบ้านกัน ถ้าขึ้นรถไฟไม่ทันก่อนเที่ยงคืนล่ะก็ จากเดิมนั่งรถไฟกลับบ้านชั่วโมงนึง ก็อาจจะล่อไปชั่วโมงครึ่ง กว่าจะกลับถึงบ้านก็ล่อไปตีหนึ่งกว่าๆ กว่าจะอาบน้ำ กว่าจะนอน ไหนจะต้องตื่นไปโรงเรียนเรียนภาษาตอนแปดโมงครึ่งอีกต่างหาก ได้นอนวันละหกชั่วโมงนิด บางทีก็บ่นกับตัวเอง "กูมาทำเฮียอะไรที่นี่วะ! "
แถมฤดูหนาวของนิวยอร์กนี่ก็หนาวสลัด! สำหรับหนุ่มน้อยที่เกิดมาและโตมากับประเทศเขตโซนร้อนชื้น เส้นละติจูดที่ห้า สามสิบเจ็ดลิบดาเหนือนั้น อุณหภูมิแค่ประมาณ 10 ‘c ก็เรียกว่าหนาวขี้แข็งแล้ว นี่แม่ม! ติดลบ ลบทีเป็นลบสิบ ลบยี่สิบ หนาวจนขี้กูย้อนศรออกปากหมดแล้ว!
ถ้านิวยอร์กเป็นเสมือนมหาวิทยาลัยชีวิตของผมแล้ว ร้านครัวข้าวไทยก็เปรียบเสมือนกับคณะแรกที่รับน้องผมอย่างเบา ๆ ช่วยสอนให้ผมได้รู้จักกับการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมของฝรั่งที่นิวยอร์ก โดยที่ยังมีส่วนของวัฒนธรรมไทยโอบล้อมผมเอาไว้ไม่ให้เปล่าเปลี่ยวจนเกินไป ต้องขอขอบคุณพี่รัตน์มากที่ดูแลผมเป็นอย่างดี ถ้าเปลี่ยนจากพี่เป็นเว๊ทแก่ ๆ สองคนนั่นชีวิตผมคงไม่ต่างอะไรกับพจมาน คงโดนโขกสับเละไปแล้ว หรืออาจมีเตะปากเว๊ทแก่ ๆ โชว์ก็ไม่รู้นะ 555
ชีวิตนักศึกษา Freshy ปีหนึ่ง ที่นิวยอร์กมันไม่ได้ง่ายหรือสวยหรูอย่างที่คิด แบบในหนังที่นั่งวาดรูปในสวนสาธารณะ แล้วจะมีเจ้าของ Gallery มาเห็นแล้วดึงไปเป็นศิลปิน หรือจะเป็นนักร้องตามบาร์เล็ก ๆ แล้วก็มี Producer มือฉมังมาเห็นแววจับไปออกเทปจนได้ดิบได้ดี นั่นน่ะ มันมีแต่ในหนังเท่านั้นโว๊ย! แต่มันก็ไม่ได้น้ำเน่าขนาดที่พระเอกจะต้องเดินทางแบกเสื่อผืนหมอนใบข้ามน้ำข้ามทะเลมา อด ๆ อยาก ๆ นอนอยู่ข้างถนน ทำงานเจ็ดวัน วันละสิบแปดชั่วโมง หยอดเงินลงกระปุกส่งไปให้ลูกให้เมียขนาดนั้นหรอกนะ นิวยอร์กมันก็เหมือนเมืองอื่น ๆ ที่มีทั้งด้านดีและด้านไม่ดี วันนี้เรามาคุยเรื่องดี ๆ ของร้านอาหาร วิชาแรก วิชา Cashier ไปแล้ว ตอนหน้ามาต่อกันที่วิชา ‘ที่พัก’
*Eggplant (เอ๊กแพล้น) คือ มะเขือม่วงลูกยาว ส่วน Thai Eggplant คือ มะเขือเปราะ ลูกกลม ๆ แบบบ้านเรา
**Cashew nut (แคชชูลนัท) คือ เม็ดมะม่วงหิมพานต์
**Sue (ซู) แปลว่า ฟ้องร้อง ฝรั่งหลายล้านคนแพ้อาหารหลายประเภท อย่างเช่น ตระกูลถั่ว, พวกสัคว์น้ำเปลือกแข็ง อย่างกุ้ง, หอย หรือจะเป็นพวกตระกูลแป้ง กลูเตน ถ้าไม่ระบุไว้ให้ชัดเจนในเมนูลูกค้ากินแล้วแพ้ เข้าโรงพยาบาล มีสิทธิ์ถูกฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย
ติดตามอัพเดท เอ็นวายกู NYKU: New York Kitchen University เรื่องวุ่น ๆ ของมนุษย์ห้องครัวในมหานครนิวยอร์กได้ที่
FB:
https://www.facebook.com/ny.kitchen.university
IG:
https://www.instagram.com/ny.kitchen.university
#เอ็นวายกู #nyku #newyorkkitchenuniversity #คนไทยในอเมริกา #คนไทยในนิวยอร์ก #มหาลัยห้องครัว
facebook.com
เอ็นวายกู NYKU New York Kitchen University
เอ็นวายกู NYKU New York Kitchen University, New York, New York. 258 likes · 21 talking about this. NYKU เป็นเรื่องของคนไทยที่กะมาเรียนที่นิวยอร์ก แต่กลับได้ร้านอาหารเป็นมหาวิทยาลัยชีวิตแทน
ติดต่อเรา
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
นิวยอร์กกู New York Kitchen University
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย