19 ก.ย. 2020 เวลา 23:00 • ปรัชญา
๑๙. ข้อพินิจต่อสุนทรียภาพและศิลปะ (บทคัดย่อที่ ๑๓-๒๓)
สิ่งเท็จเทียมทางวัฒนธรรมที่ถือเอาเปลือกกระพี้มาเป็นแก่นนั่นเอง และผู้คนที่เติบโตภายใต้วัฒนธรรมกำมะลอนี้เองที่หันมาฟื้นฟูวัฒนธรรม
คุณค่าต่าง ๆ ที่ถูกฟื้นฟูขึ้นก็เป็นไปภายใต้กระแสของวัฒนธรรมเท็จเทียม จึงเกิดสิ่งเทียมธรรม (สทฺธมฺปฏิรูป) ขึ้น ส่วนธรรมที่เป็นแก่นสารก็ถูกลบเลือนหายไป
รากฐานของวัฒนธรรมร่วมสมัยในทุกวันนี้ ไม่ว่าเป็นความพยายามที่จะก้าวไปข้างหน้า โดยไม่แยแสคุณค่าเก่า หรือความพยายามที่จะประสานความคิดใหม่กับเก่าเข้าด้วยกันอยู่เพียงใด หากแต่เป็นไปภายใต้การมุ่งเสพบริโภค
วัฒนธรรมใหม่ ๆ เป็นเพียงการ “จัดฉาก” ประกอบการบริโภค ทั้งนี้เพราะมุ่งการพัฒนาการเศรษฐกิจเป็นหลัก และทิศทางของเศรษฐกิจนั้นไม่ได้มุ่งความเสมอภาค ความยุติธรรม หรือศรัทธาในคุณงามความดีใด ๆ ไม่อาจเป็นเพียงท่าทีสนับสนุนคุณธรรมความดีเท่านั้น
ในท่ามกลางกระแสของการ “กัดกินตัวเอง” เช่นนี้ รูปแบบใหม่ ๆ ทางวัฒนธรรมที่เป็นผลงานการฟื้นฟูก็คือ “กากอาหารเก่าๆ” มากมายได้เกิดขึ้น แล้วผู้คนก็ได้บริโภคมันราวกับเป็นสิ่งเลิศรส
แท้จริง ศิลปะพื้นบ้านนั้นมีลักษณะที่เป็นสากลเด่นชัดยิ่งกว่าศิลปะชั้นสูงที่สลับซับซ้อนด้วยระเบียบวินัย ทั้งนี้เพราะศิลปะพื้นบ้านนั้นเป็นสิ่งง่ายต่อการเข้าถึงของคนนอกวัฒนธรรม
ครั้งศิลปะนั้นได้พัฒนาถึงระดับสูง (Classic) ของแนวตั้งแล้ว ย่อมมีลักษณะจำกัดทางสถาบัน ย่อมห่างไกลจากลักษณะร่วมทางแนวนอนซึ่งเป็นสากลกว่า
ดังจะเห็นได้ว่าบทกวีไทยที่เขียนถูกต้องตามฉันทลักษณ์ไทยทุกอย่างอย่างสมบูรณ์นั้น ครั้นถ่ายทอดเป็นภาษาอื่นย่อมพบอุปสรรมากมาย หรือถึงกับไม่อาจถ่ายทอดได้เพราะรูปแบบที่จำกัดเกินไป ตรงกันข้ามกับบทเพลงพื้นบ้านหรือภาษาชาวบ้านที่สามารถสื่อได้ง่ายและตรงไปตรงมา
การที่หน่วยราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อศิลปวัฒนธรรมได้เข้าไปรับผิดชอบ โดยการฟื้นฟูประยุกต์ศิลปะสาขาต่าง ๆ โดยใช้ศิลปิน ซึ่งเป็นข้าราชการเข้าเป็นผู้สวมบท ได้ค่อย ๆ ทำให้เกิดศิลปะพื้นบ้านกำมะลอขึ้น กล่าวคือ เล่นล้อศิลปะพื้นบ้านด้วยจิตสำนึกของผู้ได้เปรียบ
ฐานของศิลปะกลับอยู่เบื้องบนอันเป็นฐานของผู้ได้เปรียบทางสังคม แต่อิงแอบจิตสำนึกของผู้เสียเปรียบและมุ่งประโยชน์จากรูปแบบศิลปะเบื้องล่างทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้นโยบายหลักทางเศรษฐกิจ การเมือง และด้วยเหตุนี้เองที่ชาวบ้านไทกับศิลปะพื้นบ้านเป็นสิ่งที่แปลกแยกกัน
กล่าวให้ง่ายคือการประยุกต์ฟื้นฟูศิลปะไททั้งพื้นบ้านและชั้นสูงเพื่อประจบกิจการท่องเที่ยว เพื่ออวดชาวต่างชาติเพื่อสะพัดการเงิน เพื่อแสดงท่าทีของศิลปวัฒนธรรมอันวิเศษ หากแต่ไม่ใช่เป็นสิ่งที่คนไทดำเนินชีวิตอยู่ในมันจริง ๆ นอกจากเพื่อขายกินเท่านั้น
 
ศิลปวัฒนธรรมเช่นนี้จึงเป็นสิ่งหลอกลวงทั้งตนเองและผู้อื่น เป็นเพียงท่าทีกำมะลอไม่ใช่ท่าและทีที่ดีที่เป็นสัจจริง
ศิลป์และศาสตร์นั้น แต่เดิมหาได้แยกจากกันไม่ ศิลปวิทยาหลาย ๆ แขนงที่ถูกระบุถึงในพระคัมภีร์โบราณนั้น ย่อมหมายถึงความเชี่ยวฉานชำนาญจนกระทั่งถึงจุดราวกับตาเห็น ราวกับพูดได้ ราวกับผีบอก ปานเทพยดาสร้าง
นิรุกติของคำว่าฝีมือ บ่งว่าน่าจะมาจาก ผีมือ นั่นคือเมื่อศิลปินได้ลุถึงทางของศิลปวิทยาในสาขาของตนแล้วเกิด “ผี” หรือ “วิญญาณ” (Spirit) ขึ้นในมือหรือที่ปาก (ฝีปาก) มือ ปาก ได้กลายเป็นสื่อของวิญญาณที่ประจักษ์แจ้งแล้ว
ภาวะเชี่ยวฉานชำนาญจนถึงระดับเป็นเอง (สยัมภู) นี่เองที่ถูกระบุทั้งในตะวันออกและตะวันตกในระดับต่างกัน คือคำว่า มุตโตแตก หรือ Break through
มุตโตนั้น หมายถึงหลุดพ้นไป พ้นจากกฎเกณฑ์แห่งสถาบัน สร้างสรรค์ศิลปะด้วยมาดใหม่ ความกลมกลืนอันใหม่บนรากฐานของความงามความดี และความจริง
มองสู่รากฐานการศึกษาศิลปะ พิจารณาองค์รวมของศาสตร์และศิลป์ความหมายที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันว่า ศาสตร์คือการศึกษาในความสัมพันธ์ทางเหตุผล ว่าเหตุส่งให้เกิดผลอย่างไร ส่วนศิลป์เป็นการศึกษาความกลมกลืนสัมพันธ์ทางอารมณ์รู้สึก
ศาสตร์เกี่ยวกับความคิด และศิลป์เกี่ยวกับอารมณ์รู้สึก เหตุผลที่ไร้อารมณ์รู้สึกก็เป็นความแห้งผาก อารมณ์รู้สึกที่ไร้เหตุผลก็เป็นพิกลคลั่งเพ้อ (fantasy)
ความประสานกลมกลืนระหว่างเหตุผลกับอารมณ์รู้สึกนั่นเองที่เป็นทางของชีวิต ความกลมกลืนในภายในของชีวิตสภาพเป็นเองได้คลี่คลายมาสู่รูปแบบทางศิลปะต่าง ๆ
งานสร้างสรรค์ศิลปะจึงเป็นการเจริญภาวนาอยู่ในตัวเองอย่างดียิ่ง และเป็นที่ยอมรับกันแต่โบราณกาลตราบทุกวันนี้ว่าการสร้างสรรค์งานศิลปะนั้นเป็นทั้งการภาวนาและการค้ำจุนเผยแผ่จรรโลงศาสนาอย่างแนบเนื่องตลอดมา นายช่างมักจะเป็นนักพรต นักบุญผู้รู้แจ้งในศาสนธรรมและแตกฉานในศิลปศาสตร์
อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทย ที่คนไทยทุกคนควรรู้)
บรรยายพิเศษแก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์ พ.ศ. ๒๕๓๒
โฆษณา