Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขมานันทะในใจเรา - ชาติพันธุ์ภาวนา
•
ติดตาม
22 ก.ย. 2020 เวลา 02:49 • ปรัชญา
๒๐. ข้อพินิจต่อสุนทรียภาพและศิลปะ
มองผ่านหน้าต่างทัศนะของอินเดียและจีนต่อศิลปะ ถือกันว่างานศิลปะเป็นนาฏโยคะ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวเริงรำ เพราะเป็นการเคลื่อนไหวที่สาวดึงเอาพลังชีวิต (ปราณะของอินเดีย, ชิของจีน) จากฐานจักรมูลธรหรือตันเถียนขึ้นสู่จักราเบื้องสูงตามหลักการแปรธาตุทางเคมีชีวะตามลำดับ ตราบจนบรรลุถึงความเป็นเทพหรือเซียน หรือเข้าถึงความเป็นเองอันเป็นฐานของการเกิดญาณ (สยัมภูวญาณ)
ฟ้อนมโนราห์ หรือรำมวยไหว้ครู หรือรำดาบของเพชฌฆาตก่อนลงดาบของไทนั้น ถือเป็นนาฏโยคะ ในส่วนเนื้อหาก็คือการเคลื่อนไหวให้พลังชีวิตกลมกลืน ไม่มีพรมแดนระหว่างผู้กระทำกับสิ่งกำลังกระทำ ซึ่งพ้นจากความกลัว ลังเล แบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย
กระทำการไหวเคลื่อนจนพลังชีวิตพวยพุ่งถึงความกลมกลืนในระดับสูง ปราศจากความหมายของตัวตนผู้กระทำกรรม นั่นคือมรรคของศิลปะแห่งวิปัสสนา
การร่ายรำไหวเคลื่อนนั้นเป็นดุจสายน้ำที่ไร้ตัวตนหากแต่ทรงพลัง นิ่มนวล หากแต่แข็งแกร่งลึกซึ้งและอิสระ
การแข่งขันประกวดสวดมนต์นั้นเป็นสิ่งไม่ดี เช่นเดียวกับการให้รางวัลแม่ดีเด่น สินจ้างรางวัลทั้งหมดเป็นเครื่องจูงใจที่หยาบ (สถุละ) ต่ออารมณ์ภาวนาอันศักดิ์สิทธิ์ และเป็นสิ่งที่น่าชิงชังรังเกียจเมื่อนำมันมาเทียบกับพระคุณของแม่ ไม่สมควรที่จะมีการประกวดและให้รางวัลต่อแม่ซึ่งเป็นสิ่งสูงสุดต่อลูกทุกคน
การประกวดให้รางวัลดีเด่นหรือการจัดฉากให้ลูก ๆ กราบกรานขอขมาแม่ แล้วน้ำหูน้ำตาไหลกันในวันนั้นเป็นวัฒนธรรมเทียมธรรมเสแสร้ง เป็นลัทธิมุ่งแสดง (exhibitionism) เร้าอารมณ์รู้สึกฝ่ายอาเวค (emotional) เสียมากกว่าอารมณ์รู้สึกที่จริงแท้
ในโลกของการสร้างสรรค์ศิลปะ ย่อมไม่มีสถาบันใดที่จะสร้างศิลปินขึ้นได้ สถาบันช่วยรวบรวมประมวลข้อรู้ต่าง ๆ เท่าที่คตินโยบายของสถาบันมีอยู่บริการแก่ผู้ศึกษา แต่สถาบันไม่อาจสร้างศิลปินขึ้นได้เพราะการเป็นศิลปินนั้นผิดแผกกับการเป็นผู้สำเร็จการศึกษาศิลปะ
ศิลปินเป็นก้าวย่างที่เกิดจาก ญาณ และมนัส (น้ำใจ) อามิสสินจ้าง รางวัล การประกวดไม่ว่าในระดับใดล้วนจูงใจให้ไขว้เขว ให้มนัสไม่ใสสะอาด
ในการค้นคว้าทดลอง
ผู้สร้างสรรค์งานไม่ว่าสาขาใด จำต้องมีพลังน้ำใจ (มนัส) ที่แรงกล้าและญาณเครื่องรู้เครื่องเห็นพอที่จะทวนกระแสอามิสสินจ้างรางวัลนั้นได้ ไม่เช่นนั้นงานก็จะตกไปฝ่ายข้างแสวงหาอามิส เป็นศิลปะศาสตร์เพื่อการประดับตกแต่ง ประกอบบรรยากาศบริโภค และเป็นการยอมรับระบบการล่าและถูกล่า
๒๑. ตะวันออก-ตะวันตก
ผมให้ข้อสังเกตว่าถ้าเราจะพูดเรื่องอะไรสักสิ่งหนึ่งเราเสี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงหลาย ๆ สิ่ง เราไม่สามารถที่จะตัดบางสิ่งแยกออก
เมื่อเราจะพูดถึงศิลปะไทยเราก็ต้องโยงถึงสถานะที่เป็นสากล โลกครั้งอดีตนั้นชาวยุโรปรู้สึกว่าเขาเป็นศูนย์กลางของโลก จากจุดมองที่เราอยู่ในโลกที่เป็นจริงกว่าครั้งอดีต คือเรารู้ได้ว่าโลกนี้มีสัณฐานเป็นอย่างไร วัฒนธรรมนั้นหลากหลายอยู่อย่างไร
สิ่งที่น่าสลดก็คือช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๗ กระบวนการล่าอาณานิคมทำให้ชุมชนเล็ก ๆ ซึ่งมีวัฒนธรรมหยั่งลึกอยู่ในธรรมชาติ ค่อย ๆ สูญเสียความเชื่อมั่นในวัฒนธรรมของตัว รวมถึงบ้านเมืองเราด้วย แม้ไม่ได้เป็นเมืองขึ้นโดยตรง ผมคิดว่ากระบวนการล่าอาณานิคมก็ยังดำเนินอยู่ตราบทุกวันนี้
คงจำได้ว่าเกิดการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาครั้งใหญ่ ในบ้านเมืองเราปรับแล้วทำให้เด็กเก่งวาดเขียนกลายเป็นเด็กหัวอ่อน เด็กเก่งคณิตศาสตร์กลายเป็นเด็กหัวดี วิชาเรียงความดูเหมือนจะเหลือ ๓๐ ภาษาไทย ๑๕ คะแนน วาดเขียน ๒๐ คะแนน ในขณะที่ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ เรขา ปราดขึ้นไปตั้ง ๖๐
ก็เพราะว่าครั้งนั้นอเมริการู้สึกถึงความพ่ายแพ้ต่อความรู้ทางหัวงอวกาศต่อโซเวียตรัสเซีย หลังจากดาวเทียมสปุตนิคถูกยิงขึ้นไปรัฐบาลอเมริกันก็วางโครงการใหญ่ที่จะเอาชนะโซเวียตให้ได้ เขาปรับหลักสูตรการศึกษา คัดเด็กเก่งคณิตศาสตร์สู้กันแล้วการปรับการศึกษาของสหรัฐในครั้งนั้นกระทบไปทุกมุมโลก
ถ้าเราไม่หนีความจริง เราควรยอมรับว่า เราเป็นอาณานิคมทางวัฒนธรรมของสหรัฐ แต่ถ้าเราเลี่ยงนิด ๆ ก็ได้ครับเป็นเพื่อนกัน จริง ๆ แล้วเราเป็นทาสเป็นเมืองขึ้นทางวัฒนธรรมทางปัญญา
ความคิดผุดขึ้นในใจผม เมื่อขึ้นไปบนที่สูงมองลงมาเห็นตึกรามบ้านช่อง เป็นคำถามว่านี่คืออะไร คำตอบว่านี่คือเมืองตึกระฟ้านี่คือเมือง ป่าหายไปไหน
คำถามถัดมาของผม ป่ามันมีอยู่เมื่อร้อยปีที่กรุงเทพเคยเขียวชอุ่ม ระหว่างป่ากับเมืองอันไหนเป็นสิ่งยั่งยืน อันไหนเป็นสิ่งเกิดใหม่
แต่นี่คือข้อเท็จจริงในเรื่องอารยธรรม นักคิดมักถกกันสองทิศทางว่าอารยธรรมนั้นเริ่มจากป่าหรือจากเมือง
ในทัศนะส่วนตัวของผม ผมคิดว่าเมืองนี่เป็นขี้กลากของป่า โดยทั่วไปเราคิดว่าเมืองเป็นที่วัดความเจริญของมนุษย์ เช่นสมมติว่าเราค้นพบซากเมืองโบราณ มีค่ายคู มีท่อระบายน้ำ เราอาจจะลงความเห็นว่า เมืองนี้เจริญมาก
แต่เรามาดูข้อเท็จจริงอันนี้ จากทัศนะของ รพินทรนาถ ฐากูร จินตกวีคนสำคัญของอินเดีย ฐากูรมีทัศนะว่า Civilization หรืออารยธรรมนี่ตั้งต้นที่ป่าโดยเหล่าฤๅษี ถือว่าศิลปศาสตร์ทั้งหมดเริ่มจากป่าในสภาพแวดล้อมที่เป็นป่า ป่าให้กำเนิดพุทธิปัญญา
แต่ถ้าเป็นทัศนะของกรีกโบราณ เช่น อริสโตเติล ถือว่าอารยธรรมนั้นเป็นเรื่องของเมือง เราเรียกว่า Civilization ด้วยศัพท์ที่ว่า Civil ซึ่งแปลว่าพลเรือนก็ได้ เมืองก็ได้ จึงเรียกว่า Civilization
จุดนี้เองที่เราจะค่อย ๆ สาวไปว่าลักษณะของเมืองค่อย ๆ บิดผันชีวิตของผู้คน ทิศทางของมนุษยธรรม ทัศนคติ จนในที่สุดกลายเป็นขบวนการแอนตี้ธรรมชาติ
อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทย ที่คนไทยทุกคนควรรู้)
บรรยายพิเศษแก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์ พ.ศ. ๒๕๓๒
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทย ที่คนไทยทุกคนควรรู้)
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย