23 ก.ย. 2020 เวลา 23:04 • ปรัชญา
๒๒. ตะวันออก – ตะวันตก
อริสโตเติลกล่าวว่าสุนทรียภาพคือการสร้างสรรค์งานศิลปะและไม่ใช่ธรรมชาติ มีเส้นแบ่งที่ตายตัว ศิลปะต้องไม่ใช่ธรรมชาติ
เบอร์นาร์ด ชอร์ กล่าวว่า ศิลปะต้องไม่ใช่สิ่งจริงแต่ว่าเหมือนจริงสมจริง
ปิกัสโซ่พูดว่าระหว่างธรรมชาติและศิลปะนี้แตกต่างกัน อะไรที่ศิลปะมีให้ธรรมชาติไม่มีให้
นี่คือทัศนะของนักปราชญ์ นักเขียน ศิลปิน ต่อศิลปะ ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันนี้ ทิศทางตะวันตกนั้นถือว่าอารยธรรมเป็นเรื่องของเมือง อารยธรรมตะวันตกนั้นเป็นอารยธรรมที่เติบโตภายในกำแพงเมือง
ส่วนตะวันออกนั้นเป็นอารยธรรมที่เติบโตจากป่า พระพุทธเจ้าของเราตรัสรู้ในป่า ใต้ต้นไม้และไม่มีอะไรรองนั่งด้วยนอกจากหญ้าคา
ถ้าเราเชื่อว่าความรู้สูงสุดสามารถเปิดเผยผ่านหัวใจมนุษย์นั้นไม่จำเป็นต้องอิงแม้แต่โบสถ์วิหารหรือเสื่อรองนั่ง หรือเครื่องมืออื่นใดแล้วเราคงจะพิจารณาเรื่องราวของอารยธรรมได้ลึกซึ้งขึ้น
รากฐานอารยธรรมตะวันตกนั้นได้เสริมสร้างอหังการ์ของทั้งศิลปินและนักวิทยาศาสตร์ที่เขาเชื่อว่าเขาสามารถวัดวา เอาชนะธรรมชาติได้หมดสิ้น
ผมเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมเรารู้จักเรื่องราวของกรีกและถือว่าดี ทั้ง ๆ ที่อาณาจักรพุกามที่พม่าใกล้ ๆ บ้านเรานั้นไม่ได้ด้อยไปกว่ากรีกเลย อารยธรรมของมอญสมัยทวาราวดีก็ดี หรือศรีวิชัยที่เรียกว่าอาณาจักรทะเลใต้ของกษัตริย์ไศเลนทร์ ที่พุกามมีเจดีย์อันงดงามมากมายจนเรียกกันว่ามหานครแห่งเจดีย์ รถจิ๊ปวิ่งไปนานยังไม่พ้นดงเจดีย์เลย แล้วยิ่งใหญ่จริง ๆ
แต่เมื่อเราลงมือศึกษาศิลปะอารยธรรมเราตั้งต้นที่เอเธนส์ นั่นอาจจะเพราะเก่าแก่ แต่เป็นไปได้ว่าเราเป็นทาสทางปัญญาตะวันตก เราจึงถูกสอนให้ยอมรับของเขาก่อนแล้วค่อยให้ย้อนมารับรองของ ๆ เรา
ดังนั้นแม้ของเราเองจะสูงส่งอย่างไรก็ถูกมองจากฐานนิยมของเขา จึงว่าเราเป็นทาส
เราควรมองผ่านสิ่งที่รุ่งเรืองและตอบสนองศรัทธาในหัวใจเราเพื่อเสริมความคิดแบบของเรา
ผลงานจิตรกรรมก็ดี ประติมากรรมก็ดี ไม่ว่าตะวันออกหรือตะวันตกเป็นเพียงเครื่องสะท้อนว่ามนุษย์เริ่มสงสัยในฐานะของตัวในจักรวาลนี้
ภาพเขียนถ้ำที่คนโบราณขีดเขียนอะไรต่าง ๆ ไว้เป็นรูปวัวไบซันหรืออะไรก็ตาม เส้นสายทุกเส้นถ้าเราพิจารณาโดยรอบคอบจะพบว่าเป็นเพียงความต้องการจะหยั่งรู้สู่สภาพลี้ลับ ทั้งเรียนรู้ตัวเองในท่ามกลางบรรยากาศลี้ลับชวนพิศวง
หรือถ้าจะให้กล่าวรวม ๆ ว่ากิจกรรมทั้งหมดของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย เป็นเพียงความพยายามที่จะรู้จักตัวเองในท่ามกลางสภาพไม่รู้ ทั้งปรัชญา และศาสนา
เราจะพบว่างาน Primitive เป็นงานที่ยิ่งใหญ่เพราะมนุษย์เสแสร้งน้อย ใช้ความคิดรวบยอดและสร้างสรรค์ภายในกรอบน้อยมาก งานเขามักอยู่ที่ผนังถ้ำ พลังชีวิตของเขาเลื่อนไหล ฝัน จริงใจ
เราอาจจะพบองค์ประกอบซึ่งไร้องค์ประกอบ เช่นภาพเขียนของชาวพื้นเมืองออสเตรเลียที่เรียกว่า อะบอริจินีส มักเรียกกันว่า X-Ray Painting คล้ายๆ เขาต้องการจะเขียนสภาวะที่แท้ เขียนสัตว์ จิงโจ้หรือมนุษย์ เขาจะเขียนเข้าไปในภายในเห็นทุกอย่างภายในสัตว์และสัตว์เป็นของอวกาศ
ทัศนคติของเขาต่อสถานะของมนุษย์ในจักรวาลไม่ด้อยเลย แม้เขาค้นพบสีได้น้อย ซึ่งมนุษย์สมัยเรานี้เราเห็นสีได้มากโดยเฉพาะสี Spectrum เรานำเข้ามาผนวกกับสี Pigment
เราสามารถสร้างภาพของเราให้ดูอลังการ แต่ว่าสาระนั้นผมสงสัยว่าเราก้าวไปข้างไหนกันโดยเฉพาะทิศทางของศิลปะตะวันตกในทุกวันนี้
ที่จริงเราต้องเดินทางไปทั้งทางตะวันตกและตะวันออกอีกมาก ผมหมายถึงกวาดตามองเหลียวไปแลมา ทั้งจีนและอินเดียเพื่อที่เราจะได้เข้าใจว่าบนแหลมอินโดจีนที่ ๆ ประเทศเราตั้งอยู่และได้รวบรวมคุณค่าความดีทั้งของจีนและอินเดียไว้อย่างไร
และกำลังสงสัยว่าทางตะวันตกเป็นตัวเร่งหรือตัวทำลาย
เมื่อจะเปรียบเทียบตะวันตกและตะวันออก ส่วนใหญ่เราจะจับที่อินเดียและกรีก เพราะว่ากรีกนั้นเป็นแม่บทของอารยธรรม
กรุงเอเธนส์เป็นเมืองที่เป็นเครื่องแสดงออกทางศิลปะวิทยาการ ดังนั้นความรู้สึกของประชาชนชาวกรีกต้องการที่จะอวดอารยธรรมของตัวด้วยการสร้างวิหารบนอาโครโปลิสเพื่อโก้ เพียงแต่เป็นการแสดงออกตอบสนองวิทยาการความเก่งกาจทางคณิตศาสตร์ เรขาคณิต
และทั้งหมดแม้จะอุทิศต่อเทพเจ้าไดอาน่า ซูส หรือ อาโพรไดส์ (วีนัส) ก็ตาม แต่ที่จริงเป็นการพะนอมนุษย์ อวดมนุษย์ในนามของเทพเจ้า
ถ้าเราโยงกลับไปสู่อินเดีย ผมไม่สู้ถนัดใจนัก ถ้าจะเอากรีกและอินเดียมาเปรียบ เพราะว่าอินเดีย (ภาคเหนือ) และกรีกมีอะไรร่วมกันมากจนไม่สามารถแยกให้เห็นได้โดยเด่นชัด
แต่ถ้าเราจับจีนขึ้นมาเราจะเห็นอะไรที่ถนัดมาก เพราะว่าจีนและอินเดียนั้นดูเหมือนสวิงกันไปคนละขั้ว
ในขณะที่ประชาชนชาวอินเดียนั้นฝันถึงดวงดาวในท้องฟ้า ประชาชนจีนจะดูตีนตนเอง
ชาวอินเดียช่างฝันในขณะที่ชาวจีน Realistic มาก ๆ ไม้คานอันเดียวเท่านั้นก็ตั้งตัวได้
แต่ว่าบนแหลมอินโดจีนคือประเทศเรา เรารู้จักจีนผิด ๆ หลายพันปีมาแล้วที่วัฒนธรรมจีนกับไทยสัมพันธ์กัน เราไม่เคยยอมรับจีนในส่วนที่เป็นแก่นสาร เรื่องเซน เรื่องเต๋า หยิง-หยาง นี้เพิ่งเฟื่องฟูเมื่อไม่กี่ปีมานี้
ผมได้กล่าวถึงรากฐานของอารยธรรมกรีกโบราณบ้างแล้ว คราวนี้ลองมาสำรวจทำความเข้าใจเฮบรูแลคริสเตียนบ้าง ทัศนะของพวกยิวซึ่งเป็นชนเผ่าที่แข็งแกร่ง เป็นผู้ที่เชื่อในอำนาจของพระยะโฮวาในฐานะพระเจ้าแห่งเผ่าพันธุ์ยิว ยะโฮวา ภาษาเฮบรูนั้นแปลว่า I am what I am “ฉันเป็นอย่างที่เป็น” ต่อมาภายใต้เครือของยิวนั่นเอง พระเยซูได้ถือกำเนิดมา พระเยซูนั้นเป็นยิวแต่คำสอนของท่านนั้นขัดแย้งกับยิวอย่างสิ้นเชิง เช่น โมเสสสอนเรื่องหลักความยุติธรรม เรียกว่า ตาต่อตา ฟันต่อฟัน จึงจะเรียกว่ายุติธรรม ส่วนพระเยซูนั้นมีทัศนคติที่ผิดแผกแตกต่างไป ทรงสอนว่าเขาตบแก้มซ้ายควรยื่นแก้มขวาให้เขาตบด้วย เป็นความรักศัตรูแทนความชัง ลักษณะที่สำคัญมากของคริสเตียนคือความรัก ความถ่อมและความเสียสละ ผมหมายถึงคริสเตียนรุ่นแรกโดยเฉพาะช่วงสมัยศิลปะที่เรียกไบเซนไทน์ ซึ่งครั้งนั้นเองที่ความงามสะท้อนออกในบาสิลิกาหรือโรงสวดเล็ก ๆ ซึ่งงดงามและมีเสน่ห์ แต่ต่อมาเมื่อจักรวรรดิโรมันยอมรับคริสต์ธรรมแล้ว สิ่งที่สะท้อนในงานศิลปะกลับกลายเป็นเนื้อหาของกรีก-โรมันในนามของคริสต์เรียกว่า “Greek’s Idea in Christian Thought” ถ้าเราไปอ่านไบเบิ้ลเราจะจับใจมาก ผมจับใจจริง ๆ เช่น ประโยคที่ว่า “วิบัติจงมีแก่ผู้ที่เสวยสุขวันนี้ พรจงมีแก่ผู้ที่ทุกข์ยากเพราะเขาจะเห็นพระผู้เป็นเจ้า” “เมื่อสูเจ้าทำทานด้วยมือซ้าย อย่าให้มือขวารู้” นั่นแสดงว่าการทำทานเป็นการลดตัวเองลดตัวตน ชำระตัวเองให้บริสุทธิ์ ให้โดยไม่ถือว่าตัวเองเป็นผู้ให้ สาระสำคัญที่สุดของคริสเตียนก็คือ “รักพระเจ้าสุดจิตสุดใจและรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง” วิญญาณคริสเตียนเป็นวิญญาณซึ่งถ่อม แต่เราพบว่าความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้นเท่าไรนัก โดยเฉพาะที่วาติกัน ศูนย์กลางของแคทธอลิคเต็มไปด้วยอำนาจบงการ ครั้งอดีตโป๊ปสามารถถอดถอนหรือแต่งตั้งกษัตริย์ได้ตามใจชอบ อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทย ที่คนไทยทุกคนควรรู้) บรรยายพิเศษแก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์ พ.ศ. ๒๕๓๒
โฆษณา