30 ก.ย. 2020 เวลา 05:32 • การศึกษา
ตลาดอนุพันธ์ ( TFEX ) และ ตราสารอนุพันธ์ (Derivative)
เราอาจจะเคยได้ยินดี หรือคุ้นหูกันมานานเกี่ยวกับอนุพันธ์ต่างๆ แต่อาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจนักว่ามันคืออะไร มีประโยชน์กับการลงทุนของเราอย่างไร ดังนั้น สำหรับบทความนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับตลาดอนุพันธ์ และตราสารอนุพันธ์กันให้มากขึ้นนะคะ
👉 ตลาดอนุพันธ์ ( TFEX หรือ Thailand Futures Exchange ) คือ ตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้าโดยการจัดตั้งแบบเป็นทางการภายใต้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
วัตถุประสงค์ของตลาดอนุพันธ์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเงินในการบริหารความเสี่ยง ทั้งทางด้านประกันความเสี่ยง และ ด้านการเก็งกําไร
👉 ตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) คือ สัญญาทางการเงินที่ทำขึ้นในปัจจุบัน เพื่อตกลง ซื้อขาย หรือ ให้สิทธิในการซื้อขาย “สินค้าอ้างอิง” ในอนาคต
พูดให้ง่ายขึ้นคือ “ผู้ซื้อ” และ “ผู้ขาย” ทำสัญญาตกลงกันวันนี้ ว่าจะซื้อหรือขายสินค้าอ้างอิง จำนวนกี่หน่วย ที่ราคาเท่าไหร่ แล้วจะส่งมอบเมื่อใด และจะชำระราคากันเมื่อใดค่ะ
1
อนุพันธ์ มีลักษณะพิเศษ 3 ประการ คือ
📌 เป็นสินค้าที่ไม่มีมูลค่าในตัวเอง แต่มีมูลค่าขึ้นอยู่กับสินค้าอื่นที่อนุพันธ์นั้นอ้างอิงอยู่ค่ะ
📌 ใช้เงินลงทุนน้อย มีโอกาสได้อัตราผลตอบแทนสูง เนื่องจากผู้ลงทุนไม่ต้องจ่ายเงินเต็มมูลค่าสัญญา เพียงแค่วางหลักประกันประมาณ 10-15% ของมูลค่าสัญญาทั้งจำนวนก่อนซื้อขาย
ดังนั้น กำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นก็จะมีสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับเงินลงทุนตั้งต้น โดยอนุพันธ์อาจสร้าง "กำไร" ได้สูงกว่าการซื้อขายสินค้าอ้างอิงโดยตรง ในทางตรงกันข้าม ก็อาจสร้าง "ผลขาดทุน" ที่สูงกว่าการซื้อขายสินค้าอ้างอิงโดยตรงได้เช่นกันค่ะ
📌 มีอายุจำกัด คือ อนุพันธ์ จะมีการ กำหนดวันสิ้นอายุไว้อย่างชัดเจน เช่น 1 เดือน, 6 เดือน เป็นต้น ซึ่งอายุนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเภทของสัญญาค่ะ
ประเภทของตราสารอนุพันธ์ (Derivative) แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ สัญญา และ สิทธิ์
📌 สัญญา หมายถึง ข้อตกลงที่คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายตกลงทำสัญญากัน ดังนั้นต้องทำตาม ถ้าไม่ทำตามอาจจะถูกปรับหรือถูกลงโทษ โดยสัญญา มีอยู่ 3 ตัว ได้แก่ Futures, Forward และ Swap
📌 สิทธิ์ หมายถึง สิ่งที่เราได้มาหรือซื้อมา แล้วทำให้เรามีสิทธิ์ทำตามเงื่อนไขของสิ่งที่ซื้อมา เรียกว่า Option ตัวอย่างเช่น เราซื้อตั๋วดูหนัง เราก็มีสิทธิ์ไปดูหนัง เป็นต้นค่ะ
⛳ Futures (ฟิวเจอร์ส)
คือ สัญญาตกลงซื้อขายเหมือนกับ Forward แต่ต่างกันตรงที่ Futures เป็นสัญญาแบบเป็นทางการ มีรูปแบบสัญญาที่แน่นอนและที่สำคัญมีตัวกลางดูแลการซื้อขายและควบคุมให้ทำตามสัญญา
หน่วยงานที่ควบคุมดูแลตรงนี้ คือ ตลาด TFEX ซึ่งดูแลรูปแบบสัญญา และสำนักหักบัญชี (Clearing House) ซึ่งดูแลการทำตามสัญญา โดยสำนักหักบัญชีจะทำหน้าที่เป็นคู่สัญญาตรงข้ามกับผู้ทำสัญญาเพื่อรับประกันการทำตามสัญญาและจะลดความเสี่ยงของตนโดยจะมีการเรียกเก็บเงินประกันจากคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ถ้าฝ่ายใดทำผิดสัญญาจะถูกยึดเงินประกันทำให้ปัญหาการผิดสัญญาถูกแก้ไขไปได้มากทีเดียว
สำนักหักบัญชีจะเอาเงินมาจ่ายซื้อหรือขายหลักทรัพย์แทนคู่สัญญาที่บิดพลิ้ว แต่ว่าก็จะเก็บเงินจากคู่สัญญาไว้ล่วงหน้าเพื่อเป็นประกันและลดความเสี่ยงที่ตัวเองจะต้องจ่ายเงินแทนคู่สัญญาที่บิดพลิ้ว
Futures จึงเป็นตราสารอนุพันธ์ที่เป็นที่นิยมกันมากตัวหนึ่งในปัจจุบัน
⛳ Forward (ฟอร์เวิร์ด)
Forward เป็นสัญญาในการซื้อขายสินค้าหรือสินทรัพย์ทางการเงินที่คู่สัญญา 2 ฝ่ายตกลงกัน โดยฝ่ายหนึ่งทำสัญญาว่าจะซื้อ (หรือขาย) และอีกฝ่ายขาย (หรือซื้อ) ตามราคาที่ตกลงกันไว้ โดยการซื้อขายจะเกิดขึ้นในอนาคต
ตัวอย่างเช่น A ทำสัญญา Forward จะซื้อ หุ้น X ที่ราคา 15 บาทในอีก 1 เดือนข้างหน้า โดย B สัญญาจะขายหุ้น X ที่ราคา 15 บาทเช่นกัน
ซึ่งกรณีนี้ B อาจจะผิดสัญญากับ A แล้วไปขายในตลาดแทนก็ได้ เนื่องจาก Forward เป็นสัญญาแบบไม่เป็นทางการ (คือ สัญญาที่คู่สัญญาตกลงทำสัญญากันเอง ไม่มีหน่วยงานกลางรับรองหรือคอยดูแลให้ทำตามสัญญา) ทำให้สัญญา Forward ในยุคแรกของตราสารอนุพันธ์มีการผิดสัญญา (Default) เยอะมาก ทำให้ต้องสร้างตราสารอนุพันธ์ชนิดใหม่คือ Futures ขึ้นมาแทน
⛳ Swap (สวอป)
คือ สัญญาการแลกเปลี่ยนกระแสเงินสด (คือเอาเงินมาแลกกัน) ของคู่สัญญา โดยฝ่ายหนึ่งจ่ายเป็นอัตราคงที่ อีกฝ่ายจ่ายแบบลอยตัว หรือจะเป็นลอยตัวกับลอยตัวก็ได้ โดยฝ่ายที่จ่ายกระแสเงินสดแบบลอยตัวจะจ่ายมากหรือน้อยอ้างอิงกับมูลค่าสินทรัพย์ที่สัญญาผูกอยู่
ตราสารอนุพันธ์ชนิดนี้คนใช้มักเป็นกิจการที่จะไปลงทุนต่างประเทศ คนทั่วไปอาจจะไม่ค่อยได้ใช้กันเท่าไรนัก
⛳ Option (ออปชั่น)
Option เป็น “สิทธ์” ในการซื้อ (Call) หรือขาย (Put) สินทรัพย์ในราคาที่ต้องการในอนาคต โดยผู้ได้สิทธิ์จะใช้หรือไม่ใช้สิทธิ์ก็ได้ เพราะว่าไม่ใช่สัญญาจึงไม่ต้องถูกบังคับให้ทำตาม แต่ว่าจะเสียเงินที่จ่ายเพื่อซื้อสิทธิ์ในตอนแรกไป ซึ่งเงินส่วนนี้เรียกว่า Option Premium ซึ่งมีมูลค่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับมูลค่าการซื้อขาย จากข้อดีนี้เองทำให้ Option เป็นตราสารอนุพันธ์ที่ได้รับความนิยมมากๆ ตัวหนึ่งเลยค่ะ
ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีสินค้าหลักๆอยู่ 2 ตัวคือ Future และ Option ส่วนสินค้าที่เหลืออีก 2 ตัวคือ Forward และ Swap ส่วนใหญ่จะซื้อขายผ่านสถาบันการเงินโดยการตกลงซื้อขายกันเอง ( OTC Market )
นักลงทุนทั่วไปคือผู้ที่นิยมซื้อขายสินค้าอนุพันธ์มากที่สุด ( 51% ) รองลงมาคือสถาบันการเงิน ( 38% ) ส่วนอันดับสามคือต่างชาติ ( 11% )
เนื่องด้วยตลาดอนุพันธ์เป็น Zero Sum Game และสินค้าทุกตัวมีอัตราทด ( Leverage หรือ Gearing Ratio ) มากหรือน้อยแตกต่างกันไป จึงทําให้ตลาดอนุพ้นธ์ มีความเสี่ยงและผลตอบแทนูสูงกว่าตลาดหุ้น ( Stock Market )
สำหรับสินค้าในตลาด TFEX ที่มีซื้อขายในปัจจุบันมีดังนี้ค่ะ
Set 50 Index Futures = 6 ตัว ( สภาพคล่องเป็นอันดับ 2 ที่ 33% )
Sector Index Futures = 20 ตัว
Single Stock Futures = 72 ตัว ( สภาพคล่องสูงสุดที่ 60% )
Preciuos Metal Futures = 6 ตัว
Deferred Metal Futures = 1 ตัว
Interest Rate Futures = 4 ตัว
Currency Futures = 4 ตัว
Agricualtural Futures = 14 ตัว
Set 50 Index Options = 68 ตัว
รวม = 495 ตัว
การลงทุนในอนุพันธ์จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ลงทุนที่เข้าใจหลักในการตัดสินใจลงทุนและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาและทำความเข้าใจอนุพันธ์แต่ละประเภท ให้ดีก่อนเริ่มลงทุน พิจารณาสถานะทางการเงินของตนเองว่ามั่นคงเพียงพอสำหรับรองรับ ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด และเลือกกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง
💦........หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กล้าได้กล้าเสีย พร้อมรับความเสี่ยง และมองหาวิธีลงทุนที่จะทำกำไรได้ทั้งในภาวะตลาดขาขึ้นและขาลง บอกได้คำเดียวว่าคุณไม่ควรพลาดที่จะลงทุนใน “อนุพันธ์” แต่ถ้าคุณไม่ใช่คนประเภทนี้ ผู้เขียนก็ขอแนะนำว่า คุณควรจะอยู่ให้ห่างจากการลงทุนประเภทนี้ เพราะความเสี่ยงค่อนข้างสูงมาก ถ้าทำใจยอมรับการขาดทุนไม่ได้ ก็อาจทำให้คุณเสียศูนย์ได้เช่นเดียวกันค่ะ
ขอให้โชคดีในการลงทุนทุกท่านนะคะ 😀😀
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ช่องทางอื่นในการติดตาม เพจลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกกำลังใจและการติดตามนะคะ 🙏🙏😘😘

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา