Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลงทุนในบัญชีและภาษี
•
ติดตาม
2 ต.ค. 2020 เวลา 05:05 • การศึกษา
การลงทุนในอนุพันธ์
หลังจากเข้าใจลักษณะพื้นฐานของอนุพันธ์แต่ละประเภท ผลตอบแทน และความเสี่ยง จากบทความก่อนมาแล้ว ผู้ลงทุนก็ควรศึกษาและทำความเข้าใจขั้นตอนต่างๆ ของการลงทุนในอนุพันธ์ด้วยนะคะ ซึ่งมี 6 ขั้นตอน ดังนี้ค่ะ
1. กำหนดเป้าหมายและระยะเวลาลงทุน
2. คาดการณ์ทิศทางราคาสินค้าอ้างอิง
3. เลือกกลยุทธ์ลงทุนที่เหมาะสม
4. ตัดสินใจซื้อขาย
5. หมั่นเช็คสถานะและปิดสถานะการลงทุน
6. ประเมินผลการลงทุนและปรับพอร์ตการลงทุน
⛳ กำหนดเป้าหมายและระยะเวลาลงทุน
เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการลงทุนในอนุพันธ์ คือต้องกำหนดเป้าหมายและระยะเวลาลงทุน ให้ชัดเจน โดยตอบตัวเองให้ได้ว่า ในการลงทุนนั้น มีเป้าหมายเพื่ออะไร เพื่อเก็งกำไรระยะสั้น หรือ เพื่อบริหารความเสี่ยง เนื่องจากเป้าหมายและระยะเวลาการลงทุนที่ต่างกัน จะนำไปสู่วิธีการลงทุนและกลยุทธ์การลงทุนที่แตกต่างกันไปค่ะ
⛳ คาดการณ์ทิศทางราคาสินค้าอ้างอิง
เนื่องจากราคาสินค้าอ้างอิงเป็นตัวกำหนดราคาอนุพันธ์แต่ละประเภท ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงจำเป็นต้องเข้าใจและสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจการลงทุนต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอ้างอิง เพื่อให้สามารถคาดการณ์ทิศทางราคาสินค้าอ้างอิงได้
นอกจากนี้ ควรวิเคราะห์ด้วยว่าทิศทางดังกล่าวจะมีความผันผวนมากน้อยแค่ไหน และจะเกิดขึ้นในระยะเวลาใด เพื่อที่จะเลือกใช้กลยุทธ์ลงทุนให้เหมาะสมกับการคาดการณ์ของผู้ลงทุนเอง
ตัวอย่าง : ถ้าผู้ลงทุนคาดว่า ในระยะสั้นราคาหุ้นที่อยู่ในบางอุตสาหกรรมมีแนวโน้มสดใส ก็สามารถ “ซื้อก่อนขาย” (Long) Stock Futures ของหุ้นดังกล่าวไว้ก่อนที่ราคาถูก และขาย (Short) เพื่อปิดสถานะที่ราคสูงในภายหลัง ซึ่งผู้ลงทุนจะสามารถทำกำไรจาก Stock Futures ได้แทนการซื้อหุ้นจริงๆ
ในทางตรงข้าม หากคาดว่าราคาหุ้นในบางอุตสาหกรรมจะลดลง ก็สามารถจัดการความเสี่ยงโดย “ขายก่อนซื้อ” (Short) Stock Futures ไปก่อนที่ราคาสูง และซื้อ (Long) เพื่อปิดสถานะที่ราคาถูกในภายหลัง โดยยังคงเก็บหุ้นไว้ในพอร์ตเพื่อโอกาสรับเงินปันผล
สรุป
📌 คาดว่าจะขึ้นให้ “ซื้อ”
📌 คาดว่าจะลงให้ “ขาย”
⛳ เลือกกลยุทธ์ลงทุนที่เหมาะสม
หลังจากวิเคราะห์ข้อมูลทางเศรษฐกิจต่างๆ จนสามารถคาดการณ์ทิศทางของราคาสินค้าอ้างอิงได้แล้ว ขั้นต่อมาก็คือ การเลือกกลยุทธ์ลงทุนที่เหมาะกับการคาดการณ์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนทำกำไรหรือป้องกันความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนได้
กลยุทธ์การทำกำไรจากทิศทางของราคา (Direction Trading Strategy) เหมาะสำหรับเวลาที่ผู้ลงทุนมีมุมมองที่ชัดเจนว่า ราคาสินค้าอ้างอิงจะปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลง ซึ่งผู้ลงทุนอาจ “ซื้อก่อนขาย” หรือ “ขายก่อนซื้อ” อนุพันธ์ เพื่อทำกำไรแทนการซื้อหรือขายสินค้าอ้างอิงนั้นจริงๆ
ส่วนกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยง (Hedging Strategy) เหมาะสำหรับใช้บริหารความเสี่ยง เพื่อให้พอร์ตลงทุนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยรักษาอัตราผลตอบแทนรวมของพอร์ตไม่ให้ผันผวนไปตามภาวะตลาด และไม่ต้องขายหลักทรัพย์ที่ถือครองไว้ออกไปจากพอร์ต
⛳ ตัดสินใจซื้อขาย
โดยผู้ลงทุนต้องเปิดบัญชี เพื่อส่งคำสั่งซื้อขายผ่านโบรคเกอร์อนุพันธ์ จากนั้นจึงเริ่มซื้อขายตามขั้นตอนค่ะ (เนื่องจากขั้นตอนอาจจะยาวสักหน่อย จึงขอยกไปกล่าวในบทต่อไปนะคะ) แต่ผู้เขียนสรุปมาให้ดูก่อน ดังภาพข้างล่างนี้ค่ะ
ขั้นตอนการซื้อขายฟิวเจอร์สและออปชั่น
⛳ หมั่นเช็คสถานะและปิดสถานะการลงทุน
เนื่องจากฟิวเจอร์สและออปชั่นเป็นสัญญาที่มีอายุจำกัด ผู้ลงทุนจึงควรตรวจสอบสภานะของตนเองอยู่ตลอดเวลา ว่ามีกำไรหรือขาดทุนจากการลงทุนเท่าไรบ้าง เพื่อตัดสินใจว่าจะถือสัญญานี้ต่อไปหรือไม่ โดยผู้ลงทุนมีทางเลือกที่จะปิดสถานะของตนเองได้ 2 ทาง คือ
👉 ปิดสถานะของสัญญาก่อนสัญญาครบกำหนดอายุ
หากได้กำไรตามที่พอใจแล้ว หรือมีผลขาดทุนจนไม่สามารถยอมรับได้ และไม่สามารถวางเงินประกันเพิ่มเติมได้แล้ว ผู้ลงทุนสามารถเลือกที่จะปิดสถานะหรือล้างสถานะ (Offset Position) ของตนเองได้ก่อนที่สัญญาจะหมดอายุ ด้วยการซื้อหรือขายสัญญาเดิมในทิศทางตรงกันข้าม
โดยในกรณีของ “ฟิวเจอร์ส” การปิดสถานะจะต้องเป็นสัญญาเดียวกัน คือ ครบกำหนดส่งมอบเดือนเดียวกัน ส่วนกรณีของ “ออปชั่น” จะต้องเป็นประเภทเดียวกัน เดือนเดียวกัน และมีราคาใช้สิทธิราคาเดียวกัน
👉 ถือสัญญาไปจนครบกำหนดอายุ
ราคาที่คำนวณกำไรขาดทุน คือ ราคาที่ใช้ชำระราคาในวันซื้อขายวันสุดท้าย (Final settlement Price) ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปตามประเภทของสินค้าอ้างอิง โดยโบรกเกอร์จะจ่ายเงินคืนให้ผู้ลงทุนตามยอดเงินหลักประกันที่คงเหลือในบัญชีแก่ผู้ลงทุน
⛳ ประเมินผลการลงทุนและปรับพอร์ตการลงทุน
การหมั่นติดตามวัดผลการลงทุนของตนเองก็เปรียบเสมือนการส่องกระจกที่จะสะท้อนรูปแบบการลงทุนที่ผ่านมา โดยหากพบว่า ผลการลงทุนแตกต่างไปจากเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ในตอนแรก ไม่ว่าจะได้กำไรหรือขาดทุน ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่จะใช้กำหนดเป้าหมายในการลงทุนครั้งต่อๆ ไป รวมทั้งเป็นปัจจัยในการพิจารณาเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนหรือปรับสถานะพอร์ตลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในอนุพันธ์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจลักษณะพื้นฐานของอนุพันธ์และสินค้าอ้างอิงของอนุพันธ์ที่จะเลือกลงทุน
ดังนั้น การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยผู้ลงทุนสามารถหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุนในอนุพันธ์ประเภทต่างๆ ได้จากแหล่งๆ เช่น แหล่งข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แหล่งข้อมูลจากโบรกเกอร์อนุพันธ์ แหล่งข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
โชคดีในการลงทุนทุกท่านค่ะ 😊😊
Cr. Thailand Securities Institute
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ช่องทางอื่นในการติดตาม เพจลงทุนในบัญชีและภาษี
FB :
https://www.facebook.com/BSV.BSerp.BusinessValue
Website :
https://accounting.bsv-th.com/
ขอบคุณทุกกำลังใจและการติดตามนะคะ 🙏🙏😘😘
11 บันทึก
33
34
8
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ลงทุนในตลาดอนุพันธ์
11
33
34
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย