21 ก.ย. 2020 เวลา 00:39 • สุขภาพ
EP.57 ก็มันเรื่องของน้ำ!!!
มาดื่มน้ำกันครับ
สวัสดีตอนเช้าครับผม กับเวลาดีเวลาเดิม 07:39 น.
“น้ำ” (Water) เป็นสิ่งโปร่งใส ที่ไม่มีรส ไม่มีกลิ่น และไม่มีสี
“น้ำดื่ม” (Drinking water) นั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ แม้ว่าน้ำจะไม่มีแคลอรี่หรือสารอาหารที่เป็นสารประกอบอินทรีย์ใดๆ เลยก็ตาม
ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยา ‘แรนดัล เค. แพคเกอร์’ จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ได้กล่าวเอาไว้ว่า ขีดจำกัดสูงสุดของมนุษย์ที่สามารถอยู่ได้โดยไม่มีน้ำนั้นอยู่ที่ราวๆ 1 สัปดาห์ หรือแค่ 3-4 วันเท่านั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่แต่ละคนอาศัยอยู่ และระยะเวลาที่พวกเขาไม่ได้รับน้ำกับอาหาร
ที่จริงแล้วร่างกายของมนุษย์นั้นสูญเสียน้ำตลอดเวลาอยู่แล้วจากกิจกรรมต่างๆ ดังนั้นการดื่มน้ำเพียงวันละ 1 แก้ว จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายอย่างแน่นอน
เพราะร่างกายของคนเราอย่างน้อย 60 เปอร์เซนต์ มีน้ำเป็นส่วนประกอบ อีกทั้งเซลล์ในร่างกายยังใช้น้ำเพื่อรักษาระบบการทำงาน เพื่อหล่อลื่นข้อต่อต่างๆ, เพื่อควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย เพื่อหายใจ รวมทั้ง
สรุปคือร่างกายจะสูญเสียน้ำทันทีที่ขับเหงื่อ, เข้าห้องน้ำ, ช่วยในเรื่องการขับถ่ายของเสีย หรือแม้กระทั่งหายใจ
ถามว่าเราควรดื่มน้ำวันละเท่าไร?
ความเหมาะสม
ปริมาณการดื่มน้ำที่เหมาะสมมีดังนี้ครับ
สำหรับผู้ที่อายุ 4-8 ปี 5 แก้วต่อวัน (ประมาณ 1,200 มล.)
สำหรับผู้ที่อายุ 9-13 ปี 7-8 แก้วต่อวัน (ประมาณ 1,600-1,900 มล.)
สำหรับผู้ที่อายุ 14-18 ปี 8-11 แก้วต่อวัน (ประมาณ 1,900-2,600 มล.)
สำหรับผู้หญิงที่อายุ 19 ปีขึ้นไป 9 แก้วต่อวัน (ประมาณ 2,100 มล.)
สำหรับผู้ชายที่อายุ 19 ปีขึ้นไป 13 แก้วต่อวัน (ประมาณ 3,000 มล.)
ปริมาณดังกล่าวได้นับรวมปริมาณน้ำที่ได้จากอาหาร ผักหรือผลไม้ต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้อาจจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการดื่มน้ำให้มากขึ้น เมื่อต้องออกกำลังกายอย่างหนัก หรืออยู่ในสภาพอากาศร้อน ป่วย มีไข้หรือมีปัญหาสุขภาพ
ช่วงเวลาใดเหมาะสมที่สุดในการดื่มน้ำ?
เวลาที่ดี
หลังตื่นนอน การดื่มน้ำ 1 แก้วนั้นจะช่วยให้ร่างกายขจัดสารพิษต่างๆ และช่วยกระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายในได้อย่างดี
หลังจากอาบน้ำ การดื่มน้ำ 1 แก้วนั้นช่วยลดความดันโลหิตได้
ก่อนมื้ออาหาร การดื่มน้ำ 1 แก้ว 30 นาทีก่อนรับประทานอาหารนั้นช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น
และควรดื่มน้ำอีก 1 แก้วหลังรับประทานอาหารเสร็จแล้ว 1 ชั่วโมง เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอาหาร แต่น้ำย่อยอาจเจือจางได้หากดื่มน้ำแล้วเว้นช่วงเวลาไว้นานเกินไป
ก่อนนอน การดื่มน้ำ 1 แก้วก่อนนอนช่วยแทนที่ของเหลวที่จะสูญเสียในตอนกลางคืนได้
ดื่มน้ำประปานั้นอันตรายจริงหรือไม่?
จริงหรือไม่?
เชื่อว่าหลายคนนั้นคิดว่าน้ำประปานั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จากสาร และกลิ่นต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้กรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุขเปิดเผยว่า กลิ่นที่พบในน้ำประปานั้นคือคลอรีน เป็นสารที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกว่าช่วยฆ่าเชื้อโรคในน้ำได้ และยังเป็นตัวช่วยยืนยันว่าน้ำนั้นได้ผ่านการฆ่าเชื้อเรียบร้อยแล้ว แต่หากผู้ใดที่ไม่ชอบกลิ่นคลอรีน อาจตั้งน้ำทิ้งไว้ 20-30 นาที กลิ่นคลอรีนก็จะหายไป
แต่หากผู้บริโภคยังไม่มั่นใจในการดื่มน้ำประปา การนำน้ำไปต้มเป็นเวลา 3-5 นาทีจนเดือดหรือที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส จะยังคงไว้ซึ่งแร่ธาตุ ทำให้น้ำสะอาดปราศจากจุลินทรีย์ แบคทีเรีย และลดความเสี่ยงจากสารไตรฮาโลมีเทนได้ จึงมั่นใจได้ว่าน้ำประปาสามารถดื่มได้ และไม่เป็นอันตรายต่อทั้งมนุษย์ และสัตว์เลี้ยงอย่างแน่นอน
ดื่มน้ำแร่ดีกว่าน้ำเปล่าหรือไม่ อย่างไร?
แบบไหนดีกว่า?
น้ำแร่ก็คือน้ำที่มีแร่ธาตุมากกว่าน้ำเปล่าที่เราดื่มกันทุกวัน เราจะดื่มน้ำแร่หรือไม่ดื่มก็ได้ เพราะร่างกายของเราก็ได้รับแร่ธาตุจากการทานอาหารปกติอยู่แล้ว แต่ถ้าใครจะดื่มน้ำแร่ก็ไม่ว่ากัน เพียงแต่ต้องระวังว่าอย่าดื่มทุกวัน และอย่าดื่มมากเกินไป เพราะแร่ธาตุอาจไปสะสมในร่างกายจนเสียสมดุลได้ แบบนี้แทนที่จะไปบำรุงสุขภาพกลับไปกระตุ้นให้เกิดโรคแทน
ดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำเย็น อะไรดีกว่ากัน?
เลือกให้เหมาะสม
อันที่จริงนั้นจะน้ำอุ่นหรือว่าน้ำเย็น ต่างก็มีทั้งข้อดี และข้อเสียต่อร่างกายด้วยกันทั้งนั้น ต่อไปนี้คือคำแนะนำ
คร่าวๆ ในการเลือกดื่มครับ
หลังจากรับประทานอาหาร ควรดื่มน้ำอุ่นทุกครั้ง เพราะหากคุณดื่มน้ำเย็น ร่างกายจะใช้พลังงานมากขึ้นเพื่อเพิ่มอุณหภูมิ ทำให้ประสิทธิภาพการย่อยอาหารลดลง
และหลังการออกกำลังกาย ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอุ่น เพราะในขณะนั้นร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงมากอยู่แล้ว ให้ดื่มน้ำเย็นแทน เพราะจะสามารถช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย และช่วยควบคุมอุณหภูมิในร่างกายให้คงที่ได้ เป็นต้น
ดื่มน้ำเยอะๆ ดีจริงหรือ?
มากเกินไปไม่ดี
การออกกำลังกายอาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมาก โดยเฉพาะหากอุณหภูมิยิ่งสูงขึ้น อาจจำเป็นต้องดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อทดแทนส่วนที่สูญเสียไป อย่างไรก็ตาม การดื่มน้ำในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้เป็นอันตรายร้ายแรงได้ เช่น “ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ” (Hyponatremia) มักพบได้ในการแข่งวิ่งระยะไกลหรือผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำเรียกอีกอย่างได้ว่า “ภาวะน้ำเป็นพิษ” เกิดขึ้นจากการดื่มน้ำปริมาณที่มากเกินไปภายในช่วงเวลาสั้นๆ เช่น การดื่มน้ำรวดเดียวเป็นจำนวน 7 ลิตรหรือดื่มน้ำ 4 ลิตรภายใน 2 ชั่วโมง ที่อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ ผู้ป่วยอาจปรากฏอาการป่วย ปวดหัว อาเจียน อ่อนเพลีย รวมไปถึงเวียนศีรษะ สับสน มือ และเท้าบวม หากไม่รีบไปพบแพทย์ ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น สมองบวม และเสียชีวิตได้
โทษจากการดื่มน้ำน้อยเกินไป
น้อยเกินไปก็เช่นกัน
การดื่มน้ำน้อยเกินไปอาจเกิดจากความกังวล หรือกลัวอันตรายของการดื่มน้ำมากเกินไป หรืออาจเข้าใจว่าการดื่มน้ำเพียง 8 แก้วต่อวันก็เพียงพอต่อร่างกายแล้ว ยิ่งหากเป็นผู้ที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ร่างกายจะสูญเสียน้ำมากกว่าปกติ หากไม่เพิ่มปริมาณการดื่มน้ำ อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำได้
“ภาวะขาดน้ำ” เกิดจากการที่ร่างกายสูญเสียน้ำไปกับเหงื่อ และปัสสาวะ มากกว่าปริมาณน้ำที่ดื่มเข้าไป ผู้ป่วยอาจสังเกตได้ว่าปัสสาวะมีสีเข้ม และปัสสาวะไม่บ่อยเท่าปกติ หรืออาจปรากฏอาการเหนื่อยล้า และกระหายน้ำอย่างรุนแรง
อาการของภาวะขาดน้ำอาจก่อให้เกิดอาการอื่นๆ เพิ่มได้ อาทิเช่น อารมณ์เปลี่ยนแปลง, สับสนหรือเบลอ, ท้องผูก, อุณหภูมิร่างกายสูงเกินไป, นิ่วที่ไต หรือช็อกได้
อย่างไรก็ตาม ภาวะขาดน้ำอาจรักษาได้โดยการดื่มน้ำให้มากขึ้น แต่หากอาการรุนแรง ควรเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แพทย์อาจให้น้ำเกลือผู้ป่วยจนกว่าอาการจะหายไป
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าดื่มน้ำเพียงพอแล้ว?
สมดุลสำคัญที่สุด
วิธีที่ง่ายที่สุดคือการสังเกต ผู้ที่ดื่มน้ำเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจะขับถ่ายสะดวก และมีปัสสาวะสีเหลืองใส แต่ผู้ที่ดื่มน้ำไม่เพียงพอจะมีปัญหาการขับถ่ายหรือท้องผูก และมีปัสสาวะสีเข้ม แต่หากมีปัญหาสุขภาพ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับไตหรือภาวะหัวใจล้มเหลว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพิ่มปริมาณการดื่มน้ำ
ไม่ควรดื่มน้ำระหว่างกินข้าวจริงหรือ?
หลายคนมีความเชื่อว่าไม่ควรดื่มน้ำระหว่างกินข้าว เพราะอาจทำให้อาหารไม่ย่อย และเป็นโรคอ้วนได้ ซึ่งตรงข้ามกับความจริง การดื่มน้ำระหว่างมื้ออาหาร ช่วยให้ร่างกายย่อยอาหาร และดูดซึมสารอาหารได้ดีมากยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยให้อุจจาระไม่แข็งเกินไป ป้องกันอาการท้องผูก และช่วยให้ไม่รับประทานอาหารมากเกิน เพราะน้ำช่วยให้อิ่มเร็วขึ้น และกินช้าลง อย่างไรก็ตาม ไม่ควรดื่มน้ำในปริมาณมากจนเกินไป
ประโยชน์ของการดื่มน้ำ
เพียบด้วยประโยชน์
1. ช่วยลดน้ำหนัก การดื่มน้ำเปล่าจะไปช่วยกระตุ้นระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกายให้สูงขึ้น ทำให้ลดน้ำหนักได้ง่าย อีกทั้งการดื่มน้ำเปล่ายังไปช่วยลดความอยากอาหาร ทำให้ทานอาหารได้น้อยลง และอิ่มเร็วขึ้น
2. ช่วยเพิ่มเมตาบอลิซึม การดื่มน้ำเปล่าในตอนเช้า ประมาณครึ่งลิตรจะช่วยเพิ่มระบบเมตาบอลิซึมในร่างกายได้มากถึง 24 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้ร่างกายสามารถขจัดไขมันได้เพิ่มขึ้น ทำให้ลดน้ำหนักได้เร็วขึ้นนั่นเอง
3. กระตุ้นสมอง การดื่มน้ำเปล่าในตอนเช้าหลังจากตื่นนอน เป็นวิธีการปลุกร่างกายให้ตื่น ทำให้ระบบต่างๆ เริ่มทำงาน ช่วยทำให้รู้สึกสดชื่น การดื่มน้ำเปล่ามากๆ จะทำให้สมองทำงานได้ดีขึ้น เพราะสมองมีน้ำเป็นส่วนประกอบประมาณ 75–85 เปอร์เซ็นต์ การดื่มน้ำเปล่าจึงทำให้รู้สึกมีสมาธิมากขึ้น
4. ทำให้ทานอาหารได้น้อยลง การดื่มน้ำเปล่าก่อนการทานอาหารประมาณ 30 นาที จะทำให้ทานอาหารได้น้อยลง นอกจากนี้ยังช่วยลดความอยากทานขนมของหวาน การดื่มน้ำเปล่า จึงช่วยทำให้การลดน้ำหนักมีประสิทธิภาพมากขึ้น
5. กระตุ้นระบบการขับถ่าย สำหรับผู้ที่มีปัญหาท้องผูก การดื่มน้ำเปล่าเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นระบบการขับถ่ายให้เป็นปกติ ลองเพิ่มปริมาณการดื่มให้มากขึ้น จะทำให้ขับถ่ายได้คล่อง เพราะการดื่มน้ำเปล่าจะช่วยขับสารพิษ และของเสียออกจากร่างกาย
6. ช่วยลดการปวดหลังหรือบั้นเอว และอาการปวดข้อต่างๆ
7. ลดความเสี่ยงต่อโรคร้าย การดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคร้าย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็งลำไส้ และโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
8. ช่วยให้หัวใจทำงานได้อย่างเป็นปกติ และมีประสิทธิภาพ
9. ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ปรับสมดุลในร่างกาย
10. เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง ป้องกันการเกิดริ้วรอย
11. ช่วยลดอาการเครียด ผ่อนคลาย และเพิ่มสมาธิ
12. ช่วยลดอาการอ่อนเพลีย หากรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น ให้ลองเพิ่มการดื่มน้ำให้มากขึ้น เพราะสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เกิดจากภาวะที่ร่างกายขาดน้ำ
สำหรับวันนี้หวังว่าทุกท่านจะได้รับประโยชน์จากบทความนี้บ้างไม่มากก็น้อย ขอให้สุขภาพดีกันถ้วนหน้าครับ
ว่าแต่วันนี้คุณดื่มน้ำหรือยัง?
***********************************************
ดื่ม - SKALAXY
ขอบคุณที่มา

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา