27 ก.ย. 2020 เวลา 12:30 • ประวัติศาสตร์
หญิงสาวไทยคนแรกที่เรียกร้องสิทธิสตรีของตน ด้วยการสร้างวีรกรรมยื่นหนังสือถวายฎีกาต่อพระพักตร์รัชกาลที่ 4
หญิงไทยในสมัย รัชกาลที่ 4
ใน พ.ศ.2408 หรือราว 155 ปีผ่านมาแล้ว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะที่พระองค์เสด็จออกหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์เพื่อทรงโปรยทานตามราชประเพณี
ตอนนั้นเองมีหญิงสาวนามว่า "อำแดงเหมือน" ผลีผลามเข้ามายื่นถวายฎีการ้องทุกข์ต่อหน้าพระพักตร์เพื่อกราบบังคมทูลขอความเป็นธรรมให้กับตนเองและชายหนุ่มในดวงใจของเธอ
จนเป็นเรื่องราวความรักที่ถูกจารึกไว้ ว่าเป็นการเรียกร้องขอความเป็นธรรมของสตรีครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย
อำแดงเหมือน หรือ นางเหมือน หญิงชาวบางม่วงเมืองนนทบุรี หญิงที่มีนิสัยใฝ่ในการศึกษา แม้ตามประเพณีในยุคนั้น มักจะจำกัดการศึกษาหาความรู้ไว้กับผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ แต่อำแดงเหมือนมีความแตกต่างที่มักใฝ่หาความรู้ด้วยการไปขอร้องสมภาร ขอเรียนหนังสือร่วมกับเด็กวัด
บ้านชาวสยามสมัยรัชกาลที่ 4 ถ่ายโดยจอห์น ทอมสัน
ขณะนั้นเองนายริดซึ่งกำลังบวชอยู่ได้ตกหลุมรักอำแดงเหมือน และด้วยเกรงว่าจะทำให้พระศาสนาเสื่อมเสียจึงตัดสินใจสึกกลับมาทำงานกับครอบครัว ที่มีอาชีพช่างปั้นเครื่องดินเผา
หลังจากพระริดสึกกลับมาทำงานที่บ้าน ต้นรักของทั้งสองก็ได้พัฒนาเรื่อยมา เส้นทางความรักกำลังเดินไปด้วยดี แต่แล้วก็มีบางอย่างเกิดขึ้น เมื่อพ่อของอำแดงเหมือนเล่นพนันจนเป็นหนี้กับนายภูเจ้าของโรงหล่อพระ พ่อของอำแดงเหมือนแก้ปัญหาด้วยการมอบลูกสาวของตนไปเป็นเมียน้อยนายภูเพื่อใช้หนี้
เมื่ออำแดงเหมือนรู้เข้าจึงพยายามอธิบายกับพ่อแม่ให้ทราบว่าตนนั้นมีชายที่ได้รักอยู่ก่อนแล้ว และได้ปฎิเสธพ่อแม่บังเกิดเกล้าของตนเองอยู่หลายครั้ง แม้ว่าต่อมาจะถูกเฆี่ยนตี และคุมขัง อย่างไรก็แล้วแต่ อำแดงเหมือนก็ยังยืนกรานในความรักและไม่ยอมตกลงปลงใจไปเป็นเมียของนายภู
การเล่นพนันของชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ 4
จนสุดท้ายพ่อแม่บังเกิดเกล้าของอำแดงเหมือนต้องร่วมกันวางอุบายนัดแนะกับนายภูให้ฉุดลูกสาวตนเอง แต่เธอก็ขัดขืนต่อสู้ทุกวิถีทาง จนหนีออกมาได้และไปอยู่ที่เรือนของนายริดชายที่ตนเองรัก
นายริดเมื่อทราบเรื่องทั้งหมดจึงนำดอกไม้ไปขอขมาพ่อแม่ของอำแดงเหมือน แสดงความรับผิดชอบและความรักที่ตนมีต่อเธอ แต่เหตุการณ์กลับยิ่งเลวร้ายหนักขึ้นไปอีก เพราะพ่อและแม่กลับเกลียดคนรักของลูกสาวตนเอง จนถึงกับไล่ยิง และบอกให้นายภูนำความไปแจ้งข้อกล่าวกับเจ้าเมืองนนทบุรี จนอำแดงเหมือนถูกโทษคุมขังอีกครั้งหนึ่ง
ระหว่างถูกคุมขังนายภูได้ติดสินบนพระทำมะรงหรือหัวหน้าผู้คุมให้กลั่นแกล้งและทรมานอำแดงเหมือนเพื่อให้ยอมเป็นภรรยาของตน
ไม่นานหลังจากนั้นนายริดจึงตัดสินใจทำการแหกคุกพาอำแดงเหมือนหนีเข้ากรุงเทพเพื่อร้องทุกข์ถึงรัชกาลที่ 4
โดยระหว่างทางนั้นทั้งคู่ต้องหนีการจับกุมไปตลอดทาง เมื่อถึงกรุงเทพนายริดได้รีบพาอำแดงเหมือนถวายฎีกาต่อหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2408
พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พระบรมมหาราชวัง
หลังจากทรงได้รับฎีกาของอำแดงเหมือน พระองค์ทรงเห็นว่าอำแดงเหมือนมีอายุ 21 ปีแล้ว สมควรที่จะเลือกสามีได้ด้วยความสมัครใจของตนเอง แล้วจึงทรงส่ง จมื่นราชามาตย์ และนายรอดมอญมหาดเล็กไปชำระเรื่องให้อำแดงเหมือนตกต้องเป็นภรรยาแก่นายริดชู้เดิม แต่ให้นายริดเสียเบี้ยละเมิดให้แด่บิดาและมารดาของอำแดงเหมือนเป็นจำนวนหนึ่งชั่ง และให้นายริดให้เงินแก่นายภูต่างหากเป็นจำนวนสิบตำลึง แล้วจึงให้คดีความจบสิ้นแล้วเลิกต่อกัน
แต่ในกรณีนี้เห็นว่าบิดามารดาเอาชื่อหญิงนั้นไปขายให้แก่ชายที่มาฉุดเอง สมควรให้บิดามารดาของอำแดงเหมือนใช้เงินแก่นายภูเอง ไม่ต้องให้นายริดชายชู้เดิมและตัวหญิงต้องใช้ เพราะเห็นชัดว่าตัวอำแดงเหมือนไม่ยอมให้ขาย
หลังไต่สวนความจริงกับพระนนทบุรีจนได้ความผ่านพระราชวินิจฉัย จึงทรงมีพระบรมราชโองการประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2408 ให้อำแดงเหมือนชนะฎีกา และแต่งงานกับนายริดได้
ภาพจากละครเรื่อง อำแดงเหมือนกับนายริด
เรื่องราวของอำแดงเหมือน ได้มีบันทึกจากพระราชหัตเลขาสลักลงในใบฎีกา ทรงเห็นว่าควรปรับปรุงและแก้ไขจากกฎหมายเดิมต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมต่อสตรีโดยเฉพาะการเลือกคู่ครอง อันเป็นสิทธิขั้นมูลฐานของมนุษย์ให้มีความเที่ยงธรรมเสมอภาคเทียบเท่ากับบุรุษ
รวมทั้งทรงให้ความสนพระราชหฤทัยกับเรื่องนี้เป็นพิเศษจนอำแดงเหมือนสามารถผ่านเรื่องราวอันเลวร้ายนี้ไปได้ด้วยพระบรมโพธิสมภารของล้นเกล้ารัชกาลที่ 4
จึงกล่าวได้ว่า นี่คือครั้งแรกของประวัติศาสตร์ไทยที่สตรีได้เรียกร้องสิทธิของตนสำเร็จ กระทั่งสามารถทำลายม่านประเพณีคลุมถุงชนอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานให้หลุดพ้นไป
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
อ้างอิง
- ชุมนุมประกาศในรัชกาลที่ 4;ประกาศพระราชบัญญัติลักษณะลักพา ณ วันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก
- คดีอำแดงเหมือน ปัญหาของผู้หญิง ในกฎหมายสยาม โดย วิภา จิรภาไพศาล
- เรื่องราวในรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวง โดย กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร
โฆษณา