20 ก.ค. 2020 เวลา 12:50
พระมหามงกุฎล้ำค่า ณ ยอดพระปรางค์วัดอรุณฯ ที่หุ้มด้วยทองคำแท้น้ำหนัก 3 กิโลกรัม พร้อมประดับอัญมณีกว่า 1,955 เม็ด อัตลักษณ์หนึ่งเดียวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ภาพจากแฟนเพจ:sakda assadodorn https://m.facebook.com/UnseenThailand/posts/1678331802179225
วัดอรุณราชวราวรมหาวิหาร เป็นดั่งสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเคยปรากฎอยู่ในสื่อภาพยนตร์ฮอลลี่วูดหลายเรื่องและสื่ออื่นๆมากมาย ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติหากมาเที่ยวกรุงเทพฯ ถ้าไม่ได้มาวัดอรุณฯ อาจคล้ายว่าพลาดไฮไลท์สำคัญไป
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/106196
วัดอรุณฯ เป็นวัดโบราณที่มีมานานแล้ว สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยา โดยชื่อเก่าเรียกกันว่า วัดมะกอก เนื่องจากในบริเวณเดิมนี้ตามบันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า มีต้นมะกอกอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อมาเปลี่ยนมาใช้ชื่อ วัดแจ้ง ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าทำไมถึงชื่อ วัดแจ้ง
ในสมัยกรุงธนบุรี วัดอรุณฯ เคยเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกตก่อนจะย้ายไปสู่วัดพระศรีรัตนศาสดารามในสมัยรัชกาลที่ 1
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดอรุณราชธาราม แต่เดิมนั้นวัดอรุณมีพระปรางค์ที่สูงเพียงแค่ 8 วา เท่านั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีพระราชดำริบูรณะให้มีขนาดสูงขึ้น แต่ก็มิทันได้สร้างเสร็จ พระองค์ท่านได้เสด็จสวรรคตไปก่อน การก่อสร้างจึงถูกดำเนินต่อโดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวในรัชกาลต่อมา
1
ตัวโครงสร้างของพระปรางก่อด้วยอิฐถือปูน สูง 81.85 เมตร วัดรอบฐาน 234 เมตร ประดับด้วยชิ้นเปลือกหอย กระเบื้องเคลือบ จานชามเบญจรงค์ ที่เป็นลายดอกไม้ ใบไม้ ซึ่งส่วนใหญ่สั่งมาจากประเทศจีน
นอกจากนี้ยังมีการประดับตกแต่งด้วย กินนร กินรี ยักษ์ เทวดา และพญาครุฑ ส่วนบริเวณยอดบนสุดของพระปรางค์ติดตั้งยอด "นภศูล" และครอบด้วย "พระมหามงกุฎ"
นภศูล คือองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมส่วนปลายสุดของเครื่องยอด มีใช้อยู่ 5 ประเภท คือ
นภศูล
1. พุ่มข้าวบิณฑ์ ใช้สำหรับประดับยอดอาคารที่มีเครื่องยอด เช่น มณฑป บุษบก ปราสาท หรือเจดีย์ ซึ่งมีรูปลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมย่อมุมทั้งสิ้น
2. ฉัตร ใช้สำหรับประดับยอดเจดีย์เพื่อเป็นเครื่องหมายให้ประจักษ์ว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงสร้างถวายไว้เป็นพุทธบูชา
3. มงกุฎ ใช้สำหรับประดับปลายเครื่องยอดเจดีย์หรือปรางค์ที่มีลักษณะกลมหรือมากเหลี่ยม มักใช้กับเจดีย์หรือปรางค์ที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง โดยเฉพาะในรัชกาลที่ 4 ใช้แทนพระนามเจ้าฟ้ามกุฎ ยอดมงกุฎนี้อาจประดับซ้อนลำภุขันได้
4. ลำภุขัน หรือเรียกกันเป็นสามัญว่า ฝักเพกา ใช้ประดับยอดปรางค์ ทำด้วยแท่งโลหะฝังเป็นแกน มีกลีบคล้ายใบมีดแฉกซ้อนสองชั้นหรือสามชั้น ที่ปลายยอดมีรูปคล้ายพระขรรค์
5. ลูกแก้ว ใช้ประดับยอดเจดีย์โดยทั่วไป และหากไม่เป็นยอดชนิดใดชนิดหนึ่งตามข้อ 1, 2, 3 หรือ 4 ดังกล่าวข้างต้น ก็จะต้องใช้ลูกแก้วประดับยอดแหลม
แต่พระปรางค์ของวัดอรุณฯ จะต่างจากเดิมและพิเศษกว่า เพราะศิลปะของอาคารที่มียอด เช่น ปราสาท มณฑป พระปรางค์ โดยมีการประดับด้วย “พระมหามงกุฎ” หรือ “ยอดทรงมงกุฎ” ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จากความเชื่อที่ว่าพระมหามงกุฎของพระมหากษัตริย์นั้นเปรียบดั่งเป็นยอดวิมานพระอินทร์
การสร้างพระปรางค์ในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระมหามงกุฎของพระประธานวัดนางนอง กรุงเทพมหานคร มาไว้ ณ บนยอดนภศูลพระปรางค์วัดอรุณฯ สื่อความหมายถึงยอดของวิมานไพชยนต์เหนือเขาพระสุเมรุศูนย์กลางของจักรวาล
โดยการนำพระมหามงกุฎขึ้นประดับครอบ ณ ยอดพระปรางค์ในครั้งนั้น ทำให้ราษฎรพากันกล่าวว่าเป็นนิมิตหมายว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องให้ “เจ้าฟ้ามงกุฎ(รัชกาลที่4)” เป็นยอดของบ้านเมืองครองราชสมบัติต่อไป
ในส่วนของพระมหามงกุฎ ณ ยอดพระปรางค์ วัดอรุณฯ มีลักษณะเป็นมงกุฎยอดแหลม สร้างด้วยโลหะสำริดปิดทองและประดับอัญมณี มีน้ำหนัก 185 กิโลกรัม มีความสูง 120 เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 59 เซนติเมตร พระมหามงกุฎได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในการบูรณะพระปรางค์โดยกรมศิลปากร เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2510 นับเป็นเวลาเกือบ 50 ปีล่วงมาแล้ว
https://www.pinterest.com/pin/681662093573832925/
ในช่วง พ.ศ. 2554 พระปรางค์วัดอรุณฯ ประสบปัญหาชำรุดทรุดโทรม และได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย อีกทั้งในช่วงหน้าฝนปีนั้น ผลจากพายุฝนและลมแรง ทำให้เศษถ้วยกระเบื้องต่างๆ ที่ประดับพระปรางค์ มีสภาพหลุดล่อน จึงได้มีการบูรณะครั้งล่าสุดเป็นระยะเวลายาวนานถึงสี่ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2555-2559 และมีการจัดพิธีสมโภชพระปรางค์ 10 วัน 10 คืน ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 100 ปี
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/106196
สิ่งที่พิเศษของการบูรณะครั้งล่าสุด มีการอัญเชิญกระดิ่งทองคำที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษไปประดิษฐานสี่ทิศรอบพระมหามงกุฎ เหนือยอดนภศูล บนยอดพระปรางค์ รวมทั้งประดับเพิ่มเติมบนพระมหามงกุฎ ด้วยการหุ้มทองคำแท้น้ำหนักถึง 3 กิโลกรัม พร้อมประดับอัญมณีจำนวน 1,955 เม็ด
การบูรณะพระปรางค์และพระมหามงกุฎในครั้งนี้ รวมถึงการจัดสร้างกระดิ่งทองคำ เพื่อประดิษฐานสี่ทิศรอบพระมหามงกุฎนั้น วัดอรุณฯ พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชน ต่างพร้อมใจกันดำเนินการเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทั้ง 3 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรมิน ทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 รวมทั้งเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ประเทศชาติ
และนี่คือเรื่องราวของพระมหามงกุฎ ณ ยอดพระปรางค์วัดอรุณฯ ที่ตั้งตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
สถานที่ที่เปี่ยมไปด้วยอัตลักษณ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีความหมายนามว่า “วัดแห่งรุ่งอรุณ” ที่พาให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกต่างขนานนามในความหมายเดียวกันว่า “The Temple of Dawn” สมบัติของชาติที่ควรอนุรักษ์ไว้ตราบนานเท่านาน
http://www.amazingthaitour.com/รูปสวยๆ/วัดอรุณราชวราราม-ราชวรมหาวิหาร/
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
ขอบคุณรูปภาพเพื่อการศึกษาจากเพจ:
- sakda assadodorn
โฆษณา