Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
WonderVenture
•
ติดตาม
9 ก.ย. 2020 เวลา 08:20 • ประวัติศาสตร์
วิวาทะกระฉ่อนสยาม เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว “ทรงเปิดกว้าง” เสรีภาพในการวิพากษ์การเมือง
1
พระมหากษัตริย์ผู้ทรงผ่อนคลายจากฐานะ "ความอยู่เหนือ” มา “อยู่ร่วม” กับชนชั้นการเมืองภาคประชาชน เพื่อร่วมวิพากษ์อุดมการณ์อันสูงส่งนำพาประเทศชาติ แบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย
สยามประเทศได้รอดเงื้อมมือจากผู้ล่าอาณานิคมทางชาติตะวันตกมาได้อย่างเหลือเชื่อ และเมื่อสิ้นแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง
สยามจึงเข้าสู่ยุคที่สื่อ "หนังสือพิมพ์” เจริญเฟื่องฟูแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในสมัยรัชกาลที่ 6
1
รวมเวลากว่า 10 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาในประเทศอังกฤษตั้งแต่ชั้นมัธยมจนจบวิทยาลัยการทหารและเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แต่ต่อมาขณะที่ท่านทรงศึกษาอยู่ในปีสุดท้าย ทรงมีความจำเป็นต้องเสด็จกลับมาสนองงานพระราชบิดาเสียก่อน จึงไม่ได้สำเร็จปริญญาในการศึกษาในมหาวิทยาลัย
เวลากว่าสิบปีจึงยาวนานพอที่จะทรงเล็งเห็นจุดอ่อน-จุดแข็งของระบอบที่พระมหากษัตริย์ต้องทำงานร่วมกับรัฐสภาซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในประเทศอังกฤษ
ด้วยเหตุนี้เองทำให้พระองค์ท่านทรงซึมซับรับสิ่งใหม่เพื่อนำเข้ามาในสยามซึ่งระบอบการปกครองสมัยใหม่ และเมื่อพระราชบิดาได้เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสืบสานพระราชปณิธานของพระราชบิดาพัฒนาประเทศในขั้นต่อไป คือ การจัดตั้งดุสิตธานี เพื่อเป็นการทดลองการปกครองแบบใหม่
"ประชาธิปไตย"
การดำเนินประเทศให้เริ่มเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยในช่วงแรก คือ การเรียนรู้และลองผิดลองถูก เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาที่ประเทศจะถูกกลุ่มผู้มีอำนาจใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน
3
ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างนครจำลองขึ้น นามว่า “ดุสิตธานี” เดิมตั้งอยู่ที่พระราชวังดุสิต ภายในมีสิ่งจำลองต่างๆ เช่น ที่ทำการรัฐบาล วัดวาอาราม อาคารบ้านเรือน ถนน สาธารณูปโภค สถานที่ราชการ ฯลฯ
ดุสิตธานีเมืองจำลอง
ทรงโปรดเกล้าฯให้เริ่มมีการบริหารงานโดยการเลือกตั้งตามแบบประชาธิปไตย โดยมีการเลือกตั้งในระบบพรรคการเมือง
1
รวมทั้งมีการปฏิรูปด้านสังคมและการศึกษาครั้งใหญ่ เพื่อให้ประชาชนได้มีความรู้มากพอและพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
ในยุคนั้นบิดามารดาและผู้ปกครองเป็นจำนวนมากยังไม่สนใจที่จะส่งบุตรหลานในอุปถัมภ์ของตนเข้าเรียนอย่างจริงจัง หากเรียนก็เป็นการเรียนเพียงครึ่งๆ กลางๆ ไม่เต็มหลักสูตรที่กำหนดไว้ เพราะประชาชนยังไม่ตระหนักถึงประโยชน์และความจำเป็นของการศึกษามากพอ
และใน พ.ศ.2464 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเห็นว่า ถึงเวลาอันสมควรแล้วที่จะออกพระราชบัญญัติบังคับการศึกษาแก่ราษฏร เพื่อให้การศึกษาระดับประถมศึกษาเจริญกว้างขวาง เป็นการยกระดับประชากรทั้งประเทศให้มีความรู้อย่างทั่วถึงออกไป
โดยกำหนดให้เด็กชายหญิงทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 7-14 ปี ต้องเข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา และถ้ายังอ่านเขียนไม่ได้ก็ต้องเรียนต่อไปจนกว่าจะอ่านออกเขียนได้ ในการกำหนดพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ.2464 ครั้งนี้นี่เองเป็นส่วนเสริมให้ประชาชนทั้งประเทศรุ่นใหม่ๆต่อมามีความเป็นปึกแผ่น สร้างความผสมผสานกลมกลืนในหมู่ชาวจีน ชาวไทยอิสลาม รวมทั้งประชาชนในมณฑลต่างๆ ที่มีภาษาถิ่นแตกต่างไปจากภาคกลาง ให้เกิดการรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
เด็กเล็กใน ยุค ร.6
แต่ที่เป็นอุปสรรคร้ายแรงก็คือบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่ดังที่เป็นอยู่ในรัชสมัยของพระราชบิดานั่นเอง ยังมีอยู่จำนวนมากที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวคิดอันทันสมัยนี้
ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แม้ว่าสยามประเทศจะมีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่การเมืองภาคประชาชนนั้นเฟื่องฟูและเข้มข้น
สื่อที่คอยทำหน้าที่ขับเคลื่อน คือ กิจการหนังสือพิมพ์ซึ่งได้รับความนิยมและผลิตออกมาสู่สาธารณะกว่าร้อยฉบับ สามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและเสนอแนะความคิดเห็นได้อย่างเสรีในเรื่องการบริหารประเทศด้านต่างๆ
1
เมื่อทรงตั้งเมืองดุสิตธานีแล้ว ทรงโปรดเกล้าฯให้มีหนังสือพิมพ์ประจำเมืองที่ชื่อว่า “ดุสิตสมิธ” โดยพระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์รวมทั้งแสดงความคิดเห็นในหนังสือพิมพ์ด้วยนามปากกาแฝงหลากหลายนาม เช่น รามจิตติ อัศวพาหุ ฟันแหลม สุครีพ พาลี รามศูน และพระขรรค์เพชร เป็นต้น นามแฝง หรือนามปปากกาของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 นั้นมีจํานวนมากครับ
ดุสิตสมิต
หนังสือพิมพ์ "ดุสิตสมิธ” ได้เขียนวิพากษ์วิจารณ์สังคมส่วนร่วม หรือไม่ก็วิพากษ์วิจารณ์บุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อส่วนรวมเป็นจำนวนมากขึ้น จึงเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้นิตยสารและหนังสือพิมพ์เอกชนอื่น ๆ มีการเคลื่อนไหวไปตามกันอย่างคึกคัก
1
โดยความสัมพันธ์ระหว่างนักเขียนในสมัยนั้นดำเนินการไปด้วยเสรีภาพ แม้ผู้ที่มีความคิดเห็นต่างกัน ก็ดำเนินการคบค้ากันอย่างสนิทสนมไม่ถือโกรธ ถือเอาประโยชน์ของส่วนรวมประเทศชาติเป็นที่ตั้ง
แม้ในระหว่างนั้น หนังสือพิมพ์ได้แบ่งออกเป็นฝักฝ่าย นักเขียนประจำสำนักงานหนังสือพิมพ์ต่างๆ ก็แบ่งออกไปตามสังกัดของตน แต่หนังสือพิมพ์ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลกลับมีจำนวนน้อย ทั้งที่พระมหากษัตริย์ทรงเสด็จลงสนามเขียนหนังสือด้วยพระองค์เอง
แม้ว่าผู้ทำหน้าที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต ไม่ว่าจะเป็นนายจ่ายวด (ปราณี ไกรฤกษ์) ม.จ.ดุลภากร หรือพระประสิทธิบรรณาการ ท่านเหล่านี้ล้วนก็เป็นบรรณาธิการแต่เพียงหน้าฉากเหมือนกับสภาพหนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับของสมัยปัจจุบัน ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่บรรณาธิการแท้จริง คือ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 นั่นเอง ซึ่งทรงเองเกือบตลอดเล่มแต่ต่างสำนวนกัน
เมื่อเสรีภาพทางความคิดเกิดขึ้น การปะคารมผ่านปลายด้ามปากการะหว่างพระมหากษัตริย์กับสามัญชนจึงเกิดขึ้น และดังกระฉ่อนไปทั่วกรุง
สำหรับประเด็นที่ถูกกล่าวขวัญกันมากที่สุดคือ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ทรงใช้นามปากกา “อัศวพาหุ” เขียนบทความชักชวนประชาชนให้ล้อมรั้วทางทะเล ในเชิงเปรียบเปรยด้วยการสร้างเรือรบ เพราะในยุคนั้นได้เกิดภาวะสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น บทความดังกล่าวตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทย
แต่ต่อมาหนังสือพิมพ์ฝ่ายค้าน คือหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ และหนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ ได้เขียนคัดค้านบทพระราชนิพนธ์ ด้วยเหตุผลและด้วยถ้อยคำเข้มข้นแต่สุภาพ จากนักเขียนนามปากกา "โคนันทวิศาล” หรือ "ทุ่นดำ”
ทำให้ต่อมา "อัศวพาหุ” ได้เขียนบทความคอลัมน์ ที่ชื่อว่า "โคลนติดล้อ" โจมตี "โคนันทวิศาล" ผู้เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพฯ เดลิเมล์ว่า ทำตนเสมือนโคลนคอยติดตามล้อรถแห่งความเจริญของประเทศชาติไม่ให้ดำเนินไปด้วยดี
การประคารมระหว่างนักเขียนซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ฝ่ายหนึ่งกับนักเขียนซึ่งเป็นสามัญชนฝ่ายหนึ่งได้ดำเนินไปเป็นเวลาแรมปี
ฝ่าย "โคนันทวิศาล" จึงใช้ชื่อบทความล้อเลียนกลับว่า "ล้อติดโคลน" คัดค้านการสร้างกำลังรบขณะที่บ้านเมืองกำลังมีความตกต่ำทางเศรษฐกิจเรือรบลำเดียวจะไปล้อมรั้วทางทะเลได้อย่างไรและโจมตี "อัศวพาหุ" กลับด้วยสำนวนว่า ล้อรถย่อมอยู่ส่วนล้อรถโคลนย่อมอยู่ส่วนโคลน หากรถมีสารถีขับนำไปดีๆ ก็คงไม่ทับโคลนเข้า นี่สารถีนำรถไม่เป็น ย่อมจะพารถไปจมโคลน
3
จมื่นมานิตย์นเรศ เขียนบรรยายถึงเหตุการณ์ในตอนนี้ว่า
"…แต่ละบทความเขียนด้วยถ้อยคำสำนวนไพเราะน่าฟัง แม้จะค้านหรือเสนอ ก็เต็มไปด้วยเหตุผลทางวิชาการ ไม่มีเหตุผลส่วนตัว เข้าเป็นจุดเสียดสีกระทบกระทั่งร้ายแรงเลย ทั้ง ๆ ที่ผู้เขียนก็รู้กันว่าใครเป็นใคร นี่แสดงให้เห็นถึงคุณธรรมของนักเขียนในยุคนั้นว่าต่างมีจุดมุ่ง คือ ชาติเป็นประมาณ...ไม่หมายเอาใจไปออกแก่ไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดนอย่างไรเลย…”
สยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ในสมัยรัชกาลที่ 6
แต่กระนั้นแล้ว ผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่ายได้ออกมาเขียนข้อความตอบโต้โจมตีกันไปมารุนแรงมากขึ้นเรื่อย และค่อยๆห่างออกจากประเด็นปัญหาในการพัฒนาชาติบ้านเมืองออกไปจนกลายมาเป็นโจมตีเรื่องส่วนตัวทันที
เมื่อเหตุการณ์เริ่มจะบานปลาย ต่อมา"อัศวพาหุ" แถลงไว้ในหนังสือพิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2458 ไว้ว่าจะไม่ตอบโต้ใดๆกับ "โคนันทวิศาล" ทั้งนั้น และขออย่ามีใครมาเถียงแทนพระองค์เลย สงครามปากการะหว่างทั้งฝ่ายจึงเริ่มซาลงไปอย่างช้าๆ
ทั้งนี้เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเจ้าของนามปากกา “อัศวพาหุ” นั้นคือใคร การเขียนบทความโต้แย้งพระเจ้าแผ่นดินในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นับเป็นเรื่องล่อแหลมและบังอาจอย่างมาก สืบรู้กันต่อมาว่า ผู้ใช้นามปากกา “โคนันทวิศาล” คือ นายพลเรือตรี พระยาวินัยสุนทร (วิม พลกุล)
พระยาวินัยสุนทร (วิม พลกุล)
จนกระทั่งเสนาบดีต้นสังกัดแสดงท่าทีเอาการเอางาน ยื่นเรื่องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตปลดพระยาวินัยสุนทร (วิม พลกุล) ออกจากราชการ แต่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ไม่ได้ทรงกระทำเช่นนั้น กลับทรงเห็นว่า พระยาวินัยสุนทรแตกต่างจากพวกสอพลอ
พระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า บุคคลลักษณะนี้สมควรเลี้ยงไว้ใช้ ทรงตรัสว่า ดีกว่าคนจำพวกที่เมื่อเห็นเจ้านายทำอะไรก็ชมว่าดีไปหมด การณ์ภายหลังยังพบว่าพระยาวินัยสุนทร ยังได้รับพระราชทานตราทุติยจุลจอมเกล้า พร้อมด้วยพานทองเป็นเกียรติยศ
ในหนังสือ อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์” อ้างอิงคำบอกเล่าของนายรองเล่ห์อาวุธ (บรรดาศักดิ์เป็นมหาดเล็ก) ว่า ขณะพระยาวินัยฯ เข้าไปรับพระราชทานและทรงคล้องดวงตราให้พระยาวินัยสุนทร ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ทรงตรัสว่า
“ นี่แสดงว่าข้ามิได้ผูกโกรธ หรือพยาบาทเจ้า ในการที่เจ้าเขียนหนังสือเล่นงานข้า แต่ข้าถือว่าเจ้าได้ช่วยข้าแสดงความคิดเห็นในการปกครองบ้านเมือง เพื่อให้ดำเนินไปด้วยดี ข้าขอบใจ ”
เนื้อหาต่อไปยังอ้างอิงคำบอกเล่าของนายรองเล่ห์อาวุธว่า สังเกตสีหน้าพระยาวินัยที่ อิ่มเอิบจนน้ำตาคลอ เมื่อรับตราและพานทองแล้วมายืนอยู่อย่างสง่าผ่าเผย ท่ามกลางพระบรมวงศานุวงศ์เสนามาตย์ราชบริพารต่างเพ่งสายตามารวมที่จุดเด่นคือ นายพลเรือตรี พระยาวินัยสุนทร ซึ่งสมัยนั้นนายพลยังมีเพียงไม่กี่คน
จึงกล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง “ผ่อนคลาย” ความ “อยู่เหนือ” ของสถาบันพระมหากษัตริย์มา “อยู่ร่วม” กับชนชั้นนำทางการเมืองการปกครองในยุคนั้นนั่นเอง
รัชกาลที่ 6 และบรรดาราชองครักษ์
พระองค์ทรงเล็งเห็นว่า หากบ้านเมืองมีความแตกต่างกันและต่างฝ่ายต่างไม่หันหน้าเข้าหากัน ไม่ว่าจะมีอยู่ในวงการใด มีแต่จะเป็นการทำลายตัวเองและมีแต่จะเป็นการบั่นทอนพลังของส่วนรวมต่อประเทศชาติในที่สุด
อย่างไรแล้วสังคมของชนชั้นสูงและหมู่ข้าราชการหัวสมัยใหม่ที่ได้รับการศึกษามาจากต่างประเทศด้วยพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 5 ที่ได้ให้ทุนและให้การสนับสนุนส่งไปศึกษา ณ ต่างประเทศ
3
หลายบุคคลอาจจะมีความคิดที่ว่ารัชกาลที่ 6 ทรงบิดพลิ้วและชะลอการพัฒนาการปกครองไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ ในสิ่งที่กลุ่มคนเหล่านี้เรียกว่า “ประชาธิปไตย”
ยิ่งไปกว่านั้นข้าราชการหัวสมัยใหม่เหล่านี้ยังแสดงตนลำพอง แบ่งแยกไม่เข้าพวกกับขุนนางอาวุโส ยังรวมไปถึงพระบรมวงศานุวงศ์กลุ่มใหญ่ ที่ไม่ใคร่จะเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองแบบสมัยใหม่ดังกล่าวอย่างที่เคยคัดค้านมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 อยู่ตรงกลางของทั้งสองฝ่าย
ดังที่กล่าวมาข้างต้นหลายประการจนท้ายที่สุดนี้ แม้พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงชะลอการใช้ระบบใหม่ แต่ “ทรงเปิดกว้าง”ในแง่การให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
ราษฎร ในสมัย ร.6
อย่างที่เราได้ทราบมาในกิจกรรมเมืองดุสิตธานีนั้น ทรงให้ผู้ร่วมกิจกรรมร่วมคิดร่วมทำ ให้หลายภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดำเนินการ และการแสดงออกด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเต็มที่
และถึงแม้การคัดค้านพระมหากษัตริย์จะเข้มข้นเพียงใด แต่สื่อสังคมในยุคนั้นก็ยังเปี่ยมไปด้วยความเป็นสุภาพชน รวมทั้งความมีสปิริตของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย
รวมทั้งในแง่ของการบังคับใช้กฎหมาย ที่เป็นแนว “นิติรัฐ” คือการปกครองที่เริ่มใช้กฎหมายเป็นหลักยึดถือ ไม่ได้ยึดตัวผู้ปกครองหรือพระมหากษัตริย์อีกต่อไป
แม้แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เองก็ทรงใช้กฎหมายเข้ามากำกับควบคุม อย่างเช่นการที่ทรงให้มีการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ ก็มีขึ้นในรัชกาลนี้ เพื่อให้การดำรงอยู่ของพระมหากษัตริย์เป็นไปตามกฎเกณฑ์ ไม่ใช่ขึ้นอยู่ตามความพอพระราชหฤทัยขององค์พระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์อย่างที่เคยเป็นมา
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
ขออภัยหากมีข้อผิดพลาด กรุณาคอมเม้นแบบสุภาพ
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
อ้างอิง:
- อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพเสวกโท จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช)
- อนุสรณ์ "ศุกรหัศน์" เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ เสวกโท จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์) ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม 20 มกราคม 2511
- หนังสือพิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2458
-
https://bit.ly/3bFsLMN
-
http://1ab.in/h54
-
http://1ab.in/h56
-
http://1ab.in/h58
-
http://1ab.in/h6a
17 บันทึก
96
22
47
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ย้อนรำลึกประวัติศาสตร์ ยุครัตนโกสินทร์
17
96
22
47
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย