29 ก.ย. 2020 เวลา 15:09 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ของนักการทูตจีนที่น่ารักที่สุดในโลก
(ตอนที่ 1)
ภาพถ่ายโดย Ilona Froehlich จาก unsplash.com
ในประวัติศาสตร์การทูต คงไม่มีนักการทูตคนใดที่สามารถเชื่อมความสัมพันธ์กับต่างชาติ ทั้งยังต่อรองผลประโยชน์ให้แก่ประเทศได้อย่างแยบคายด้วยเพียงแค่การปรากฏตัว และกินใบไผ่ในท่าทางอันน่ารักน่ากอดให้ผู้คนได้ชื่นชม แต่แพนด้าทำได้
นี่คือสิ่งที่เรียกว่า ‘การทูตแพนด้า’ ซึ่งมีบันทึกว่าแรกเริ่มย้อนไปเมื่อสมัยราชวงศ์ถังช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 จักรพรรดินีบูเช็กเทียน ฮ่องเต้หญิงองค์แรกในประวัติศาสตร์จีนได้ส่งหมีคู่หนึ่ง (เชื่อว่าเป็นหมีแพนด้า) ให้แก่จักรพรรดิเท็มมุแห่งญี่ปุ่นในปี 685 ทว่าทฤษฎีนี้ได้รับความนิยมในช่วงสงครามเย็นเท่านั้น
นโยบายของจีนในการส่งหมีแพนด้าเป็นของขวัญทางการทูตถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งในปี 1941 ซึ่งเป็นวันที่สหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง ปักกิ่งส่งหมีขาวดำน่ากอดสองตัวไปยังสวนสัตว์บรองซ์เพื่อเป็นของขวัญ "ขอบคุณ"
ในช่วงทศวรรษ 1950 ประธานเหมาใช้การทูตแพนด้าบ่อยครั้ง โดยระหว่างปี 1957-1983 แพนด้า 24 ตัวถูกส่งมอบเป็นของขวัญแก่พันธมิตรคอมมิวนิสต์ของจีนอย่างสหภาพโซเวียต และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) ในฐานะสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพ นอกจากนั้นยังส่งมอบแก่นานาประเทศทั้งสิ้นเก้าประเทศ ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร
เมื่อประธานาธิบดีนิกสันเยือนจีนในปี 1972 อันเป็นจุดสิ้นสุด 25 ปีแห่งการแบ่งแยก และความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชน สองเดือนหลังจากนั้นประธานาธิบดีและสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งก็ได้ต้อนรับคู่สามีภรรยาที่น่ารักวัย 18 เดือนชื่อ Hsing-Hsing และ Ling-Ling ในการแลกเปลี่ยนครั้งนี้นิกสันได้มอบวัวมัสค์สองตัวคือมิลตันและมาทิลด้าแก่จีน
Ling-Ling (ซ้าย) และ Hsing-Hsing(ขวา) แพนด้ายักษ์ของ National Zoological Park กำลังเล่นอยู่ในคอกด้านนอก, ภาพถ่ายโดย Jessie Cohen, 1985
การแลกเปลี่ยนของขวัญแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่กำลังเบ่งบานในเวลานั้น แม้การทูตแพนด้าจะมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน แต่การมาถึงของแพนด้าในปี 1972 ถือเป็นครั้งแรกที่มีแพนด้าอยู่ในสหรัฐฯในรอบกว่ายี่สิบปี
เมื่อแพนด้าเดินทางมาถึงสหรัฐฯ แพท นิกสันได้มอบให้แก่สวนสัตว์แห่งชาติในกรุงวอชิงตันดีซี นอกจากนั้นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งยังได้ทำการจัดพิธีต้อนรับน้อง ๆ อย่างเป็นทางการ
ความนิยมของชาวอเมริกาต่อเจ้าหมีสีขาวดำ เห็นได้อย่างชัดเจนนับแต่วันแรกที่จัดแสดง มีผู้เข้าชมมากกว่า 20,000 คน ผ่านไปหนึ่งปีมีผู้เข้าชมความน่ารักของคู่แพนด้ามากกว่า 1.1 ล้านคน นอกจากนั้นยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจำนวนมากให้แก่อุตสาหกรรมตุ๊กตาสัตว์
ในครั้งนี้นักการทูตตัวต้วมเตี้ยมสีขาวดำทำหน้าที่ได้อย่างน่าประทับใจ การแลกเปลี่ยนประสบความสำเร็จอย่างมากจนเป็นแรงจูงใจให้ในระหว่างการเยือนจีนในปี 1974 นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เอ็ดวาร์ด ฮีธ ได้ขอแพนด้าให้แก่สหราชอาณาจักร
ไม่กี่สัปดาห์ถัดมา Chia-Chia และ Ching-Ching ก็ได้เข้าสู่สวนสัตว์ลอนดอน และในเวลาต่อมาความน่ารักที่ส่งตรงมาถึงลอนดอนนี้ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบโลโก้ของกองทุนสัตว์ป่าโลก
ทว่าหลังจากนั้นนักการฑูตผู้ชื่นชอบใบไผ่ก็ถูกนำมาใช้ในทางการทูตระดับที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นที่เรียกว่า 'เงินกู้แพนด้า'
การทูตแบบเงินกู้แพนด้าเริ่มเมื่อเติ้งเสี่ยวผิงได้ปรับเปลี่ยนนโยบายการให้แพนด้า แทนที่จะให้เป็นของขวัญ การส่งมอบแก่ประเทศอื่นหลังจากนั้นอยู่ในรูปแบบการยืม โดยเริ่มจากมอบแพนด้าสองตัวให้ลอสแองเจลิสระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 1984 ในราคา 50,000 ดอลลาร์ต่อเดือนต่อแพนด้า
นโยบายนี้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมในปี 1991 โดยตั้งข้อกำหนดว่าแพนด้าตัวต่อ ๆ ไปจะถูกส่งออกไปด้วยเงินกู้ 10 ปีเท่านั้น โดยจะต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีมาตรฐาน (สำหรับสหรัฐอเมริกาคือ 1 ล้านดอลลาร์) และลูกทั้งหมดที่เกิดจากแพนด้ายืมคือทรัพย์สินของจีนโดยไม่คำนึงถึงสถานที่เกิด
ในทางกลับกันในปี 1998 สหรัฐฯได้เปลี่ยนนโยบายการยอมรับแพนด้า โดยอนุญาตให้แพนด้าอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาได้หากมีการจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีมากกว่าครึ่งเพื่อการอนุรักษ์แพนด้าป่าและถิ่นที่อยู่ของแพนด้า
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา