30 ก.ย. 2020 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
หากคุณกำลังก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพ และใกล้จะได้รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของสถาบันการเงินระดับโลก คุณจะยอมละทิ้งความสำเร็จนั้น เพื่ออิสระในการเดินหน้าทดลองความฝันใหม่ที่ไม่แน่นอนหรือเปล่า?
1
วันนี้ Career Fact ขอนำเสนอเรื่องราวของ สันติธาร เสถียรไทย - Dr Santitarn Sathirathai นักเศรษฐศาสตร์ หรือ Group Chief Economist ผู้บริหารระดับสูงของ Sea บริษัทแม่ของ Garena, Shopee และ Sea Money ผู้ที่เขียน Job Description ให้กับตำแหน่งงานที่เขาสร้างขึ้นมาเอง ผู้ที่กล้าก้าวเดินในเส้นทางที่แตกต่างและเริ่มทำในสิ่งที่สดใหม่ อะไรกันที่เป็นจุดเปลี่ยนทำให้ดร.ต้นสน เลือกเส้นทางนี้ที่แม้แต่เขาเองก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่นี่
#รู้จักพี่ต้นสน #สันติธารเสถียรไทย
ดร.สันติธาร หรือ พี่ต้นสน เป็นลูกชายคนเดียวของ ดร.สุรเกียรติ์ และท่านผู้หญิง ดร. สุธาวัลย์ เสถียรไทย คุณพ่อของเขาเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ อดีตเป็นอาจารย์อยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยระดับโลก ก่อนก้าวเข้ามาทำงานในแวดวงการเงิน และปัจจุบันอยู่ในธุรกิจเทคโนโลยียักษใหญ่ที่สิงคโปร์ ความสำเร็จของเขามีรากฐานมาจากสถาบันครอบครัวที่ เปรียบเสมือนให้“เข็มทิศ”โดยการปลูกฝังรากฐานปรัชญาการดำเนินชีวิตให้กับเขา เช่น การมีหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ไม่เขียน“แผนที่”ตีกรอบให้เขาต้องเดินตามเส้นทางของพ่อและแม่ ปล่อยให้พี่ต้นสนนำพา “เข็มทิศ” ไปในทิศทางที่เขาเชื่อ ในแบบฉบับของตัวเขาเอง
“ผมตั้งใจเดินทางที่แตกต่างตั้งแต่เด็ก เพราะผมอยากเป็นคนที่มีประโยชน์มากกว่าคนเก่ง ผมเชื่อว่าการมีความรู้ความสามารถที่แตกต่างจากคนอื่นจะสามารถเพิ่มคุณค่า เติมเต็มส่วนที่ขาดและช่วยเหลือครอบครัวและสังคมได้มากกว่า”
#เติบโตจากวิกฤต
ในวัยเด็ก มีบ่อยครั้งที่พี่ต้นสนจะรู้สึกหลงทางกับการเรียน ไม่เจอสิ่งที่ตัวเองถนัด เขาเป็นคนผลการเรียนขึ้นๆลงๆไม่สม่ำเสมอจนเคยถูกอาจารย์หลายคนแนะนำว่าไม่ควรตั้งเป้าสูงเกินไปในการเรียนมหาวิทยาลัย
แต่จุดเปลี่ยนที่เบนเข็มทิศชีวิตของพี่ต้นสนกลับมาคือ “วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง” ในขณะนั้นเขาเป็นวัยรุ่นและโตมากพอแล้วที่จะเข้าใจถึงความรุนแรงของสถานการณ์ เขาเห็นทั้งในครอบครัวและคนรอบข้างได้รับผลกระทบ บางคนเครียดมากขนาดคิดฆ่าตัวตาย เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้สร้างแผลในใจให้กับเขา ซึ่งก็ทำให้เขาเริ่มอยากที่จะรู้และเข้าใจที่มาที่ไปของวิกฤต นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาศึกษาปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ที่ London School of Economics and Political Science (LSE) ประเทศอังกฤษ
“ผมรู้จักคำว่า วิกฤตก่อนคำว่าเศรษฐศาสตร์ วิกฤตต้มยำกุ้งเป็นเรื่องที่รุนแรงมากๆ ผมได้เห็นความเปลี่ยนแปลงมากมาย ผมได้ยินเรื่องคนใกล้ตัวล้มละลาย เพื่อนที่ไปเรียนเมืองนอกต้องรีบกลับเมืองไทย คนที่ขึ้นชื่อว่าประสบความสำเร็จก็ยังกลับมาตกที่นั่งลำบากได้ในชั่วข้ามคืน จนทำให้สงสัยว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร”
#ความเชื่อของมนุษย์เป็ด
หลังจากเรียนจบปริญญาตรี-โทจาก LSE พี่ต้นสนกลับมาทำงานที่สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังพร้อมกับเป็นอาจารย์พิเศษที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเวลาอยู่ 2 ปี ก่อนตัดสินไปศึกษาต่อปริญญาโทและได้ทุนของมหาวิทยาลัยเรียนปริญญาเอกด้านนโยบายเศรษฐกิจที่ Harvard University ประเทศสหรัฐอเมริกา
ซึ่งเป็นสาขาการเรียนรู้แบบสหวิทยาการ กล่าวคือ ไม่ได้เรียนเจาะด้านเศรษฐศาสตร์อย่างเดียวแต่ต้องเรียนให้รอบรู้ในหลายๆด้าน อย่างวิชารัฐศาสตร์ บริหาร กฎหมาย หรือแม้กระทั่งปรัชญาเขาก็ต้องเรียน
นับเป็นสายวิชาที่คนในสมัยนั้นไม่นิยมเรียนกันซักเท่าไหร่ เพราะแม้จะรู้กว้างแต่มันไม่ชัดว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะไปทำอาชีพอะไร
อย่างไรก็ตาม พี่ต้นสนเชื่อในการเดินทางที่แตกต่าง ทั้งเห็นความสำคัญของการเป็น “เป็ดที่เก่งจริง” หลายด้าน เพราะมีหลายอย่างที่เราไม่สามารถเข้าใจได้ด้วยเพียงศาสตร์เดียว หรือมองจากเลนส์เดียว เขาเชื่อว่าการเรียนนโยบายเศรษฐกิจจะเปิดประตูบานใหม่สู่ทางเดินที่ “ไม่มีอยู่ในแผนที่”ให้แก่เขาได้
“การเรียนแบบสหวิทยาการนอกจากจะได้ความรู้หลายศาสตร์แล้ว ที่สำคัญยิ่งกว่าคือทำให้ได้พบและทำงานกับคนที่คิดต่างกัน มองโลกผ่านคนละมุม ทำให้เรารู้จักเปิดใจเรียนรู้จากความแตกต่าง”
#ทิศทางที่แตกต่าง
หลังเรียนจบปริญญาเอกที่ Harvard การศึกษาด้านนโยบายเหมือนจะเอื้อให้เขาเดินตามเส้นทางอาชีพของคุณพ่อคุณแม่ได้
ทว่า “เข็มทิศ” ของพี่ต้นสนกลับเอนเอียงไปในทิศทางอื่น
พี่ต้นสนก้าวเข้าทำงานเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ธนาคาร Credit Suisse ซึ่งเป็นสถาบันการเงินระดับโลก ที่นั่นเขาได้ใช้ความรู้ของการเป็นมนุษย์เป็ด ที่ใช้หลายศาสตร์มาผสมผสานใช้คาดการณ์และวิเคราะห์เศรษฐกิจในแบบฉบับของพี่ต้นสนที่บ่อยครั้งจะสวนทางคนอื่น
ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากจนได้รับรางวัลชนะเลิศนักพยากรณ์ยอดเยี่ยมถึงสามปีซ้อน เป็นคนแรกและคนเดียวในภูมิภาคเอเชีย
จากนั้นพี่ต้นสนก้าวสู่บทบาทที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนขึ้นนั่งตำแหน่ง Head of Emerging Asia Economics ที่อายุน้อยที่สุดโดยได้รับมอบหมายให้ดูแลเศรษฐกิจและให้คำปรึกษานักลงทุนในกว่า 10 ประเทศในเอเชียรวมทั้งประเทศไทย
“สิ่งที่ทำให้ชนะตอนนั้น ไม่ใช่เพราะว่ามีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์มากกว่าคนอื่น แต่เป็นเพราะสามารถอ่านนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลได้แม่นยำกว่าคนอื่น ซึ่งมาจากการที่ใส่ใจกับปัจจัยทางการเมือง สังคม วัฒนธรรมของแต่ละประเทศทำให้อ่านออกว่าแต่ละคนจะทำอะไร และสุดท้ายกล้าพยากรณ์สวนทางตลาดการเงินแม้จะถูกกดดัน”
#เข็มทิศเดิมบนแผนที่ใหม่
“มันไม่มีเลยนะ ตำแหน่ง Chief Economist อยู่ในบริษัท Tech และที่เป็นระดับผู้บริหารด้วย เพราะฉะนั้นคุณไปลองคิดดูว่าตำแหน่งมันควรมีบทบาทยังไง มีประโยชน์อย่างไร ลองไปเขียนแพลนมาเสนอให้เราดู” - นี่คือสิ่งที่ ผู้ก่อตั้ง Sea พูดคุยกับพี่ต้นสนในช่วงการสัมภาษณ์
ในขณะที่เส้นทางอาชีพในแวดวงการเงินของพี่ต้นสนกำลังไปได้ดี และเขาเองกำลังจะได้รับการพิจารณาให้ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการของ Credit Suisse แต่แล้วจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตของพี่ต้นสนก็ได้เกิดขึ้น หลังจากเขาได้พบกับ Forrest Li ผู้ก่อตั้ง Sea ซึ่งตอนนั้นเป็นหนึ่งใน “บริษัทแพลตฟอร์มดิจิทัล” ที่เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาค และในปัจจุบันก็ได้กลายเป็น บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยมูลค่าตลาดกว่า 2 ล้านล้านบาท
 
ซึ่งบริษัทของธุรกิจประเภทนี้ ไม่เคยมีตำแหน่งสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์มาก่อน อย่างไรก็ตาม Forrest Li CEO ของ Sea กลับเห็นถึงโอกาสในการใช้หลักเศรษฐศาสตร์ขยายธุรกิจดิจิทัลของเขา
พี่ต้นสนเองก็มองว่านี่คือโอกาสที่ท้าทาย เขาเชื่อว่าเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนมีศักยภาพมหาศาล และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างทั่วถึงกว่านี้ได้ เขาคิดว่าหากยังคงทำงานอยู่ในธุรกิจการเงิน เขาก็จะทำได้เพียงวิเคราะห์และคาดการณ์อนาคต แต่หากอยากเปลี่ยนแปลงสังคมและสร้างอนาคตที่อยากเห็น เขาจำเป็นต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับบริษัทที่ต้องการและสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงโลกได้
ไอเดียการนำหลักเศรษฐศาสตร์มาต่อยอดธุรกิจดิจิทัลนั้นใหม่สำหรับทั้งคู่ ไม่มีใครรู้ว่านักเศรษฐศาสตร์จะมามีบทบาทอะไรบ้างในธุรกิจเทคโนโลยีในเอเชีย พี่ต้นสนเริ่มเขียนแพลนนำเสนอ Forrest Li อนึ่งว่าเขียน Job Description ให้กับตัวเอง และเมื่อ CEO หนุ่มได้อ่านเขาก็ตอบตกลงกับพี่ต้นสนทันที ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้เขากระโดดเข้าไปใน “แผนที่” เล่มใหม่ที่ไม่เคยมีใครเคยทำมันมาก่อน ปัจจุบันเขานั่งเป็นประธานทีมเศรษฐกิจ หรือ Group Chief Economist และผู้บริหารระดับสูงของ Sea ที่สำนักงานใหญ่ ประเทศสิงค์โปร์
1
จาก #เศรษฐศาสตร์เพื่ออ่านอนาคต มาเป็น #เศรษฐศาสตร์เพื่อสร้างอนาคต
เส้นทางอาชีพครั้งใหม่ของพี่ต้นสนในภาคธุรกิจเทคโนโลยีนั้นแตกต่างจากชีวิตที่สถาบันการเงินอย่างสิ้นเชิง สมัยที่พี่ต้นสนอยู่ที่ Credit Suisse เขาต้องนำเศรษฐศาสตร์ผสมผสานองค์ความรู้อื่นๆมาวิเคราะห์เพื่อคาดการณ์เศรษฐกิจว่าจะไปทางไหน อย่างไรก็ตาม เมื่อพี่ต้นสนก้าวเข้ามาในตำแหน่งปัจจุบันสิ่งที่ต้องทำคือนำความรู้ทางเศรษฐกิจมาตอบโจทย์ด้านยุทธศาสตร์และนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อสร้างอนาคตอย่างที่เราอยากให้เป็น โดยในบทบาทนี้เขาต้องทำงานกับผู้นำระดับประเทศจากหลายประเทศทั้งเป็นตัวแทนบริษัทในเวทีระดับโลกอย่าง World Economic Forum
ในขณะเดียวกันเขาก็ต้องปรับตัวกับวัฒนธรรมของสตาร์ทอัพที่ไม่คุ้นชิน ได้เรียนรู้ว่าธุรกิจประเภทนี้มีการปรับตัวอย่างรวดเร็วมากอยู่ตลอดเวลา ควรมีความถ่อมตัวและพร้อมเรียนรู้จากคนอื่นเสมอ เพราะต้องทำงานอยู่กับคนรุ่นใหม่ที่เก่งมากแม้จะอายุน้อย ในขณะเดียวกันก็คอยถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ของตนที่สะสมมาจากหลายวงการเพื่อสร้างทีมให้แกร่งเติบโตขึ้นไป
1
พี่ต้นสนมองว่า Sea จะเป็นบริษัทที่สะท้อนพลังและศักยภาพเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนได้ดีที่สุด โดยมี 3 ธุรกิจในเครืออย่าง #Garena #Shopee #SeaMoney เขาเชื่อว่าเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนยังเป็นเสมือนเด็ก“เยาว์วัย”มาก หากเทียบสัดส่วนกับประชากรในภูมิภาคแล้ว ยังมีคนจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงการบริการที่จำเป็นจึงยังมีโอกาสให้เติบโตและพัฒนาอีกมหาศาล
จากประสบการณ์ของ #Shopee ธุรกิจ e-commerce ก็เห็นชัดเจนว่าธุรกิจรายย่อย (SMEs) จำนวนมากสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้หากเข้าถึงเทคโนโลยี ในขณะที่การทำ #SeaMoney ก็ทำให้เห็นว่าคนหลายกลุ่มก็ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการการเงินที่จำเป็นและเทคโนโลยีอาจเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกตรงนี้ ส่วนอุตสาหกรรมเกมของ #Garena นั้น นับเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ใหม่และน่าตื่นเต้นมากสำหรับพี่ต้นสน
เขาไม่นึกไม่ฝันมาก่อนว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีบทบาทอย่างมากในการเชื่อมโยงผู้คนทั่วโลกและมีโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
2
เป้าหมายของเขาคือการดึงศักยภาพของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยและในอาเซียนออกมาให้พร้อมสู้กับประเทศมหาอำนาจได้ในอนาคต ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้หากทั้งฝั่งธุรกิจและภาครัฐร่วมมือกันและเข้าใจถึงยุทธศาสตร์การนำแพลตฟอร์มดิจิทัลและเทคโนโลยีมาเพิ่มพลัง ติดปีกให้กับเศรษฐกิจอย่างถูกวิธี
#บันไดขั้นสุดท้ายของพี่ต้นสน
เมื่อ “เข็มทิศ” ต้องใช้คู่กับ “แผนที่” เขาได้เปรียบ “แผนที่” ของเขาเสมือนเกมส์ Open-world โลกที่ไม่มีบันไดขั้นสุดท้ายที่ชัดเจน โลกที่ต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ โลกที่ลองผิดลองถูกเพื่อค้นพบแนวทางใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา การใช้ชีวิตตามการนำร่องของ “เข็มทิศ” ที่ว่าอยากทำให้สังคมดีขึ้น ได้ทำให้เด็กชายขี้สงสัยเติบโตมาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มากความสามารถเช่นนี้
เขาเคยไม่ชอบตัวเลข การเงิน หรือเทคโนโลยี แต่ปัจจุบันกลับเป็นบทบาทหน้าที่ทั้งหมดที่เขาได้รับ
เขาผู้ไม่เคยปิดกั้นโอกาสตัวเองในการทดลองอะไรใหม่ๆ โดยรู้ดีว่าวันหนึ่งเขาจะต้องมีส่วนช่วยพัฒนาให้ประเทศไทยก้าวทันโลกและมีความเท่าเทียม ซึ่งนั่นเป็นเป้าหมายในการก้าวเดินไปข้างหน้าของพี่ต้นสนในวันนี้
และไม่แน่วันดีคืนดีเราอาจจะได้เห็นพี่ต้นสนในบทบาทนักการเมืองตามรอยคุณพ่อก็เป็นได้
“ถนนที่ผมเดินผ่านมาในชีวิต มักจะเป็นถนนที่ไม่เคยมีใครตัดไว้ มักจะไปตัดถนนนั้นเองบ้าง ออกนอกลู่นอกทางบ้าง เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ค้นพบทางใหม่ๆอยู่เสมอ โดยมีเข็มทิศและความฝันเป็นตัวนำ”
- ดร.ต้นสนกล่าวทิ้งท้าย
โฆษณา