6 ต.ค. 2020 เวลา 01:00 • ธุรกิจ
แรงกดดันที่สังคมสร้างขึ้นมาให้เราเชื่อว่าความสำเร็จคือการไต่เต้าขึ้นไปให้สูงที่สุด แต่ทุกอย่างจะมีค่าซักแค่ไหนกัน หากคนที่คุณรักไม่สามารถอยู่ดูความสำเร็จกับคุณได้?
วันนี้ Career Fact ขอนำเสนอเรื่องราวของพี่ปัน ภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ Country General Manger ของ Gojek ประเทศไทย ติดตามได้ที่นี่
#เกริ่น
หลายคนอาจจะรู้จักพี่ปันในฐานะชายหนุ่มไฟแรงผู้มากความสามารถ ที่สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจเทคโนโลยีได้ในวัยเพียง 34 ปีเท่านั้น แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักเบื้องหลังชีวิตส่วนตัวของพี่ปัน หลังฉากที่เขาต้องพบเจอกับเรื่องราว ความเศร้าและความผิดพลาด ที่ทำให้เขาต้องเสียศูนย์จนเกือบไม่มีแรงที่จะสู้ต่อ อะไรกันที่ทำให้เขายังยืนหยัดอยู่ได้ และนี่คือเรื่องราวของเขา
#จุดเริ่มต้นจากศูนย์
พี่ปัน ภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ลำบาก พ่อและแม่ของเขาเริ่มต้นชีวิตจากศูนย์ สร้างเนื้อสร้างตัวโดยที่ไม่มีทรัพย์สินสมบัติอะไร และด้วยสถานะการเงินที่ไม่มั่นคง นั่นทำให้พี่ปันและครอบครัวต้องเปลี่ยนบ้านมาแล้วกว่า 30 หลัง แต่ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดีซ่อนอยู่ พ่อของเขาสามารถสื่อสารภาษาจีนได้อย่างดี จึงหาโอกาสในการทำธุรกิจด้วยทักษะนั้น เขาได้เดินทางไปที่เมืองจีนเพื่อซื้อพวกตุ๊กตาเทพเจ้า แจกันลวดลายต่างๆ และนำเข้าสินค้าเหล่านั้นมาที่เมืองไทย พี่ปันมักจะติดตามคุณพ่อไปเมืองจีนด้วยทำให้เขาเข้าอกเข้าใจการสร้างชีวิต การต่อสู้ของคนเป็นพ่อเป็นแม่ ที่นำเงินทุกเม็ดส่งต่อให้พี่ปัน ให้เขาได้เข้ารับการศึกษาที่ดีที่สุด และหวังให้มีชีวิตที่พร้อมกว่าพวกเขา สำหรับพี่ปันแล้วครอบครัวเปรียบเสมือนรากฐานชีวิตที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด เวลาไหน คำว่า “ครอบครัว” ก็ไม่เคยห่างจากหัวใจเขาเลย
“ผมได้เห็นพ่อพิสูจน์ตัวเองว่าแม้เขาเริ่มจากศูนย์ เขาก็สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวของเขาเอง และนั่นเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเชื่อว่า ทุกอย่างที่ตัวผมทำ ผมจะไม่ใช้ทางลัด ไม่วางความเชื่อมั่นบนคุณค่าที่ได้มาง่ายๆโดยที่ไม่ต้องดิ้นรนอะไรเลย แต่ผมจะพิสูจน์ด้วยแรงใจและแรงกายของตัวผมเองว่า ผมก็สามารถทำมันได้แบบพ่อของผมเหมือนกัน”
#ถอยหรือไปต่อ
“ตอนส่งไปมัน 15 บาทต่อหนึ่งเหรียญสิงคโปร์ ตอนปี 97 มันพุ่งไป 35 บาทต่อหนึ่งเหรียญ ทุกอย่างที่ใช้จ่ายที่สิงคโปร์คือแพงหนักกว่าเดิม 2.5 เท่า”
พี่ปันในวัย 12 ปี เป็นเด็กที่ชอบทดลองสิ่งใหม่ๆ เขาได้ขอคุณพ่อไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ คุณพ่อของเขาจึงตัดสินใจส่งเขาไปเรียนที่สิงคโปร์ เขาเดินทางถึงประเทศสิงคโปร์ในปี 1996 ซึ่งเป็นหนึ่งปีก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์“วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง” ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของพี่ปันและครอบครัว เขาเล่าว่าสถานการณ์ตอนนั้นย่ำแย่มาก พ่อแม่เด็กคนอื่นเลือกที่จะดึงลูกกลับมาเมืองไทยเพราะไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้ ในขณะที่พ่อของเขาเลือกที่กัดฟันสู้และขอให้พี่ปันอยู่เรียนต่อไปให้จบ
ในช่วงแรกที่พี่ปันย้ายมาอยู่ที่สิงคโปร์ เขาเองไม่ใช่เด็กเรียนเก่ง เขามักจะเรียนได้ที่โหล่ของห้อง แต่หลังเขาเห็นถึงสิ่งที่พ่อแม่ยอมเสียสละให้เขา มันก็เปลี่ยนพี่ปันเป็นคนละคนเลย เขาเองก็ต้องการจะสู้เพื่อพ่อและแม่เหมือนอย่างที่พวกท่านสู้เพื่อเขาเหมือนกัน พี่ปันเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต เขาตั้งใจเรียน ตั้งใจอ่านหนังสือ และหันมาสนใจสิ่งรอบตัวมากขึ้น นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กหลังห้อง ที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย สามารถพลิกตัวเองเป็นเด็กหน้าห้องได้ภายในระยะเวลาเพียงแค่เทอมเดียวเท่านั้น
“คนเราทุกคนถ้าตั้งใจที่จะทำอะไรสักอย่างจริงๆ เราทำมันได้อยู่แล้ว”
#เส้นทางความฝัน
“สิ่งที่น่าแปลกใจคือตั้งแต่เด็กผมคิดแล้วแหละว่า ยังไงก็ตามแต่ ผมจะต้องเก่งภาษาจีนให้ได้ และผมจะต้องมารับธุรกิจของพ่อต่อให้ได้”
พี่ปันเรียนอยู่ที่สิงคโปร์เป็นเวลาทั้งหมด 8 ปี หลังจากนั้นตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทย เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนกระทั้งเรียนจบและได้มีโอกาสเข้าทำงานกับบริษัท Accenture บริษัทที่ปรึกษาภาคธุรกิจเป็นเวลา 3 ปี นับเป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้ของเขา มันทำให้เขาได้เห็นโลกในมุมมองที่กว้างขึ้น และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมท้าทายตัวเองด้วยโจทย์ใหม่ๆตลอดเวลา ในขณะที่ไม่เคยละทิ้งความฝันในการรับช่วงธุรกิจต่อจากคุณพ่อ หลังจากที่ได้องค์ความรู้ของธุรกิจ เขาตัดสินใจไปศึกษาปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยชิงหวา ประเทศจีนเป็นเวลา 2 ปีด้วยเป้าหมายที่จะพัฒนาทักษะภาษาจีนและกลับมาทำธุรกิจที่บ้านให้ได้หลังเรียนจบ
#แพชชั่นนำมาสู่การค้นพบ
หลังจากที่เขาเรียนจบปริญญาโทจากประเทศจีน เขาตัดสินใจเดินทางกลับมาที่ประเทศไทยเพื่อเริ่มต้นความฝันนั้น ทว่า กลับมีคนรู้จักมาทาบทามพี่ปันให้ไปทำงานธนาคาร JP Morgan ที่ประเทศฮ่องกง ซึ่งเขาเองมองว่าเป็นโอกาสดีมากๆ ที่จะได้ทำงานกับสถาบันการเงินระดับโลก เขาจึงได้ตอบตกลงและรับข้อเสนองาน ในขณะที่ยังคงเก็บฝันและเป้าหมายในการรับช่วงธุรกิจต่อจากคุณพ่อไว้
การทำงานที่ JP Morgan ได้เปิดโลกมิติใหม่ให้กับพี่ปัน ธุรกิจการเงินเริ่มนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้มากขึ้นเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เขาจึงเริ่มหลงไหลในเรื่องเทคโนโลยี เขารู้สึกว่าเทคโนโลยีสามารถสร้างประโยชน์ได้มากมายทั้งกับผู้คนในชีวิตประจำวันและการดำเนินธุรกิจ
หลังจากที่เขาทำงานที่สถาบันการเงินชื่อดังไปได้เกือบ 2 ปี เพื่อนสนิทของพี่ปัน เห็นว่าพี่ปันมีความหลงใหลในเทคโนโลยีมาก เพราะเขามักจะพูดถึงมันบ่อยๆ เวลาพบปะกับเพื่อนฝูง จึงได้ชักชวนให้พี่ปันเข้าไปทำงานด้วยกันที่ Line ประเทศไทย
“คนบางคนทั้งชีวิตเกิดมาอยากเป็นผู้ประกอบการ อยากทำงานที่บ้าน ก็ดันไม่ได้ทำแบบผม แต่บางคนอะทำงานบริษัททั้งชีวิตก็ต้องโดนที่บ้านดึงกลับไปทำที่บ้านอยู่ดี”
พี่ปันเองก็ชั่งใจอยู่นาน ว่าจะเลือกแพชชั่นในเรื่องเทคโนโลยีหรือความฝันในการกลับไปทำธุรกิจที่บ้าน แต่สุดท้ายเขาก็หนีแพชชั่นตัวเองไม่พ้น ตัดสินใจสมัครเข้าทำงานที่ Line ประเทศไทย และได้รับบทบาทหน้าที่ที่ท้าทาย เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งแอพพลิเคชั่น “LINE MAN” แอพให้บริการขนส่งตามระยะทาง ซึ่งแม้ว่ามันเป็นโจทย์ที่ใหม่มากในสังคมไทย ณ เวลานั้น แต่ผลลัพธ์กลับกลายเป็นว่ามันเวิร์คมากๆ เขาบอกว่า นั่นเป็นครั้งแรกในชีวิตการทำงานที่เขารู้สึกภูมิใจจริงๆ การคลอดแอพนี้ออกมา เหมือนได้ตอบคำถามให้กับทุกสิ่งที่เขาเชื่อมาตลอดว่าเทคโนโลยีนั้นสามารถนำมาพัฒนาการเป็นอยู่ของคน และสร้างอาชีพใหม่ๆให้กับประเทศได้จริงๆ ซึ่งแม้ว่าธุรกิจเทคโนโลยีจะไม่ใช่ความฝันในวัยเด็กของเขา แต่แพชชั่นที่เขาค้นพบระหว่างทางก็ทำให้เขาสนุกกับโจทย์ที่ได้รับในทุกวัน พี่ปันรู้ดีว่าเขามาถูกทางแล้ว
#สร้างงานสร้างอาชีพ
แม้ว่าเขาจะรู้สึกสนุกกับการทำงาน และความท้าทายของแวดวงเทคโนโลยี แต่ขณะเดียวกัน มันกลับยังไม่ใช่แนวทางที่เขาเองเชื่อมากนัก เขาถามตัวเองว่า “ทำไมธุรกิจเทคโนโลยีในเมืองไทยมันต้องดูเป็นคลับ Exclusive ทำไมต้องเป็นคนที่มีฐานะหรือมีคอนเนกชั่นดีอยู่แล้ว ทำไมต้องเป็นแบบนั้น?”
พี่ปันรู้สึกว่าเขาสามารถต่อยอดโมเดลธุรกิจเทคโนโลยีให้ไปได้ไกลกว่านี้ และเชื่อว่าเขาสามารถเป็นผู้ประกอบการที่คิดค้นผลิตภัณฑ์ของตัวเองขึ้นมาได้เหมือนกัน แพชชั่นเรื่องเทคโนโลยีบวกกับคอนเนกชั่นที่เขาได้สร้างมาตลอดเส้นทางอาชีพเขา ก็นำมาซึ่งโอกาส พี่ปันได้รับเชิญจาก “คุณนาดีม มาคาริม” ผู้ก่อตั้ง Gojek ให้บินไปหาเขาที่ประเทศอินโดนีเซีย
“GET ในเมืองไทย ในแบบที่คุณปันอยากให้มันเป็น มันควรจะเป็นแบบไหน?” - หนึ่งในคำถามที่คุณนาดีม ยิงใส่พี่ปัน ณ ตอนที่พวกเขาพูดคุยถึงโอกาสการเข้ามาทำธุรกิจเทคโนโลยีในเมืองไทย
พี่ปันตอบกับ CEO หนุ่มว่าเขาอยากสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับผู้คน อยากใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเมืองไทย ประเทศบ้านเกิดเขา เขาเองเห็นทั้งสิ่งที่ดีและสิ่งที่ยังดีได้กว่านี้ในธุรกิจเทคโนโลยี เมื่อคุณนาดีมได้เห็นถึงความคิด ทัศนคติและแพชชั่นของพี่ปัน คุณนาดีมจึงตัดสินใจเลือกพี่ปันกับทีม มานำธุรกิจ GET ประเทศไทย
#หัวใจหลักคือทีม
มิชชั่นแรกของพี่ปันกับบทบาทผู้นำ GET ประเทศไทย คือการสร้างทีม พี่ปันสร้างทีมงานของเขาขึ้นมาเองทั้งหมด โดยเลือกจากทัศนคติสองอย่าง อย่างแรกคือแพชชั่น พี่ปันวางรากฐานความเชื่อว่าบริษัทของเขาคือบริษัทที่สามารถ “สร้างงาน สร้างอาชีพ” ให้กับสังคมได้จริงๆ และอยากหาคนที่เชื่อในอุดมการณ์ร่วมกัน และอย่างที่สองคือวัฒนธรรม เขาอยากให้ทีมของเขาทุกคนเสมอภาคกัน กล้าพูด กล้าทำ และกล้าเสนอความคิด
“ผมเปิดกว้างและจริงใจกับคุณเสมอ คุณมาเจอผมคุณไม่ต้องเรียกผมว่าพี่ก็ได้ ผมโอเคมากเพราะการที่เราไม่เรียกแทนกันว่าพี่อะ เหมือนผมยกระดับทุกคนแล้วว่าทำงานที่นี่กับผม ผมมองทุกคนเท่ากันเสมอ”
พี่ปันและทีมงานใช้เวลากว่า 1 ปี ก่อนที่จะปล่อย GET ออกสู่ตลาด ในวันแรกที่พี่ปันได้เปิดตัว GET เป็นวันที่เขารู้สึกภาคภูมิใจมากๆ ไม่ใช่แค่ความสำเร็จของ GET แต่หากเป็นความพยายามที่ทุกคนในทีมมอบให้กับเขาและเป้าหมายของบริษัท นับเป็นหนึ่งในโมเม้นต์ที่เขารู้สึกภูมิใจที่สุดในชีวิตการทำงาน การคลอด GET ออกมาก็เหมือนกับเขาได้ประกาศให้ทุกคนรู้แล้วว่า ทีมของเขาสามารถสร้างแอพให้เป็นที่รู้จักในเมืองไทยได้ และที่สำคัญคือสามารถช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนที่มีรายได้น้อย หาเช้ากินค่ำได้จริง
“ทีมงานกับผม เราผ่านอะไรมาด้วยกันเยอะมาก ทำงานกันอย่างเยอะและเป็นทีมจริงๆ ตอนแรกเริ่มเรามีกันแค่ประมาณ 50 คนเอง แต่มองกลับไปผมก็ภูมิใจนะว่า 50 คนที่ผมมีอยู่ในวันนั้น มันยังเป็น 50 คนที่ผมเชื่อใจทุกคน”
#ทุกอย่างที่เคยเชื่อ
ในขณะที่ทุกอย่างกำลังไปได้ดี ทว่า ทุกอย่างก็ไม่เป็นอย่างที่พี่ปันวาดฝันไว้เสมอไป เมื่อเขาต้องพบกับการสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิต คุณแม่ได้จากเขาไป ตอนนั้นพี่ปันรู้สึกชะงักกับความคิดของตัวเอง เขาทรุดและไปไม่ถูก ทุกเหตุผลที่พี่ปันเคยเชื่อมาตลอดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต มันกลับไม่มีความหมายอะไรเลยเมื่อแม่ของเขาไม่อยู่แล้ว พี่ปันรู้สึกเสียใจที่เอาเวลาไปให้แต่กับงาน จนลืมใช้เวลากับสิ่งที่สำคัญกับเขาจริงๆซึ่งนั่นก็คือครอบครัว
“พอเราเสียคนหนึ่งคนที่สำคัญมากๆ อะไรทุกอย่างในชีวิตที่เรารู้สึกว่าเราพยายามสร้างมันอยู่ ความหมายของมันดูไม่สำคัญเท่าเมื่อตอนที่เรารู้สึกว่าเรามีทุกอย่าง เรายอมแลกทุกอย่างในชีวิตเพื่อให้ได้โมเม้นต์นั้นกลับมา” - พี่ปัน กล่าว
เขาบอกว่า แรงกดดันอันมหาศาลที่สังคมสร้างขึ้นมาให้เราเชื่อว่าจะต้องประสบความสำเร็จ เราจะต้องไต่ขึ้นไปเรื่อยๆ กลับไม่มีค่าอะไรเลย เมื่อเขาต้องเสียคุณแม่ไป วันนี้พี่ปันไม่ได้เชื่อแบบนั้นอีกแล้ว พี่ปันเริ่มกลับมาฟังเสียงตัวเองและกลับมาให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น
“ผมได้โทรไปหาคุณพ่อแล้วหรือยัง?”
“ผมดูแลภรรยาได้ดีหรือเปล่า?ได้ใช้เวลาด้วยกันไหม?”
“ความรู้สึกของผมตอนนี้เป็นอย่างไร?วันนี้ผมทำได้ทำอะไรให้กับตัวเองแล้วหรือยัง?” - สามคำถามที่พี่ปันใช้ถามตัวเองทุกวัน
ปัจจุบันเขาให้ความสำคัญกับชีวิตส่วนตัวมากขึ้น เขาจะถามตัวเองว่าเขาได้ให้เวลากับครอบครัวหรือยัง และเขาได้ทำอะไรให้ตัวเองบ้าง เป็นการคอยเช็คตัวเองให้สามารถสร้างสมดุลชีวิต และป้องกันความผิดพลาดที่เขาได้เคยทำไว้ในอดีต
#Gojek
“ทุกอย่างที่ตัวผมทำ ผมจะไม่ใช้ทางลัด ไม่วางความเชื่อมั่นบนคุณค่าที่ได้มาง่ายๆโดยที่ไม่ต้องดิ้นรนอะไรเลย แต่ผมจะพิสูจน์ด้วยแรงใจและแรงกายของตัวผมเอง เพราะคนเราทุกคนถ้าตั้งใจที่จะทำอะไรสักอย่างจริงๆ เราทำมันได้อยู่แล้ว” - สิ่งที่พี่ปันยึดถือมาโดยตลอด
ปัจจุบัน GET ที่ได้มอบความสะดวกสบายให้ผู้ใช้บริการรับ-ส่ง คน สิ่งของและอาหาร ได้รับการอัพเกรดเป็น Gojek แล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในซุปเปอร์แอพที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเซ้าท์อีสต์เอเชีย มียอดดาวน์โหลดแอพแล้วกว่า 170 ล้านครั้ง Gojek ได้เปิดให้บริการแล้วในวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา และยังคงมีเป้าหมายในการ “สร้างงาน สร้างอาชีพ” เช่นเดิม
#นิยามความสำเร็จของพี่ปัน
เมื่อ Career Fact ถามถึงนิยามของคำว่า “ความสำเร็จ” ในแบบของพี่ปัน
พี่ปันอมยิ้มและบอกกับพวกเราว่า หากเป็นเมื่อสองปีก่อน ความสำเร็จของพี่ปันก็คงเป็นเรื่องการมีเงินเดือนที่สูงขึ้น เรื่องความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ และเรื่องการพาบริษัทให้เติบโต แต่สำหรับวันนี้ ความสำเร็จของพี่ปันได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง ความสำเร็จของพี่ปันในวันนี้พาเขาย้อนกลับมาสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง ซึ่งนั่นก็คือ “ครอบครัว” เขามองว่า ความสำเร็จที่แท้จริงคือการดูแลคนรอบข้างให้ดีที่สุด หากเขาจะต้องจากโลกไปวันนี้ เขาไม่ต้องการที่จะรู้สึกคาใจ เสียใจ หรือเสียดาย อดีตเขามัวแต่ทำงานหาเงินสร้างตัว จนลืมให้เวลากับคนรอบข้าง เมื่อรู้ตัวอีกทีก็สายเกินไปเสียแล้ว เหลือเพียงไว้แต่ความทรงจำดีๆ และปัจจุบันที่จะต้องทำให้ดีกว่าเดิม พี่ปันมุ่งมั่นที่จะสร้างความสุขให้กับตัวเองและคนรอบข้าง รวมถึงหาโอกาสตอบแทนสังคมในบริบทที่เขาสามารถทำได้
หากคุณกำลังก้มหน้าทำงานอยู่ Career Fact ขอให้คุณพักสักครู่และหันดูรอบกาย ถามตัวเองว่า วันนี้คุณได้ใช้เวลากับคนข้างกายคุณแล้วหรือยัง?
“Career Fact เพราะทุกอาชีพมีเรื่องราว”
#careerfact
โฆษณา