12 ต.ค. 2020 เวลา 01:30 • ธุรกิจ
Career Fact ได้เข้าร่วมการสัมมนาประจำปี #iCreatorConference2020 และมีโอกาสได้ฟังคำบรรยายของตำนานแห่งวงการไอที คุณหนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ เจ้าของเพจ Beartai : แบไต๋
คุณหนุ่ยรู้สึกตกใจมากเมื่อพิธีกรมอบให้เขาเป็น ‘ตำนาน’ ในวงการไอที อย่างไรก็ตาม เขาขอมอบตำแหน่งนี้ให้กับ ‘คุณจอห์น รัตนเวโรจน์’ เจ้านายตลอดกาลของเขาแทน ให้เป็นผู้บุกเบิกคนแรกที่นำเทคโนโลยีเข้าไปรีวิวในรายการทีวี หลังจากนั้นจึงเข้าประเด็นหัวข้อที่เขาเตรียมมาวันนี้ ซึ่งก็คือ กระบวนการเปลี่ยนผันของสื่อและเทคโนโลยี
#มุมมองเดิม
คุณหนุ่ยเริ่มเล่าด้วยการเปรียบชีวิตในช่วงริเริ่มของเขาว่าเหมือนกับการ “ระเบิดภูเขาเผากระท่อม” เพราะเขาเชื่อว่ามันจะเป็นวิธีดึงดูดผู้ชมได้ดีที่สุด ดังนั้นเวลาทำอะไรสักอย่าง เขาจะพยายามทำให้ออกมาดูดีและยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งก็ต้องแลกกับการที่เขาต้องประสบกับการขาดทุนอยู่หลายครั้ง
ครั้งหนึ่งเขาตัดสินใจเช่าสตูดิโอที่ Digital Gateway กลางสยามสแควร์ สำหรับจัดรายการทีวีรวมถึงให้เช่าพื้นที่จัดอีเวนท์ต่างๆ ซึ่งตอนนั้นหลายๆ คนก็มองว่ามันเป็นโมเดลธุรกิจที่จะสร้างกำไรให้เขาแน่ๆ ทว่าเขาก็ต้องพบกับฝันร้ายเมื่อในขณะนั้น มีเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ส่งผลให้เขาไม่สามารถจัดรายการ แถมยังไม่มีใครมาเช่าพื้นที่ จนทำให้การเงินขาดสภาพคล่องและต้องปิดตัวไปในที่สุด
#ผมบอกคนอื่นเยอะว่าให้ปรับตัว #ผมเองปรับเร็วนะ #แต่ปรับผิดทิศ”
ตอนนั้นเองคุณหนุ่ยตัดสินใจลดขนาดรายการลงด้วยความหวังว่าที่จะทำให้คล่องตัวมากขึ้น ซึ่งเขาก็สามารถนำรายการเข้าไปในช่วงยุคสุดท้ายก่อนยุคทีวีดิจิทัลได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม ฝันร้ายของเขาก็ยังไม่จบ เมื่อรายการประสบปัญหาในการหาสปอนเซอร์ ส่งผลให้สุดท้ายก็ไปไม่รอดเหมือนเดิม
เขาเล่าถึงความรู้สึกในขณะนั้นว่าเหมือกับคนที่พ่ายแพ้มากๆ เขากับภรรยาร้องไห้กันสองคนเพราะรู้สึกเสียใจ ถามตัวเองว่าทำไมทำงานแล้วถึงเสียเงินไปเรื่อยๆ เขาหาคำตอบกับตัวเอง ก่อนพบว่า คำตอบคือเขามีความเชื่อแบบเด็กๆ เขาเอาความฝันมาทำและทำจากมมุมองเดียว ไม่เคยคิดจากมุมมองอื่น เช่น หากจะต้องทำรายการทีวี จะต้องเช่าสตูดิโอเท่านั้น ซึ่งทำให้ไปไม่รอด
#ธุรกิจนิตยสารออนไลน์ก็เจ๊ง!
นอกจากรายการโทรทัศน์ คุณหนุ่ยเองก็เคยลงทุนในธุรกิจนิตยสารออนไลน์เช่นกัน เขาหวังจะเป็นเจ้าบุกเบิกในไทยที่สามารถปรับตัวหรือสร้างธุรกิจใหม่ๆ ให้เข้ากับการเติบโตของเทคโนโลยี แกดเจ็ตที่ได้รับความนิยมมากในสมัยนั้นคือ iPad ซึ่งเขาเองก็ตัดสินใจเปิดตัว Digital Magazine ภายใต้ชื่อ แบไต๋ Hitext เขาตัดสินใจเปิดให้คนโหลดมาอ่านแบบฟรีๆ 4 ฉบับแรก ซึ่งตอนนั้นเขามียอดดาวน์โหลดมากกว่า 14,000 ครั้งเลยทีเดียว ทว่าหลังจากเล่มที่ 4 เป็นต้นไป ความเป็นจริงเกิดขึ้นเมื่อเขาเริ่มคิดค่าบริการ ยอดใช้งานก็กลับตกลงไปอยู่ไม่กี่พันคนเท่านั้น
#ยุติการเช่า #ทุบบ้านตัวเอง
ในขณะที่เวลาผ่านไปเรื่อยๆ คุณหนุ่ยยังคงต้องต่อสู้เพื่อรายการของเขา ครั้งหนึ่ง เขาเปลี่ยนวิธีการทำงาน โดยสัญญากับตัวเองว่าจะไม่มีการเช่าอีกต่อไป เขาตัดสินใจทุบส่วนหนึ่งของบ้านที่พักอาศัย และสร้างเป็นสตูดิโอขึ้นมาแทน
รายการของคุณหนุ่ยยังออกอากาศผ่านทางช่องไทยรัฐทีวีเรื่อยมา ทว่าเขายังได้ไอเดียใหม่ในการดึงคนดู ด้วยการออกแอพลิเคชั่นที่ชื่อว่า Game Show Social ซึ่งคนดูจะสามารถเก็บคะแนนเพื่อเอาไปแลกสินค้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตาม เขากลับไม่มีสปอนเซอร์เข้าเลย เขาไม่รู้ว่าจะหารางวัลอะไรให้คนเอาคะแนนมาแลก สุดท้ายก็ต้องล้มเลิกไปอีกครั้ง
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา คุณหนุ่ยพบว่า หากอยากอยู่รอด เขาต้องเลิกนิสัยหน้าใหญ่ใจโตและปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยี เพราะสิ่งนี้กำลังเข้ามาทำลายตลาดสินค้าเก่าๆ แต่ขณะเดียวกัน มันก็เปิดช่องทางใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน ดังนั้น เขาเชื่อว่า กลุ่มคนที่คิดได้ ตอบสนองได้รวดเร็วกว่า และสามารถมองข้ามสิ่งเก่าได้ จะเป็นผู้อยู่รอดในศึกระหว่างเทคโนโลยีและเจ้าเก่า
ครั้งหนึ่ง เขาเคยได้มีโอกาสพบกับ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเขาใช้เวลา 11 ชั่วโมงในการพูดคุยกันถึงประเด็นเรื่องการโจมตีของเทคโนโลยี เขาพบว่า เทคโนโลยีนั้นไม่ได้ลอบโจมตีเราจากด้านหลัง แต่มันคือสิ่งที่อยู่ข้างหน้าและกำลังจะโจมตีเราอย่างจังต่างหาก
“ผมได้คุยกับเจ้าสัวถึง 11 ชั่วโมง ตอนนั้นสิ่งที่ผมได้ยินจากเจ้าสัวมากที่สุดถึงคือ เขากลัวการล้มละลายมากๆ ซึ่งมันบ่งบอกถึงความน่ากลัวของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก”
#คุณหนุ่ยในยุคดิจิทัล
กว่าจะมาเป็น #BearTai ในวันนี้ได้ คุณหนุ่ยต้องผ่านบททดสอบ ความล้มเหลว มากมาย ซึ่งแม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่เขาก็ได้เรียนรู้มาเต็มเปี่ยม เขาค้นพบว่า เคล็ดลับในการเอาชนะใจคนดู คือการปรับเนื้อหาให้เข้ากับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนดู รวมถึงสื่อใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น มากไปกว่านั้น เขาพบว่า แม้ว่าจะฟังดูโบราณ คือการถือครอง Domain ของตัวเอง กล่าวคือ การทำเว็บไซต์ที่เป็น .com เพราะมันเป็น Domain ที่จะเป็นที่ที่เราจดไว้และเป็นหลักแหล่งที่สุด
คุณหนุ่ยยังเริ่มพูดถึงสถิติการเสพเนื้อหาของคนไทย โดยเขาพบว่า พฤติกรรมคนไทยเปลี่ยนไปแล้ว แต่ก่อน รายการโทรทัศน์มักจะมีกราฟฟิคนำก่อนจนกินเวลา 2 นาที ทว่าปัจจุบันคนหันมาเสพสื่อออนไลน์มากขึ้นและพวกเขาใช้เวลาในการตัดสินใจว่าเนื้อหานั้นน่าสนใจพอที่จะเสพต่อหรือไม่ เพียง 6 วินาทีเท่านั้น ดังนั้น โจทย์ของเขาคือ จะทำอย่างไรให้คนดูสามารถเข้าใจวิดีโอหรือบทความได้ในระยะเวลาอันสั้น
“ต้องรู้เรื่องใน 6 วินาที ต้องเข้าเนื้อหาและสรุปจบด้วย มันไม่ใช่โฆษณา ที่จะพูดเท่ๆ และทิ้งไว้แค่นั้น”
#เคล็ดลับบอกต่อ
คุณหนุ่ยยังสังเกตพฤติกรรมของคนดูทางสื่ออนไลน์ต่างๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น Youtube ที่ผู้ชมส่วนใหญ่มักจะนั่งดูจากโซฟาหรือเก้าอี้ (Lean Back Audience) ทำให้วิดีโอที่จะดึงดูดได้นั้นต้องเป็นขนาดใหญ่และคมชัด อาจใช้อัตราส่วน 16:9 ขณะที่ Facebook นั้นควรใช้ 1:1 เพราะคนดูที่ดูนั้นเป็นแบบ Lean Forward มักจะมีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหา จึงต้องทำให้วิดิโอนั้นง่ายต่อการแสดงความคิดเห็น ส่วน Instagram ก็ต่างกัน เพราะควรใช้ภาพที่ยาว เพราะจะทำให้คนดูเห็นเนื้อหาของเรานานขึ้นด้วย
อีกเคล็ดลับที่สำคัญของคุณหนุ่ย คือ วิดีโอควรจะมีการแบ่งสัดส่วนในการรับสปอนเซอร์ให้ได้ โดยต้องมีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่เป็นเจตจำนงเสรี หรือความสามารถในการเลือกทำสิ่งหนึ่งโดยไม่มีปัจจัยใดขัดขวาง ซึ่งแบไต๋พยายามจะทำเนื้อหาที่เป็น Original Content ออกมาที่ไม่เกี่ยวกับลูกค้าหรือสปอนเซอร์ และส่วนที่เป็นเนื้อหาจากลูกค้าคุณหนุ่ยจะตั้งเงื่อนไขกับลูกค้าเสมอ ว่าจะพูด Features ของสินค้าให้ครบ แต่ลูกค้าเองจะต้องรับคำวิพากษ์วิจารณ์หรือข้อสังเกตที่ทีมงานค้นพบระหว่างที่รีวิวสินค้าหรือบริการได้ด้วย
“Content is king but context is king of the king”
อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดในการโพสหนึ่งคลิปคือคำพาดหัว เขาเปรียบมันเหมือนการแกะสินค้าออกจากห่อ พาดอย่างไรให้คนอยากกดเข้ามาดู วิธีการก็คือหาคำตอบรู้ว่าคนดูต้องการดูเพราะอะไร และนำสิ่งนั้นมาปรับเป็นชื่อเรื่อง อีกทั้งในหลายๆ ครั้ง เขาพบว่า คนดูดูวิดีโอของเขาเพราะต้องการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันกับคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเสียงหัวเราะด้วยกันหรือการชวนให้สงสัยไปด้วยกัน ดังนั้นตรงนี้ก็สามารถใช้เป็นโจทย์ให้เขาผลิตเนื้อหาที่ตรงตามความต้องการของคนดูได้
สำหรับความยาวของวิดีโอหนึ่งตัว คนส่วนใหญ่อาจบอกว่าต้องไม่เกิน 3-5 นาที แต่เขาบอกว่า หากคุณทำได้ครบกระบวนการทั้งหมด และเนื้อหาเจ๋งจริง จะยาวแค่ไหนก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ อีกหนึ่งสิ่งที่จะช่วยได้คือการทำยังไงให้คนอยากรู้ต่อไปเรื่อยๆ เขายกตัวอย่าง ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ที่มาการผูกและคลายปมอยู่เสมอ ดังนั้นสิ่งที่เขาทำคือการ Prescreen หรือทีมงานที่เกี่ยวข้องจะมานั่งดูเนื้อหาด้วยกันก่อนออกอากาศเสมอ หากพบว่ามันหน่วงก็จะส่งให้ทีมตัดใหม่ทันที
#ทุกอย่างเกิดขึ้นได้จากการให้มากขึ้น
ที่ผ่านมาคุณหนุ่ยต้องพยายามหาเงินให้ได้มากที่สุดเพื่อให้เพียงพอต่อรายจ่ายในการผลิตเนื้อหาแต่ละตอนของเขา ซึ่งเขาก็ยอมรับว่า เป็นช่วงที่ทรมานมากๆ ทว่าเมื่อได้เปลี่ยนมาทำออนไลน์ เขาก็พบว่ามันสะดวกสบายกว่ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาสามารถตัดจริตที่รุงรังออกและให้เหลือเพียงแค่สิ่งที่อยากเล่าเท่านั้น
“แต่ก่อนเท่าไหร่ก็ไม่พอ ตอนนี้ยิ่งให้ยิ่งได้”
คำพูดของคุณหนุ่ยที่พูดถึงพนักงานของเขา โดยเขาเล่าให้ฟังว่า ปัจจุบัน บริษัทของเขาบริหารแบบ Startup ซึ่งมีการให้โบนัสทุกๆ 3 เดือน โดยจ่ายตามสัดส่วนหน้าที่ความรับผิดชอบ ซึ่งตรงนี้ทำให้เขาเชื่อว่า พนักงานบริษัทเขาเป็นพนักงานที่มีความสุขที่สุด
“ผมหวังว่าคนอื่นจะสามารถนำเรื่องราวของผมไปปรับใช้ในชีวิตแต่ละคนได้” คุณหนุ่ยทิ้งท้าย
#careerfact
………………
สามารถติดตามเรื่องราวดีๆ ต่อได้ที่ Career Fact เพราะทุกอาชีพ... มีเรื่องราว (อย่าลืมกด See First เพื่อไม่ให้พลาดคอนเท้นท์ดีๆ)
Subscribe Career Fact - https://bit.ly/CareerFactYT
โฆษณา