10 ต.ค. 2020 เวลา 23:06 • ท่องเที่ยว
ช๘๒_เกตุเมือง วัดเจดีย์หลวง
◇ตามรอยโคลงครู นิราศหริภุญชัย◇ ตอน๘
□เกตุเมือง□
......ถนนเส้นที่อยู่เยื้องวัดพระสิงห์ อันประกอบด้วย วัดทุ่งยู วัดศรีเกิด และวัดชัยพระเกียรติ เมื่อเดินตรงต่อไปเรื่อยๆ จะเจอสี่แยก ความที่ไม่ใช่คนเมือง ก็เลยจำชื่อถนนอะไรไม่ได้ เมื่อเลี้ยวขวาไปทางประตูเชียงใหม่ เราก็จะเจอศูนย์กลางเมืองเชียงใหม่จริงๆ ด้วยในทักษาของเมือง เรียกว่าเป็นเกตุเมือง ซึ่งอยู่กึ่งกลางของรูปทักษา สัญลักษณ์เป็นเลขเก้าไทย จริงๆถนนเส้นนี้น่าจะชื่อว่าถนนพญากือนาหรือถนนพญาแสนเมืองมา แล้วตรงนี้คือตรงที่ครูเดินผ่านมา เวลานั้นสิ่งที่ครูเห็นคือเจดีย์หลวง อันสูงใหญ่ ตามรูปสเก็ตที่ผมร่างไว้ด้านล่างนี่ และนี่คืออาณาจักรเชียงใหม่อันยิ่งใหญ่
ร่างสเก็ตช์ ความน่าจะเป็น ของยอดวัดเจดีย์หลวง ลอกจากที่มีผู้ศึกษา และจัดทำแผ่นพลาสติกใสใน สถานที่จริงให้เป็นมุมมองซ้อนทับ เราลองนึกภาพของชาวเชียงใหม่ในช่วงเวลานั้น ก่อนที่ยอดเจดีย์จะพังลง คือในพศ.๒๐๘๘ ตอนที่ครูท่านเขียนโคลง อยู่ ประมาณ พศ.๒๐๖๐ ปีเมิงเป้าเวลานั้น พระพุทธสิหิงค์ และ พระแก้วมรกต ก็อยู่ที่เชียงใหม่ ขวัญกำลังใจหลักชัยความสุข ของชาวเชียงใหม่คงมีมากที่เดียว ผมจำแหล่งที่มาไม่ได้ แต่มีบันทึกหรือจารึกไว้ว่ามุมมองของวัดเจดีย์หลวงมองไปได้ไกลถึง หกเจ็ดพันวา ถ้าคิดดิบๆแบบวาหนึ่งมี2 เมตร ก็เท่ากับประมาณ 12 กิโลเมตร ที่จะมองเห็น ลองเช็คดูว่ามีความเป็นไปได้ไหม
หภ๑๓
๏ กุฎารามรวดด้าน หลังเหลียว
ถวายกระพูมมือเทียว หว่านไหว้
ทำบุญเพื่อผลเยียว ผัสแม่ นาแม่
ถึงถาบอุปแปนได้ แต่ซ้ำปรารถนา ฯ
หภ๑๔
๏ เห็นหอมังราชเจ้า สูงศักดิ์
ยังบลืออารักษ์ ราชไหว้
อังเชิญช่วยพิทักษ์ เทียมพี่ คะนึงนา
ยามม่อนมัวเกลียดใกล้ ร่วมเร้าชัยบาน ฯ
จำได้ว่าเคยมีคนบอก ว่าสมัยก่อน ที่ฐานรอบเจดีย์มีช้างอยู่ 8 ตัวในสมัยก่อน แปลว่ามีอยู่ด้านละ 2 ตัว จนมาปัจจุบัน มีช้างอยู่ 28 ตัว คือหัวมุมมุมละ 4 ตัว และ แต่ละด้านด้านละ 6 ตัว ที่มาที่ไปอย่างไรไม่ทราบเหมือนกัน หรือจะเอาแนวความคิดแบบสุโขทัย อย่างที่วัดช้างรอบมาเป็นต้นแบบ ผมไม่ทราบว่าใครรู้สึกแบบผมบ้างไหม งานเศียรพญานาคที่เชิงบันได เป็นงานที่แสดงสกุลช่างเชียงใหม่ อย่างวิจิตรอลังการ ประวัติที่นี่เป็นวัดหลวงแต่ทำไม รูป ช้าง งานยังดู หยาบ ดิบแบบงานพรีมิทีฟที่เดียว น่าจะอลังการมากกว่านี้ หรือเกี่ยวกับเรื่อง มาสร้างช้าง เพิ่มในช่วงหลัง
หภ๑๕
๏ อารักษ์อาราธน์เรื้อง มังราย ราชแฮ
เชิญส่งศรีทิพนาย หนึ่งร้า
เทียวทุงพี่จักถวาย เป็นส่วน บุญแฮ
จูงจ่องเมื้อเมืองฟ้า เสพสร้างสุราลัย
หภ๑๖
๏ มหาอาวาสสร้อย สี่สถาน
ชินรูปองค์อุปปาน เลิศหล้า
อมรกฎค่าควรปาน บูรหนึ่ง
ถวายพระนามน้อมหน้า เพื่อไท้นารีรมย์ ฯ
หภ๑๗
๏ อัษฎารสแรกสร้าง สูงประทาน
เทียฆแทบตนทรมาน เมื่อเนิ้น
เหมือนพระวรโพธิญาณ ยังโลก นี้นอ
ปดดำเนินนี้เทิ้น เทื่อนี้มัสการ ฯ
หภ๑๘
๏ สององค์อมเรศเอื้อม อุตรา
ยุกขราชถือขรรคา ฝ่ายใต้
เรียมวานเทพวรา รักษ์ราษฎร์ มวลแฮเสียงล่ำเพียงเกลี่ยใกล้ ช่วยค้ำชูเรียม ฯ
*หภxxx อ้างอิงไปยังโคลงหิริภุญไชยหมายเลข
......โคลงที่ยกเอามานี้คือส่วนหนึ่งของโคลงนิราศหริภุญไชย ซึ่งกล่าวถึงช่วงที่ครูท่านผ่านวัดเจดีย์หลวง ซึ่งเสมือนเป็นศูนย์กลางของเมืองเคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ซึ่งในโคลงยุคนั้นเขียนเป็นมรกฎบ้างหรืออมรกฎบ้างดร.ประเสริฐ ณ นคร เคยวิเคราะห์ไว้ว่า ช่วงเวลาที่เขียนนิราศหริภุญไชยเป็นช่วงเวลาในปี๒๐๖๐ ปีเมิงเป้า ซึ่งพระแก้วมรกตและพระพุทธสิหิงส์ต่างอยู่พร้อมกันที่เชียงใหม่ แต่อะไรก็ตามในสมัยห้าร้อยปีที่แล้วนี่คือสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในเชียงใหม่ และเป็นเหมือนคติสุเมรุ หรือคติพระธาตุกลางเมือง
.......มีที่น่าสังเกต ว่า ที่วัดเจดีย์หลวงนี้ ครูท่านแต่งโคลงอยู่หลายบท ต่างกับที่วัดอื่น
๗๓.แสนเมืองมาพระเจ้า เจื่องจัก
แปงเอกอารามหลวงสลัก สุเมรุฟ้า
ปุญส่งพ่อ”กือนา”จัก ข้ามภพ
สำเร็จสุดสืบสมัยท้า ต่อข้ามรัชกาลฯ
.......ผมไม่ได้มาเชียงใหม่ปีเศษและเพิ่งเห็นว่ามีการนำพระแก้วเข้าไปวางในตำแหน่งที่เคยคาดว่าเมื่อสมัยนั้นพระแก้วมรกต(น่าจะ)ประดิษฐานอยู่ตรงตำแหน่งนี้ของฐานเจดีย์ และหันไปทางเดียวกับพระอัษฐารสในพระวิหาร
๗๔.เจดีย์หลวงใหญ่สูงนั้น กลางเวียง
พิงนครเชียงใหม่เคียง สุดฟ้า
หกเจ็ดพันวามุมเมียง หมายมอง
มรกฏแก้วมณีแสงจ้า ธาตุเจ้าลังกาวรณ์ฯ
๗๕๏.รอยอดีตอันเคยเรื้อง เรืองแสง
อมรกฏเคยส่องสำแดง ยังจ้า
รังสีพุทธวิสุทธิ์แจรง ยังจรัส
อังคีรสยังอาจท้า รอยแก้วยังกรุ่นฯ
.
๗๖๏.เดิมชื่อโชติการามกล้า วิหาร
ทูนประจุเกศาธาตุกราน เจตียแก้ว
เจ้าอโศกส่งสมณะขาน โสนะ อุตตระ
เจตียหลวงเรืองแสงแล้ว โชติไล้แสงอินฯ
.
๗๗๏.หนึ่งคราวอารามล่มไร้ ดินไหว
เจตียป่นหักไป เรื่ยร้าง
วิบากม่านยุดยาไส ล่มเวียง
อินทวิชยฯปูรณะต่อว้าง สี่ร้อยสนำคว้างฯ
.
๗๘๏.ยังเฉิดแสงพุทธจ้า กลางเวียง
ยังมณีควรค่าเชียง ใหม่แก้วยังฉายศรัทธาชนเคียง ทิพยฟ้า
ยังสุกสว่างพาชนแล้ว ฝ่าข้ามชเลไกลฯ
โคลงสองดั้น
๗๙๏.รอยอดีตยังส่งแจ้ง
ฝันข้ามิได้แกล้ง จำเริญ ฯ
๏เพลินจินตนาการฟ้า
ยังแมนเหนือหล้า พิสุทธิ ฯ
๏ผุดแสงดาวดึงสชั้น
มีหนึ่งเจดียหั้น อมรา ฯ
๏ดุจมาวันทาแก้ว
จุฬามณีแพร้ว ละออ ฯ
๏พรส่งขอทันกัปปนี้
อย่าเกินอาไรย*ชี้ นำขีด ฯ
๏มองอดีตเจดียเบื้อง
ก่อนเคยรุ่งเรื้อง ผ่านสมัย ฯ
*พระศรีอาริยเมตไตร
๏ใสชนอาบแสงล้าน
-นาเชียงใหม่ศรัทธาจ้าน พุทธะ ฯ
๏สมณะทูตอโศกเจ้า
นำเกศพุทธเกล้า สถิต ฯ
๏กษิตสุเมรุฟ้า
อันอ่าเอี่ยมท้า จรดสรวง ฯ
๏เยี่ยมยอดเจดียหลวงแล้ว
เสียดสุดแมนแก้ว แทงฝัน ฯ
๏สี่พุทธผันผ่านกัปปต้น
อาไรยร่วมช่วยชนค้น ทางด้น เดินเอ่ ฯ
ถ้าใครเคยเห็นกรอบร่างของทักษา หรือถ้านึกไม่ออกให้นึกถึงการผูกดวงแต่ตัดหรือเอาเส้น๔๕องศาออกไปเป็นคล้ายๆรูปกากะบาท
ในแต่ละช่องบรรจุเลขต่างๆมีแปดตัวเลขคือ ๑-๘ ตรงกลางที่กากะบาทตัดกันนั่นคือ เกตุ หรือเป็นสัญญลักษณ์เลขเก้า ในโหราศาสตร์ไทยเลขเก้าเป็นกลางไม่อยู่ในระบบเลขทั่วไปแต่มีกำลังมาก เกตุเมืองคือตำแหน่งตรงกลางของเมือง สำหรับวัดในเมืองเชียงใหม่ที่อยู่ในระบบทักษานั้นจะรวมกล่าว อีกเป็นชุดต่อจากตามวัดในนิราศหริภุญไชยแล้วซึ่งก็จะตามออกไปนอกเมืองจนถึงเวียงกุมกามเลย และจะกลับมาตั้งต้นระบบทักษาต่อจาก ที่เกตุเมืองที่วัดเจดีย์หลวง ด้วยบริวารเมืองที่วัดสวนดอกอีกครั้งหนึ่ง
๑ | ๒ | ๓
๖ | ๙ | ๔
๘ | ๕ | ๗
ทางแก้ว
โคลงชมวัด
โฆษณา