20 ม.ค. 2021 เวลา 13:20 • ประวัติศาสตร์
ช๑๑๑_□อายุเมือง□ วัดเจ็ดยอด
ทักษาเมืองเชียงใหม่
...
.
..
...
๑๓ ย่ำยั้น
๑๒๗๏ลายปูนปั้น เชิงงามช่างชั้น
สบัดไหวใส่ใจสานสวย ฯ
๏ช่วยศิลป์คั้น สล่าช่างดั้น
นำศุภสารจากอินเดียทวีปไกล ฯ
..
..
๏ไฉนพริ้วหั้น ลิ่วลายล่องขั้น
ไศลจะบินเหินหาวหน ฯ
๏ยลเทพสูงชั้น สมาธิเพชรกั้น
ประนมหัตถ์กลางอุระกล้า ฯ
..
..
๏ลางฟ้ายืนรั้น น้อมนบบนนั้น
พร้อมภูษิตอาภรณ์ขามประดิษฐ ฯ
๏ปลิดลายล่องชั้น ดอกไม้เชียงใหม่*คั้น
สุดศิลป์นิรมิตรส่งร้อย เวียงล้านนาเอ่ ฯ
โคลงชมวัด
ทางแก้ว
มิถุนายน ๒๕๕๔-๒๕๖๔
..
..
.
.
.
๑๒๘.๏ก่อนสองพันปีนั้น สื่อพุทธ
พฤกษ์โพธิ์ปาริสุทธิ์ ยิ่งแย้ม
มหาโพธารามผุด สว่างแสง
เจ็ดยอดบ้างว่าแต้ม มณีล้ำนครพิงค์ ฯ
..
..
ต้นทางของลายแม่บทล้านนาสมัยเจ้าลก
๑๒๙.๏เจ้าติโลกราชโพ้น มังรายวงศ์
นำกิ่งศรีมหาโพธิ์ลง ตรงนี้
นอกเวียงเขตป่าดง อรัญญิก
แปงนามมหาโพธิ์ชี้ เอกรั้งขัตติยะเสก ฯ
๑๓๐.๏เสนาสีหโคตรหมื่นด้าม พร้าคต
จรไกลอินเดียจรด ช่างพร้อม
จองสัตตสถานประนต พุทธองค์
เจ็ดยอดเจดีย์ล้อม พุทธคยาน้อมอธิบดี ฯ
..
..
..
๑๓๑.๏รูปอุโมงค์วิหารชี้ แบบอย่าง
สกุลเชิงอารยะสร้าง ส่งถ้วน
สุดผนังรูปรอยวาง พุทธศิลป
สิงห์หนึ่งสุดศิลป์ล้วน ปธานแก้วในอุโมงค์ ฯ
๑๓๒.๏พุทธศกสองพันซาวให้ ประชุมสงฆ์
แรกสังคายนาตรง ใหญ่ครั้ง สุวรรณภูมิ
สืบพระไตรปิฎกจง สะอาด
ต่ออายุส่งสืบรั้ง ศาสน์ตั้งผ่านสมัย ฯ
.
.
.
.....ผมมีคุณป้าคุณลุงเป็นคนเก่าแก่ในพื้นที่ สมัยยังเด็กถ้าไปเชียงใหม่ ก็ไปแวะนอนที่บ้านคุณป้าคุณลุง บ้านนั้นอยู่ใกล้วัดเจ็ดยอดกับห้วยแก้ว พอได้เห็นวัดนี้มาแต่เด็ก คุณป้าคุณลุงก็รู้จักตุ๊เจ้าที่นี่ดี ในบรรดาปูนปั้น ของล้านนาที่สืบค้นได้ ที่นี่ถือเป็นเอก สร้างมาตั้งแต่สมัย พระเจ้าติโลกราชหรือเจ้าลก กษัตริย์องค์ที่เจ็ดของราชวงศ์มังราย อาจจะมีบูรณะซ่อมแซมปรับปรุง แม้งานปั้นที่หอไตรวัดพระสิงห์ ซึ่งถือว่ายอดเยี่ยมแล้ว ก็ยังเป็นรองในความละเอียดละออและฝีมือช่างแต่อย่างว่าอาจเป็นคนล่ะยุคคนล่ะสมัยกัน ซึ่งการเปรียบเทียบแบบนิสัยคนรุ่นใหม่อาจจะเป็นเรื่องผิด ที่มองข้ามช่วงเวลาของแต่ละยุคไป
.
พุทธคยาในปัจจุบัน
....... ที่นี่ถือว่าเป็นแบบจำลองของพุทธคยา โดยกษัตริย์ส่งช่างหรือขุนนางชื่อหมื่นด้ามพร้าคต ไปถ่ายจำลองแบบมา สมัยก่อนการไปลังกาก็ดี กระทั่งไม่ต้องพูดถึงการไปอินเดีย เป็นเรื่องที่ ยากและอันตรายมาก กับการเดินทางไปทางเรือเรียกว่า เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายกันเลย มีคนถกกันเยอะ ว่าทำไมจำลองแบบไม่เหมือนกับต้นทางทั้งหมด เรื่องนี่มีหลายความเห็น หลายคน นำรูปแบบ การจำลองเมืองพระนครหรือนครวัดในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ของอยุธยามาเทียบกัน คือที่ปราสาทนครหลวง ก็ไม่เหมือนเช่นกัน ยุคพระเจ้าปราสาททองห่างกับเจ้าลกนานทีเดียวเจ้าลกตรงกับสมัยพระบรมไตรโลกนารถ บางที เราเอาความคิดเราที่อยู่ในสมัยปัจจุบัน มาเป็นฐานตีความประวัติศาสตร์ นั้นไม่ได้เลย
........แม้ระดับพระสงฆ์ที่ไปศึกษาศาสนาในลังกา ก็มีไม่มาก ในยุคแรกสายของท่านสุมนเถระ ที่มาจากสุโขทัย นั้นมาจากเมืองพัน (น่าจะเป็นเมาะตะมะ) ซึ่งจริงๆ ศาสนาพุทธเผยแพร่ เข้ามาในพื้นที่นี้ ก่อนตั้งเมืองเชียงใหม่ จากเมืองพัน กลับมาพูดถึงศาสนาจากสุโขทัย โดยท่านสุมนเถระ ยุคนั้นคือยุคต้นๆของเมืองเชียงใหม่คือพระเจ้ากือนา ต่อมาหลังจากนั้นจึงมีนิกายป่าแดงจากลังกาปักลงในเชียงใหม่
.
จากรูปตอนบนนี้ตรงกลางที่เป็นช่องว่างมีชื่อตามหลักทักษาว่าเกตุถือเป็นศูนย์กลาง วัดที่ครองตำแหน่งนี้ในเชียงใหม่คือวัดเจดีย์หลวง
.
........ความเก่าแก่ และการจำลองแบบมาจากพุทธคยานั้น ถ้านำกรอบ เมืองเชียงใหม่ โดยหันกรอบเมืองไปทางทิศเหนือ ลำดับแรกบริวาร คือวัดสวนดอกนั่น อยู่นอกกรอบเมือง ที่นี่ยิ่งไกลออกไปใหญ่ทางซุปเปอร์ฯ แต่ก็หันไปทางทิศเหนือของกรอบเช่นเดียวกัน ดูอาจจะเป็นวัดอรัญญิกในสมัยโบราณหรือเปล่าถ้าคิดด้วยฐานของอิทธิพลลังกาวงศ์ ด้วยว่าทิศจะค่อนไปทางตะวันตก เพราะในลำดับต่อไปของทักษาคือเดชเมือง นั้นคือวัดเชียงยืน วัดเชียงยืนนั้นอยู่ตรงข้ามกับคูเมืองจากแผนที่ตอนบนก็เยื้องๆกับวัดเชียงมั่น นอกกรอบเมืองจริงๆ พอดี
ทางแก้ว
โคลงชมวัด
วาดวัด
๒๕๕๘~๒๕๖๔
.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา