3 ต.ค. 2020 เวลา 13:30
#เรื่องเล่าก่อนเข้าจันทร์เจ้าขา,
สวัสดีครับ เพื่อนๆ
คืนวันเสาร์นี้ ผมพาพี่เฟิร์ส
ลูกชายคนโตและหนุ่มๆ ออกมา hang out..กันครับ
เลยขออนุญาตส่งเรื่องเล่าสั้นๆ ก่อนเข้าจันทร์เจ้าขา เพื่ออรรถรสที่เพิ่มขึ้นสำหรับ จันทร์เจ้าขาในตอนต่อๆไปนะครับ..
สุขสันต์วันเสาร์นะครับ ❤️😇💚💙🎶
#ไทม์ไลน์ในเชียงใหม่ช่วงปีพุทธศักราช 2426,
#พิธีโสกันต์เจ้าดารารัศมี
-ในปีนั้น เจ้าดารารัศมีทรงพระชนม์ได้ 11 ชันษา..
ทางราชสำนักสยามจึงได้มีคําสั่งให้พระยาเทพประชุน (พุ่ม ศรีไชยันต์) ข้าหลวงใหญ่เมืองนครเชียงใหม่ จัดงานพิธีโสกันต์ (โกนจุก) แก่เจ้าดารารัศมี
การพิธีโสกันต์นี้รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระกุณฑลเป็นของขวัญ ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลงวันศุกร์ เดือน 12 แรม 9 ค่ำ ปีมะแมเบญจศก จุลศักราช 1245 (23 พ.ย. 2426) พระราชทานไปยังพระยาราชสัมภารากร (ซึ่งคุณหลวงท่านกำลังจะนำพระกุลฑล ไปมอบให้กับพระยาราชสัมภารากร ในเวลาอันใกล้นี้ครับ)
1
และ ยังให้อัญเชิญกระแสพระบรมราชโองการไปชี้แจงแก่พระเจ้าอินทวิชยานนท์และเจ้าทิพเกสร ดังข้อความว่า
“…เรื่องโกนจุกนั้น…เรารับไว้ว่าจะทําขวัญ จึงได้ส่งตุ้มหูระย้าเพชรคู่หนึ่งขึ้นมา ให้พระยาราชสัมภารากรนําไปทําขวัญแต่ต้องชี้แจงให้ทราบว่า ธรรมเนียมเจ้าแผ่นดิน ทําขวัญโกนจุกโดยทางราชการนั้นไม่มี เป็นแต่เมื่อบุตรข้าราชการ ถวายตัวทําราชการอยู่ในวังทูลลาโกนจุก ก็พระราชทานเงินพระคลังในที่ทําขวัญบ้าง แต่บุตรข้าราชการที่ไม่ได้ทําราชการนั้น ต่อทรงพระกรุณาบิดามากจึงได้พระราชทานบ้าง มีน้อยราย แต่ก็เป็นของพระคลังข้างที่ทั้งนั้น ไม่นับว่าเป็นราชการแผ่นดิน จึงไม่ได้มีศุภอักษรส่งของขึ้นมาตามมาราชการ…แต่การโกนจุกนี้เป็นน้ำท่วมทุ่ง บางคนก็ทํามาก บางคนก็ทําน้อยตาม
อัธยาไศรย (อัธยาศัย)
ไม่สู้เป็นการสลักสําคัญอันใดนัก ถึงจะทําการก็คงไม่เหมือนกรุงเทพฯ ทีเดียว ซึ่งผ่อนผันไปไม่ให้เป็นการขัดอกขัดใจกันในการไม่พอ เรื่องดังนี้เป็นการชอบแล้ว อย่าให้มีความ หวาดหวั่นอันใดเลย…”
ซึ่งเรื่องนี้ได้สร้างความเข้าใจโดยทั่วไปว่า “มิใช่เป็นแค่ของขวัญธรรมดา”แต่คือ “ของขวัญแทนใจ เสมือนการหมายหมั้น..”
จากนั้น ในปีถัดมา (2427) เจ้าทิพเกสร ก็ถึงแก่อสัญกรรม และเจ้าอุบลวรรณาจึงเป็นผู้อุปการะเจ้าดารารัศมี จนกระทั่งเสด็จมายังกรุงเทพฯ..
และในปี พ.ศ.2429 เจ้าดารารัศมี จึงได้ถวายตัว รับราชการฝ่ายใน นับแต่นั้นมา..
#พระยาราชสัมภารากร
-พระยาราชสัมภารากร (เลื่อน สุรนันท์) เป็นบุตรพระยาอภัยพิพิธ (เสพ) จางวางกรมท่าขวา กับคุณหญิงพุ่ม ซึ่งเป็นหลานของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  เกิดเมื่อปี 2380
เมื่ออายุครบ ได้บวชเรียนในสำนักสมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ) วัดโสมนัสวิหาร  เมื่อลาสิกขาแล้วกลับมารับราชการได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอินทรโกษา  ปลัดกรมพระคลังราชการ..
จนมาถึงในสมัยรัชกาลที่  5  ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้เป็นพระยาราชสัมภารากร  เจ้ากรมพระคลังราชการ เมื่อปี 2421  ภายหลังเป็นข้าหลวงใหญ่รักษาราชการ  ณ เมืองเชียงใหม่
โดยเป็นที่ทราบกันดีว่า พระยาราชสัมภารากรมีความสนใจศึกษาเล่าเรียนวิชาหนังสือขอม  หนังสือไทย  วิชาโหราศาสตร์  ตำราพิชัยสงคราม  พระราชพงศาวดาร  และการแต่งร้อยกรอง  กาพย์  โคลงฉันท์..
#สถานการณ์การล่าอาณานิคมในปีพุทธศักราช2426,
-ฝรั่งเศสเข้าครอบครองเวียดนามในปี พ.ศ. 2426
-อังกฤษ ได้มีการแก้ไขและลงนาม *สนธิสัญญาเชียงใหม่* ในการให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแก่ชาวอังกฤษ และคนในบังคับอังกฤษ ที่เข้ามาประกอบกิจการป่าไม้ในภาคเหนือ นอกจากนี้อังกฤษยังแต่งตั้ง รองกงสุลมาประจําท่ีเมืองเชียงใหม่ และ น่าน .. ส่วนในพม่าอังกฤษก็บีบคั้นอย่างเป็นที่สุด..
สวัสดี และขอจบเพียงเท่านี้
ขอบคุณครับ
ร้อยเรียงเรื่องเล่า
(T.Mon)
3/10/2020
ข้อมูลสนับสนุนส่วนหนึ่ง:
จิรชาติ สันต๊ะยศ. ประวัติศาสตร์ฉบับ “รื้อสร้าง” ทั้งที่ “จริง” และ “สร้างใหม่” พระราชชายาเจ้าดารารัศมี, สำนักพิมพ์มติชน ธันวาคม 2551
ผศ.ดร. เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. เปิดแผนยึดล้านนา, สำนักพิมพ์มติชน กุมภาพันธ์ 2560
ราชสัมภารากรลิขิต. พระนคร : แพร่การช่าง, 2505. (อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงหม่อมขาว  เกษมศรี ฯ ในพระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าศุภโยคเกษม ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 11 กรกฎาคม 2505)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา