25 ต.ค. 2020 เวลา 07:14 • ท่องเที่ยว
ช๙๐_วัดพระเจ้าเม็งราย พระเจ้าค่าคิง
◇ตามรอยโคลงครู นิราศหริภุญชัย◇ ตอน๑๒
หภ๑๔๏ เห็นหอมังราชเจ้า สูงศักดิ์
ยังบลืออารักษ์ ราชไหว้
อังเชิญช่วยพิทักษ์ เทียมพี่ คะนึงนา
ยามม่อนมัวเกลียดใกล้ ร่วมเร้าชัยบาน ฯ
หภ๑๕๏อารักษ์อาราธน์เรื้อง มังราย ราชแฮ
เชิญส่งศรีทิพนาย หนึ่งร้า
เทียวทุงพี่จักถวาย เป็นส่วน บุญแฮ
จูงจ่องเมื้อเมืองฟ้า เสพสร้างสุราลัย ฯ
*หภxxx อ้างอิงไปยังโคลงหิริภุญไชยหมายเลข
ก่อนที่จะออกจาก กรอบเมือง ผมขอวกกลับ ไปที่โคลงบทที่ 14 และ 15 ซึ่งกล่าวถึงหอมังราช ตามลำดับโคลง หอมังราช ควรจะอยู่ระหว่างวัดชัยพระเกียรติ กับวัดศรีเกิด เอาเข้าจริงหอมังราชก็ไม่มีแล้ว แม้ตอนเตรียมพล็อต มาจากกรุงเทพฯ ด้วยคิดว่าเป็นวัดพระเจ้าเม็งราย แต่หลังจากดูลำดับของบท ที่ต่อจากวัดศรีเกิดและบทที่กล่าวถึงวัดพระสิงห์ ก็ไม่น่าจะใช่เพราะในระยะเดินต่อจากวัดศรีเกิดนั้นไม่มีอารามหรืออาคารใดที่จะสื่อว่าเป็นหอมังราชเจ้าสูงศักดิ์เลย
........แต่พอมาอ่านบันทึกของดร.ประเสริฐ ณ นครกล่าวไว้ว่า”มาถึงสี่แยกกลางเวียงเชียงใหม่ ไหว้หอมังราชของพญามังราย (เหลืออยู่แต่ต้นโพธิ์)” ก็ทำให้ต้องมีการบ้านไปหาสี่แยกกลางเวียงและหาต้นโพธิ์ที่ว่านี้อีกครั้งหนึ่ง สี่แยกกลางเวียงจะหมายถึงสี่แยกตรงไหน ส่วนวัดพระเจ้าเม็งรายแม้ไม่ใช่หอมังราชแต่ด้านในก็มีอะไรน่าสนใจมากทีเดียว โดยเฉพาะรูปปั้นด้านหน้าทางเข้าประตูที่เป็นรูปผู้หญิงกับสิงห์และตัวมอมที่เกาะสิงห์นี่มีใครจะตีความไหมครับ
ต่อ๕๙.เห็นโขงประตูหน้า อาราม
วิจิตรลายล่องงาม ทางเข้า
ดูเทพรักษ์นาคขาม หงส์ปัก
ป่ากวางล้อธรรมเร้า อ่าเอื้อศาสน์แถลงฯ
๖๐.ประตูเทินสิงห์ค้ำ คู่สิงห์
แปลกมีอัปสรมิ่ง คุมคุ้ม
แปลกตากว่าอื่นกริ่ง อะไรท่าน วานไข
ยังเพลินมอมน้อยสุ้ม(ซุ่ม) เคลียเคล้าแข้งสิงห์ฯ
๖๑.คืออารามพระเจ้า เม็งราย
คือวิหารสว่างฉาย ตรงหน้า
คือเทพรักษ์โปรยปราย เพียสรวง
หลั่นลดหลังคากล้า เม็งรายท้ารอยอดีต ฯ
๖๒.วิหารขามพระเจ้า ค่าคิง
ลีลาห้ามญาติสิง ค่าค้ำ
หันราวอัษฐารสกริ่ง จักเรือง แสงงาม
เพียวพุ่งโปรดสัตว์ย้ำ หยุดยั้งการณรงค์ ฯ
๖๓.คิงคือเทียมเท่าแม้น สูงเสมอ
ค่าเม็งรายสูงเออ เท่านี้
บ้างเงารอยรูปเธอ ทาบแลง
แสงสาดลีลาชี้ ชนรี้พลดอง ฯ
.....คติพระอัษฐารส หรือพระยืนองค์ใหญ่ ดูจะมีวิถีคิดในชั้นสุโขทัย อันเนื่องมาจากลังกา ที่เชียงใหม่นี้มีความต่อเนื่องกับสุโขทัยมาในสมัยเริ่มราชวงศ์มังรายแล้ว แต่คนรู้จักพระอัษฎารสที่เชียงใหม่ที่วัดเจดีย์หลวงเป็นหลัก ที่นี่องค์พระยืนสูงใหญ่เหมือนกันเป็นปางลีลาดูราวจะเก่าแก่กว่าที่วัดเจดีย์หลวงอีก องค์พระองค์นี้เป็นพระโลหะลอยองค์มีตำนานหรือเรื่องเล่าว่า ที่ชื่อว่าพระเจ้าค่าคิง สูงเทียมพระเจ้าเม็งราย
......จริงต้องใช้คำว่าพระเจ้าเม็งรายสูงเท่ากับองค์พระว่ากันไปว่าจะสูงเท่าได้อย่างไรกัน ก็มีผู้รู้เขียนแก้ให้ว่าคำว่าสูงเท่าหมายถึงเงาพระเจ้าเม็งรายสูงเท่ากับองค์พระมีตำนานการสร้างวัด กานโถม ที่่เวียงกุมกาม กล่าวไว้ว่า ในรัชกาลของพญามังรายได้สร้างพระพุทธรูป5พระองค์ ประทับนั่งสามองค์ประทับยืนสององค์โดยมีองค์หนึ่งสูงเท่าพญามังราย* การตีความว่าพระพุทธรูปองค์นี้คงสร้างมาแต่ครั้งสมัยพญามังราย(พุทธศตวรรษที่ ๑๙) แต่ในทำนองกลับกันก็ยังมีผู้แย้งว่าที่นี่น่าจะเป็นรุ่นเดียวกับวัดช้างค้ำที่น่านซึ่งเป็นสุโขทัยสมัย พุทธศตวรรษที่๒๐
๖๔.วาดวงลีลาป้อง สรรพภัย
ยังแต่ลีลาอะไร จักฉ้วย(ช่วย)
กระทบเดินรู้ลีลาใน จิตรู้
ดับเกิดรู้ไร้ด้วย กี่ครั้งขามแมน ฯ
๖๕.หน้าวิหารมีปั้น รูปผญา
ผู้ก่อสรรพอาณา จักรจ้า
กอบแสนชนชาวมา พิงพิงค์
ปรุงศาสน์ยงสืบท้า จุนค้ำสรีเวียง ฯ
๖๖.งามอุโบสถ์สดสีคุ้ม แพรวพราย
อัปสรโปรยเพียปราย บันหน้า
เพลินชมกระจกลาย ล่องชั้น
ก่งซุ้มนาครัดเกล้า ประตูเจ้าเทพรักษ์ ฯ
๖๗.ส่องสว่างสุกใสแจ้ง อุโบสถ
สบสายอังคีรส สิหิงส์เจ้า
อิ่มงามสง่าหมดจด สิริรูป
ห้าร้อยปีเศษเกล้า เกิดสร้างส่วนปุณณ ฯ
ที่ฐานพระพุทธสิหิงค์องค์นี้มีจารึกไว้ แปลความว่า
”ศรีสัทธรรมะมหาสังฆราชให้สร้าง พระพุทธรูปสิหิงค์ขึ้นประทับนั่งเหนือบัลลังก์อันประเสริฐเหมือนพระอาทิตย์ปรากฏเหนือเขายุคันธรและเหมือนพระจันทร์งามเด่นอยู่บนท้องฟ้า
.......ศรีสัทธรรมะไตรโลกรัตนจุฬา มหาสังฆราช ให้หล่อพระพุทธรูปสิหิงค์องค์นี้เพื่อเป็นไม้ไต้แก่โลก และ(เพื่อ) คนทังหลายบูชา เป็นส่วนบุญอันจัก(นำ)ไปเกิดในเมืองฟ้าและนิพพาน ที่ไม่รู้จักแก่เถ้า และไม่รู้ตาย...ฐาน(ขอพระพุทธรูปองค์นี้)มีน้ำหนัก๒๔๐๐ “
และจารึกที่ฐานท่านระบุไว้ที่ปี ๒๐๑๒ ซึ่งถือเป็นพระพุทธสิหิงส์ที่เก่าที่สุดเท่าที่มีรอยจารึก
ทางแก้ว
โคลงชมวัด
วาดวัด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา