28 ต.ค. 2020 เวลา 00:07 • ท่องเที่ยว
ช๙๑_ลุถึงเชียงใหม่หม้า ทวารทอง
**จากประตูเชียงใหม่ถึงวัดธาตุกลางสุโขทัยในเชียงใหม่
◇ตามรอยโคลงครู นิราศหริภุญชัย◇ ตอน๑๓
หภ๒๓.
๏จงไปปราสาทฉ้อ อัษฎา
บุญจึ่งลักกุนา รอดเรื้อง
เชียงส่งพี่ส่งหา เยาวยอด ยิ่งแฮ
ซอมซ่อตาทุกเบื้อง บ่ได้ดลพงา ฯ
หภ๒๔.
๏ลุถึงเชียงใหม่หม้า ทวารทอง
เวียงวาสปราการสอง เขื่อนขั้ง
เหราเฟือดฟัดฟอง คือข่าย งามเฮย
หอเลิศเลยต้ายตั้ง ข่ามข้าศึกแสลง ฯ
หภ๒๕.
๏มเหศักขสาดไท้ ทิพทวาร ท่านเอย
เชิญช่วยปดอันผาน เจตชู้
บ่เห็นพี่รักคราน ใจเช่น ชันนี้
เมื่อข่าวไขน้องรู้ ร่วมเบื้องยาถนอม ฯ
หภ๒๖.
๏หวังเห็นชม่อยหน้า บุญหนา
วานเทพสนองรา รีบร้า
เททวงปั่นปองบา อกบ่า บินแฮ
ปดต่ำงนไว้ข้า ข่าวน้องนำสนอง ฯ
หภ๒๗.
๏บุรีทวารต่อตั้ง สมสถาน
นามชื่อศรีมหาทวาร รวดเรื้อง
ทนทุกข์ทิวานาน บน่อย ทวงเอย
ขวัญขาดยังข้อนเบื้อง บาปห้อยเห็นอวร ฯ
หภ๒๘.
๏พันง้อมงามเงื้อมใกล้ สุสาร
เรียมบังคมชิตมาร เจื่องเจ้า
ทุรังสิ้นศิลบาล บ่ใคร่ รักเอย
ก็ใช่จงจักเฝ้า เทพท้าวเองอวร ฯ
หภ๒๙.
๏.ลุถึงเถียงเส่าสร้อย ศรีเสถียร
อัศว์ต่ำเรียรถเกวียน คืดเคล้า
ไทเห็นอุพาเจียน จันแม่ มาแฮ
ยลใช่ชีพิตเข้า พี่ห้อยหฤทัย ฯ
นิราศหริภุญไชย
*หภxxx อ้างอิงไปยังโคลงหิริภุญไชยหมายเลข
......จากวัดฟ่อนสร้อยเดินไปประตูเชียงใหม่ เห็นตึกแถวเก่าสองชั้นเก่าสองฝั่ง อายุอาคารอยู่ถึงรุ่นที่จะต้องรื้อออกไป ต่อไปคงจะกลายเป็นตึกสามสี่ชั้นบังมุมมองของประตูเชียงใหม่หรือไม่ เทศบาลเมืองน่าจะซื้อต่อตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อเปิดทำเป็นพื้นที่โล่งเปิดมุมตาของถนนไปหาตัวประตูเมือง อันมีประวัติศาสตร์ยาวนาน อยากเป็นเมืองมรดกโลก กันใช่ไหม
ประตูเชียงใหม่มองจากด้านนอกกรอบเมืองเข้ามา
ที่ป้ายหินอ่อนสีขาวเขียนไว้ดังนี้
"หอเลิศเลยต้ายตั้ง ข่ามข้าศึกแสลง"
"ประตูเชียงใหม่ เป็นประตูด้านใต้
สร้างในรัชสมัยพญามังรายเมื่อแรกตั้ง
เมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 1839 เดิมใช้เป็น
เส้นทางไปสู่เมืองลำพูนประตูนี้บูรณะ
ขึ้นใหม่สมัยพระเจ้ากาวิละ ประมาณ
พ.ศ. 2344 และ สร้างขึ้นใหม่อีกครั้ง
ระหว่าง พ.ศ. 2509 - 2512"
ฝั่งซ้าย(เมื่อมองจากภายในเมือง) ของประตูเมืองมีศาลเจ้าพ่อประตูเชียงใหม่
หินทรายศิลาจารึก อยู่ที่ประตู
แนวกำแพงเมืองต่อเนื่องไปจากประตู โปรดสังเกตความหนากำแพง
เยื้องประตูฝั่งตรงข้ามมีเจดีย์องค์หนึ่ง บ้านเรือนประชิดตัวองค์เจดีย์เลยโครงสร้างโบราณกับโครงสร้างสมัยใหม่อยู่ติดกันเลยนึกถึงตอนตอกเสาเข็มตึกสี่ห้าชั้นด้านหลังนั่น ปั้นจั่นคงค้ำหัวองค์เจดีย์เลยตอนตอกเข็มเจดีย์คงสั่นคลอน ผมเห็นที่นี่ตั้งแต่เด็ก จนล่วงเข้าวัยปลายอายุนี้ก็ยังอยู่เช่นเดิมเทศบาลเมืองจัดการอะไรได้หรือไม่ หรือเห็นว่าเจดีย์ไม่มีคุณค่า ถ้าบ้านเรือนเขาถูกกฎหมายแล้ว ก็หาเงินสักก้อนซื้อตึกแถวเขามาทุบทิ้ง เถิดจะเป็นเมืองมรดกโลกทั้งที
.....จากวัดฟ่อนสร้อยเดินนิดเดียวก็ถึงประตูเชียงใหม่แล้ว แล้วครูท่านก็เดินผ่านวัดฟ่อนสร้อยมายังประตูเชียงใหม่เหมือนที่ผมกำลังเดินอยู่ในปัจจุบัน ระยะทางจากวัดฟ่อนสร้อยมาถึงประตูเมืองเท่าช่วงตึกแถวสองชั้นเก่าๆที่ผมถ่ายรูปมาด้านบนนี่ แต่ก็ยังมีอีกกระแสหนึ่งบอกว่าวัดฟ่อนสร้อยเเดิมนั้นไม่ได้อยู่ตรงนี้ หวังว่าวันหนึ่งคงไม่กลายเป็นอะไรแปลกปลอมขึ้นตรงนี้อีก ในบทที่ ๒๓นี้ ตอนแรกผมก็พยายามจะตีความคำว่า ปราสาทฉ้ออัษฎาว่าเป็นปราสาทอะไรสักอย่างหนึ่งรูปแปดเหลี่ยมหรือ พอไปดูในพื้นที่ปัจจุบันก็ไม่มีอะไรสูงอยู่เลย ถ้าจะมีก็เจดียหลังพระวิหารวัดฟ่อนสร้อย แต่เมื่อวัดฟ่อนสร้อยในสมัยก่อนก็อาจจะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งนี้ และตัวหอสองข้างประตูซึ่งก็ไม่สูงมากนัก(ดูเทียบกับรูปถ่ายที่แนบมานี้) หรือปราสาทคือเรือนของเจ้านายหรือหอสูงที่สร้างด้วยไม้เวลาผ่านไปสี่ห้าร้อยปีงานไม้คงผุพังหมดแล้ว
.....ครั้นกลับมาอ่านโคลงบทนี้อีกครั้งมีบทที่แย้งของ ดร.ประเสริฐ และสมุดไทเล่มที่๓/๑ และเล่มที่สาม จงไป(๓/๑) จงใจ(ทั้งหมด) ปราสาทสร้อย (ดร.ประเสริฐและสมุดไท ๓) ประจักสร้อย (สมุดไท๒)ส่วนอัษฎาในฉบับดร.ประเสริฐก็ยังเป็นสวัสดา ดูไปดูมาในบทที่ ๒๓.นี้อาจจะเป็นการคร่ำครวญถึงนางอันเป็นที่รักหรือ
.....จากประตูเชียงใหม่ผมก็เดินข้ามถนนและตรงจากประตูเชียงใหม่เพื่อไปวัดกุฎีคำ(ธาตุคำ) และวัดน่างรั้ว(ยางกวง) มาเรื่อยๆด้วยหมายจะตีโจทย์ โคลงในบทที่๒๘และ๒๙ มีคำที่ควรพิจารณาอยู่คือ พันง้อม สุสาร(สุสานหรือสุ-สาระแปลคนละอย่างกัน) และเถียงเส่าสร้อย ช่วงจากประตูเชียงใหม่ถึงวัดธาตุคำไกลพอสมควรสำหรับการเดินของคนมีอายุทำเอาได้เหงื่อทีเดียว แต่จากโคลงทำให้เรารู้ได้ว่าครูท่านใช้เกวียนเทียมม้า ในการไปยังแม่น้ำปิงด้านใต้ของเมือง ระหว่าง การเดินนั้นทางซ้ายมือมีเจดีย์อยู่สององค์องค์แรกดูฐานเป็นแบบเชียงใหม่องค์ระฆังดูใหญ่และมีบัลลังก์ด้วย
.....สิ่งที่เมืองซึ่งมีโบราณสถาน ซ้อนในพื้นที่ของเมือง ควรพิจารณาอย่างยิ่งคือการรุกพื้นที่ของชุมชนเข้าไปยังโบราณสถานต่างๆ หลายเมืองที่ชุมชนได้บุกรุกเข้าประชิดต่อโบราณสถาน อย่างไม่น่าให้อภัย แม้สิ่งต่างๆอาจจะมีข้อกล่าวอ้างว่าเป็นวัดร้าง ในเชียงใหม่หลายที่บางที่วัดร้างอยู่ในอาคารสถานที่ของราชการ กระทั่งเมืองโบราณอย่างเวียงเจ็ดลินยังอยู่ในรั้วของมหาวิทยาลัย อื่นๆที่อยุธยากำแพงเพชร ฯ กระทั่งที่ทางในกรุงเทพฯหลายแห่งที่พวกเราเห็นๆกันอยู่ แม้แต่วัดริมน้ำเจ้าพระยาหลายแห่งเดิมอ่านในประวัติว่าติดแม่น้ำวันดีคืนร้ายดินงอกขึ้นมาผู้คนก็เข้าไปรุกจับจองเป็นบ้านเป็นชุมชน และเราก็ผ่อนผันกันเรื่อยมา ผ่อนผันกันเรื่อยมา(ไม่ได้เขียนซ้ำกันน่ะครับ) ด้วยเกรงอะไรหรือปัดภาระก็แล้วแต่ จนกระทั่งวันหนึ่งพวกที่บุกรุกนี้ก็ถูกกฎหมาย วันที่ชุมชน ฝังรากลึก ด้วยอายุด้วยวิถี และด้วยจำนวนผู้คน พอถึงตรงนั้น ชุมชนก็กลายเป็นโบราณสถานอีกประเภทหนึ่งในอนาคต แล้วก็เกิดข้ออ้าง เกิดเหตุ เกิดผล ฯ
...... เมื่อเดินต่อไปอีกสักพักก็เห็นเจดีย์องค์ที่สอง ตอนแรกผมก็มองนิดหน่อย ที่เจดีย์มีฐานสี่เหลี่ยมจัตรัสและเดินเลยไปเพื่อจะไปที่วัดธาตุคำ เนื่องจากมุมตาที่อยู่ในระยะประชิดเจดีย์มองเห็นเป็นปกติ แต่ครั้นเมื่อเดินกลับมาจากวัดยางกวงแล้ว จึงเห็นมุมตาในระยะไกล นี่คือวัดร้างชื่อวัดธาตุกลางความหมายของคำว่า"กลาง"ในสมัยก่อนน่าจะเป็นศูนย์ของอะไรสักอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้คงสืบได้ยากเพราะ เชียงใหม่มีช่วงหนึ่งที่เป็นเมืองร้างก่อนที่พระเจ้ากาวิละเข้ามาฟื้นฟูบูรณะ แต่สิ่งที่เห็นน่ะซิครับคือเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ จริงๆแม้สัดส่วนที่ยอดจะดูแปลกตา เมื่อเทียบวัดมหาธาตุที่สุโขทัย ก็ตาม แต่นี่คือการสืบต่อหรือพัฒนาการของเจดีย์สุโขทัยในเชียงใหม่แห่งหนึ่งก่อนหน้านั้นเคยได้ยินมาว่าเจดีย์ที่วัดสวนดอกก็เป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์มาก่อน
ถนนหน้าวัดธาตุคำ เจดีย์องค์แรก
อีกมุมมองหนึ่งเริ่มเห็นเค้าพุ่มข้าวบิณฑ์แล้ว
มุมนี้ใช่เลยเห็นการก่อฐาน
และจังหวะขึ้นรูป
เจดีย์องค์ที่สองวัดธาตุกลาง(ร้าง)ใกล้วัดธาตุคำ
เราเห็นพัฒนาการของพุ่มข้าวบิณฑ์แล้ว
เจดีย์ดอกบัวตูมหรือพุ่มข้าวบิณฑ์ รูปแบบมาตรฐาน วัดมหาธาตุเพชรบูรณ์
วัดมหาธาตุสุโขทัย
.....สมัยก่อนที่เริ่มศึกษาประวัติศาสตร์ และหลงใหล ในรูปแบบ ของสถาปัตยกรรมสุโขทัย เมื่อเห็นเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ครั้งใด ก็จะนึกต่อเลยว่า ทรวดทรงลักษณะเฉพาะตัวเช่นนี้ น่าแปลกที่ทำไมไม่มี การสืบต่อหรือรังสรรค์ในยุคต่อๆมา แม้จะเห็นเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ ในพื้นที่อื่นๆนอกจากสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร น่าน แม้แต่รูปเก่าของวัดสวนดอกในเชียงใหม่ที่มีเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ประกอบด้วย แพรกศรีราชา เพชรบูรณ์ ฯ กระทั่งความน่าจะเป็นในบ้านตาก แต่ก็ยังสงสัยว่าทำไม ไม่มีการพัฒนาสืบต่อ อาจจะเป็นรูปทรงที่เด่นชัด จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของสุโขทัย ที่สร้างลักษณะเด่นของมหาธาตุประจำเมือง และทำให้อยุธยาลอกเลียนตาม แต่การ เห็นเจดีย์ 2 องค์ ที่เชียงใหม่นี้ ถือว่ามีการพัฒนาการ จนน่าจะสืบค้น เรื่องราว ต่อเนื่องได้
..๏๙๘เดินผ่านฟ่อนสร้อย ตรงทางน้อยน้อย
ก็ถึง ฯ
..๏จึงสบประตูทิศใต้ นามประตูเชียงใหม่ไท้
ส่งขาม ฯ
..๏ตามแลหอสูงสองข้าง แม่นกำแพงอันว้าง
ขนาบ ฯ
..๏ก่อนปราบหลากเศิกป้อง ฝ่าแสนชนแสนต้อง
ประลัย ฯ
..๏สมัยคูเมืองอาจจ้อง เหราเฟือดฟ่องฟ้อง
พิทักษ์ ฯ
..๏หวังครู*จักเดินด้วย เป็นแรงร่วมฉ้วย(ช่วย)
คิดขบ ฯ
..๏ทางตรลบฝุ่นท้า ทางแก้วเดินบ่ล้า
ผ่านอดีต ฯ
..๏กรีดกาลนานขบเค้น สักน้อยน้อยหนึ่งเร้น
ลอดแสง ฯ
..๏จักแสดงสืบนานแสร้ง ขอจงประจักษ์แจ้ง
กี่ทางที่แย้ง จุ่งจ้าเอ่ พิงงาม ฯ
.
*เอ่=เอย
ทางแก้ว
โคลงชมวัด
วาดวัด
๒๕๕๖~๒๕๖๓

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา