7 พ.ย. 2020 เวลา 02:29
จักรวาลเรื่องเล่าจากชมรมศิลป์ : #6
(The Persistence of) Time Value of Money
ว่ากันว่า เวลาแห่งความสุขมักผ่านไปเร็ว แต่เวลาแห่งความเครียด ความทุกข์ ความกลัว กลับยาวนานจนเหลือเชื่อ
แต่ละวันมี 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่หลายครั้งเรารู้สึกว่าวันสั้นหรือยาวไม่เท่ากับวันอื่น
วันนี้เป็นอีกหนึ่งบ่ายที่แสนยาวนานของผม ความล้าจากการอ่านข้อมูลตัวเลขต่างๆ ทำให้ผมเลือกออกมาเดินพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ผมไปเดินเป็นประจำ ความเงียบสงบและบรรยากาศสบายๆ ในสถานที่นี้ทำให้ผมรู้สึกสมองปลอดโปร่งและคิดเรื่องเกี่ยวกับงานได้เสมอ "หวังว่าวันนี้จะเป็นเช่นเดียวกันนะ..." ผมพูดกับตัวเองระหว่างเดินผ่านประตูเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งนี้
Credit : MOMA
ภาพตรงหน้านี้ผมเดินผ่านแทบทุกครั้งที่ผมมาที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ แต่ครั้งนี้ภาพขนาดเล็กภาพนี้กลับทำให้ผมสะดุดความคิดและหยุดยืนตรงหน้าของภาพอันเหนือจริงในฝันของนาฬิกาที่กำลังละลาย
นาฬิกาแต่ละเรือนในภาพดูแตกต่างกัน ทำให้ผมนึกถึงคำพูดที่ว่า "นาฬิกาจะถูกหรือแพงก็บอกเวลาได้เหมือนกัน" "เราซื้อนาฬิกาได้แต่เราไม่อาจซื้อเวลาได้" "แม้นาฬิกาหยุดเดิน แต่เวลาไม่เคยหยุดเดิน"
สำนวนต่างๆ ที่เคยได้ยินผุดขึ้นมาในสมองจนผมนึกขำตัวเอง ภาพนี้ทำให้ผมคิดฟุ้งไปได้ไกลทีเดียว แต่.....ดูเหมือนนาฬิกาที่กำลังละลายเหล่านี้...มีอะไรบางอย่างตรงกับสิ่งที่ผมกำลังคิดค้างอยู่
"The Persistence of memory ความทรงจำที่ตราตรึงของนาฬิกาเหลวหรือนาฬิกาที่กำลังละลาย"
เสียงที่พูดกับผม ทำให้ผมหันกลับไปมอง เจ้าของเสียงก็คือภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ที่ผมมักยิ้มทักเวลาที่ผมเข้ามาเดินในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
"ขอบคุณครับ ผมเดินผ่านภาพนี้หลายครั้ง แต่เพิ่งสะดุดตาวันนี้เอง" ผมยิ้มตอบ
1
"คงเพราะวันนี้มาเดินคนเดียวหรือเปล่าครับ คุณและเพื่อนๆ เป็นแขกประจำของที่นี่เลยนะครับ" ภัณฑารักษ์ตอบอย่างสุภาพด้วยสีหน้ายิ้มแย้มเป็นมิตร
1
Credit : MOMA
ผมยิ้มให้เขาเป็นการตอบรับ เขาจึงหันไปที่ภาพแล้วพูดต่อว่า "The Persistence of memory เป็นผลงานแนวเหนือจริง (Surrealism) ที่มีชื่อเสียงของ ซัลบาโด ดาลี ( Salvador Dalí) จิตรกรชาวสเปน ดาลีวาดภาพของนาฬิกาเหลวแบบนี้ในผลงานหลายชิ้นเลยนะครับ"
"ดาลีเคยบอกว่าแรงบันดาลใจของนาฬิกาเหลวมาจากการสังเกตเนยแข็งที่กำลังละลายเมื่อถูกแสงแดด ทำให้นักวิเคราะห์ศิลปะหลายคนตีความว่าดาลีอาจใช้นาฬิกาเหลวเพื่อเป็นสิ่งล้อเลียนการเดินของเวลาที่เที่ยงตรงคงที่" ภัณฑารักษ์ให้รายละเอียดอย่างสั้นกระชับแต่ทำให้ผมรู้สึกอยากหาความหมายของภาพนี้
1
"เวลาที่เที่ยงตรงคงที่หรือครับ?" ผมพูดย้ำในสิ่งที่ภัณฑารักษ์บรรยาย
"ใช่ครับ เวลาที่เที่ยงตรงคงที่และไม่เคยหยุดรออะไร" เขาตอบย้ำอีกครั้ง "ยังมีผลงานของดาลีอีกหลายภาพจัดแสดงบนชั้นนี้ครับ ถ้าสนใจลองเดินชมดูนะครับ"
"ขอบคุณครับ แต่ไม่ดีกว่าครับ ผมเคยพยายามดูภาพของเขาแล้ว สงสัยจินตนาการผมจะไปไม่ถึงจินตนาการของศิลปินครับ" คำตอบของผมทำให้ภัณฑรักษ์หัวเราะชอบใจ
"ถ้างั้นลองเดินดูภาพที่เกี่ยวกับนาฬิกาหรือเวลา ก็ดีนะครับ คุณบอกว่าวันนี้สะดุดกับภาพนี้ อาจเพราะกำลังคิดเกี่ยวกับเรื่องนาฬิกาหรือเวลาหรือเปล่าครับ ขอให้วันนี้เป็นวันที่โชคดีนะครับ" หลังพูดจบเขาก็ขอตัวไปดูแลคนอื่นๆ ต่อ
ผมคิดในใจ ....นาฬิกา ...เวลา เป็นคำแนะนำที่น่าสนใจ..... แล้วจู่ๆ ความจำสมัยที่เรียนมหาวิทยาลัยก็แว๊บขึ้นมาในสมองในทันที
Credit : Wikiart
"เงิน 100 บาท ที่ได้รับในวันนี้ มีมูลค่ามากกว่าเงิน 100 บาทที่จะได้รับในอีก 1 ปีข้างหน้า!" ผมนึกถึงคำบรรยายในวิชาพื้นฐานการวางแผนการเงิน
"ผลของเวลากับมูลค่าของเงิน!!" ผมคิด
"ผลของอัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนที่ได้จากเงิน 100 บาท ทำให้เงินที่เรามีอยู่ในเวลานี้มีค่ามากกว่าเงินจำนวนเท่ากันในอนาคต หากอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ 5% ต่อปี เงิน 100 บาทในวันนี้จะมีค่าเท่ากับ 105 บาทใน 1 ปีข้างหน้า เวลาและอัตราดอกเบี้ยทำให้มูลค่าของเงินในอนาคต (Future Value) แตกต่างกันไป" ความจำเก่าๆ เริ่มผุดขึ้นมาในสมอง
1
"แผนการเงินต่างๆ นำปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องมาใช้ประกอบการวางแผน ก็คือ เงินต้นหรือเงินลงทุน ระยะเวลาของแผน อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย และขนาดของเป้าหมาย"
ภาพที่โปรเฟสเซอร์ยืนบรรยายบนเวทีของห้องออดิโทเรี่ยมชัดเจนในความทรงจำของผม พอๆ กันประโยคต่างๆ ที่โปรเฟสเซอร์กล่าวบรรยาย..เรื่องมูลค่าของเงินตามเวลาที่เป็นหลักพื้นฐานในการวางแผนการเงิน
Credit : Wikiart
เงินที่เพิ่มค่าเป็น 105 บาทใน 1 ปีข้างหน้า จะใช้ซื้อของได้มากกว่า 100 บาทในวันนี้หรือเปล่าก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน และน่าจะเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของแผนการเงินส่วนบุคคล ผมคิด...ยิ่งในสภาพเศรษฐกิจที่ผลตอบแทนอาจเป็นได้เพียงผลตอบแทนที่ 1% เงิน 100 บาทจะกลายเป็น 101 บาทเท่านั้น
"อำนาจซื้อที่แท้จริงของเงิน!! เงินเฟ้อลดทอนกำลังซื้อแท้จริงลงตลอดเวลา"
ถ้าผลตอบแทนเท่ากับ 1% และ เงินเฟ้อ 1% เท่ากัน ผมคิดเล่นๆ เงิน 101 บาทในอนาคตก็ซื้อของได้เท่ากับเงิน 100 บาทในวันนี้พอดี
แต่ถ้าเงินเฟ้อเป็น 3% เงิน 101 บาทในปีหน้าจะมีค่าเท่ากับเงิน 98 บาทในวันนี้เท่านั้น และจะเหลือเพียง 56 บาทในอีก 30 ปีข้างหน้า
ถึงเวลานั้นเท่ากับว่าเราจะมีเงินใช้จ่ายได้จริงแค่เพียงครึ่งเดียวของที่เราคาดคิดไว้เท่านั้นเอง เพราะเงินของเราเพิ่มค่าได้น้อยกว่าค่าใช้จ่ายที่ปรับสูงตามเงินเฟ้อ
"หรือนี่คือความหมายที่แท้จริงของนาฬิกาที่กำลังละลายในภาพนี้!!" ผมเริ่มมองเห็นสิ่งที่ดาลีตั้งใจสื่อบอกเราผ่านนาฬิกาเหลวในภาพ ดาลีคงไม่ได้พูดเรื่องเงินโดยตรง และไม่ได้หมายถึงเรื่องความสัมพันธ์ของเวลากับตัวแปร แต่เขากำลังสื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่ทำให้เกิดผลลัพธ์แท้จริง
1
"นาฬิกาเนยแข็งละลายเพราะความร้อนจากแสงแดดที่มากขึ้นกว่าระดับที่เนยแข็งจะทนทานได้ สุดท้ายนาฬิกาก็ไม่สามารถทำหน้าที่บอกเวลาได้อีกต่อไป แม้เวลาของดาลียังคงเดินต่อไปเรื่อยๆ"
3
"เมื่อไหร่ที่อัตราเงินเฟ้อมากกว่าอัตราผลตอบแทน อำนาจซื้อจริงของเงินก็เริ่มละลายและบิดเบือนจากมูลค่าของมัน"
การย้อนคิดไปถึงความทรงจำเก่าๆ นี้..ช่วยให้สมองผมเริ่มปลอดโปร่งขึ้น ผมคิดขำๆ ว่าผมน่าจะตั้งชื่อให้ภาพนี้ใหม่ว่า "The Persistence of Time Value of Money ความทรงจำอันตราตรึงของมูลค่าเงินตามเวลา..." ผมว่าก็ฟังดูดีเหมือนกันนะ...
1
"หากนาฬิกาของเรากำลังจะละลาย เพราะบางช่วงของเวลาที่ไม่ได้เป็นไปตามที่เราคิด อำนาจซื้อของเงินที่หายไป เราจะแก้ไขยังไงดี...."
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
ซีรีย์จักรวาลเรื่องเล่าจากชมรมศิลป์ : ศิลปะกับการเงิน เริ่มจากการทดลองเขียนเรื่องสั้นตามคำแนะนำที่ได้รับจากคุณกู๊ด และ คุณเรื่องสั้นๆ ครับ โดยนำไอเดียเรื่องสั้นแนวศิลปะของพี่บี เพจให้เพลงพาไป มาเชื่อมโยงกับเรื่องการเงินพื้นฐาน แต่ละตอนถูกเขียนให้มีความเชื่อมโยงกันโดยส่วนใหญ่เป็นเหตุการณ์สมมุติเพื่อความบันเทิง อาจมีการเชื่อมโยงกับเรื่องราวหรือตัวตนจริงของบางท่าน ผมขอขอบคุณที่มาของข้อมูล ภาพประกอบ และผู้ที่ถูกเชื่อมโยงทุกคนไว้ ณ ที่นี้ครับ
โฆษณา