8 ต.ค. 2020 เวลา 12:39 • ความคิดเห็น
ตายอย่างสงบ(จริงๆ)เป็นยังไง
1
“ถ้าไม่ได้หมอมาดู แม่คงไม่ได้มีโอกาสเห็นลูกชายห่มผ้าเหลือง”
วันนี้มาขอเล่าอีกเคสนึง ที่แม้มีโอกาสดูแลไม่นาน แต่เป็นเคสที่น่าสนใจมากๆ
ผู้ป่วยเป็น ALS หรือ amyotrophic lateral sclerosis
3
ขอเท้าความสั้นๆ ให้คนที่ไม่ใช่แพทย์เข้าใจ เป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาทที่ส่งผลให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายทำงานได้ลดลง ลดลง ลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่สามารถขยับร่างกายได้แม้แต่นิดเดียว แม้แต่จะเคี้ยวอาหาร ก็เคี้ยวไม่ได้ จะกลืนก็กลืนไม่ได้ พูดก็แทบจะไม่มีเสียงออกมา และในที่สุด จะหายใจไม่ได้ เพราะกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจ ไม่ทำงาน
3
โรคนี้ยังไม่น่ากลัวแค่นี้...เพราะโรคนี้ คุณยังรับรู้ทุกอย่างอยู่ ยังเจ็บอยู่ ยังรู้สึกหิว ยังได้ยินเสียงอยู่ เพียงแต่ขยับไม่ได้ สื่อสารไม่ได้
1
เล่าแค่นี้ หลายคนก็คงจะสยอง....
แต่นี่ไม่ใช่ประเด็น ไม่ได้มาสอนเรื่องโรค แต่จะมาแชร์ให้ฟัง ว่าการจะตายดี ต้องเตรียมตัว
1
เคสนี้ ได้รับการดูแลจากคุณหมอระบบประสาทมาตลอด ได้มีการคุยถึงตัวโรค การพยากรณ์โรคและได้ถามถึงความต้องการของผู้ป่วย ถ้าวันที่หายใจไม่ไหว ต้องการให้หมอรักษาโดยการใส่ท่อช่วยหายใจและเจาะคอหรือไม่...
3
แน่นอน จากที่เล่าให้ฟัง โรคนี้ ถ้าใช้เครื่องช่วยหายใจ คนไข้จะอยู่ได้เรื่อยๆ เรื่อยๆ เพราะเครื่องทำงานแทนกล้ามเนื้อหายใจแล้ว อาหารก็ feed ทางสายยางเอา ระบบอื่นๆของร่างกาย ยังดีอยู่ ก็ทำให้คนไข้ อยู่ไปได้อีกนาน เป็นหลายๆปี
1
แต่อยู่แบบขยับไม่ได้ สื่อสารไม่ได้
คงไม่มีใครตอบได้ดีไปว่าคนไข้เอง ว่าเค้าต้องการรักษาแบบนั้นหรือไม่ เค้าอยากอยู่ "เรื่อยๆ" กับเครื่องช่วยหายใจหรือไม่
1
คุณป้าคนไข้ ในวันที่มีโอกาสบอก ได้บอกคุณหมอไปแล้วว่าไม่ต้องการท่อช่วยหายใจ "ไม่"ต้องการเจาะคอ ถ้าวันหนึ่งวันนั้นมาถึง
วันศุกร์ที่แล้ว วันนั้นก็มาถึง
คนไข้หายใจเองไม่ไหว ญาติพามารพ. พร้อมกับบอกหมอที่ห้องฉุกเฉินว่า แม่ไม่ต้องการให้ใส่ท่อช่วยหายใจ แม่ไม่ต้องการเจาะคอ.....สิ่งที่อยู่ในใจหมอหลายคนคือ....แล้วให้หมอทำอะไร???
....ในเมื่อถึงจุดนี้ คือจุดที่ต้องใส่ท่อแล้ว ไม่งั้นก็คือตาย
จึงได้มีการปรึกษาทางทีมดูแลประคับประคองให้ไปดู (palliative care team)
2
วันที่ไป คนไข้ยังตื่น รู้ตัวอยู่ การสื่อสาร ทำได้เพียงสังเกตจากสายตา ถามตอบเป็น yes/no question ทำได้เพียงเท่านั้น
จึงไม่ได้คุยอะไรกับผู้ป่วยมากนัก เพราะรับรู้ได้ถึงสายตาที่ไม่สุขสบาย
ได้ทำการคุยกับครอบครัว ถามถึงความเข้าใจตัวโรค ทุกคนเข้าใจดี แต่ก็เสียใจที่วันนี้มาถึง ลูกถามว่า แม่จะอยู่ได้อีกกี่วัน แม่อยากเห็นลูกชายบวชมากๆ จริงๆมี plan บวชไว้กลางเดือนอยู่แล้ว แต่แม่เหนื่อยก่อน
1
และวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ท่านเจ้าอาวาส ไม่สามารถมาบวชให้ได้เลย จะได้เร็วที่สุดคือวันจันทร์...นั่นคือ อีก 4 วัน
จึงได้ไปคุยกับผู้ป่วย ว่าลูกชายจะบวชวันจันทร์นะ....สายตาผู้ป่วยตอนนั้นดีใจมากๆ ถ้าปากยิ้มได้ คงยิ้มกว้างสุดๆ
แต่ในใจหมอนั้น กังวลอยู่ว่า เราจะทำอย่างไร ให้คุณป้าไม่เหนื่อย และสามารถอยู่ได้ถึงวันที่เห็นพระลูกชาย
4
ตอนนั้นจึงให้การช่วยหายใจด้วยหน้ากาก (NIV) ควบคู่กับการใช้ยามอร์ฟีน เพื่อลดอาการเหนื่อย และความรู้สึกเหนื่อยให้กับคนไข้ หลังให้การรักษาทั้ง 2 อย่าง คนไข้อาการเหนื่อยดีขึ้น
1
และสุดท้าย อยู่ได้จนได้ตักบาตรกับพระลูกชาย.....
หลังจากนั้นหมอจึงยุติการยื้อด้วยหน้ากาก และให้คุณป้าจากไปอย่างสงบ
3
ลูกๆมาขอบคุณ และบอกว่า ถ้าไม่ได้ทีมมาช่วยดู คุณแม่คงไม่ได้นอนเตียงที่สบายขึ้น (คงต้องนอน ER ต่อไป) และคงอยู่ไม่ถึงเห็นลูกชายห่มผ้าเหลือง
3
บางครั้ง หน้าที่ของแพทย์ คงไม่ใช่รักษา หรือไม่รักษา แต่อยู่ที่เราสามารถทำให้ผู้ป่วยบรรลุความประสงค์นั้นได้หรื่อไม่
ซึ่งในกรณีคุณป้า จะเป็นหนังอีกม้วนเลย ถ้า
- คุณหมอระบบประสาท ไม่คุยกับคุณป้าถึงความต้องการตรงนี้ (ขอบคุณคุณหมอมากๆจริงๆ)
- ครอบครัว ไม่เคารพการตัดสินใจของคุณป้า
- คุณหมอที่ห้องฉุกเฉิน ไม่ปรึกษาทีม ให้ไปช่วยดู
- อจ.ระบบประสาท ไม่กรุณาให้เตียง admit ให้ (เพราะคนไข้กลุ่มที่รักษาไม่ได้ มักถูกให้นอนเสียชีวิตที่ห้องฉุกเฉิน เพราะเตียงรพ.ที่มีจำกัดเหลือเกิน)
2
ทุกวันนี้ เตียงใกล้ๆที่คุณป้าคนนี้นอนเสียชีวิต ก็มีผู้ป่วย ALS นอนใช้เครื่องช่วยหายใจมา 3-4 ปี...นอนแบบไม่มีทางดีขึ้น นอนแบบ ไม่มีใครรู้ความต้องการของผู้ป่วยอีกแล้ว
3
ดังนั้น
2
- ในฐานะแพทย์ อยากให้คุยถึงความต้องการของผู้ป่วย ในวันที่เค้ายังคุยได้ ยังบอกเราได้อยู่
- ในฐานะญาติ สามารถถามได้ว่าผู้ป่วยอยากให้ดูแลแบบไหน ในวันที่โรคของเค้าเป็นมากขึ้น และที่สำคัญคือ อยากให้รับฟังผู้ป่วยด้วย
- ในฐานะที่เรายังสื่อสารได้อยู่ ควรบอกครอบครัวเราด้วย ว่าถ้าวันหนึ่งวันนั้นมาถึง เราอยากให้ดูแลแบบไหน
6
สุดท้าย ขอพูดคำเดิม... death may be not good, but good death is always good
3

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา