10 ต.ค. 2020 เวลา 09:15
Back to The Future
ละอดีต ทำปัจจุบัน เพื่ออนาคต
หากเราลองจินตนาการและคิดว่าเครื่อง Time Machine มีหน้าตายังไง เครื่อง Time Machine 2 เครื่องที่ผมที่รู้จัก คือ ลิ้นชักโต๊ะทำการบ้านในห้องนอน และ รถยนต์รูปร่างแปลกประหลาด
เชื่อว่าทุกคนคงจะนึกออกว่า Time Machine ที่เป็นลิ้นชักโต๊ะทำการบ้านคือ Time machine ของ โดราเอมอนและโนบิตะ การ์ตูนที่ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนมกราคม พ.ศ. 2513 ในประเทศญี่ปุ่น ในขณะที่เครื่อง Time Machine ที่เป็นรถยนต์มาจากภาพยนต์เรื่อง Back to The Future ที่ออกฉายในเดือน กรกฎาคม 2528 หรือ 15 ปีต่อมา จริงๆ มีเครื่อง Time Machine หรือการเดินทางข้ามเวลาในหนังสือและภาพยนต์อีกหลายเรื่อง แม้แต่จักรวาลซุปเปอร์ฮีโร่ยังต้องใช้เครื่องนี้ช่วยในยามสิ้นหนทางแก้ปัญหา
แต่สำหรับ Time Machine 2 เครื่องนี้ มาจากแนวคิดเรื่องการย้อนเวลากลับไปเพื่อให้ตัวเอกของเรื่องปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตเพื่ออนาคตของตัวเอง บทความนี้จึงขอนำพวกเราเจาะเวลาหาอดีตไปพบกับเครื่อง Time Machine กับ Back to The Future และ DMC-12 รถ Time Machine คู่บุญของสองตัวเอกในเรื่องกันครับ
🚘 DeLorean DMC-12 รถขบถสังคมที่ไม่มีวันตาย ไอคอนแห่งยุค 80 และสัญญลักษณ์ของการเดินทางข้ามเวลา
หากเปรียบสถานะในยุค 80 ของ John DeLorean ชายผู้ให้กำเนิด DMC DeLorean ก็อาจจะเทียบได้กับ Elon Musk ในยุคปัจจุบัน กับการสร้างแนวคิดแห่งอนาคตออกมาเป็นรถยนต์ที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงบนท้องถนน เสียดายที่ John DeLorean สามารถเปิดตัวรถยนต์ DMC-12 ได้เพียงรุ่นเดียวและตัวเขาต้องประสบปัญหาทางการเงินจนกระทั่งต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลายในที่สุด แต่ DMC-12 กลับประสบความสำเร็จในฐานะหนึ่งในไอคอนแห่งยุค 80 จากการเป็น Time Machine ของ ดร. เอ็มเม็ตต์ บราวน์ และ มาร์ตี้ แม็กฟลาย ในภาพยนต์ไตรภาค Back to The Future ที่ออกฉายตั้งแต่ปี 2528 หาก John DeLorean มีแนวคิดทางธุรกิจและการเงินที่ดี เราอาจจะเห็น DMC หลากรุ่นวิ่งบนท้องถนนในปัจจุบันก็เป็นไปได้
Back to The Future เรื่องราวของเด็กหนุ่มมัธยมปลาย มาร์ตี้ แม็กฟลาย ที่ย้อนเวลากลับไปในอดีตโดยไม่ตั้งใจและไปเปลี่ยนเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ในอดีตจนมีผลต่ออนาคตในเวลานั้น (ซึ่งก็คือเวลาปัจจุบันจริงของมาร์ตี้ แม็กฟลาย) ทำให้เขาต้องใช้ข้อมูลที่เขามีเข้าไปแก้ไขสถานการณ์ที่ถูกเปลี่ยนไปเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามอดีตที่เกิดขึ้นจริงของเขา (ซึ่งก็คือปัจจุบันตามเวลาที่เขาย้อนกลับไป) การที่เขาบังเอิญไปช่วยพ่อของเขาไม่ให้ถูกรถชนเป็นการทำลายจุดเริ่มความรู้จักระหว่างพ่อและแม่ของเขา เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนอนาคตในเวลานั้น หรือโลกปัจจุบันจริงของเขาให้กลายเป็นโลกปัจจุบันแบบใหม่ที่จะไม่มี มาร์ตี้ และครอบครัวของเขาอีกต่อไป
ด้วยข้อมูลที่เขาจำได้เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีตทำให้เขาต้องพยายามแก้ไขให้ทุกสิ่งกลับไปเป็นเหมือนเดิม และหาทางกลับสู่เวลาปัจจุบันของตัวเขาเอง ซึ่งทั้งหมดคือหัวใจเดินเรื่องที่สำคัญของ Back To The Future ทั้งสามภาค
1
Credit : Unsplash.com
🌕 ถ้าหากเราย้อนเวลาได้ เราจะอยากเปลี่ยนอะไรในอดีต?
Back to The Future ทำให้เรารู้ว่า การกระทำต่างๆ ในอดีต มีผลให้เกิดปัจจุบันที่เป็นอยู่ เช่นเดียวกัน..การกระทำในปัจจุบันย่อมทำให้เกิดผลต่ออนาคตด้วย เพียงแต่อนาคตนั้นยังไม่เกิดขึ้น แต่ปัจจุบันคือสิ่งที่เราดำรงอยู่ หากเราอยากเปลี่ยนปัจจุบัน ก็ต้องกลับไปเปลี่ยนอดีต และ หากเราอยากเปลี่ยนอนาคต เราก็ต้องเปลี่ยนปัจจุบัน
ในช่วงชีวิตของผมหากจะเลือกเหตุการณ์ที่เชื่อว่ามีผลต่ออนาคตทุกวันนี้ก็คงจะมีอยู่หลายเหตุการณ์ ตัวอย่างแรก มีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งผมเคยนึกเล่นๆ ว่าถ้าตอนเลือกคณะในมหาวิทยาลัยผมไม่ได้เลือกคณะที่ผมเรียนจบมาล่ะ ชีวิตผมจะเป็นอย่างไร แน่นอนครับผมไม่รู้ว่าปัจจุบันผมจะเป็นอย่างไร อาจจะเป็นวิศวกรที่ทำงานกินเงินเดือนไปจนเกษียณ หรืออาจจะเป็นวิศวกรที่ตกงานเพราะตามเทคโนโลยีไม่ทันแล้วก็ได้ แต่ที่แน่ๆ ผมคงไม่ได้มีเพจ FA Talk อย่างนี้
หรืออีกช่วงเวลาที่กำลังจบมหาวิทยาลัย ทางเลือกจากข้อเสนอต่างๆ ที่ผมต้องเลือก หากผมเลือกงานด้านไอทีการเงินที่มีข้อเสนอด้านรายได้สูงกว่างานที่ผมตัดสินใจเลือก ทุกวันนี้ก็คงไม่มีเพจ FA Talk เช่นกัน ไม่แน่นะครับผมก็อาจจะมีเพจในลักษณะ Tech Talk หรืออาจจะไม่มีโอกาสเปิดเพจใดๆ ก็ได้ คุณเองก็เช่นเดียวกันครับ
เมื่อถึงจุดหนึ่งของชีวิต เราก็รู้ได้ว่าชีวิตที่ผ่านมาคือบทเรียน คือประสบการณ์ เราจะเลือกเดินหรือทำในสิ่งที่เป็นบทเรียนด้านต่างๆ ต่อไป หรือเราจะเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงการกระทำเพื่ออนาคต เราต้องเลือกและลงมือกระทำในวันนี้
แน่นอนว่าคนเราย่อมมีเรื่องหรือเหตุการณ์ในอดีตที่เราคิดเสียดายทางเลือกในการตัดสินใจในเวลานั้นเพื่อปัจจุบันที่เราเชื่อว่าอาจจะดีกว่านี้ ซึ่งก็เช่นเดียวกันว่าย่อมมีเรื่องหรือเหตุการณ์ที่เราไม่รู้หรือไม่คิดว่าเราควรจะทำ เพื่อปัจจุบันที่ดีกว่าแน่ๆ
Credit : Unsplash.com
🌕 อนาคตที่เราคาดการณ์ได้ และอนาคตที่เราคาดการณ์ไม่ได้
อนาคตที่เราคาดการณ์ได้ คืออนาคตที่เรารู้แน่นอนว่าถ้าเราเลือกที่จะทำหรือไม่ทำบางอย่างในวันนี้ เราจะมีอนาคตอย่างไร
อนาคตที่เราคาดการณ์ได้ เราต้องคิด วางแผน และกระทำตั้งแต่วันนี้เพื่อให้เรามีอนาคตที่ดี ตัวอย่างเช่น
มนุษย์เงินเดือน ย่อมรู้ว่าหลังเกษียณตัวเราจะไม่มีเงินได้ในรูปของเงินเดือนอีกต่อไปไม่ว่าวันนี้คุณจะกำลังทำงานอะไร นี่คืออนาคตที่เรามองเห็นได้ แต่เราอาจบอกไม่ได้ว่าวันนั้นของเราจะมาถึงเมื่อไหร่
ในขณะที่อนาคตที่เราคาดการณ์ไม่ได้คืออนาคตที่ไม่ว่าเราจะเลือกหรือไม่เลือกทำบางอย่างในวันนี้ เราก็ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงอนาคตที่จะเกิดขึ้นได้ แต่เราอาจจะพอพยากรณ์หรือเตรียมการบางสิ่งบางอย่างได้
ตัวอย่างเดียวกันมนุษย์เงินเดือนคนเดิม รู้ว่าวันหนึ่งต้องเกษียณแต่เขาคงไม่รู้ว่าวันนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ อาจจะเป็นวันเกษียณตามกฎหมาย การเกษียณอย่างไม่คาดคิดจากปัญหาไม่มีงานทำ เลิกจ้าง อย่างที่เราเริ่มเห็นกันในปัจจุบันนี้ อนาคตแบบนี้มีปัจจัยมากมายที่เราควบคุมไม่ได้ สิบปีก่อนอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ต่างๆ คือหนึ่งในแหล่งอาชีพหลักที่จ้างงานมากมาย ทุกวันนี้อุตสาหกรรมนี้กำลังหดหายไปคนทำงานส่วนหนึ่งไม่มีง่นทำอีกต่อไป อาชีพวิศวกร อาชีพนักการเงินก็มีความเสี่ยงไม่แตกต่างกัน หรือวิกฤตการที่เกิดกระทันหันต่างๆ การรับมืออนาคตแบบนี้มีวิธีคิด วิธีวางแผนและลงมือกระทำที่แตกต่างกัน แต่เราต้องเตรียมและทำเช่นกัน
อนาคตที่เราคาดการณ์ได้ เช่นการเกษียณเราสามารถเตรียมพร้อมอนาคตได้ระดับหนึ่งด้วยการวางแผนการเกษียณเตรียมแหล่งเงินสำหรับอนาคต เหมือนเกษตรที่ต้องขุดบ่อเก็บน้ำสำรองให้พอสำหรับเมื่อเกิดภัยแล้ง ช่วงที่ยังไม่ต้องใช้น้ำในแหล่งสำรองก็ใช้เลี้ยงสัตว์น้ำปลูกพืชน้ำทำรายได้เสริมเป็นต้น การเตรียมเงินเพื่อเกษียณมีแนวทางต่างๆ ให้เลือก เพียงแต่สิ่งสำคัญคือการเริ่มลงมือทำและทำอย่างต่อเนื่อง
อนาคตที่เราคาดการไม่ได้ เกี่ยวข้องกับความน่าจะเป็น โอกาสและความเสี่ยง ถ้าเราต้องเตรียมทุกสิ่งก็คงเป็นภาระหนักและอาจเกินจำเป็น ตัวอย่างการเกษียณอายุก่อนเวลา วิธีเตรียมการคือการหาหรือสร้างแหล่งรายได้สำรอง การวางแผนการลงทุนที่ยืดหยุ่น การสร้างอิสรภาพทางการเงิน เป็นต้น
อีกสิ่งที่ควรทำคือการป้องกันความเสียหายจากความเสี่ยงต่างๆ การทำประกันประเภทต่างๆ ช่วยป้องกันหรือลดผลกระทบจากความเสี่ยงเหล่านี้ได้ เช่นการทำประกันชีวิตไม่ได้ป้องกันการเสียชีวิตแต่ป้องกันปัญหาการเงินจากมูลค่าชีวิตที่หายไป หรือการทำประกันสุขภาพไม่ได้ป้องกันการเจ็บป่วยแต่ป้องกันการสูญเสียทรัพย์สินเพื่อใช้เป็นค่ารักษาหากเราเกิดการเจ็บป่วยขึ้น เป็นต้น
เมื่อเราไม่สามารถเปลี่ยนอดีต แต่เราสามารถปรับเปลี่ยนอนาคตได้ด้วยการเตรียมและกระทำตั้งแต่ปัจจุบัน ลองดูว่าเรามีอะไรที่เราต้องเตรียม วางแผนและลงมือเพื่ออนาคตของเราบ้างครับ
โฆษณา