11 ต.ค. 2020 เวลา 01:10 • สุขภาพ
ความแตกต่างระหว่างงานวิจัยกับชีวิตจริง
วันนี้ขอพูดความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับความรู้ที่ได้จากงานวิจัย กับการแปลผลที่จะนำมาใช้ในชีวิตจริง ผมเป็นแฟนคลับของคุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์ ซึ่งคนที่ติดตามจะทราบดีว่าท่านกำลังทำงานใหญ่เพื่อเปลี่ยนทิศทางสาธารณสุขของประเทศให้หันมาทางการป้องกันมากกว่าการรักษา
โดยทิศทางการป้องกันส่วนใหญ่ท่านเน้นเรื่องอาหาร เสริมด้วยการออกกำลังกายและทำสมาธิ ท่านได้อธิบายงานวิจัยเกี่ยวกับสารอาหาร (ส่วนใหญ่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกให้การสนับสนุน) ท่านสรุปว่า การวิจัยแบบเจาะลึกถึงระดับโมเลกุล (Reductionism)ไม่ช่วยให้สุขภาพคนดีขึ้น เพราะมีประโยชน์ในแง่การวิจัยเท่านั้น จะสรุปผลได้โดยไม่เกิดข้อโต้แย้ง
แต่ในชีวิตจริงเราจะไปหาอาหารบริสุทธิ์ แบบนั้นได้อย่างไรกัน แล้วในสารอาหารแต่ละชนิดก็มีความหลากหลาย เช่นไขมัน มีหลายชนิดมากกว่าที่มนุษย์จะรู้จักด้วยซ้ำ และธรรมชาติของสารชีวะเคมี จะเกิดการทำปฏิกิริยากันเอง ยิ่งเข้าไปในร่างกาย จะเกิดการเสริมหรือต้านกันเองก็ได้ เพราะมีตัวเร่งปฏิกิริยามากมาย
 
สิ่งที่แย่ที่สุด คือการนำผลการวิจัยไปปลูกฝังความคิดผิดๆ เช่นเชื่อว่าการกินไข่มีโคเลสเตอรอลสูง จะทำให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้ง่าย โดยทำให้คนเข้าใจผิดว่า โมเลกุลของโคเลสเตอรอลจากไข่จะเข้าไปติดที่หลอดเลือดได้เลย นี่คือความเข้าใจผิดเพราะไม่รู้ขั้นตอนการทำงานของร่างกาย อาหารหรือของกินทุกอย่างที่ผ่านปาก จะถูกย่อยสลายทุกชนิด เพราะระบบทางเดินอาหาร คือการเติมพลังงานให้ร่างกาย การได้พลังงานนี้ต้องมาจากหน่วยเล็กที่สุด คือ กรดไขมัน น้ำตาล เชิงเดียว และกรดอะมิโน ดังนั้น ไม่ว่ากินโคเลสเตอรอลหรือ กินยาบำรุงราคาแพงๆ จะถูกย่อยสลายหมด เพียงเพื่อเอาพลังงานมาใช้เท่านั้น ไม่เหลือคุณสมบัติเดิมเลย
 
โคเลสเตอรอลที่เราเจอที่ผนังหลอดเลือดได้มาจากการสร้างขึ้นใหม่ที่ตับ เพราะร่างกายจำเป็นต้องใช้เพื่อซ่อมแซมผนังที่ฉีกขาด ถ้าไม่ฉีกก็ไม่สร้าง กรดไขมันที่มาจากสารพัดอาหาร ไม่ใช่เฉพาะไข่แดงก็จะถูกเก็บไว้ที่เซลล์ไขมัน หรือถูกย่อยสลายเป็นพลังงานไปหมด การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจจึงต้องไปแก้ที่ต้นเหตุที่ทำให้หลอดเลือดฉีกขาดมากกว่า
วันนี้ได้อ่านบทความของ Dr.Adune ในข่าวอิศรา เรื่องความเครียดทำให้ผมหงอก โดยศึกษาในหนู เทียบจำนวนขนที่หงอกขาว กับระดับฮอร์โมนความเครียด (cortisol )ที่สูงขึ้นเหมือนกัน แล้วสรุปว่า ฮอร์โมนความเครียดไปทำให้ขนหงอก ซึ่งถ้าเราไม่เข้าใจกลไกการทำงานของเซลล์อย่างแท้จริง ข้อสรุปนี้อาจจะไม่ตรงกับความจริงก็ได้
 
ผลสรุปแบบนี้เราพบมากในการวิจัยเกือบทุกชนิด จึงทำให้ปัญหาการป้องกันสุขภาพไม่ค่อยได้ผล เพราะคิดว่าเราได้พบปัญหาที่แท้จริงแล้ว พอแก้ปัญหาไปซัก3-4 ปี ปัญหาก็ไม่หมดเสียที
 
เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ผมลองเปรียบเทียบผลงานวิจัยนี้ กับรถสองคันชนท้ายกัน ทุกคนก็จะสรุปเหมือนกันว่า คันหลังต้องเป็นต้นเหตุ เพราะไปชนท้ายเขา แต่หารู้ไม่ว่า อาจเกิดจากคันหน้าจะเลี้ยวแล้วเบรคก็ได้ การเจอผลการวิจัย2อย่าง (ขนขาวกับฮอร์โมนความเครียดสูง) ถ้าไม่รู้กลไกแท้จริงแล้ว อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล ก็ยังสรุปไม่ได้ ที่สำคัญสุด ทั้ง2อย่างอาจเป็นปลายเหตุทั้งคู่ก็ได้ เทียบกับรถชนกัน เราเห็นรถเพียง2คัน ทั้งที่จริงอาจมีคันที่3 วิ่งมาเบียดคันหลังเลยหักหลบไปชนคันหน้าก็ได้ เรามัวแต่โทษคันหลัง หาวิธีลงโทษป้องกันคันหลังไม่ให้ชนท้าย แต่ตัวต้นเหตุไปถึงไหนแล้วก็ไม่รู้ ปัญหาเลยยังแก้ไม่ได้สักที ปัญหาสุขภาพก็เหมือนกันครับ
โฆษณา