22 ต.ค. 2020 เวลา 08:18 • ประวัติศาสตร์
“ความคลั่งทิวลิป (Tulip Mania)” ฟองสบู่ลูกแรกๆ ในประวัติศาสตร์
หลายคนอาจจะเคยอ่านบทความ เรื่องราวของ “ความคลั่งทิวลิป (Tulip Mania)” กันมาบ้างแล้ว
เหตุการณ์นี้นับเป็นฟองสบู่ลูกแรกๆ ในประวัติศาสตร์ และมีจุดเริ่มต้นในศตวรรษที่ 16 เมื่อนักเดินทางชาวตะวันตก ได้เดินทางมายังจักรวรรดิออตโตมันในคอนสแตนติโนเปิล และเกิดพบเห็นดอกทิวลิป
นักเดินทางชาวตะวันตกต่างตกหลุมรักกับสีสันที่สวยงามของดอกทิวลิป และได้ทำการขนดอกทิวลิปจำนวนมากกลับไปฝรั่งเศส ก่อนจะค่อยๆ ลามไปยังเนเธอแลนด์
ดอกทิวลิป
ในศตวรรษที่ 17 เนเธอแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็งที่สุดในยุโรป
ค.ศ.1602 (พ.ศ.2145) ตลาดหุ้นกรุงอัมสเตอร์ดัมได้เปิดเป็นครั้งแรก ทำให้เศรษฐกิจยิ่งขยายตัว รวมทั้งตลาดสินค้าหรูหราก็เบ่งบานเต็มที่
หนึ่งในสินค้าที่กำลังเป็นที่นิยมคือ “ดอกทิวลิป” เนื่องด้วยความสวยงามของมัน และการที่เจ้าของต้องมานั่งลุ้นว่าเมื่อมันเบ่งบานเต็มที่ สีของดอกทิวลิปจะสวยงาม หลากสีเพียงใด
ภายในยุคค.ศ.1630 (พ.ศ.2173-2182) เหล่าคนรวยต่างก็มีความต้องการจะครอบครองดอกทิวลิป
ภายในปีค.ศ.1636 (พ.ศ.2179) ความต้องการดอกทิวลิปก็ยิ่งขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แต่เนื่องจากในขณะนั้นยังเป็นฤดูหนาว ทำให้ดอกทิวลิปยังไม่บาน
แต่ถึงทิวลิปจะยังไม่ออกดอก หากแต่ก็ได้มีพ่อค้าในอัมสเตอร์ดัม ได้สัญญากับเกษตรกรและชาวเมือง กล่าวว่าเมื่อดอกทิวลิปบาน ยินดีจะรับซื้อดอกทิวลิปในราคาที่สูง
เมื่อเป็นอย่างนี้ กระแสความคลั่งไคล้ดอกทิวลิปจึงยิ่งขยายเป็นวงกว้าง
มกราคม ค.ศ.1637 (พ.ศ.2180) พ่อค้าชาวดัทช์ขายดอกทิวลิปปอนด์ละ 125 กิลเดอร์ (หน่วยเงินดัทช์ในสมัยโบราณ) แต่เพียงแค่เดือนเดียว กุมภาพันธ์ ค.ศ.1637 (พ.ศ.2180) ราคาทิวลิปกลับพุ่งไปเป็น 1,500 กิลเดอร์
เมื่อเรื่องเป็นอย่างนี้ ผู้คนต่างก็บ้าคลั่ง ทุกคน ทุกอาชีพ ต่างไขว่คว้า แก่งแย่ง หาดอกทิวลิปกันอย่างเอาเป็นเอาตาย และต่างเชื่อมั่นว่าตนต้องรวยเพียงชั่วข้ามคืน
ทุกคนเชื่อว่าเมื่อฤดูใบไม้ผลิมาถึง ทิวลิปออกดอก พวกตนจะกลายเป็นเศรษฐี
ได้มีโฆษณาฉบับหนึ่ง ได้ประกาศรับซื้อทิวลิปที่มีสีสันพิเศษ โดยให้ราคาสูงถึง 5,200 กิลเดอร์ ซึ่งเท่ากับราคาบ้านหนึ่งหลังเลยทีเดียว
แต่แล้ว ก่อนจะถึงฤดูใบไม้ผลิ ตลาดของดอกทิวลิปก็ได้ล่มสลาย
นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่าความล่มสลาย เกิดจากการที่นักลงทุน ได้เริ่มตระหนักว่าตลาดนี้เริ่มจะเฟ้อเกินความเป็นจริง อีกทั้งผู้ซื้อ ต่างก็เริ่มตระหนักว่าดอกทิวลิปนั้นมีราคาแพงเกินความเป็นจริง ทำให้ราคาร่วง
แต่ถึงอย่างนั้น นักประวัติศาสตร์บางคนก็ได้ศึกษา และพบว่านักธุรกิจชาวดัทช์ที่เกี่ยวข้องกับฟองสบู่ลูกนี้ มีอยู่เพียงไม่กี่คน และไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
ผู้ที่เดือดร้อน ได้รับผลกระทบจริงๆ คือ “เกษตรกรผู้ปลูกทิวลิป”
เมื่อตลาดล่ม ไม่มีใครซื้อดอกทิวลิปอีกแล้ว เกษตรกรที่ปลูกดอกทิวลิปจึงไม่สามารถขายดอกไม้ของตนได้ ทำให้หลายรายล้มละลาย
วิกฤตฟองสบู่นี้ จึงเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ฟองสบู่รายแรกๆ ของโลก และเป็นบทเรียนสอนใจนักลงทุนที่สำคัญบทเรียนหนึ่ง
โฆษณา