29 ต.ค. 2020 เวลา 10:42 • สุขภาพ
10 วัคซีนที่จำเป็นและควรรู้จัก 💉
2
จริงๆมีหลายๆคนถามฟางเกี่ยวกับวัคซีนมาเยอะมาก ว่าวัคซีนแต่ละอย่าง มีอะไรบ้าง ? มันอยู่ได้กี่ปี ? และฉีดตอนไหน ?  ฟางเชื่อว่าก็คงมีอีกหลายๆคน งง อยู่เหมือนกันใช่ไหมคะ?
วันนี้ฟางจะมาบอกพร้อมๆกันเลย ว่าวัคซีนคืออะไร ? มีวัคซีนอะไรบ้าง ?และ ฉีดตอนไหน ? มาดูกันเลย
🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃
https://newsroom.unsw.edu.au/news/health/do-we-need-make-potential-covid-19-vaccine-mandatory
วัคซีน หมายถึง การให้เชื้อหรือส่วนหนึ่งของเชื้อเข้าไปในร่างกายเพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันโรคหรือแอนติบอดีค่ะ ซึ่งอาจให้เวลานานนับสัปดาห์หรือนับเดือนกว่าจะมีภูมิป้องกันโรคได้ค่ะ
การสร้างภูมิคุ้มกันโรคอาจทำได้อีกวิธีหนึ่งค่ะ โดยการให้ภูมิต้านทานสำเร็จ หรือแพทย์เรียกว่า อิมมูโนโกลบูลิน เข้าไปในร่างกายและสามารถต่อต้านเชื้อโรคได้ทันทีค่ะ
วัคซีนไม่ได้หมายความถึงแค่การให้ภูมิคุ้มกันแก่เด็กเท่านั้นนะคะ แต่ในบางประเภทของวัคซีนมีความมุ่งหมายให้ใช้ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ผู้ใหญ่ด้วยเช่น  วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส ไข้หวัดใหญ่ นิวโมคอคคัส และวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด เป็นต้นค่ะ
🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰
https://www.biospace.com/article/past-vaccine-failures-may-reduce-covid-19-vaccination-rates-/
ทีนี้เรามาดูกันค่ะว่า วัคซีนมีกี่ชนิดกัน ?
การแยกประเภทของวัคซีนตามการผลิต สามารถแยกออกมาได้ 3 ประเภทค่ะ คือ
1. วัคซีนประเภทท็อกซอยด์ ( Toxoid )
เป็นการนำพิษของเชื้อโรคมาทำให้หมดฤทธิ์แต่ยังสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ค่ะ เช่น วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ค่ะ
2.  วัคซีนชนิดเชื้อเป็น ( Live vaccine )
เป็นวัคซีนที่นำเชื้อมาทำให้อ่อนแรงจนไม่สามารถก่อโรคได้ค่ะ แต่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ เช่น วัคซีนหัด คางทูม หัดเยอรมัน อีสุกอีใส งูสวัด ไข้สมองอักเสบ เจอี (ชนิดเชื้อเป็น) ค่ะ
3. วัคซีนชนิดเนื้อตาย ( Killed vaccine )
เป็นวัคซีนที่ผลิตขึ้นจากเชื้อโรคทั้งตัวหรือบางส่วนของเชื้อค่ะ เช่น วัคซีนตับอักเสบ เอ บี ไอกรน ไข้หวัดใหญ่ โปลิโอชนิดฉีด ค่ะ
3
🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃
คราวนี้มาดูกันค่ะว่ามีวัคซีนอะไรบ้าง ?
1. วัคซีนบีซีจี ( BCG )
2
วัคซีนบีซีจี  จัดเป็นวัคซีนพื้นฐานของประเทศไทยที่ให้ในทารกแรกเกิดทุกคนนะคะ  เพราะโรควัณโรคยังเป็นปัญหาที่สำคัญในระบบสาธารณสุขของไทยและทั่วโลก เนื่องจากเป็นโรคที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการรักษาค่อนข้างนาน และเริ่มมีเรื่องเชื้อวัณโรคดื้อยาพบได้บ่อยขึ้นค่ะ และวัณโรคในเด็กมีอัตราการตายสูงและมีปัญหาเรื่องความพิการตามมาได้ค่ะ
1
วัคซีนบีซีจีเป็นวัคซีนที่เก่าแก่ที่สุด  มีการพัฒนามากว่า 70 ปี โดยใช้เชื้อสายพันธุ์ที่ก่อโรคน้อยที่สุด แต่ยังอาจพบผลข้างเคียงของวัคซีนได้ประมาณร้อยละ 1-2 โดยจะพบเป็นตุ่มแดง ภายใน 2-3 สัปดาห์ ต่อมากลายเป็นหนองแตกออกและแห้งไปเองค่ะ และจะกลายเป็นแผลเป็นในที่สุดค่ะ แต่หากไม่มีแผลเป็นก็ให้ดูจากหลักฐานที่ระบุได้รับวัคซีนแล้ว เช่น สมุดวัคซีน โดยไม่จำเป็นต้องฉีดใหม่
เนื่องจากหากฉีดลึกเกินไป อาจไม่มีแผลเป็น แต่ร่างกายยังสามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้เช่นกันค่ะ  และวัคซีนนี้สามารถป้องกันวัณโรคปอดในเด็กได้ร้อยละ 0-80 (ประมาณร้อยละ 50) แต่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง (ประมาณร้อยละ 86) และวัณโรคชนิดแพร่กระจาย (ประมาณร้อยละ 75) แต่ไม่ช่วยป้องกันวัณโรคในผู้ใหญ่นะคะ
🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰
2. วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ( HBV  Hepatitis B Vaccine)
ไวรัสตับอักเสบบี ก็เป็นอีกปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งเช่นกันค่ะ เนื่องจากผู้ติดเชื้ออาจเกิดโรคตับอักเสบเรื้อรังหรือเป็นพาหะได้ค่ะ โดยไวรัสตับอักเสบ บี มีความสัมพันธ์กับโรคตับแข็งและมะเร็งตับ โรคนี้ติดต่อได้จากผู้เป็นพาหะ โดยติดต่อทางเลือดและผลิตภัณฑ์ทางเลือด ทางเพศสัมพันธ์ การใช้ของมีคมหรือเข็มร่วมกัน และจากมารดาสู่ทารกค่ะ
1
วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี เป็นวัคซีนพื้นฐานที่ให้ในทารกแรกเกิดทุกรายนะคะ โดยจะให้ทั้งหมด 3 เข็ม ที่อายุแรกเกิด  1-2 เดือน และ 6-12 เดือนค่ะ ในทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยกว่า 2,000 กรัม อาจต้องฉีดเพิ่มอีก 1 เข็ม โดยไม่นับเข็มแรกเกิดค่ะ
** ส่วนในเด็กที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2535 ที่ไม่แน่ใจว่าได้รับหรือยังและในผู้ใหญ่ อาจต้องตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันก่อนการฉีดวัคซีนนะคะ **
การวินิจฉัยก็สามารถทำได้โดยการตรวจเลือดเลยค่ะ โดยสามารถตรวจหาเชื้อหรือหาภูมิคุ้มกันโรคได้ โดยอาจบอกการเป็นพาหะของโรคได้ และช่วยในการพิจารณาการให้วัคซีนในผู้ใหญ่ได้ด้วยค่ะ
อาการข้างเคียงที่พบได้หลังฉีดวัคซีน คือ ไข้ต่ำๆ ปวดบวมบริเวณที่ฉีด ซึ่งพบได้น้อยและส่วนใหญ่มักจะเป็นไม่เกิน 24 ชั่วโมงค่ะ
ราคา  รพ.รัฐบาล จะอยู่ประมาณ เข็มละ 300-500 บาท  ส่วน รพ. เอกชน  ราคาจะอยู่ประมาณ เข็มละ 600-1200 บาทนะคะ ** แต่ว่าราคานี้ ยังไม่รวมค่าบริการของโรงพยาบาลนะคะ **  แต่เดี๋ยวนี้มีหลาย รพ. ที่ทำออกมาเป็นแพคเกจให้เลือก ราคาไม่แพงก็มีค่ะ สามารถเลือกใช้บริการกันได้ทุกโรงพยาบาลเลยนะคะ
1
🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃
3. วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และโอลิโอ ( Diphtheria . Tetanus , Pertussis or Whooping Cough and Poliomyelitis )
🌼 โรคคอตีบ
เป็นโรคที่ประเทศไทยเราไม่ค่อยเจอเท่าไหร่นะคะตั้งแต่มีการฉีดวัคซีนป้องกัน แต่ก็ยังพบได้ประปรายค่ะ โดยสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกชนิดหนึ่งทำให้เกิดแผ่นเนื้อเยื่อไปอุดกั้นทางเดินหายใจที่จมูก ลำคอ หรือกล่องเสียงและอวัยวะอื่นๆ รวมถึงผิวหนังได้ด้วยค่ะ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง มักพบในคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือแรงงานอพยพหรือชาวต่างชาติที่ไม่ได้รับวัคซีนค่ะ
1
🌼 โรคไอกรน
เป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจชนิดหนึ่งที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียบอร์เดเทลลา เพอร์ทัสซิส ค่ะ หลังจากติดเชื้อในช่วงแรกจะมีอาการคล้ายเป็นหวัด เช่น ไอ มีไข้ น้ำมูกไหล หลังจากนั้นผู้ป่วยจะมีอาการไอต่อเนื่องอย่างรุนแรงและมีเสียงไอที่เป็นเอกลักษณ์หรือเสียงดัง วู้ป (ไอมีเสียงที่เกิดจากการหายใจลำบากค่ะ) จึงมีอีกชื่อเรียกว่า Whooping Cough เป็นที่มาของชื่อไอกรนในภาษาไทยนั่นเองค่ะ ในทารกหรือเด็กเล็กอาจไม่พบอาการไอ แต่จะมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจเป็นหลักเลย และไอกรนเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน โดยเชื้อสามารถแพร่กระจายได้จากการไอหรือจามค่ะ ทารกและเด็กเล็กจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากที่สุด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ค่ะ
🌼 โรคโปลิโอ
โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโปลิโอค่ะ (Poliovirus) ซึ่งเป็นเชื้อที่อาศัยอยู่ในลำไส้และถูกขับถ่ายออกมากับอุจจาระของผู้ป่วย การติดเชื้อเกิดในมนุษย์เท่านั้นนะคะ โดยจะติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสโปลิโอ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 95 จะไม่แสดงอาการใดๆเลย หรืออาจมีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หรือรุนแรงถึงขั้นระบบทางเดินหายใจเป็นอัมพาต...และทำให้เสียชีวิตได้เลยนะคะ
วัคซีน มี 2 ชนิด คือ
🌟  วัคซีนชนิดรับประทาน เป็นวัคซีนที่เตรียมขึ้นจากเชื้อไวรัสโปลิโอที่มีชีวิตที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง และไม่สามารถก่อโรคในผู้รับวัคซีนที่มีภูมิคุ้มกันปกติค่ะ และเนื่องจากเป็นวัคซีนที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยการเลียนแบบการติดเชื้อโปลิโอทางธรรมชาติ ทำให้ผู้ได้รับวัคซีนมีภูมิคุ้มกันทั้งในลำไส้และในเลือดค่ะ
🌟  วัคซีนชนิดฉีด เป็นวัคซีนที่เตรียมขึ้นจากเชื้อไวรัสโปลิโอที่ตายแล้ว ทำให้มีภูมิคุ้มกันเฉพาะในกระแสเลือดค่ะ  ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโปลิโอชนิดฉีด มีทั้งในรูปแบบวัคซีนชนิดเดี่ยว และวัคซีนชนิดรวมกับวัคซีนอื่นๆ เช่น วัคซีนรวมคอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก-โปลิโอ, วัคซีนรวมคอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก-โปลิโอ-ฮิบ เป็นต้นค่ะ
และวัคซีนโปลิโอเป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กไทยทุกคนต้องได้รับ ทั้งหมด 5 ครั้งนะคะ ที่อายุ 2, 4, 6, 18 เดือน และ 6 ปี ค่ะ
⭐ สำหรับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และโปลิโอ ⭐
2
วัคซีนเหล่านี้ประเทศไทยมีใช้มานานมากแล้ว และจัดเป็นวัคซีนพื้นฐานที่อยู่ในแผนสร้างเสริมป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข โดยตัววัคซีนได้แบ่งเป็น 3 ชนิดใหญ่ ๆ คือ
🌼  วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรนชนิดเต็มเซลล์ และโปลิโอเชื้อเป็นชนิดหยอด (DTwP, OPV) เป็นวัคซีนพื้นฐานค่ะ
🌼  วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรนแบบไม่มีเซลล์ และโปลิโอเชื้อตายชนิดฉีด (DTaP, IPV) สำหรับเป็นวัคซีนทางเลือกในกรณีที่ให้วัคซีนไอกรนชนิดเต็มเซลล์แล้วเกิดไข้สูง หรือชัก หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงค่ะ
🌼  วัคซีนป้องกันโรคคอตีบสำหรับกระตุ้น บาดทะยักไอกรนแบบไม่มีเซลล์สำหรับกระตุ้น (อาจมีหรือไม่มีวัคซีนโปลิโอชนิดฉีดรวมอยู่ด้วย) (dTap+/-IPV) ใช้สำหรับกระตุ้นในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ เนื่องจากไม่สามารถให้แบบปกติได้ เพราะจะเกิดผลข้างเคียงรุนแรงได้ค่ะ
1
วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรนและโปลิโอ อาจจะมีตารางการให้วัคซีนแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับอุบัติการณ์เกิดโรคของประเทศหรือเขตนั้นๆนะคะ  แต่สำหรับประเทศไทย เราแนะนำให้วัคซีนทั้งหมด 5 ครั้ง ในช่วงอายุ 2, 4, 6, 18 เดือนและ 4-6 ปีค่ะ  หลังจากนั้นควรจะกระตุ้นอีกทุก 10 ปี โดยให้กระตุ้นเป็นวัคซีนป้องกันโรคคอตีบสำหรับกระตุ้นบาดทะยัก (dT) หรือโรคคอตีบสำหรับกระตุ้นบาดทะยัก ไอกรนแบบไม่มีเซลล์สำหรับกระตุ้น (dTap) ดีกว่าการให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักอย่างเดียวค่ะ
1
🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰
4. วัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน
(Measles or Rubeola, Mumps, Rubella or German Measles) โรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน ต่างเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ค่ะ
🌼 โรคหัด
ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ไอ ตาแดง มีผื่นขึ้นเริ่มจากไรผม ลามมาที่ใบหน้า ลำตัวและแขนขา ในเด็กเล็กและผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจมีภาวะแทรกซ้อนทางปอด ซึ่งมีความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตสูง ค่ะ
🌼 โรคคางทูม
มักมีอาการไม่ค่อยรุนแรง เช่น มีไข้ ต่อมน้ำลายอักเสบ อัณฑะอักเสบ โดยบางครั้งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือสมองอักเสบ เป็นต้นค่ะ
🌼 โรคหัดเยอรมัน
ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ยกเว้นในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ โดยมีอาการไข้ ผื่น ต่อมน้ำเหลืองโต ความสำคัญคือหากมีการติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ อาจมีโอกาสเสี่ยงต่อทารกเสียชีวิตในครรภ์หรือพิการแต่กำเนิดได้ค่ะ
สำหรับวัคซีนในประเทศไทย บางจังหวัดยังให้เพียงวัคซีนป้องกันหัดอย่างเดียว (MV) แต่ส่วนใหญ่จะได้เป็นวัคซีนรวมป้องกันหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR) ในช่วงอายุ 9-12 เดือค่ะ และควรได้รับการกระตุ้นอีกครั้งในช่วงอายุ 4-6 ปี นะคะ
แต่ว่ามันมีข้อห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจทำให้ทารกพิการหรือเสียชีวิตได้ ห้ามใช้ในคนที่แพ้ส่วนประกอบของวัคซีนอย่างรุนแรง แต่สำหรับในคนที่แพ้ไข่สามารถให้ได้ เนื่องจากในวัคซีนมีส่วนประกอบของไข่น้อยมาก แต่ควรดูอาการหลังฉีดวัคซีนประมาณ 30 นาที ค่ะ
🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃
5. วัคซีนป้องกันโคอีสุกอีใส ( Varicella or Chickenpox Vaccine )
🌼 โรคอีสุกอีใส
โรคนี้หากเกิดในเด็กเล็กมักจะมีอาการค่อนข้างน้อย แต่หากเกิดในทารกแรกเกิด เด็กโต ผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและทำให้เสียชีวิตได้ และเมื่อผู้ที่ติดเชื้ออีสุกอีใสแล้วเมื่อเวลาผ่านไปหลายปีอาจเกิดโรคงูสวัดตามมาได้ค่ะ
สำหรับวัคซีนอีสุกอีใส สามารถให้ฉีดในเด็กอายุตั้งแต่ 9 เดือนขึ้นไป โดยการฉีดวัคซีน 1 ครั้ง จะมีภูมิคุ้มกันขึ้นได้ประมาณ 85% แต่อาจไม่เพียงพอที่จะป้องกันการระบาดในชุมชนหรือในโรงเรียนได้ การให้วัคซีนเข็มที่ 2 จะทำให้มีภูมิคุ้มกันขึ้นได้ถึง 98% และป้องกันโรครุนแรงได้ถึง 100% จะเห็นได้ว่าการให้วัคซีนอีสุกอีใสไม่สามารถป้องกันโรคได้ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สามารถลดความรุนแรงของโรคได้ค่ะ
สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการฉีดวัคซีน ถ้าเริ่มให้เข็มแรกตอนอายุ น้อยกว่า13 ปี ควรได้รับการกระตุ้นอีกครั้งตอนอายุ 4-6 ปี หรือห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน และถ้าให้ในเด็กอายุมากกว่า 13 ปี หรือผู้ใหญ่ควรให้ 2 ครั้งห่างกันอย่างน้อย 28 วัน และประโยชน์ของการฉีดวัคซีนก็คือ ผู้ที่ได้รับวัคซีนจะมีอุบัติการณ์เกิดโรคงูสวัดน้อยกว่าผู้ที่ติดเชื้อตามธรรมชาติมาก และหากเกิดโรคอีสุกอีใส อาการมักจะน้อยจำนวนตุ่มก็มักจะน้อยกว่าผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนด้วยค่ะ
🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰
6. วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine)
โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีมานานแล้ว แต่เนื่องจากในปัจจุบันมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 และไข้หวัดนก ประกอบกับการตรวจเชื้อทำได้ง่ายขึ้น ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นค่ะ
สำหรับไข้หวัดใหญ่จะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Endemic flu) และไข้หวัดใหญ่ระบาดใหม่ (Pandemic flu) ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เคยเป็นไข้หวัดใหญ่ระบาดใหม่ แต่ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลแล้ว และในอนาคตก็อาจจะมีไข้หวัดใหญ่ระบาดใหม่มาอีกเป็นระยะ เนื่องจากสามารถมีการกลายพันธุ์ได้อีกนะคะ
🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃
7. วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก
ปัจจุบันวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกกำลังขอขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในประเทศไทย โดยประสิทธิภาพของวัคซีนสามารถป้องกันโรคได้ประมาณ 60% และมีข้อบ่งใช้ในกลุ่มอายุ 9-45 ปี ต้องให้ทั้งหมด 3 เข็ม ค่ะ
🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰
8. วัคซีนป้องกันงูสวัด (Zoster Vaccine)
โรคงูสวัดมักจะก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดรุนแรง และเป็นระยะเวลานาน โดยในบางรายอาจมีอาการปวดยาวนานถึง 2 ปี สำหรับวัคซีนสามารถให้ได้ในคนอายุ 50-60 ปีขึ้นไป และวัคซีนสามารถลดอาการปวดลงได้ประมาณ 67% และลดการเกิดโรคได้ประมาณ 51% ค่ะ
โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 ครั้ง ปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นในการฉีดเข็มกระตุ้น สามารถให้ร่วมกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ได้ในเวลาเดียวกันค่ะ
🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃
9. วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papillomavirus Vaccine- HPV)
2
เชื้อไวรัสเอชพีวี เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณเยื่อบุอวัยวะเพศที่สำคัญ โดยอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
🌟 สายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคที่มีความเสี่ยงต่ำได้แก่ สายพันธุ์ 6 และ 11 ก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ และหูดที่กล่องเสียงในเด็ก
🌟 ส่วนอีกประเภทคือสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ สายพันธุ์ 16, 18, 31, 33 และ 45 โดยสายพันธุ์ 16, 18 เป็นสาเหตุหลักของรอยโรคก่อนมะเร็งและมะเร็งปากมดลูกในสตรีถึง 70%
การติดเชื้อนี้ในธรรมชาติไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์อื่นได้และไม่ทำให้ภูมิต้านทานขึ้นสูงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้ วัคซีนนี้บางครั้งจึงเรียกว่า "วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก"
⭐ วัคซีนเอชพีวีในประเทศไทยมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ
1.วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ 16 และ 18 (CervarixTM)
การให้วัคซีนจะให้ทั้งหมด 3 ครั้ง คือที่ 0, 1 และ 6 เดือน
1
2.วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ 6,11,16, และ 18 (GardasilTM)
การให้วัคซีนจะแนะนำในผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 9-45 ปี ส่วนบางประเทศอาจพิจารณาให้วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ในผู้ชาย เพื่อป้องกันโรคหูดหงอนไก่ แต่ในประเทศไทยยังแนะนำให้ในเพศหญิงก่อน และดีที่สุดควรให้ในหญิงก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก และแนะนำให้ในเด็กหญิงอายุ 9-12 ปีขึ้นไปค่ะ (ในเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี สามารถให้เพียง 2 ครั้ง ห่างกัน 6 เดือน)
🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃
10. วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ เอ
ตับอักเสบจากเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ เป็นโรคที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย สามารถติดต่อได้โดยการทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ในเด็กเล็กมักจะไม่มีอาการจากการติดเชื้อ แต่ในเด็กโตหรือผู้ใหญ่อาจเกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลันหรือตับวายได้ เนื่องจากปัจจุบัน สุขอนามัยของเด็กไทยดีขึ้นทำให้การติดเชื้อตามธรรมชาติลดลง ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจึงน้อยลงด้วยค่ะ
สำหรับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ เอ สามารถให้ได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี ขึ้นไป โดยต้องให้ 2 ครั้งห่างกัน 6-12 เดือน ขนาดของวัคซีนที่ให้ สามารถให้ในขนาดของเด็กได้จนถึงอายุ 18 ปี หลังจากนั้นต้องให้ในขนาดของผู้ใหญ่ โดยวัคซีนต่างบริษัทสามารถแทนกันได้ ค่ะ
1
🌟 ผลข้างเคียงของวัคซีนค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่มักเป็นผลข้างเคียงเฉพาะที่ที่ไม่รุนแรง 🌟
🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰
1
https://www.biospace.com/article/past-vaccine-failures-may-reduce-covid-19-vaccination-rates-/
📢📢 สำหรับวัคซีนนอกเหนือจากนี้ จะเป็นวัคซีนที่ใช้ในกรณีพิเศษ หรือวัคซีนที่ให้ในคนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งสามารถสอบถามได้จากโรงพยาบาลหรือปรึกษาแพทย์ในกรณีที่ต้องการได้ค่ะ 📢📢
🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰🐰
❗ข้อควรระวังในการให้วัคซีนหลายชนิดพร้อมกัน
🟡 วัคซีนที่มีผลข้างเคียงเดียวกันและเกิดขึ้นพร้อมกัน เช่น ไข้ ไม่ควรให้ในเวลาเดียวกันเพราะจะทำให้ไข้สูงขึ้นได้ค่ะ
🟡 วัคซีนแต่ละเข็มควรให้คนละตำแหน่งกัน และไม่ควรนำวัคซีนต่างชนิดกันมาผสมฉีดครั้งเดียว ยกเว้นเป็นวัคซีนที่มีข้อมูลมาก่อนว่าได้ผลดีค่ะ
🟡 วัคซีนชนิดเชื้อเป็น สามารถให้หลายชนิดพร้อมกัน แต่ถ้าให้ห่างกันควรห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน เช่น หัด คางทูม หัดเยอรมัน อีสุกอีใส และไข้สมองอักเสบชนิดเชื้อเป็น ส่วนวัคซีนชนิดเชื้อตายจะห่างกันเท่าใดก็ได้ค่ะ
🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃
https://newsroom.unsw.edu.au/news/health/do-we-need-make-potential-covid-19-vaccine-mandatory
⭐ ถ้าไม่ได้มาให้วัคซีนตามนัดจะทำอย่างไรดี ? ⭐
หากไม่ได้มารับวัคซีนตามนัด หรือได้วัคซีนห่างกว่าที่กำหนด ไม่ได้ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง แต่หากให้วัคซีนใกล้กันเกินไป อาจทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นได้ไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นหากไม่ได้รับวัคซีนตามกำหนด สามารถนับเป็นเข็มต่อไปได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องนับใหม่ ไม่ว่านานเท่าไรก็ตามค่ะ
🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃
หวังว่าข้อมูลที่ฟางรวบรวมมาจะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านนะคะ หากใครต้องการฉีดวัคซีนตัวไหนก็สามารถเลือกอ่านได้เลยนะคะ
ส่วนเรื่องของราคาวัคซีน แต่ละโรงพยาบาลก็อาจจะแตกต่างกันนะคะ ฟางแนะนำว่าคุณสามารถสอบถามได้ที่โรงพยาบาลเลย ปัจจุบัน โรงพยาบาลเอกชนเกือบทุกแห่งก็ทำเป็นแพคเกจออกมาให้เลือก ซึ่งราคาก็ไม่ได้สูงมากนักค่ะ
สุดท้ายนี้ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองด้วย อันนี้สำคัญเป็นอย่างมาก ยิ่งปัจจุบันโรคใหม่ๆเกิดขึ้นมาเยอะแยะไปหมด ฟางขอให้ทุกท่านรักษาสุขภาพกันด้วยนะคะ ด้วยความห่วงใยและปรารถนาดีจากเพจ เรื่องดีดี ค่ะ 😊
🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃
⭐ อ้างอิง ⭐
🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃🍃

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา