6 ธ.ค. 2020 เวลา 08:19 • การศึกษา
ผลจากการตกเป็นบุคคลล้มละลาย
บทความนี้เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักและระมัดระวังไม่ให้ตกเป็นบุคคลล้มละลาย เพราะการล้มละลายไม่ใช่เรื่องไกลตัวนัก เพื่อผู้อ่านจะได้รู้เท่าทันและไม่อยู่ในสภาวะเสี่ยงที่จะตกเป็นบุคคลล้มละลายค่ะ
1
และการตกเป็นบุคคลล้มละลายส่งผลอะไรต่อชีวิตบ้าง ตามลงทุนในบัญชีและภาษี ไปดูกันเลยค่ะ
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยตกอยู่ในภาวะการณ์ชะลอตัวอย่างชัดเจนอันเนื่องมาจากผลกระทบของโรคระบาด Covid-19 ซึ่งในยุคที่เศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้ ทำให้หลายครั้งเราอาจจะได้ยินหรือพบเห็นคนที่มีฐานะทางการเงินทั้งในระดับร่ำรวยและปานกลาง อยู่ดี ๆ ก็กลายเป็น “บุคคลล้มละลาย” 😱😱
อย่างไรก็ดี หนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เป็นสิ่งที่เราควรต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีหนี้สินมากมายจนถึงขนาดที่เรียกว่า “หนี้สินล้นพ้นตัว” ซึ่งอาจจะทำให้เรากลายเป็นบุคคลล้มละลายได้
ข้อมูลจากศาลล้มละลายกลาง
คดีล้มละลาย คือ คดีที่เกิดจากการที่บุคคลมีหนี้สินมาก หรือล้นพ้นตัวจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ และเพื่อหาวิธีการที่ช่วยทำให้บุคคลดังกล่าวหลุดพ้นจากหนี้นั้น ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายล้มละลายมีอยู่ 2 ประการ คือ
📌 การทำให้เจ้าหนี้ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมในการจัดสรรแบ่งปันทรัพย์สินของลูกหนี้
📌 การทำให้ลูกหนี้ที่สุจริตได้รับโอกาสในการเริ่มต้นชีวิตใหม่
เมื่อลูกหนี้ถูกฟ้องคดี ศาลจะทำการพิจารณาสืบพยานหลักฐานว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจริงตามคำฟ้องหรือไม่ หากว่าจริง ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้
💥 คำสั่งพิทักษ์เด็ดขาด คือการที่ศาลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ควบคุมกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ โดยที่ลูกหนี้ไม่สิทธิกระทำการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการของตนได้เลย ยกเว้นแต่ทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาลหรือพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น
เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้แล้ว ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของคดีล้มละลาย แต่ศาลจะยังไม่มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายในทันที ศาลจะส่งหมายแจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบก่อน เพื่อให้ดำเนินการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้และดำเนินการแบ่งทรัพย์สินที่รวบรวมได้เพื่อจัดสรรให้กับบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายของลูกหนี้ต่อไป
ในกรณีที่ลูกหนี้มีหนี้สินมากจนไม่เพียงพอจะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องติดตามทรัพย์อื่นมาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ส่วนที่เหลือต่อไป
ข้อมูลจากกรมบังคับคดี
⛳ สาเหตุของการเป็นบุคคลล้มละลาย
การที่ใครจะกลายเป็นบุคคลล้มละลายนั้น มีสาเหตุมาจากการที่เรามีหนี้สินมากจนไม่สามารถชำระเงินคืนเจ้าหนี้ได้ จึงถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย โดยการเป็นบุคคลล้มละลาย จะมีจำนวนหนี้สิน แบ่งตามสถานะบุคคลได้ ดังนี้
📌 กรณีเป็นบุคคลธรรมดา มีหนี้สินมากกว่า 1 ล้านบาท
📌 กรณีเป็นนิติบุคคล มีหนี้สินมากกว่า 2 ล้านบาท
⛳ ผลจากการตกเป็นบุคคลล้มละลาย
หลายท่านอาจเกิดความสงสัยว่าการตกเป็นบุคคลล้มละลายจะมีผลกระทบทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไปอย่างไร ซึ่งอาจสรุปได้ ดังนี้
📌 ไม่สามารถทำนิติกรรมใด ๆ ได้ทั้งสิ้น รวมไปถึงธุรกรรมการเงินต่าง ๆ เช่น การเปิดบัญชีธนาคาร การโอนเงิน การถอนเงิน เป็นต้น
📌 ไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงไม่สามารถรับราชการ หรือถ้ากรณีรับราชการอยู่แล้วก็จะต้องออกจากราชการ หรือกรณีที่เป็นพนักงานบริษัทเอกชนก็จะต้องออกจากงานในกรณีที่บริษัทนั้นกำหนดว่าพนักงานของตนต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
📌 ไม่สามารถดำรงตำแหน่งในบริษัท หากมีความจำเป็นจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อนจึงจะดำรงตำแหน่งได้
📌 ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ หรือหากมีความจำเป็นจริงๆ จะต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อน โดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าจะเดินทางไปที่ไหน กี่วัน และบุคคลที่สามารถติดต่อได้ในขณะที่อยู่ต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี การอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
1
⛳ การพ้นจากสภาพการเป็นบุคคลล้มละลาย
การถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายนั้นจะมีกำหนดระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเมื่อครบกำหนดก็จะถูกปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลาย
1
โดยให้บุคคลล้มละลายติดต่อกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ เพื่อขอปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลาย และภายหลังจากที่มีคำสั่งปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว ก็จะสามารถทำงานและทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ
ทั้งนี้คำสั่งปลดจากการล้มละลายนี้ จะส่งผลให้บุคคลล้มละลายนั้นหลุดพ้นจากหนี้สินทั้งปวงด้วย ยกเว้นแต่หนี้สินที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร หรือหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการทุจริต ฉ้อโกงของบุคคลล้มละลายนั้น
1
💦.....อย่างไรก็ตาม สำหรับใครที่ผิดพลาด หรืออาจมีความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในเรื่องหนี้สินมาแล้ว ก็ควรหาวิธีในการเจรจาประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ ซึ่งในปัจจุบันมีวิธีการและมีหลายหน่วยงานที่พร้อมจะเข้ามาช่วยเหลือในการเจรจาประนอมหนี้ เช่น กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ที่มีช่องทางและวิธีการไกล่เกลี่ยหนี้สินก่อนที่จะมีการอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือก่อนที่ลูกหนี้จะถูกฟ้องให้เป็น “บุคคลล้มละลาย” ค่ะ
Cr. ธนาคารไทยพาณิชย์
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ช่องทางอื่นในการติดตาม เพจลงทุนในบัญชีและภาษี
1
ขอบคุณทุกกำลังใจและการติดตามนะคะ 🙏🙏😘😘

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา