2 พ.ย. 2020 เวลา 01:30 • ธุรกิจ
วันนี้ Career Fact ขอนำเสนอบทสัมภาษณ์สุดพิเศษส่งไกลจากสิงคโปร์ กับ Hsu Ken Ooi ชายหนุ่มผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพและขายให้กับ eBay ผู้ที่ปฏิเสธโอกาสงานจาก Microsoft และ Google ปัจจุบันเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Iterative บริษัทที่ให้เงินทุนเริ่มต้นและคำปรึกษากับสตาร์ทอัพ ที่กำลังเข้ามาบุกตลาดไทย
1
กว่าจะมาถึงวันนี้ เขาก้าวข้าม Self-doubt ได้อย่างไร? เรื่องราวจะน่าสนใจแค่ไหน ติดตามได้ที่นี่
#ประวัติโดยย่อ
Hsu Ken Ooi เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Decide.com สตาร์ทอัพเว็บไซต์ทำนายราคาสินค้า ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ได้รับเงินระดมทุนกว่า 16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และถูกซื้อกิจการไปโดย eBay ในปี 2013 หลังจากนั้นเข้าทำงานตำแหน่ง VP ฝ่าย Product ที่ Weave ก่อนที่จะขึ้นนั่งเป็น Chief Product Officer ที่ Workmate ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพ Tech สำหรับจัดหาพนักงานให้กับบริษัท ปัจจุบันเขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและ Managing Partner ของ Iterative บริษัทที่ให้เงินลงทุนและคำปรึกษากับสตาร์ทอัพในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
2
#วัยเด็กคือวัยต่อต้าน
2
Hsu Ken Ooi เกิดที่เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย ก่อนจะย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกาตอนอายุ 3 ขวบครึ่ง ทว่าชีวิตวัยเด็กของเขาออกจะต่างจากภาพลักษณ์เด็กเอเชียทั่วไปสักหน่อย คือเขาไม่ใช่เด็กเรียบร้อยตั้งใจเรียน กลับกัน เขาออกจะเกเรออกนอกลู่นอกทางพาลให้พ่อกับแม่ต้องปวดหัวเสียด้วยซ้ำ หากมีใครมาสั่งให้เขาทำอะไร เขาก็จะปฏิเสธโดยอัตโนมัติ วีรกรรมสุดแสบของเขามีตั้งแต่การขาดสอบจนเกือบทำให้ต้องเรียนซ้ำชั้น แฮ็คเข้าระบบห้องแชทของเว็บไซต์ชื่อดังเพื่อไล่แบนคนอื่น ไปจนถึงขั้นมีตำรวจวิ่งไล่ตามเพราะเอาพลุไปจุดใกล้รถเจ้าหน้าที่ เรียกได้ว่าเป็นเด็กชนิดที่หากใครพูดอะไรจะต้องทำตรงข้าม นับเป็นจุดสูงสุดของวัยต่อต้านของเขา
2
“นี่ชีวิตลูก อยากทำอะไรก็ก็เรื่องของลูก แต่อย่ามาบ่นกับพ่อแม่ที่หลังแล้วกัน” คือคำพูดที่พ่อและแม่ของเขาได้พูดกับเขาไว้ตอนเขากำลังเรียนจบมัธยม หลังจากที่พวกท่านได้พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้เขากลับมาเข้ารูปเข้ารอย แต่ก็ไม่เป็นผล
หลังได้ยินเช่นนั้น Hsu Ken ค้นพบว่าเขาไม่เหลือเหตุผลอะไรให้ต่อต้านอีก เขาตัดสินใจปรับปรุงตัวเอง ส่งผลให้การเรียนของเขากลับมาดีขึ้น จึงสมัครเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย Washington ซึ่งจัดว่าเป็นท็อป 15% ของมหาวิทยาลัยด้านคณิตศาสตร์และสถิติในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ด้วยผลการเรียนของเขาที่เกือบซ้ำชั้นนั้น ทำให้โอกาสที่เขาจะสอบติดสูงไม่ถึง 5% ด้วยซ้ำ มิหนำซ้ำ เรียงความที่เขาเขียนส่งเข้าสมัครก็เป็นฉบับที่เขาเคยใช้ยื่นที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ แต่ก็ยังพอมีหวังอยู่บ้าง เพราะเขายังพอมีดีในด้านการเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ มีประสบการณ์ในการสร้างเว็บไซต์ต่างๆ ในขณะที่เพื่อนๆ ของเขาเริ่มได้รับจดหมายตอบรับจากมหาวิทยาลัย เขาก็เริ่มสิ้นหวังเพราะจดหมายของเขาไม่มาส่งเสียที จนกระทั้งมารู้ทีหลังว่าจดหมายเขาตกหล่นระหว่างทาง สุดท้ายโชคเข้าข้าง เขาได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Washington สาขาคณิตศาสตร์และสถิติ
#ได้อย่างเสียหลายอย่าง #OpportunityCost
Hsu Ken เรียนจบในยุคที่อินเทอร์เน็ตกำลังเติบโต หลังเขาเรียนจบด้วยอายุ 22 ปี ได้รับข้อเสนองานจากบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ถึง 2 เจ้า เจ้าแรกคือ Microsoft ที่ชักชวนให้เขามาเข้าร่วมโครงการ Leadership Program ส่วนอีกเจ้าคือ Google ที่เสนอตำแหน่ง Product Manager ดูแล Gmail ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ในขณะนั้น โดยเขาจะได้เป็น Product Manager คนที่สองของ Gmail อย่างไรก็ตาม เขากลับปฏิเสธทั้งสองงาน
เขาเล่าให้ฟังถึงครั้งที่เข้าไปสัมภาษณ์งานที่ Google ขณะนั้นผู้สัมภาษณ์คือ Product Manager คนแรกของ Gmail นั่นเอง เมื่อถูกถามว่าอีก 5 ปีอยากทำอะไร Hsu Ken ตอบทันทีว่า “ผมอยากมี Product เป็นของตัวเอง” เมื่อได้ยินอย่างนั้นผู้สัมภาษณ์ก็โน้มตัวลงมาพร้อมกระซิบว่า “ไปทำงานที่สตาร์ทอัพสิ” เพราะหากทำงานกับบริษัทใหญ่ๆ อย่าง Google เขาก็จะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของงานชิ้นโต ในทางกลับกัน หากเขาทำงานในบริษัทสตาร์ทอัพ เขาจะได้เป็นส่วนสำคัญของงานชิ้นเล็กๆ
Hsu Ken ตัดสินใจทำตามความฝัน ทิ้งข้อเสนองาน Microsoft และ Google ที่มีผลตอบแทนที่ไม่น้อยเลยทีเดียว ทั้งนี้เพื่อเตรียมตัวเองให้พร้อมก้าวตามฝัน ซักวันเขาจะเปิดสตาร์ทอัพของตัวเองให้ได้
Hsu Ken กล่าวไว้ว่า “อย่าเลือกเพราะเงิน แต่จงเลือกเพราะทำให้เราได้เรียนรู้“
#จุดเริ่มต้นเส้นทางEntrepreneur
หลังจากตัดสินใจไม่รับข้อเสนองาน เขาสมัครเข้าทำงานกับบริษัทสตาร์ทอัพขนาดเล็กแห่งหนึ่งในซีแอตเทิล ในตำแหน่ง Consultant โดยมีเป้าหมายคือการหาความรู้เรื่องการสร้างธุรกิจ ช่วงที่เขาเข้าไปยังเป็นช่วงเริ่มต้น เนื่องจากพนักงานไม่เยอะมาก เขาจึงได้เรียนรู้รอบด้าน อย่างไรก็ตาม ผ่านไปกว่า 1 ปี บริษัทก็เติบโตขึ้น จากมีจำนวนพนักงาน 30 คนก็ขยายเป็น 100 คน เขารู้สึกเริ่มอิ่มตัวจึงย้อนกลับไปนึกถึงเป้าหมายแรกของเขา หากไม่เริ่มวันนี้ เขาจะต้องทำงานที่นี่ไปอีกกี่ปี เขาตัดสินใจเดินหน้าสานฝันสตาร์ทอัพของเขา
ในระหว่างทำงาน เขาเริ่ม Pitch ไอเดียให้เพื่อนๆ และคนรู้จักฟังหลายคน ทุกคนต่างก็ออกปากชมว่าไอเดียของเขานั้นเจ๋งและน่าสนใจ เขานัดทุกคนไปเจอกันที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในวันอาทิตย์ ทว่าเมื่อถึงเวลานัด กลับไม่มีใครนอกจากตัวเขาเองที่ปรากฏตัว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นซ้ำๆ อยู่ 2-3 ครั้ง จนเขาตกตะกอนได้ว่าไม่มีใครหรอกที่จะให้ความสนใจมากเท่าเขาเอง
เขาตัดสินใจใช้เวลาหลังเลิกงานในทุกๆ วัน เพื่อเริ่มด้วยตัวเองทีละนิด ส่วนเสาร์-อาทิตย์เขาก็ทุ่มเทเวลาทั้งหมดไปกับโปรเจกต์นี้ ขณะเดียวกัน ก็เตรียมตัวเองให้พร้อมในด้านการเงิน เขาทั้งออมเงินและลงทุนในหุ้นต่างๆ เขาตั้งใจจะกอบโกยให้ได้มากที่สุด เพราะเมื่อวันที่สตาร์ทอัพเขาคลอดออกมา เขาจะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องการเงิน
#โปรเจกต์แรกจบไม่สวยอย่างที่คิด
หลังจากทำงานมากว่า 18 เดือน เขาก็ได้พบกับหุ้นส่วนธุรกิจที่มีอุดมการณ์เดียวกัน Hsu Ken ตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อมาทำโปรเจกต์ของเขาแบบฟูลไทม์ ไอเดียแรกที่เขานำมาต่อยอดเป็น Product คือการทำ “กราฟเส้นทางอาชีพ” เพื่อเป็นแนวทางให้คนที่รู้ว่าเป้าหมายตัวเองคืออะไร แต่ไม่รู้จะไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไร ได้เห็นภาพเส้นทางของตัวเองชัดเจนขึ้น โดยดึงข้อมูลจากเรซูเม่ของเหล่าคนที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพนั้นๆ มาวิเคราะห์ดูว่าเขาเรียนจบจากอะไร เคยทำงานที่ไหนมาบ้าง
อย่างไรก็ตาม ก้าวแรกของเขาไม่ประสบความสำเร็จ พวกเขาให้ความสำคัญกับขั้นตอนการทำผลงานชิ้นนี้ให้ออกมาสมบูรณ์มากเกินไป จนละเลยสิ่งที่สำคัญกว่า นั่นคือ ความต้องการของผู้ใช้งาน พวกเขาใช้เวลา 9-12 เดือนไปกับการขลุกตัวเขียนโค้ดอยู่ในห้องใต้ดินบ้านพี่ชาย โดยอ้างอิงจากสิ่งที่ทีมคิดเท่านั้น ไม่เคยได้สอบถามฟีดแบคจากคนภายนอกเลย หลังจากที่เปิดตัวเว็บไซต์ได้หนึ่งชั่วโมง วันแรกมีผู้เข้าชมเพียง 20 คน วันต่อมาเหลือเพียง 5 คน และอาทิตย์ต่อมาเหลือแค่คนเดียว เขาพยายามยื้อมันอยู่ถึง 6 เดือนก่อนจะจำต้องยอมรับมันและปิดตัวเว็บไซต์ลงในที่สุด
#ไปต่อหรือหันกลับ?
ในปี 2009 ในขณะที่เขากำลังเศร้ากับความผิดหวัง สหรัฐฯ เองก็กำลังเจอกับวิกฤติเศรษฐกิจซับไพรม์ ตลาดหุ้นในอเมริการ่วงอย่างหนัก เขาจำต้องขายหุ้นที่เคยสะสมไว้ในราคา All-time low เพื่อประทังชีวิตไปวันๆ สองปีแรกที่ออกจากงานประจำเขาทำอะไรไม่ได้นอกจากมองเงินในบัญชีลดลงเรื่อยๆ เขาต้องใช้ชีวิตอย่างประหยัด แค่เปิดฮีทเตอร์ยังทำไม่ได้แม้อากาศข้างนอกจะหนาวจนหิมะตก ประกันชีวิตก็ไม่มี เล่นฟุตบอลทีก็ต้องลุ้นให้ไม่ทำตัวเองขาหัก ชีวิตเจ้าของกิจการไม่ได้หรูหราสุขสบายเหมือนที่ใครๆ วาดภาพเอาไว้
Hsu Ken เล่าว่า เขาเองรู้สึกอิจฉาเด็กรุ่นใหม่ เพราะในอดีต พวกข้อมูลเข้าไม่ถึงง่ายอย่างที่เป็นทุกวันนี้ เขาไม่ได้รู้จักผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพคนอื่นๆ ตอนนั้นทุกคนก็พึ่งจะเริ่มกัน นอกจากจะไม่มีต้นแบบแล้วเขาไม่มีทางรู้เลยว่า สิ่งที่ทำอยู่มันถูกทิศถูกทางหรือเปล่า เขาเริ่มเปรียบเทียบตัวเองที่นั่งเขียนโค้ดอยู่ในห้องใต้ดิน กับเพื่อนคนอื่นที่มีอนาคตสดใสในบริษัทใหญ่ๆ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ส่งผลให้เขาเริ่มตั้งคำถามต่างๆ โดยเฉพาะ Self-doubt หรือ การสงสัยในความสามารถของตัวเอง เขาถามตัวเองว่า “สตาร์ทอัพมันยาก หรือเราเองที่ห่วย?”
#ไปต่อ
เขายอมรับว่าตอนนั้นเขาท้อแท้จริงๆ แต่เขาก็เชื่อว่าทุกคนต้องเริ่มที่ไหนซักแห่ง คนที่กำลังทำสตาร์ทอัพก็เริ่มจากจุดใดจุดหนึ่ง คนที่ประสบความสำเร็จแล้ว ก็ต้องมีล้มมาก่อนเหมือนพวกเราบ้าง สิ่งที่เขายึดเหนี่ยวคือความน่าตื่นเต้น การผจญภัยในทุกวันๆ บทเรียนต่างๆ ที่เขาเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้คอยตบหน้าเตือนสติเขา และมอบเป้าหมายให้เขาสามาถเดินต่อได้ Hsu Ken และเพื่อนลุกขึ้นสู้และศึกษาข้อผิดพลาดของพวกเขา เมื่อพบว่าปัญหาเกิดจากวิธีการทำงานจึงเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด พวกเขาเลิกทำงานกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนานๆ และเริ่ม Trials & Errors นัดประชุมกันทุกวันจันทร์เช้าเพื่อระดมความคิด และวิเคราะห์สิ่งที่ทำออกไป โดยมีเงื่อนไขว่าทุก Project จะต้องคล่องตัว ทุกไอเดียจะต้องเป็นสิ่งที่ทำได้ภายใน 1 อาทิตย์ การทดลองครั้งนี้ก็ทำให้พวกเขาสามารถคลอดออกมาเป็น Decide.com สตาร์ทอัพเว็บไซต์ทำนายราคาสินค้า ได้รับเงินระดมทุนกว่า 16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และได้ถูกซื้อกิจการไปโดย Ebay ในปี 2013
“คนที่ทำสตาร์ทอัพเก่งๆ ไม่ใช่ Magical Beings ทุกคนก็คือคนธรรมดา ผมก็คือคนธรรมดา ไม่ได้มีพรสวรรค์อะไร” - Hsu Ken กล่าว
#MoveToSingapore #Iterative
หลังจาก Decide.com ถูกขายธุรกิจให้กับ eBay Hsu Ken ได้รับเข้าทำงานในบริษัท Tech ในซิลิคอน วัลเลย์ ศูนย์รวมเทคโนโลยีและมหาอำนาจของโลก จนกระทั่งเขาตัดสินใจย้ายมาประเทศสิงคโปร์ เมื่อ Career Fact ถามว่าทำไมถึงกล้าทิ้งชีวิตที่ซิลิคอน วัลเลย์ เขาบอกกับพวกเราว่า เขาเห็นโอกาสในภูมิภาคนี้ เขาเคยใช้เวลา 1 ปี ในการออกสำรวจภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และได้เห็นพลังงานของผู้คนที่อยากจะประสบความสำเร็จ คนพวกนี้ทำให้เขานึกถึงตัวเอง มากไปกว่านั้นเขาเองก็เกิดในภูมิภาคนี้ เขาตัดสินนำความรู้ทุกอย่างกลับมา เปิดบริษัท Iterative ที่ประเทศสิงคโปร์
Iterative คือ บริษัทที่ให้เงินลงทุนและคำปรึกษากับสตาร์ทอัพในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจุดเด่นของ Iterative ก็คือผู้ร่วมก่อตั้งทั้ง 3 คืออดีตผู้ก่อตั้ง decide.com ที่มีประสบการณ์ในสตาร์ทอัพอื่นด้วย พวกเขาสามารถนำประสบการณ์ที่ผ่านมาแนะนำสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ได้ดี ซึ่งเป็นโอกาสที่น้อยนัก ที่จะเห็นบริษัทระดมทุนก่อตั้งโดยคนทำสตาร์ทอัพ โดย Iterative จะลงทุน 150,000 เหรียญสหรัฐฯ กับสตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือก เพื่อแลกกับสัดส่วนถือหุ้น 15% พร้อมกับใช้เวลา 12 อาทิตย์ เพื่อทำงานอย่างใกล้ชิด รวมถึงใช้ทรัพยากรความรู้ของผู้มีประสบการณ์ พร้อมวางเป้าหมายให้สตาร์ทอัพเติบโต จนถึงจุดที่สามารถนำไปต่อรองและระดมทุนเม็ดเงินรอบที่โตกว่าได้
“เร็วแค่ไหนคือเร็ว ทุกคนบอกว่าต้องเติบโตให้เร็วกว่านี้ แต่จริงๆ แล้วมันคือการแยกให้ออกว่าอะไรทำแล้วเวิร์ค อะไรทำแล้วไม่เวิร์ค เรานิยามความเร็วของเราเอง” คือ นิยามความเร็วของ Hsu Ken
#Iterative #Thailand
ปัจจุบัน Iterative กำลังบุกตลาดไทย เค้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพเพื่อลงทุน และพาพวกเขาไปถึงจุดที่ไกลกว่าฝัน Hsu Ken มองว่า เศรษฐกิจไทยมีขนาดใหญ่มาก และมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เขาเองตกใจทุกครั้งที่เพื่อนคนไทยบอกเขาว่าสตาร์ทอัพที่ไทยยังไปไม่ไกลขนาดนั้น เขาเห็นต่าง เขาเห็นศักยภาพและทัศนคติของคนไทย ที่เขาเองมองว่าเป็นทัศนคติที่คนจะประสบความสำเร็จจะมี เขายังพูดติดตลกอีกว่า ถ้าไม่มี Covid-19 เขาเองคงย้ายมาทำงานที่ประเทศไทยแล้ว
เมื่อถาม Hsu Ken ว่าเมื่อไหร่สตาร์ทอัพไทยจะสามารถเข้าร่วมโครงการของ Iterative ได้ เขาตอบอย่างรวดเร็วว่า “เมื่อวาน” โดยรอบต่อไปจะเปิดรับสมัครในเดือนมกราคมปี 2020 (สตาร์ทอัพที่สนใจสามารถสมัครได้ที่ https://iterative.vc)
Hsu Ken อยากให้นักธุรกิจไทย หน้าใหม่ไฟแรงสมัครเข้ามากันเยอะๆ และอยากเห็นสตาร์ทอัพไทยไปได้ไกลตามความเชื่อของเขา
“สตาร์ทอัพจะประสบความสำเร็จมั้ยไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าตอนเริ่มคุณเก่งแค่ไหน สิ่งสำคัญคือระหว่างทางคุณจะเก่งขึ้นได้มากแค่ไหนมากกว่า” เขากล่าวทิ้งท้าย
#careerfact
…………………………
สามารถติดตามเรื่องราวดีๆ ต่อได้ที่ Career Fact เพราะทุกอาชีพ... มีเรื่องราว (อย่าลืมกด See First เพื่อไม่ให้พลาดคอนเท้นท์ดีๆ)
โฆษณา