Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กฎหมายย่อยง่าย by Natarat
•
ติดตาม
2 พ.ย. 2020 เวลา 07:47 • การศึกษา
“เอกสารฉบับนี้เป็นของปลอม ท่านประธานไม่ได้เป็นคนเซ็น...”
ใครที่เคยดูละครหรือซีรีส์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการหักเหลี่ยมเฉือนคมกันในองค์กร ก็น่าจะเคยได้ยินประโยคเมื่อสักครู่กันใช่มั้ยครับ
แล้วทราบหรือไม่ว่า การปลอมเอกสารนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และผู้กระทำอาจต้องรับโทษหนักขึ้นหากเป็นการปลอมเอกสารตามประเภทที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ เช่น เอกสารราชการ พินัยกรรม หรือใบหุ้น
ซึ่งการจะเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารได้นั้นจะต้องมีการกระทำครบองค์ประกอบต่อไปนี้
1) ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือบางส่วน / เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขในเอกสารที่แท้จริง /ประทับตราหรือลงลายมือชื่อปลอม
- โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
- ถ้าได้ทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
หรือ
2.) กรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใดที่มีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือฝ่าฝืนคำสั่ง
- เพื่อเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน
ดังนั้น หากขาดองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่ง ผู้กระทำก็อาจไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารได้
มีคดีตัวอย่างที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง.. สามีต้องการขายที่ดิน จึงได้มอบอำนาจให้ภรรยาไปทำสัญญามัดจำการซื้อขายที่ดินกับผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อได้วางเงินมัดจำไว้จำนวน 10,000 บาท
ส่วนภรรยาแทนที่จะเซ็นชื่อตัวเองในสัญญาในฐานะผู้รับมอบอำนาจ กลับไปเซ็นชื่อของสามีในเอกสารดังกล่าว
ต่อมา ผู้ซื้อขอชำระค่าที่ดินที่เหลือและขอให้โอนกรรมสิทธิ์ แต่ทั้งคู่กลับไม่ยอมรับชำระ โดยอ้างว่าล่วงเลยกำหนดเวลาชำระแล้วเป็นการผิดสัญญา จึงริบมัดจำ
ผู้ซื้อจึงได้ฟ้องภรรยาเป็นจำเลย โดยกล่าวหาว่าจำเลยได้ปลอมเอกสารสิทธิ ด้วยการลงลายมือชื่อของจำเลยในช่องผู้ให้สัญญาในสัญญามัดจำซื้อขายที่ดินเป็นชื่อของนาย พ. ผู้เป็นสามี อันเป็นลายมือชื่อปลอม ทำให้ผู้ซื้อหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารสิทธิที่แท้จริง และใช้เอกสารดังกล่าวฉ้อโกงหลอกลวงเงินจากผู้ซื้อ
ซึ่งศาลได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ว่า..
การลงลายมือชื่อนั้นไม่มีกฎหมายให้เซ็นแทนกันได้ แม้จะมอบอำนาจก็เซ็นแทนไม่ได้ การที่ภรรยาเซ็นชื่อสามีลงในสัญญามัดจำซื้อขายที่ดินจึงเป็นการลงลายมือชื่อปลอม
แต่ความผิดฐานปลอมเอกสารนั้นจะต้องมีลักษณะที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนด้วย
เมื่อผู้เสียหายรู้จักชื่อและตัวสามีผู้เป็นเจ้าของที่ดินและจำเลย (ภรรยา) อยู่ก่อนแล้ว ยังได้สมัครใจเข้าทำสัญญากับจำเลยและรู้เห็นว่าจำเลยได้ลงชื่อสามีจำเลยในช่องผู้ให้สัญญาตอนทำสัญญานั้น
จากพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้เสียหายมิได้หลงผิดหรือหลงเชื่อ จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะอ้างว่าได้รับความเสียหายตามกฎหมาย
ในส่วนของสามีจำเลยก็ไม่เสียหายเพราะเป็นผู้มอบอำนาจให้จำเลยไว้ จำเลยจึงไม่มีความผิด
ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง
สรุปคือ คดีนี้ศาลเห็นว่า แม้การที่ภรรยาลงลายมือชื่อของสามีในเอกสารจะเป็นการลงลายมือชื่อปลอม
แต่เมื่อการกระทำดังกล่าวไม่ได้ก่อความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน (เพราะผู้ซื้อก็รู้จักสามีและภรรยาคู่นี้อยู่แล้ว) จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนั่นเอง
อ้างอิง:
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1020/2517
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265
ช่องทางติดตามอื่น ๆ
FB :
Facebook.com/Nataratlaw
IG :
Instagram.com/Natarat_law
Twitter :
https://twitter.com/nataratlaw#กฎหมายย่อยง่าย
11 บันทึก
42
5
12
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
กฎหมายอาญา
11
42
5
12
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย