4 พ.ย. 2020 เวลา 04:31 • การศึกษา
How to...ซ้อนมอเตอร์ไซค์อย่างไรให้ผิดกฎหมาย!?
1
ถ้าพูดถึงเรื่องการทำผิดกฎจราจร ภาพที่คนส่วนใหญ่นึกถึงคงหนีไม่พ้นการที่ผู้ขับขี่ได้ทำการฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น การขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การขี่รถย้อนศร หรือการฝ่าสัญญาณไฟจราจร
8
ซึ่งคนที่ทำผิดและถูกลงโทษส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นผู้ขับขี่รถยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์นั่นเอง
แต่เชื่อหรือไม่ว่า คนที่ซ้อนมอเตอร์ไซค์เองก็อาจมีความผิดตามกฎหมายจราจรและถูกลงโทษได้เช่นเดียวกัน
ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 43 (8) ได้กำหนด ห้ามไม่ให้ผู้ขับขี่ ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกิน ปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ซึ่งการขับรถปาดไปมาเป็นที่น่าหวาดเสียวแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ๆ  ก็ถือว่าเป็นความผิดตามมาตรานี้เช่นเดียวกัน
แล้วการขับขี่น่าหวาดเสียวมันเกี่ยวกับคนซ้อนได้อย่างไร?
เรื่องมีอยู่ว่า... นาย A ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ด้วยความเร็วสูงเป็นที่น่าหวาดเสียวและอาจเกิดอันตรายแก่ผู้ใช้รถคันอื่น ๆ ที่อยู่บนท้องถนน
โดยมีนาย B และนาย C นั่งซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์คันดังกล่าวมาด้วยกัน
แทนที่จะนั่งเฉย ๆ นาย B และนาย C กลับโยกตัวไปมาเพื่อไม่ให้รถเสียหลักล้ม (การเอียงตัวไปพร้อมกับตัวรถเป็นการสร้างสมดุล ทำให้รถไม่เสียหลัก)
ต่อมา นาย A ถูกจับและดำเนินคดีในข้อหาขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น ตาม พ.ร.บ. การจราจรทางบก โดยถูกศาลลงโทษกักขัง 10 วัน
ส่วนนาย B และนาย C นั้น ศาลเห็นว่าการที่ทั้งสองคนนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่นาย A ขับ โดยนั่งโยกตัวไปมาเพื่อไม่ให้รถเสียหลักล้มนั้น
การกระทำของทั้งคู่เป็นการอำนวยความสะดวกให้นาย A สามารถขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงแซงซ้ายแซงขวารถคันอื่นในลักษณะน่าหวาดเสียวซึ่งเป็นการขับรถที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น อันอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น
การกระทำของนาย B และนาย C จึงเป็นการสนับสนุนการทำความผิดของนาย A อันเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. การจราจรทางบกฯ ดังกล่าวข้างต้น จึงพิพากษาลงโทษทั้งสองคนโดยปรับเงินคนละ 1,500 บาท
(อธิบายเพิ่มเติม : ตามกฎหมายอาญานอกจากตัวผู้กระทำความผิด กฎหมายยังได้กำหนดโทษสำหรับบุคคลอื่นที่แม้จะไม่ได้กระทำความผิดด้วยตัวเอง แต่มีการกระทำซึ่งลักษณะ..
- เป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด ซึ่งกฎหมายเรียกว่า “ผู้ใช้” โดยผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นผู้กระทำความผิด
- เป็นการให้ความช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกแก่ผู้กระทำความผิด ซึ่งกฎหมายเรียกว่า “ผู้สนับสนุน” โดยผู้สนับสนุนต้องรับโทษ 2 ใน 3 ของความผิดที่ได้สนับสนุน)
ซึ่งตามตัวอย่างที่ยกมา แม้นาย B และ C จะไม่ได้เป็นผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์และทำผิดกฎหมายจราจรด้วยตัวเอง แต่ศาลก็มองว่าการที่ทั้งสองคนโยกตัวไปมาเพื่อไม่ให้รถเสียหลักนั้น ถือเป็นการให้ความสะดวกแก่นาย A ผู้กระทำความผิดแล้วนั่นเอง
อ้างอิง :
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5829/2549
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
- พระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 43 (8)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา