31 พ.ค. 2021 เวลา 07:42 • การศึกษา
ลูกจ้างขโมยเงินของนายจ้าง จะมีความผิดข้อหาลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์?
1
เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนเริ่มเรียนกฎหมายหลายคนอาจมีความสับสน ว่าความผิดฐานลักทรัพย์กับยักยอกทรัพย์นั้นแตกต่างกันอย่างไร
ถ้าจะให้สรุปแบบสั้น ๆ ความผิดฐานลักทรัพย์นั้น ผู้กระทำต้องแย่งการครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
ส่วนความผิดฐานยักยอกทรัพย์นั้น ผู้กระทำจะต้องครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย และได้เบียดบังเอาทรัพย์นั้นไปในภายหลัง
ความแตกแต่งระหว่างความผิดฐานลักทรัพย์ กับยักยอกทรัพย์นั้น จึงอยู่ที่ว่าผู้กระทำได้แย่งการครอบครอง หรือครอบครองอยู่แล้วและได้เบียดบังทรัพย์นั้นไป
อ่านแล้วอาจจะยังไม่เห็นภาพ เลยขอยกตัวอย่างคดีเรื่องหนึ่ง เป็นกรณีที่ลูกจ้างขโมยเงินจากร้านขายสินค้าของนายจ้าง
1
นายจ้างประกอบกิจการร้านค้า มีนายอ๊อดเป็นลูกจ้างทำหน้าที่ดูแลกิจการภายในร้านและนำเงินรายได้ของร้านไปฝากธนาคาร
1
เมื่อพนักงานของร้านขายสินค้าได้แล้วจะนำเงินที่ได้รับจากลูกค้าใส่ซองและหย่อนลงในตู้นิรภัยของร้านโดยนายอ๊อดเป็นผู้ถือกุญแจตู้นิรภัยเพียงคนเดียวในร้าน และไม่มีสิทธินำเงินรายได้ของร้านไปใช้ส่วนตัว
4
ในเวลาประมาณ 13.00 น. ของทุกวัน นายอ๊อดต้องนำกุญแจไปไขตู้นิรภัยเพื่อนำเงินรายได้ของร้านออกมาตรวจนับต่อหน้าผู้จัดการร้าน เมื่อทราบจำนวนเงินแล้ว ผู้จัดการร้านจะเขียนใบนำฝากเงินพร้อมสมุดบัญชีให้แก่นายอ๊อด จากนั้นนายอ๊อดจะขับรถยนต์นำเงินพร้อมสมุดบัญชี และนำใบฝากเงินไปฝากเงินที่ธนาคาร
โดยวันรุ่งขึ้น นายอ๊อดต้องนำใบรับฝากเงินที่มีตราประทับของธนาคารส่งคืนให้แก่ทางร้านเพื่อตรวจสอบยอดเงินที่นำไปฝากธนาคารว่าครบถ้วนหรือไม่
วันเกิดเหตุ ผู้จัดการร้านและลูกชายได้ร่วมตรวจนับเงินกับนายอ๊อด แล้วมอบเงินจำนวน 300,000 บาทให้นายอ๊อดนำไปฝากธนาคาร แต่ครั้งนี้ นายอ๊อดกับพวกได้เอาเงินจำนวนดังกล่าวไป
คำถามคือ การกระทำของนายอ๊อดเป็นความผิดข้อหาลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์…
ขณะที่นายอ๊อดใช้กุญแจไขตู้นิรภัยนำเงินรายได้ของทางร้านออกมาตรวจนับต่อหน้าผู้จัดการร้าน เป็นเพียงการทำหน้าที่ดูแลเงินชั่วคราวเท่านั้น ยังไม่ถือว่านายจ้างได้มอบหมายการครอบครองเงินให้แก่นายอ๊อด ในขณะนั้นนายอ๊อดจึงไม่ใช้ผู้ครอบครองเงินของนายจ้าง
(สมมติว่า ขณะที่กำลังนับเงิน หากนายอ๊อดฉวยโอกาสหยิบเงินและวิ่งหนีออกไปจากร้าน การกระทำของนายอ๊อด อาจเป็นความผิดข้อหาวิ่งราวทรัพย์ หรือลักทรัพย์ได้ เนื่องจากการครอบครองเงินยังคงอยู่กับนายจ้าง และนายอ๊อดได้แย่งการครอบครองไป)
แต่เมื่อนายอ๊อดเอาเงินจำนวน 300,000 บาทของนายจ้างไปหลังจากที่ผู้จัดการร้านได้ตรวจสอบและมอบให้นายอ๊อดนำไปฝากเข้าบัญชีของนายจ้างที่ธนาคาร จึงถือได้ว่านายจ้างได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้อยู่การครอบครองของนายอ๊อดแล้ว
“เพราะนายอ๊อดจะต้องถือและรักษาเงินนั้นจนกว่าจะนำไปฝากเข้าบัญชีธนาคารของนายจ้างให้เรียบร้อย”
การที่นายอ๊อดได้วางแผนกับเพื่อนให้มาแย่งเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปในระหว่างเดินทางไปธนาคาร จึงเป็นความผิดข้อหายักยอกทรัพย์
(จะเห็นได้ว่าในขณะนั้น นายจ้างได้มอบเงินให้อยู่ในความครอบครองของนายอ๊อดแล้ว การกระทำของนายอ๊อดจึงไม่เป็นการ “แย่งการครอบครอง” ซึ่งจะทำให้นายอ๊อดมีความผิดข้อหาลักทรัพย์ หรือวิ่งราวทรัพย์
แต่เป็นการ “เบียดบัง” เอาเงินที่อยู่ในความครอบครองของตนอยู่แล้วไป ซึ่งจะเป็นความผิดข้อหายักยอกทรัพย์ นั่นเอง)
เกร็ดกฎหมาย:
 
สาเหตุที่ต้องรู้ความแตกต่างระหว่างความผิดข้อหาลักทรัพย์กับยักยอกทรัพย์ เนื่องจากความผิดฐานยักยอกทรัพย์นั้นสามารถยอมความได้
ซึ่งความผิดที่ยอมความได้นั้น ผู้เสียหายจะต้องแจ้งความร้องทุกข์ หรือฟ้องศาลภายใน 3 เดือนนับแต่รู้เรื่องความผิดและตัวผู้กระทำความผิด ไม่อย่างนั้นคดีจะขาดอายุความ
Reference:
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6116/2560

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา