5 พ.ย. 2020 เวลา 12:13 • ประวัติศาสตร์
“การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 (Siamese revolution of 1932) การปฏิวัติที่เป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ไทย” ตอนที่ 4 (ตอนจบ)
กบฏบวรเดชและการสละบังลังก์ขององค์กษัตริย์
ข่าวเรื่องการปฏิวัติ ไปถึงพระกรรณของรัชกาลที่ 7 ในขณะที่พระองค์กำลังทรงเล่นกอล์ฟอยู่ที่พระราชวังฤดูร้อนที่หัวหิน
1
รัชกาลที่ 7 และกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินทรงหารือกัน ซึ่งพระองค์ก็มีทางเลือกหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นเสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศ หรือจะทำรัฐประหารซ้อน
หากแต่รัชกาลที่ 7 ก็ทรงตัดสินพระทัย พระองค์จะเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
4
พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จกลับถึงพระนครในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2475 และได้เข้าพบคณะราษฎร
ปรีดีได้กราบทูลพระกรุณาจากพระองค์ที่ได้หมิ่นพระเกียรติในประกาศคณะราษฎร และหลังจากนั้น ประกาศคณะราษฎรทุกเล่มได้ถูกนำกลับ รัชกาลที่ 7 จึงทรงตอบสนองพฤติการณ์ดังกล่าวโดยการประทับตราบนเอกสารพระราชทานอภัยโทษแก่สมาชิกคณะราษฎรทุกคนจากการปฏิวัติดังกล่าว
2
จากนั้น คณะราษฎรได้ทำการปล่อยตัวประกันทั้งหมด ยกเว้นกรมพระนครสวรรค์วรพินิต เนื่องจากเล็งเห็นว่าพระองค์มีอำนาจมากเกินไป และขอให้พระองค์เสด็จออกนอกประเทศ เช่นเดียวกับเจ้านายพระองค์อื่นที่ต่างก็เสด็จไปยังต่างประเทศ
1
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อย่างไรก็ดี ทรงต่อรองให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพราะไม่พอพระราชหฤทัยในบทบัญญัติเกี่ยวกับพระราชอำนาจ และข้อที่ว่าสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิฟ้องร้องกษัตริย์
เมื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาได้เสนอพระนาม “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช” ในที่ประชุมให้เป็นหัวหน้ารัฐบาล หากแต่ปรีดีนั้นคัดค้าน เนื่องจากเห็นว่าพระองค์เจ้าบวรเดชทรงมีพระอุปนิสัยเป็นเผด็จการ และยังเป็นเจ้าอีกด้วย
3
ปรีดีได้เสนอชื่อ “พระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์)” เป็นหัวหน้ารัฐบาล หรือนายกรัฐมนตรี
5
การกระทำของปรีดี ทำให้พระองค์เจ้าบวรเดชทรงผิดใจกับพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา และทรงเกลียดชังปรีดี
3
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช
พระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์)
พระองค์เจ้าบวรเดชมีศักดิ์เป็นพระญาติกับรัชกาลที่ 7
พระองค์เป็นพระโอรสใน “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์” พระราชโอรสองค์ที่ 17 ใน “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ 4
ดังนั้น หากนับเครือญาติแล้ว พระองค์และรัชกาลที่ 7 ทรงเป็น “พระราชนัดดา” ในรัชกาลที่ 4 ทั้งคู่ คือเป็น “หลานปู่” ของรัชกาลที่ 4
5
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์
ที่ผ่านมา พระองค์เจ้าบวรเดชนั้นได้กล่าวโจมตีระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และทรงชิงชังการปกครองของรัชกาลที่ 6
1
พระองค์ทรงเห็นว่ารัชกาลที่ 6 ทรงแต่งตั้งคนสอพลอเข้ามาไว้ในราชสำนักมากมาย และพระองค์ทรงวางแผนจะยึดอำนาจจากรัชกาลที่ 6 และแต่งตั้งกรมพระนครสวรรค์วรพินิตขึ้นเป็นกษัตริย์แทน
หากแต่รัชกาลที่ 6 สวรรคตเสียก่อน และกรมพระนครสวรรค์วรพินิตก็ไม่ทรงรับราชสมบัติ สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกจึงได้ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 7
1
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6)
ในสมัยรัชกาลที่ 7 พระองค์เจ้าบวรเดชได้ทรงลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกลาโหม เนื่องจากไม่ทรงพอพระทัยที่แพ้มติในที่ประชุมสภาเสนาบดี โดยพระองค์เจ้าบวรเดชต้องการขึ้นเงินเดือนทหาร หากแต่ที่ประชุมเห็นควรให้ตัดงบทางทหารและค่าตอบแทนข้าราชการ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองและพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้เป็นนายกรัฐมนตรี ดังที่ผมได้เล่าค้างไว้ในตอนแรก ปรีดีได้เสนอแผนเค้าโครงเศรษฐกิจที่เรียกว่า "สมุดปกเหลือง" ซึ่งจะทำให้ราษฎรทุกคนมีงานทำ ชาวนามีบำนาญเช่นเดียวกับข้าราชการ
8
หากแต่พระยามโนปกรณ์นิติธาดามองว่าเป็นความคิดที่ก้าวหน้า สุดโต่งเกินไป และโจมตีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมอย่างรุนแรงว่าเป็นคอมมิวนิสต์
3
พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ประกาศยุบสภา และออกพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ เล่นงานหลวงประดิษฐ์มนูธรรมจนต้องหนีไปต่างประเทศ คณะราษฎรสายหลวงประดิษฐ์มนูธรรมจึงหมดอำนาจทางการเมือง
3
สมุดปกเหลือง
หากแต่ต่อมา ก็ได้เกิดความขัดแย้งขึ้นภายในระหว่างรัฐบาล ทำให้เกิดรัฐประหารอีกครั้งในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2476
2
รัฐประหารครั้งนี้ ทำให้พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่สองของไทย
1
พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา
การปฏิวัติครั้งนี้สร้างผลกระทบต่อรัชกาลที่ 7 และสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากพระองค์ทรงถูกจำกัดพระราชอำนาจที่มีมาแต่โบราณ และทำให้พระองค์ทรงตระหนักว่าอาจจะได้รับอันตรายในภายภาคหน้า
ในเวลานี้ สถานการณ์ของพระองค์คงไม่ต่างจากกษัตริย์ฝรั่งเศสเมื่อคราวปฏิวัติฝรั่งเศส
ที่ผ่านมา รัชกาลที่ 7 ก็ไม่ได้ทรงอยู่เฉยและพระองค์ก็ไม่ได้รู้สึกดีต่อคณะราษฎรนัก
พระองค์ได้ลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการประหารชีวิตสมาชิกคณะราษฎรไว้ล่วงหน้า อีกทั้งยังทรงตั้งหน่วยสืบราชการลับส่วนพระองค์เพื่อถวายรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ เกิดเป็นเครือข่ายต่อต้านการปฏิวัติใต้ดินระหว่างกลุ่มกษัตริย์นิยม พรรคการเมือง และหนังสือพิมพ์
5
นอกจากนั้น สายลับส่วนพระองค์ยังลงมือลอบสังหารผู้นำคณะราษฎรหลายครั้งระหว่างปีพ.ศ.2476-2478 รวมทั้งมีคำสั่งฆ่าตัดตอนมือปืนชุดหนึ่งเพื่อไม่ให้สืบสาวมาถึงสายลับด้วย (ข้อมูลที่กล่าวถึงรัชกาลที่ 7 ส่วนนี้ ย้ำว่าเฉพาะส่วนนี้นะครับ เป็นข้อมูลจากในวิกิพีเดีย ต้องใช้วิจารณญาณ)
13
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7)
เมื่อพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้เชิญปรีดีกลับประเทศไทย และได้ตั้งกรรมการสอบสวน พบว่าปรีดีไม่ได้มีความคิดเป็นคอมมิวนิสต์ ปรีดีจึงได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา
1
การได้รับตำแหน่งของปรีดี สร้างความไม่พอใจแก่เจ้านายและพระองค์เจ้าบวรเดชเป็นอย่างมาก เนื่องจากทรงเล็งเห็นว่าหากปรีดีมีอำนาจ จะดำเนินนโยบายที่เป็นผลเสียแก่เจ้านายและขุนนางเก่า
พระองค์เจ้าบวรเดชนั้นสุดจะทน พระองค์ทรงกล่าวโจมตีปรีดี และกล่าวว่ารัฐบาลกำลังเอาคอมมิวนิสต์มาเป็นรัฐมนตรี
2
ปรีดี พนมยงค์
ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2476 พระองค์เจ้าบวรเดชทรงส่งกำลังทหารจากหัวเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง นครราชสีมา อุบลราชธานี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา และเพชรบุรี เคลื่อนกำลังทางรถไฟเข้ายึดท่าอากาศยานดอนเมืองได้ในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2476
จากนั้น ได้เคลื่อนกำลังทหารเข้ายึดพื้นที่ตามแนวคลองบางเขนจนถึงสถานีรถไฟบางเขน เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา กระทำตามเงื่อนไขหกข้อ โดยมีใจความสำคัญคือให้รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้อำนาจรัฐสภามากขึ้นและจำกัดอำนาจของรัฐบาลมิให้กลายเป็นคณะเผด็จการ
4
หากแต่การกบฏ ล้มล้างรัฐบาลของพระองค์เจ้าบวรเดชนั้นก็ไม่ประสบความสำเร็จ และทำให้พระองค์ต้องเสด็จหนีไปไซ่ง่อน
ถึงแม้การกบฏนี้จะไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ารัชกาลที่ 7 ทรงสนับสนุน แต่ก็พบเช็คสั่งจ่ายเงินของพระคลังข้างที่แก่พระองค์เจ้าบวรเดชจำนวน 200,000 บาท
6
ภายหลังจากการรัฐประหารและความพ่ายแพ้ของกบฏบวรเดช สถานการณ์ทางด้านรัชกาลที่ 7 ก็ไม่ดีนัก และภายหลังจากต่อรองกับรัฐบาลล้มเหลว พระองค์จึงมีพระราชดำริจะสละราชสมบัติ
รัชกาลที่ 7 ทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2478 (บางแห่งบอกว่าพ.ศ.2477) โดยมีใจความในพระราชหัตถเลขาว่า
2
“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร”
5
“บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้า ที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียง ในนโยบายของประเทศไทยโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า บัดนี้ เป็นอันหมดหนทาง ที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ ให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ แต่บัดนี้เป็นต้นไป”
6
ภายหลังสละราชสมบัติ พระองค์และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้ประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษตลอดพระชนม์ชีพ
2
รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ภายหลังจากสละราชสมบัติ
เมื่อรัชกาลที่ 7 ได้สละราชสมบัติ พระองค์ไม่ได้ทรงตั้งรัชทายาท โดยได้พระราชทานวโรกาสให้รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้คัดเลือกพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เอง
1
คณะรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร จึงได้อัญเชิญเสด็จ “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล” พระโอรสใน “สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์” (พระยศขณะนั้น) และเป็นพระราชนัดดาใน “สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” ขึ้นครองราชย์ เป็นรัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี
2
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8)
นี่ก็คือเรื่องคร่าวๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งผมขอจบไว้เพียงการสละราชบัลลังก์ของรัชกาลที่ 7 เท่านี้ เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ก็ได้หมดไปแล้ว และขืนเขียนยาวกว่านี้ เกรงว่าจะยิ่งเสี่ยงและกลายเป็นการเมืองมากจนเกินไป
ต้องพูดตามตรงว่าการเขียนเรื่องนี้ เป็นการเขียนซีรีส์ที่ยากที่สุดในบรรดาทุกเรื่อง เนื่องจากผมต้องระมัดระวังอย่างมาก เนื่องจากอาจจะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน (มาก)
1
ผมคิดว่าคงอีกนานกว่าผมจะกลับมาเขียนซีรีส์เรื่องของไทยอีก และสำหรับซีรีส์นี้ ผู้อ่านให้ผมสอบผ่าน หรือสอบตก ก็บอกกันได้นะครับ ผมจะได้นำไปพิจารณา หากหลายคนลงความเห็นว่าไม่ผ่าน ผมก็คงจะไม่เขียนซีรีส์เรื่องของไทยอีกแล้ว เขียนแต่ของต่างประเทศ ให้คนที่เก่งกว่า รู้จริง เข้ามาเขียนดีกว่า
4
ขอบคุณครับ
โฆษณา