11 พ.ย. 2020 เวลา 04:11 • ท่องเที่ยว
ช๙๗_พระปรางค์วัดอรุณ
อดีตของมหาธาตุในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
○มหาธาตุหมุดหมายเมือง○ ตอนที่๒
......สามปีเศษเกือบสี่ปีที่เขียนเรื่องวัดอรุณ จนเรื่องวัดอรุณกลับมาเป็นกระแสกลายเป็นความใหม่ ยังเกิดคำถามเก่าที่ไม่มีใครตอบได้ หรือตอบไปก็กำกวมว่าการอนุรักษ์คืออะไรการบูรณะงานจากอดีตควรมีรูปแบบและทิศทางอย่างไร ผู้ที่กำหนดแนวความคิดต่างๆในสังคมไม่ได้เป็นผู้ทำการอนุรักษ์ในขั้นลงมือส่วนใหญ่เป็นนักทฤษฎี และชุมชน ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับโบราณสถานนั้นคือ ผู้อนุรักษ์หรือไม่อนุรักษ์ตัวจริง ช่างที่ใช้ควรมีคุณสมบัติอย่างไรและหาช่างดังกล่าวได้ในยุคสมัยนี้จริงๆหรือไม่ ถ้าหาอย่างที่ช่างเป็นศิลปินงบประมาณหลวงจะสู้ค่าตัวของผู้มีคุณสมบัติในอุดมคติหรือเปล่า รูปภาพเก่าๆที่เคยถ่ายไว้กลายเป็นประวัติศาสตร์ของวันนี้และน่าเอามาเผยแพร่ ผมกลับมานั่งดูรูปและอ่านแล้วยังคิดว่าเรื่องราวเก่าๆยังพอมีประโยชน์ได้ความรู้บ้าง โดนเฉพาะเกี่ยวกับความคิดของการจัดทำมหาธาตุฯ ด้วยรวบรวมมาจากที่ต่างๆปะปนกันแล้วเอามาเคี้ยวกรองเล็กน้อย รู้สึกอยากเขียนเรื่องนี้ซ้ำอีกครั้ง จากมุมมองที่ต่างกันของเวลาและของกระแสความเป็นไปในฐานะผู้ทำงานด้านออกแบบสถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมภายใน น่าจะแสดงความรู้สึกได้อย่างมีทีท่าของผู้ทำงานในสายอาชีพ ที่อาจจะแปลกแยกจากมุมมองงานโบราณคดี ซึ่งน่าจะดีจากทัศนะที่แตกต่าง ผมเคยเขียนเรื่องวัดอรุณฯมาครั้งหนึ่งและพยายามเขียนเรื่องหรือหาข้อมูลเพิ่มเติม ของมหาธาตุรัตนะริมน้ำองค์นี้ได้ในบทความต่อๆไป
......กระแสที่เกิดขึ้นของการบูรณะองค์พระปรางค์วัดอรุณฯ ความรู้สึกของผู้คนทั่วไปย่อมเป็น เช่นนั้น แม้ว่ากรุงเทพฯจะคล้ายๆกับมีมหาธาตุประจำเมืองอยู่หลายองค์ ไม่ว่าจะเป็นที่วัดสุทัศน์ วัดสระเกศหรือ ภูเขาทอง วัดมหาธาตุข้างธรรมศาสตร์ วัดมหาธาตุที่บางเขน แต่วัดอรุณฯหรือปรางค์ที่นี่ดูจะเป็นสัญลักษณ์โดย เฉพาะในรูปธรรมที่โดดเด่นที่สุดด้วยมีรูปทรงสูงใหญ่อยู่ริมน้ำเจ้าพระยา และรูปร่างก็ดูสืบคติของปรางค์ประจำเมือง ในสมัยอยุธยา ทั้งมีความเป็นเอกลักษณ์ในความงามและความประณีตของยุคสมัยเฉพาะตัว แล้วเช้าวันหนึ่งที่ เราเห็นคุณปู่ของเรา ที่เคยดูขรึมเข้มแข็งอายุร่วมสองร้อยปีอันเป็นสัญลักษณ์หลักชัยของครอบครัวเรากลายร่าง ชายหนุ่มขาวผ่องดูล่อนจ้อนเปลือยเปล่า โลกแห่งจินตนาการของการสื่อสารในปัจจุบันเกิดเสียงซุบซิบนินทาไป ทั้งบาง(กอก) ด้วยความที่ย้อนกลับมานึกเสียดายความหล่อเหลาของคุณปู่ในอดีตที่ชายหนุ่มคนใหม่นั้นหล่อได้ไม่ถึงครึ่งของคุณปู่ โบร่ำโบราณเลย
......มหาธาตุต่างๆในพื้นที่ภาคกลางหรือลุ่มน้ำเจ้าพระยา(โดยประมาณ) เห็นว่าพอมีประโยชน์ที่จะทำให้รู้ที่มาที่ไปเรื่องปรางค์ประจำเมือง และคติของเขาพระสุเมรุที่ผูกเรื่องราวตลอดจนแนวคิดในการก่อสร้างรูปทรงองค์พระธาตุ นอกจากบทความนี้ ก็มีที่มีคุณค่าอยู่ก็คือรูปถ่ายองค์พระปรางค์ตลอดจนรายละเอียดกางตกแต่งกระเบื้องของวันวาน ที่กลายประวัติศาสตร์ ในวันนี้
........ถ้าวัดสุทัศน์เป็นวิถีคิดของรัชกาลต้นในการที่จะเป็นมหาธาตุกลางกรุง วัดอรุณฯก็ก็เป็นวิถีคิดของรัชกาลสองและสามต่อมาในอันที่จะสร้างปรางค์ขนาดสูงใหญ่ริมแม่น้ำและมาเสร็จเอาในรัชกาลพระนั่งเกล้าฯ การปรับเปลี่ยนรูปทรงของปรางค์จากคติรูปแบบเดิมในอยุธยา ตลอดจนการประดับตกแต่งด้วยกระเบื้อง ก็ถือว่าเป็นลักษณะเด่นของปรางค์องค์นี้ อันอาจถือได้ว่าเป็นงานตกแต่งของสกุลช่างรัตนโกสินทร์เลยทีเดียว ในชั้นนี้ผมคงตั้งกรอบมองของวัดนี้เฉพาะองค์ปรางค์เท่านั้น
........โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเราคงเคยได้ยินได้ฟังว่ารัชกาลที่สามท่านโปรดปรางค์ วัดที่ท่านบูรณะมีมากเหลือเกินอาจกล่าวได้ว่ามีมากกว่ารัชกาลใด และก็จะมีลักษณะเด่นในหลายประเด็นเช่นลักษณะการวางผังที่จัดให้เรือน วิหาร อุโบสถหรือแม้แต่การเปรียญ แล้วแต่ลักษณะวัด เรียงขนานกันซึ่งต่างกับวัดในรุ่นก่อนหรือรุ่นอยุธยาสุโขทัยก็ดีที่ตั้งแกนแล้วนำวิหารกับเจดีย์(หรือปรางค์)เรียงอยู่บนแกนเดียวกัน และในอยุธยาบ่อยครั้งที่จะนำอุโบสถมาวางด้านหลังเจดีย์อีกครั้งแต่ก็ยังอยู่บนเส้นแกนเดียวกัน ปรางค์ส่วนใหญ่ในรัชกาลที่สามจะมีขนาดเล็กและพลิกแพลงการวางตำแหน่งในหลายกรณี แล้วแต่ลักษณะของวัดบางครั้งอยู่ปลายวิหารหรืออุโบสถเช่นวัดมหาธาตุกรุงเทพแต่บางครั้งก็อยู่ระหว่างวิหารกับอุโบสถเช่นวัดหนังที่จอมทอง บางครั้งก็อยู่รอบสี่มุมของวิหารหรืออุโบสถ
Google Map วัดหนังจอมทอง
Google Map วัดมหรรณพาราม
พระปรางค์ ที่วัดระฆัง
วัดราชบูรณะอยุธยา
วัดพระรามอยุธยา
......เมื่อกลับมามองปรางค์ที่วัดอรุณเราอาจเห็นภาพของพัฒนาการของปรางค์ที่วัดระฆังซึ่งอยู่ห่างกันไม่ไกลนัก ทรงปรางค์ที่วัดระฆังนั้นออกจะเพรียวในเรื่องสัดส่วนมากกว่าปรางค์ต้นทางของอยุธยาเช่นวัดราชบูรณะหรือวัดพระราม และถ้าเราแบ่งความสูงของปรางค์เป็นสามตอนคือส่วนบนส่วนกลางและส่วนฐานแล้ว เราก็จะมองพัฒนาการตรงนี้ได้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะการเพรียวลงของส่วนบน และการจัดทำฐานตอนล่างให้กว้างออกมา เพื่อให้คนขึ้นไปใช้พื้นที่ตรงนั้นเดินได้รอบองค์ปรางค์ ถ้าเราเอามือปิดส่วนบนและล่างก็คงจะดูเป็นพระธาตุต้นทางเช่นอยุธยาได้ เมื่อคนขึ้นไปได้ในฐานชั้นแรกเขาก็ให้คติคิดเป็นพื้นที่ในป่าหิมพานต์ ก็จะแสดงลวดลายประดับเป็นอารมณ์ดอกไม้ต้นไม้ และเมื่อบันไดทอดขึ้นในช่วงกลางก็กลายเป็นชั้นของเทวดาทั้งหลาย ตอนนี้คนอายุอย่างผม ที่เดินขึ้นไปถึงชั้นนี้ บนปรางค์วัดอรุณ ก็เริ่มเหนื่อยและมองลงมาเสียวแล้ว ในแต่ละชั้นของชั้นบันได้ก็ออกแบบเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงหรือสื่อถึงสวรรค์ชั้นนั้นๆ จริงๆแล้วในปรางค์รุ่นต่างๆก็ทำกัน เพียงแต่ส่วนใหญ่เราขึ้นไปสัมผัสไม่ได้ต้องดูจากที่ระดับพื้นไกลๆ สมัยก่อนการขึ้นมาที่นี่คงได้มองเห็นมุมมองที่ไกลตา ยังกับเห็นภาพจากสวรรค์จริงๆ และที่เป็นลักษณะเด่นคือการประการคือการประดับประดาเครื่องถ้วยที่สั่งเข้าจากจีน อันทำให้เกิดภาพอันพิสดาร บางอันเช่นก็ใช้แบบขนาดใหญ่เป็นรูปร่างเช่นรูปกินรีซึ่งต้องสั่ง กระเบื้อง เป็นชิ้นใหญ่สมัยก่อนการเผา กระเบื้อง ชิ้นใหญ่ๆนี้แพงมากพอดูเพราะต้องใช้เทคโนโลยี่สูง เคยไปถามรุ่นเถ้าแก่เท้าฮงไถ่ โรงงานเซรามิคที่ราชบุรีเมื่อสักสามสิบปีที่แล้ว เพราะผมเคยไปสั่งกระถางต้นไม้เคลือบไปไว้ในโรงแรมที่ออกแบบ เมื่อมีขนาดใหญ่เกินมาตราฐานที่เขาเคยทำ ก็ต้องมีการเผื่อไว้เยอะทีเดียว เช่นเราสั่งสิบชิ้นเขาก็ต้องเผาเกินจำนวนไว้บ้าง เพราะการควบคุมอุณหภูมิสมัยก่อนนั้นต้องละเอียดรอบคอบ บางครั้งทิ้งเวลาหรือเออเร่อ ของที่ปั้นนั้นพร้อมที่จะเสียหาย ส่วนขนาดย่อยที่เอามาทุบและประดับประดานั้นไม่ใช่เอาเศษมาทุบน่ะครับดูเป็นงานละเอียดที่ควบคุมโทนสีเอาเลยทีเดียว ชามกระเบื้องบางชิ้นดูราวจะเอาขึ้นบนแท่นโชว์ในพิพิธภัณฑ์ ได้สบายเลยและเมื่อดูเข้าไปเรื่อยๆฝีมือที่จะนำกระเบื้องที่ทุบมาประกอบรวมกันนี้เป็นสุดยอดเลยของเชิงช่างหรือองค์ประกอบทางศิลปะที่พวกเราตีวามกันในยุคใหม่ สมัยพระนั่งเกล้านี้ผมว่าเราไม่เพียงค้าขายกับจีนเท่านั้นไม่เพียงเราไปสั่งวัสดุจากจีนแต่เรายังต้องใช้ช่างที่มีฝีมือจากจีนมาทำงานและดูท่าทางไม่ใช่คนสองคนด้วย ต้องเป็นทีมใหญ่ทีเดียว
๏๑.ครั้งเจ้าตากกลับกู้ ธานี
ยกแสนยามาพอดี รุ่งแจ้ง
หน้าวัดมะกอกนอกนี้ อรุณนิ มิตเอย
เปลี่ยนนามเป็นวัดแจ้ง ก่อตั้งธนบุรี ฯ
๏๒.อรุณรุ่งงามอรุณแล้ว รังรอง
แผ่นดินสามศิลปะครอง ชดช้อย
เริ่มพลิกทิศทางทอง จากระบบ อโยธยาปรุงเชื่อมจับจีนร้อย แต่งปั้นเป็นเชิง ฯ
๏๓.ปรุงปรางค์จากเดิมด้าว เป็นพนม
คงคติจำเดิมสม เขาแก้ว สุเมรุทอง
"จอมแห*"ทรงเส้นโค้งจม ทูนฐาน
ลดรูปศิขรแล้ว เสกสร้างปรางค์เจดีย์ ฯ
*ชื่อทรงปรางค์ลักษณะของวัดอรุณ
๏๔.ชาลาฐานไพทีนี้ รูปป่า หิมพานต์
ต่อชั้นเจ้ายักษ์กษัตริย์ แบกคุ้ม
คือตรีกูฎบรรพตจัด รองรับ สิเนรุ
ตามคติไตรภูมิอุ้ม ต่อขึ้นสู่สรวง ฯ
๏๕.เทินแท่นต่อฐานซ้อน หกสวรรค์
เจ้าดาวดึงส์ครองขันธ์ ภูมิชั้น เทวะเอยนารายณ์ทรงสุบรรณ ต่อบน
ข้ามพรหมกลีบขนุนนั้น สุดฟ้านภศูล ฯ
๏๖.สี่ทิศปรางค์คือรั้ง ทวีปสี่
อะ บุ อุ*และชมพูที่ โลกหล้า
ซุ้มจักรพรรดิทรงม้านี้ กุมขรรค์
ปราบทวีปจักรวาลกล้า ชนตั้งอยู่ธรรม ฯ
*อมรโคยานทวีป บุรุพวิเทหทวีป อุตรกุรุทวีป และ ชมพูทวีป
๏๗. ยอดเหนือนภศูลนั้น มงกุฎทอง
กล่าวว่ามีนัยครอง สืบเจ้า ต่อสมัย
ส่งจากวัดนางนอง* ยอดมงกุฎ
พุทธมหาจักรพรรดิ*เกล้า แหนเฝ้าอุโบสถ ฯ
๏๘.เวลายี่สิบนาทีวันนั้น เพลินชม
องค์ปรางค์สูงใหญ่สม สง่าแล้ว
ป่ายปีนเลยยักษ์ยม เวลาหมด
จักหา"พุทธสุโขทัย"แก้ว พระแจ้งอีกครา ฯ
.......คติคิดในรุ่นพระนั่งเกล้า ดูจะไม่เป็นที่นิยมในรุ่นรัชกาลต่อมาตั้งแต่เรื่องการออกแบบสถาปัตยกรรมวัดวาอาราม เรื่องเทคโนโลยี่จากจีนที่เปลี่ยนแปลงไป ดูเหมือนว่าพระปรางค์จะค่อยค่อยหายไป และเริ่มกลายมาเป็นความนิยมเจดีย์ทรงลังกา ถ้าจะดูไปพระปรางค์ที่ยังใช้กระเบื้องสั่งทำเรายังเห็นต่อที่วัดเลียบ จากนั่นอาจจะมีแต่ผมนึกไม่ออกแล้ว แม้แต่วัดที่ทำต่อเนื่องจากพระนั่งเกล้ามาเสร็จเอาในรัชกาลต่อมาที่ชัดก็คือวัดโสมฯกับวัดเฉลิมพระเกียรติใกล้บ้านผม ด้านหลังโบสถ์วิหารก็กลายเป็นเจดีย์ดูว่าวิธีคิดของมหาธาตุจะหายไปแล้ว จนข้ามเวลามาในรุ่นมาลานำไทยไปสู่มหาอำนาจนั้น ยังสร้างวัดมหาธาตุเพิ่มที่บางเขน แต่กลายเป็นทรงเจดีย์ดูวิธีคิดห่างจากวิธีคิดของอยุธยาไปแล้ว แต่มหาธาตุที่บางเขน ใช้วิธีลอกแนวความคิด ของวัดเบญจมบพิตร ซึ่งถือเป็นวัดในอุดมคติรุ่นรัชกาลที่ ๕ มา และพอดีช่วงนั้นก็ได้พระธาตุมาจากอินเดียโดยอังกฤษ ผมไม่คิดคนเดียวอย่างวกกวนหรอกครับ แต่อยากให้ผู้อ่านพิจารณาว่าในแต่ละช่วงเวลานั้นสิ่งต่างถูกเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไรเอาเอง เพราะมหาธาตุ พระองค์ในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีช่วงเวลาจัดทำที่แตกต่างกัน
โคลงชมวัด
ทางแก้ว
วาดวัด
๒๕๕๗~๒๕๖๐~๒๕๖๓

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา