Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขมานันทะในใจเรา - ชาติพันธุ์ภาวนา
•
ติดตาม
9 พ.ย. 2020 เวลา 22:06 • ปรัชญา
๕๙. มธุรสแห่งวัฒนธรรม
บทคัดย่อชิ้นสุดท้ายจากหนังสือ อันเนื่องจากทางไท
ในบรรดาศิลปะประเพณีนิยมในถิ่นใต้นั้น หนังตะลุงและมโนราห์ เป็นรูปแบบศิลปะที่เลอเลิศเหนืออื่นใด เป็นเครื่องสะท้อนภูมิปัญญาทางฉันท์วรรณพฤติท้องถิ่นของคนใต้อย่างแท้จริง
ภายใต้บรรยากาศบริโภคนิยมของสังคมไทย รูปแบบเนื้อหาได้กลายเป็นสิ่งหยาบอย่างน่าอัปยศ ผมขอประท้วงต่อการเดินตามทางตะวันตก โดยทอดทิ้งรากเหง้าวัฒนธรรมทางวิญญาณของตนเองด้วยข้อเขียนนี้
ด้วยความอาวรณ์ว่า สองศิลปะที่ให้กุสุมรสเลอเลิศตั้งแต่อดีตกาลนานไกล ได้เดินทางมาถึงช่วงลมหายใจเฮือกสุดท้าย
มิติใหม่บนจอเดิมของหนังตะลุง
ในตอนหัวค่ำ การประโคมเสียงโหม่ง ฉิ่ง ปี่ ตะโพน เป็นไปเนิบ ๆ ยาวนาน เพียงเพื่อเป็นสัญญาณบอกว่า คืนนี้จะมีหนังเล่น
จอสี่เหลี่ยมเรืองด้วยแสงไต้ หรือตะเกียงไขสัตว์ ตราบกลายเป็นตะเกียงจ้าวพายุนั้น คือ อวกาศ (space) ครึ่งบนของจอนับจากรอยตะเข็บ คือ ฟากฟ้าอันเป็นที่สถิตของทวยเทพ และเป็นที่มนุษย์ผู้ทรงฤทธิ์เหินลอยตัวไปได้ดังใจหมาย ข้ามโขดเขา ป่าพงพี คือผืนจอท่อนล่างอันเป็นมนุษย์ภูมิ
หัวค่ำ (ย่ำค่ำ) ในช่วงที่ประชาชนในย่านละแวกใกล้ไกล เตรียมกายเตรียมใจเดินทางมาด้วยคบไฟ ลิงหัวค่ำ ถูกเชิดเล่นในจอไม่ใช่เพื่อเด็กหัวร่อเล่น หากเป็นปริศนาธรรม ลิงดำและลิงขาว ดี-ชั่ว กุศล-อกุศล ฟัดเหวี่ยงกันไปมา จนพระฤๅษีอันหมายถึงธรรมที่เหนือดีเหนือชั่ว,เข้าแยกยุติการสู้รบ
เมื่อหนัง “ลงโรง” (เริ่มแสดงโหมโรง) รูปแรกคือพระฤๅษี (ฤๅษีหนังตะลุง เป็นฤๅษีพุทธ บาลี-อิสี, ชื่ออื่นคือ มนตราวิต-ผู้รู้มนตร์ ผู้เห็นมนตร์) –ผู้แสวงหา ผู้รู้ธรรม ถูกนำเสนอในฐานะเป็นผู้นำฝ่ายวิญญาณของชุมชน และท่วงท่าของผู้รู้มนต์ ชี้ทิศ ชี้ทิศทางให้แก่มนุษย์ในโลกนี้ เพื่อการภาวนากว่าจะพบองค์อิศวร ((ศิวะ)หนังตะลุงปักษ์ใต้รับรู้รูปแบบมาจากชวา ซึ่งนับถือฮินดู นิกายไศวะ)
รูปในลำดับต่อจากผู้ชี้ทางก็คือ “ออกอิศวร” รสชาติแห่งการไหวเคลื่อนของท่วงท่าอิศวรขี่โค เสด็จลงสู่โลกมนุษย์นั้นโหมประโคมครบเครื่องดนตรี เร้าศรัทธาหนุนแรงใจ
และแล้วก็มาถึงการหยุดนิ่งหลังจากการเคลื่อนไหวอย่างเกริกก้องนิ่งเมื่อโอมอ่านมนตราโองการสวรรค์ ประกาศการนมัสการต่อพรหมผู้เป็นปชาบดี (Creator) ของโลก และเอ่ยนามทวยเทพทั้งปวงตามแต่นายโรงจะเชื่อถือ และคิดได้ เป็นการบูชาเทพเจ้าของคณะหนัง เมื่อจบสิ้นแล้ว นายหนังก็เชิดนำเสด็จกลับสู่ไกรลาสอย่างชวนระทึกใจในท่าเชิด
กุสุมรสอิงพุทธศาสนาถูกนำเสนอในลำดับถัดมา เงาสลัวรางของมนุษย์ผู้ถือดอกบัวปรากฏขึ้น พร้อมกับท่วงทำนองดนตรีเปลี่ยนจากอำนาจกล้าแกร่งของเทพเจ้า ไปสู่ความอ่อนโยนและเนิบช้าของมนุษย์
นำเสนอด้วยรูปลักษณ์มาณพหนุ่มถือดอกบัวบาน และด้วยบทกวีที่เนิบช้าและงดงามด้วยฉันทลักษณ์ กล่าวเทิดทูนพระพุทธเจ้าในอดีตในนามของคณะหนัง พรรณนานาด้วยกาพย์กลอนให้เห็นภาพการออกแสวงหาความจริงอันยิ่งใหญ่ของเจ้าชายสิทธัตถะคืนเพ็ญจันทร์ใต้พระศรีมหาโพธิ์ และการตรัสรู้อันเยี่ยมยอด พระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ถูกนำเสนอผ่านจอขาวสลัวราง
บุรุษผู้ถือดอกบัวตัวแทนของนายโรงและคณะประกาศความเชื่อ และขนบประเพณีแห่งการคารวะและกตัญญู ถัดจากพระรัตนตรัย ก็คือ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ครูหนังที่สั่งสอนประสิทธิ์ประสาทศิลปะอันนี้ให้ ท้ายที่สุดของฉากนี้ คือ แสดงความเคารพต่อสมภารวัดหรือเจ้าภาพ
“ขวัญเมือง” (บางท้องถิ่นอาจใช้รูปตัวอื่น ขวัญเมือง นิยมใช้ที่สงขลา,พัทลุง) ผู้นำชาวบ้าน ตัวแทนของคณะหนัง คือรูปที่ถูกนำเสนอเพื่อพูดภาษาท้องถิ่น ลิ้นชาวบ้านต่อหูชาวบ้านด้วยคำชาวบ้านบอกเล่าว่า คืนนี้พวกเขาจะแสดงเรื่องอะไร พร้อมกับขอขมาลาโทษไว้ล่วงหน้า หากศิลปะของพวกเขาด้อย หรือกระทบกระแทกให้ระคายเคือง แล้วฉากการ “ตั้งเมือง” (เริ่มเล่าถึงเมืองหนึ่ง อาจจะมีเล่าเรื่องเมืองอื่น ตลอดเรื่อง) ก็ถูกนำเสนอ
เรื่องดำเนินไปจากเริ่ม “เล่นเรื่อง” เมืองกษัตริย์รูปที่ออกนั้นเป็นรูป “เจ้าเมือง”(คือกษัตริย์ผู้ครองเมือง) และมเหสี พรรณนาความด้วยกาพย์ กลอน สลับกับบทสนทนา ภาษากลาง (แหลงข้าหลวง)
เรื่องดำเนินไปในแนวทางจักร ๆ วงศ์ ๆ หรือชาดก หากเป็นการเล่นแก้บนก็มักจะเล่นรามเกียรติ์โดยเฉพาะตอน “ถามสัจ” (ถามเอาความจริง ผู้บนบานต้องการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วตั้งสัจวาจาว่าถ้าได้แล้วจะมาแก้บน แก้บนตกได้ด้วยความจริงเท่านั้น นับว่าเป็นอุบายที่สำคัญ)
นำเสนอตอนท้าวมาลีวราช อสูรพรหมผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม เรียก พระราม (สัจจะ), สีดา (อาตมัน) และราวนะ หรือทศกัณฑ์ (อหังการ์) มาไต่สวนความเพื่อระงับศึกว่า โดยความเป็นธรรมแล้ว สีดาเป็นของราม ราม หรือ ราวนะ อาตมันนั้นเป็นของสัจจะหรืออหังการ์กันแน่ เมื่อการซักไซ้ของอสูรพรหม ผู้เที่ยงธรรมดำเนินด้วยกาพย์ กลอน มาถึงที่สุดว่าอหังการ์ได้แอบลักขโมยอาตมันมาจากองค์สัจจะ เทพผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมก็พิพากษาให้ ทศกัณฑ์คืนสีดาให้ราม เมื่อถามสัจจะสิ้นกระแสแล้ว สัจจะนี้เคียงคู่กับอาตมัน ดนตรี ปี่ ฉิ่ง ก็โหมโรงรัวกลอง เป็นอันเสร็จสิ้น การเล่นแก้บนเท่านี้
แสงอรุณเรื่อทางทิศตะวันออก ลมรุ่งพัดริน อ่อนล้าแต่ชื่นบาน มีผู้หลับใหลอยู่บนผืนดิน น้ำค้างชุ่มกาย ลางคนเดินไปที่ใต้ถุนโรงหนัง หากพบนายโรงผู้สอนสั่ง พวกเขาก้มลงกราบแทบพื้นดิน เพราะอาศัยศิลปะอันเลอเลิศเป็นสื่อ เรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างในคืนค่ำอันยาวนาน ด้วยรสแห่งกาพย์กลอนเร้ามโนคติ
รุ่งเช้าคณะหนังก็จากไป ทิ้งไว้แต่ความทรงจำ และความหวังที่จะได้นั่งเฝ้าดูและเสพย์กุสุมรสใต้แสงดาวอีกหนึ่ง
จากหนังสือ: อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์มรดกของแผ่นดินที่คนไทยทุกคนควรรู้)
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทย ที่คนไทยทุกคนควรรู้)
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย