Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขมานันทะในใจเรา - ชาติพันธุ์ภาวนา
•
ติดตาม
9 พ.ย. 2020 เวลา 05:29 • ปรัชญา
๕๘. สัมภารบารมี
ทัศนะเรื่องสัมภารบารมีจะทำให้เรามีเมตตาต่อผู้อื่น วัวควายนั้นแม้เราพึ่งแรงงานเขา แต่อีกแง่หนึ่งเขาเป็นเพื่อนร่วมทุกข์กับเรา เป็น “เพื่อนทุกข์เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น”
เพื่อนทุกข์นี้หมายรวมถึง เพื่อนในสุข ในทุกข์ ในการสั่งสมบารมีร่วมกันทั้งหมด วัวควายเราใช้งาน แต่ความจริงเราต้องดูแลเขาอย่างดี ไก่เราเลี้ยงเขาเพื่อกินก็จริง แต่ไม่ใช่เพื่อทำอุจาดอนาจารกับชีวิตเหล่านี้ อันนี้สำคัญ
ปัจจุบันคุณค่าเหล่านี้เปลี่ยนไป โรงงานเลี้ยงไก่ไว้ฆ่าเป็นพัน ๆ ทำกับเขาราวเป็นสิ่งไม่มีชีวิต หรือไม่มีคุณค่าความหมายใด ๆ ทั้ง ๆ ที่โดยความหมายแท้จริงนั้น เพราะเขาเราอยู่ ชีวิตเจือจานกันอยู่อย่างนี้
เช่นเดียวกับชาวอินเดียนแดงกับวัวไบซัน ชาวอินเดียนแดงจะฆ่าวัวเท่าที่จำเป็น หลังจากนั้นจะบวงสรวง ส่งวิญญาณ เขาต้องฆ่าเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด เขาเลือกที่จะฆ่าเพื่อเอาหนังมาทำผ้าห่ม เสร็จแล้วจึงเซ่นสรวงส่งวิญญาณเพื่อขอบคุณที่ได้ยืดชีวิตชนเผ่าของเขา
ทุกวันนี้ระบบอุตสาหกรรมได้เข้าไปทำลายมนุษยธรรมและกลายเป็นเนื้อหาสาระของการพัฒนาของทุกชุมชนในโลก และกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนามนุษยธรรม
เครื่องจักรที่พัฒนาจนมีประสิทธิภาพรวมถึงเทคโนโลยีทันสมัยได้ลดคุณค่า ความหมายและศักดิ์ศรีของมนุษย์ลง ทุกวันนี้เราใช้งบประมาณเพื่อคุ้มครองสิ่งเหล่านั้นมากกว่าที่ใช้คุ้มครองชีวิตคนเสียอีก
หากมองให้ลึกไปถึงรากฐาน มนุษย์กับการสั่งสมบารมีเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะมนุษย์เป็นผู้ที่จะก้าวไปสู่การสั่งสมสัมภารบารมี
ตามหลักพุทธศาสนา สัตว์ทั้งหลายจึงต้องพัฒนาตนเอง สั่งสมบารมีมาจนกระทั่งได้บารมีขั้นสุดท้ายคือความเป็นมนุษย์ จากนั้นต้องเสริมมนุษยธรรมให้เต็มเปี่ยมเพื่อเข้าถึงพระโพธิญาณ นี่คือหลักการที่ชาวพุทธคลอนแคลนไม่ได้
หลักการนี้ต้องเด่นชัดอยู่ในชีวิตของเรา ไม่ใช่เด่นชัดเฉพาะในตำราต้องเด่นชัดทั้งในขนบประเพณี ในชีวิตประจำวัน ในมโนสำนึกแต่ละครั้งของความคิด ทุกครั้งที่เสพเสวยอารมณ์ เช่น เมื่อใครด่าเรา คนโบราณมักสอนว่า “อดทนเข้าไว้นะ” ความอดทนนี้คือการสั่งสมบารมีประการหนึ่ง คือ ขันติบารมี
จิตรกรรมไทยก็เป็นผลเนื่องมาจากทฤษฎีการสั่งสมบารมี ทำให้เวลาวาดรูปเสือ เสือจะหน้าตาบ้องแบ๊ว ไม่น่ากลัวเลย เพราะผู้วาดมองโลกนี้ด้วยสายตาที่เป็นแนวคิดเชิงบวก (Positive thinking) และมีความรู้สึกเป็นมิตร (Friendly) นี่อาจจะเป็นลักษณะของคนตะวันออก โดยเฉพาะคนไทย ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่ง
นอกจากนี้คนไทยยังมีความผูกพันกับชาดก ซึ่งเป็นวรรณกรรมชั้นสูงที่เป็นสักขีพยานแห่งการสั่งสมบารมี แต่น่าเสียดายที่ตกมารุ่นนี้กลับสื่อกันได้ยาก แม้จะเป็นเรื่องงดงามยิ่งตามทัศนะของผม และสะท้อนไม่เพียงชีวิตของพระพุทธเจ้าที่สั่งสมบารมีมาหลายภพหลายชาติ
โดยสั่งสมสัมภารบารมีเพื่อทำตนเองให้ถึงพระโพธิญาณ และขนถ่ายสรรพสัตว์
แต่ยังมีคุณค่าสัมพันธ์กับเรื่องอื่น ๆ อีกมาก
เช่น ชาดกเรื่องปลาบู่ทองมีคุณค่าสูงต่อสภาพแวดล้อม เพราะมุ่งสอนให้คนรู้สึกสำนึกว่า สิ่งต่าง ๆ ล้วนเป็นญาติพี่น้องของเรา ตั้งแต่ต้นไม้เล็ก ต้นไม้ใหญ่ สรรพสัตว์ เขาร่วมชีวิตอยู่กับเรา โดยไม่ได้คิดแบ่งแยก
อาจกล่าวได้ว่า บารมีค่อนข้างเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับความเร้นลับของธรรมชาติ ดังคำพูดที่ว่า “บุญไม่พา วาสนาไม่ส่ง บารมีไม่ถึง ไปพระนิพพานไม่ได้” แสดงว่าผู้คนมีความเชื่อมั่นในบารมี ซึ่งมีการสั่งสมอย่างแปลกประหลาด จนทำให้เจ้าชายสิทธัตถะกลายเป็นพระพุทธองค์
ความจริงพระองค์ท่านก็คือมนุษย์ปุถุชนที่สั่งสมบารมีหลายภพหลายชาติจนกระทั่งมาถึงที่สุดใต้ต้นโพธิ์ คำว่า ถึงที่สุดนี้ หมายถึงว่า ถูกพญามารทดสอบครั้งสุดท้าย
คัมภีร์ลลิตวิสตระได้กล่าวไว้ว่า ทวยเทพยดา ทูลเชิญท่านจากสรวงสวรรค์ ซึ่งความจริงท่านเตรียมจะตรัสรู้ในชั้นดุสิต แต่ทวยเทพเห็นว่า ถ้าพระองค์ตรัสรู้ในชั้นดุสิตเสีย สัตว์โลกจะไร้ที่พึ่ง จึงทูลอาราธนาให้ลงมาอีกภพหนึ่ง
เพราะฉะนั้นการลงมาจึงไม่ได้มีความหมายอื่นใด นอกจากเป็นการมาเพื่อให้พญามารทดสอบนั่นเอง เป็นการทดสอบครั้งสุดท้าย (The Last Temptation) เมื่อทดสอบผ่านก็เข้าสู่การเป็นพระพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์ อันยังประโยชน์มหาศาลมาสู่มวลมนุษย์
การตรัสรู้ของท่านเป็นการตรัสรู้ที่เป็นอภิสมัย หมายความว่าโลกทั้งโลกได้ดำเนินมาถึงยุคๆ หนึ่งที่มีมนุษย์ที่สมบูรณ์คนหนึ่งเกิดขึ้น
อภิสมัยหมายถึงว่าด้วยอำนาจการตรัสรู้นี้ พระองค์ท่านซึ่งเปี่ยมบารมีสามารถขนถ่ายสรรพสัตว์ไปสู่พระนิพพานได้ ต่างจากบรรดาพระสาวกทั้งหลาย และพระปัจเจกโพธิ (ปัจเจกพุทธะ) ที่เพียงแต่ตรัสรู้ได้ แต่ไม่มีปัญญาบารมีพอที่จะช่วยปลดปล่อยสรรพสัตว์ได้
เรื่องนี้มีนัยยะลุ่มลึกมาก แต่ว่าค่อนข้าง mystic คือ ค่อนข้างเนื่องกับศาสตร์แห่งความเร้นลับ
การสั่งสมสัมภารบารมีเป็นเรื่องใหญ่ เป็นสายสัมพันธ์โยงใยชาวพุทธจากอดีต สู่ปัจจุบันและไปสู่อนาคต ความสัมพันธ์ของสัตว์ สิ่งมีชีวิตรวมทั้งสิ่งของที่ไม่มีชีวิต เป็นการแสดงความสัมพันธ์ที่ยาวนานและไปในทิศทางเดียวคือ เพื่อบรรลุพระโพธิญาณ
เครื่องมืออันหนึ่งที่จะนำเราเดินทางไปสู่พระโพธิญาณ คือสติสมปฤดีของตนเอง การฆ่าสัตว์ การลักของผู้อื่น การพูดเท็จ การทำร้ายกัน การช่วงชิงของรักของผู้อื่น เป็นอุปสรรคสำคัญอย่างยิ่ง
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ศีลเพื่อความเรียบร้อยของสังคมเท่านั้น แต่จะทำลายความเป็นมนุษย์ลงทีละน้อยจนถดถอย จนไม่มีอะไรเหลือ กลายเป็นเพียงซากของสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีชีวิตอยู่ชนิดที่ไร้หัวใจ
ทิศทางการพัฒนาภายใต้การนำของเทคโนโลยี ทำให้ชุมชนมีชีวิตที่ไร้หัวใจเข้าทุกที มนุษย์กลายเป็นกลไกบางสิ่งซึ่งไม่มีอารมณ์ขึ้นทุกที
ดังบทกวีที่ว่า “ทำไมฉันต้องฆ่าคนที่ฉันไม่ได้โกรธ ทำไมฉันต้องปกป้องคนที่ฉันไม่ได้รักด้วย” บทกวีนี้ใช้ต่อต้านสงครามเวียดนาม เนื่องจากทหารหนุ่มอเมริกันฆ่าชาวเวียดนามโดยไม่ได้มีอารมณ์ ชีวิตจึงคล้าย ๆ กับเครื่องจักรชนิดเข้าทุกที
และยิ่งลัทธิบริโภคนิยมซึ่งสนับสนุนแนวคิดเรื่องตัวใครตัวมัน จะทำให้มนุษย์จ้องทำลายล้างกันและกัน และจะทำลายบารมีของมนุษย์หมดสิ้นเองในที่สุด
เก็บความจากการสนทนากับท่านเขมานันทะ ณ บ้านพักเขตมีนบุรี
๑๐ มกราคม ๒๕๓๗
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทย ที่คนไทยทุกคนควรรู้)
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย