10 พ.ย. 2020 เวลา 07:44 • การศึกษา
อยู่คอนโดแต่ไม่อยากจ่ายค่าส่วนกลาง.. สามารถทำได้หรือไม่?
วันก่อนมีเพื่อนมาปรึกษากึ่งบ่นให้ฟัง ประมาณว่าซื้อคอนโดแล้วไม่ค่อยได้อยู่ จะปล่อยเช่าก็กลัวห้องโทรม ก็เลยไม่อยากจ่ายค่าส่วนกลางอีกแล้ว
เพราะตั้งแต่ซื้อมาแทบไม่ได้ใช้ประโยชน์จากส่วนกลางเลย เมื่อไม่ได้ใช้แล้วทำไมต้องจ่ายด้วย สิ้นเปลืองเปล่า ๆ !?
สำหรับบางคนอาจมองว่าเพื่อนผมเห็นแก่ตัว ไม่ยอมรับเงื่อนไขที่โครงการ หรือที่ประชุมนิติบุคคลอาคารชุดได้ตกลงกันไว้
แต่เรื่องแบบนี้ บางคนเขาก็ไม่เข้าใจจริง ๆ ว่าทำไมต้องจ่าย ในเมื่อไม่ได้ใช้งานหรือบริการ
ผมจึงค่อย ๆ อธิบายไปทีละข้อ ไม่อย่างงั้นมันจะไม่เห็นภาพและไม่ยอมเข้าใจ
ข้อ 1 – การจ่ายเงินค่าส่วนกลางไม่ใช่สิทธิ แต่เป็นหน้าที่ตามกฎหมาย
 
ส่วนกลาง หรือที่ภาษากฎหมายเรียกว่า “ทรัพย์ส่วนกลาง” เช่น ฟิตเนส ลิฟท์ สระว่ายน้ำ กล้องวงจรปิด ป้อมยาม หรือที่จอดรถนั้น
พระราชบัญญัติอาคารชุดฯ มาตรา 18 กำหนดให้ เจ้าของร่วมมีหน้าที่ร่วมกันออกค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษาและดำเนินการเกี่ยวกับส่วนกลาง ตามอัตราส่วนที่เจ้าของร่วมแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลาง...
ซึ่งเงินค่าส่วนกลางที่เจ้าของร่วมได้จ่ายไปก็เพื่อนำมาบำรุงรักษา หรือเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลรักษาทรัพย์สินเหล่านั้น เช่น ค่าจ้าง รปภ. ค่าซ่อมลิฟท์ ค่าคลอรีนสระว่ายน้ำ ค่าไฟทาง และอื่น ๆ อีกสารพัด
 
เพราะของพวกนี้หากไม่ดูแล มันก็จะทรุดโทรม ไม่น่ามอง และอนาคตเกิดอยากขาย หรือปล่อยเช่า ก็อาจจะทำได้ยากขึ้น เพราะนอกจากทำเลแล้ว ส่วนกลางนั้นถือว่าเป็นหน้าเป็นตาของคอนโดเลยก็ว่าได้
 
ถ้าส่วนกลางมีสภาพทรุดโทรมก็คงไม่มีใครอยากเป็นเจ้าของหรืออยากอยู่อาศัยอย่างแน่นอน
ข้อ 2 – แล้วไม่จ่ายค่าส่วนกลางได้หรือไม่?
คำตอบชัดเจนอยู่ในข้อแรกแล้วว่าการจ่ายค่าส่วนกลางเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย ดังนั้น ไม่จ่ายคงไม่ได้
แต่ก็ยังคงมีเจ้าของร่วมบางคนที่ไม่ยอมจ่ายอยู่ดี...
 
สำหรับเจ้าของร่วมที่ไม่จ่ายค่าส่วนกลางนั้น พ.ร.บ. อาคารชุดฯ มาตรา 18/1 ก็ได้กำหนดมาตรการไว้ว่า
1. ต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปีของจำนวนเงินที่ค้างชำระโดยไม่คิดทบต้น
 
2. หากค้างชำระตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี
3. อาจถูกระงับการให้บริการส่วนรวมหรือการใช้ทรัพย์ส่วนกลาง
 
4. ไม่มีสิทธิออกเสียงในการประชุมใหญ่
1
โดยการดำเนินการตามข้อ 1-3 นั้นจะต้องระบุไว้ในข้อบังคับของนิติบุคคลจึงสามารถทำได้
1
หรือในกรณีที่เจ้าของร่วมเกิดอยากขาย หรือโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดแต่ยังค้างชำระค่าส่วนกลางอยู่นั้น
1
พ.ร.บ. อาคารชุดฯ มาตรา 29 ก็ได้กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่จะรับจดทะเบียนทำนิติกรรมได้ก็ต่อเมื่อห้องชุดดังกล่าวไม่ติดค้างชำระค่าส่วนกลาง โดยเจ้าของร่วมต้องมีหนังสือรับรองการปลอดหนี้จากนิติบุคคลอาคารชุดมาแสดง
1
หมายความว่า หากเจ้าของร่วมยังค้างชำระค่าส่วนกลางอยู่ก็จะไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดได้นั่นเอง
อธิบายขนาดนี้แล้วก็ได้แต่หวังว่าจะสร้างความเข้าใจให้แก่เพื่อนได้มากขึ้น..
ว่าค่าส่วนกลางนั้นไม่ใช่สิทธิที่เจ้าของร่วมจะเลือกจ่ายหรือไม่ก็ได้ แต่เป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดให้เจ้าของร่วมต้องร่วมกันรับผิดชอบ
เป็นกติกาที่ผู้เล่นทุกคนต้องเคารพครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา