14 พ.ย. 2020 เวลา 04:17 • ศิลปะ & ออกแบบ
ซีรีย์ สถาปนิก คือ ?
ตอน 1 สถาปนิก ทำงานอะไรบ้าง ?
คนส่วนมากรู้ว่า สถาปนิกทำงานออกแบบบ้าน และก็มีหลายคนที่มักคิดว่า สถาปนิกคือคนเขียนแบบ
เอ่อ.. คำตอบมันก็ใกล้เคียงนะครับ แต่ไม่ทั้งหมด รวมไปถึงมีน้องๆหลายคนถามว่า อาชีพสถาปนิกนี่น่าเรียนไหม ?
อืม..วันนี้จึงถือโอกาสขึ้นซีรีย์ใหม่ จะมาเล่าให้ฟังว่า สถาปนิกเค้าทำงานอะไรกันน้า ?
ตามมาเลยครับ
Cr. : The Spruce
ขอเขียนเป็นซีรีย์แบบเล่าย้อนกลับนะครับ คือเริ่มจากตัวอาชีพก่อนแล้วย้อนกลับไปว่าต้องเรียนอะไรยังไง
เผื่อสำหรับน้องๆที่คิดอยากจะเลือกเรียนทางด้านนี้ จะได้รู้ตอนจบเลยว่า อาชีพนี้น่าสนใจไหม
เราจะเริ่มต้นตรงเรียนจบจากคณะสถาปัตย์นะครับ ซึ่งงานที่เหล่าสถาปนิกจบมาทำกัน อาจจะแบ่งได้ 4 หมวดคือ
1.ผู้ออกแบบอาคาร
ก็คือ ผู้ออกแบบลักษณะอาคารที่จะสร้างขึ้น คือเป็นผู้คิด ทั้งแบบแปลน รูปร่างหน้าตา พื้นที่การใช้สอย รวมไปถึงเอกลักษณ์และบรรยากาศของอาคารด้วย
Cr. : thai home design
ตัวอาคารที่พูดถึง ก็มีทุกขนาด ตั้งแต่ ป้อมยาม ไปถึง สนามบิน หรือลามไปถึงการออกแบบเมืองด้วยก็พอได้นะ
ซึ่งทักษะที่เหล่าผู้ออกแบบต้องมี ถ้าพูดแบบง่ายๆก็คือ กระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ การมีมิติสัมพันธ์ และการพรีเซนต์แบบให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเชื่อว่า แบบที่เราคิดนั้น ถูกต้องเหมาะสมสวยงาม 😁
เริ่มตั้งแต่รวบรวมข้อมูลความต้องการของผู้ใช้อาคาร มาสู่การทำแบบร่างให้เจ้าของดู
ถ้าเจ้าของดูไม่ออกก็อาจจะต้องทำภาพสามมิติ ทำโมเดล ไปให้ดู ทำแบบร่างแก้ไปแก้มาจนถึงขั้นสรุปว่า โอเคสร้างตามแบบนี้
Cr. : Pinterest
จากนั้น ก็มาเขียนแบบให้ได้ตามมาตรฐานที่ผู้รับเหมาทั่วไปสามารถเอาไปคิดราคาและก่อสร้างได้จริงตามแบบตามรายละเอียดที่เราตกลงไว้กับเจ้าของอาคาร
ซึ่งถ้าอาคารใหญ่มาก ทีมผู้ออกแบบจะมีหลายคน ตั้งแต่หัวหน้าทีมที่คิดคอนเซ็ปต์ ภาพลักษณ์อาคาร  ไปจนถึงระดับรองลงมา ที่คิดเกี่ยวกับรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ
Cr. : ThoughtCo
เช่น ตำแหน่งดวงโคมแสงสว่าง คิดแบบแปลนการจัดวางสุขภัณฑ์ในห้องน้ำ ลักษณะรูปทรงบันได ราวระเบียง ลักษณะและอุปกรณ์ประตูหน้าต่าง แพทเทิรน์และวัสดุปูพื้น  โอย..จิปาถะ
(แต่ถ้าเป็นบ้านหลังไม่ใหญ่ รายละเอียดที่พูดถึงข้างต้น ก็ทำจบได้ในสถาปนิกคนเดียว)
สถาปนิกจบใหม่จะได้รับมอบหมายงานให้หัดคิดจากพื้นที่เล็กๆก่อน เช่น แบบแปลนห้องน้ำ Cr. : pinterest
เมื่องานมีหลากขนาด หลายการใช้สอยแบบนี้ สถาปนิกแต่ละคนก็มีหลายความจัดเจน
บางคนชอบทำอาคารใหญ่ ชอบออกแบบ บรรยากาศอลังการมลังเมลืองให้แก่อาคาร บางคนชอบออกแบบดีเทลกุ๊กกิ๊ก ให้บ้านน่ารักน่าอยู่ อยากใช้เวลาประดิษฐ์ประดอยลายประตูราวบันได ขอบบัวปูนปั้น ให้เจ้าของบ้านเห็นแล้วยิ้มแฉ่ง ก็มีอยู่เยอะ
Cr. : Dezeen
ในส่วนวงการออกแบบสถาปัตยกรรมนี้ มีรางวัลระดับโลกที่ถือเป็นรางวัลโนเบลสำหรับเหล่าสถาปนิก ชื่อรางวัลพริตซ์เกอร์ (Pritzker Prize) ที่จะประกาศในราวเดือนมีนาคมของทุกปี ผลงานแต่ละคน เห็นแล้วเราจะร้องว้าว ! ว่าคิดได้ไงเนี่ย
เสียดายยังไม่เคยมีสถาปนิกไทยไปถึงรางวัลนี้เลย
(ส่วนในไทย มีรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์นะครับ)
Frank Gehry ,Pritzker Prize 1989. Cr. : The American Conservative
Zaha Hadid ,Pritzker Prize 2004 Cr. :Mille World
Chigeru Ban, Pritzker Prize 2014 Cr. : www.wsj.com
2.สถาปนิกงานก่อสร้าง
แบบที่ดี ก็ไม่ได้การันตีว่า จะสร้างเป็นอาคารที่ดีถ้าไม่มีผู้รับเหมาก่อสร้างที่ดีด้วย ซึ่งในการก่อสร้าง มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก นำไปสู่ปัญหาสารพันที่จะเกิดขึ้นในไซท์ก่อสร้างมากตามไปด้วย
รวมไปถึงแบบอาคารนั้น ก็ไม่ได้มาจากสถาปนิกคนเดียว ยังมีแบบจากวิศวกรผนวกเข้ามาเพิ่ม ทั้งแบบเสาคานโครงสร้าง แบบระบบแนวสายไฟฟ้า แนวท่อน้ำในอาคาร ฯลฯ
งานระบบอาคาร ที่อาคารทุกหลังต้องมี แต่เรามักลืมนึกถึง Cr. : smkautomation.com
เนื่องจากรายละเอียดในแบบมีมาก ทำให้หลายครั้งที่แบบจากแต่ละฝ่ายเมื่อมารวมกันที่หน้างานจะเกิดความขัดแย้งกันเอง  ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น ตำแหน่งที่ติดดวงโคมไฟฟ้าในแบบไฟฟ้ากลับเป็นตำแหน่งเดียวกับช่องลมของเครื่องปรับอากาศที่ระบุไว้ในแบบระบบปรับอากาศก็เจออยู่ประจำ
เมื่อเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้น ถ้าเป็นอาคารเล็กๆ คำถามจะถูกโยนไปที่สถาปนิกผู้ออกแบบให้มาตอบ ว่าจะขยับยังไงให้ใช้งานได้ดีและแน่นอน ต้องสวยด้วย
Cr. : 123rf.com
แต่ถ้าเป็นอาคารขนาดใหญ่ คำถามจะมีมากกว่านี้และเวลาก็มีน้อยกว่านี้ ดังนั้นแล้ว จึงต้องมีสถาปนิกที่อยู่หน้างานเป็นผู้ตอบคำถามแทน
สถาปนิกคุมงานจึงต้องมีทักษะในการประสานงานกับทุกฝ่าย สมบุกสมบันพอสมควร (คือดูโหดแต่แอบใจดี ประนีประนอม) และอ่านแบบเก่ง(คือมองเห็นปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ก่อนที่จะเกิดจริง)
ข้อนี้ รวมไปถึง สถาปนิกผู้ผันตัวเองไปทำงานรับเหมาก่อสร้างเองด้วยนะครับ
3.งานวิชาการและเอกสาร
หมวดนี้นอกจากการเป็นอาจารย์สอนตามมหาวิทยาลัยแล้ว ยังรวมถึง ผู้ที่ทำงานเอกสารในหมวดสถาปัตยกรรมเช่น ทำงานงานวิจัยภาคสนาม  ทำงานR&Dวัสดุ  ทำงานในส่วนเอกสารรายละเอียดประกอบอาคาร (specification) ทำงานเป็นที่ปรึกษา หรือตรวจแบบอาคารให้กับภาครัฐและเอกชน อาจจะรวมไปถึง ผู้คิดถอดราคาค่าก่อสร้าง (Estimater) ด้วย
Cr. : Architectural record
ซึ่งผู้ที่ทำงานด้านนี้ควรเป็นคนที่ละเอียดรอบคอบ ชอบการค้นคว้า ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับกฎหมายและวัสดุใหม่ๆอยู่เสมอ
4.อื่นๆ
ก็คือกลุ่มที่ไม่อยู่ในงานสามกระแสหลัก แต่ก็ยังอยู่ในแวดวงสถาปัตยกรรม ซึ่งก็มีหลากหลายช่องทาง ยกตัวอย่างเช่น
- ทำงานขาย ซึ่งอาจจะขายอาคาร ขายสินค้าก่อสร้าง
- ทำสื่อรีวิวที่พักอาศัย สื่อที่ให้ความรู้เกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างหรืองานสถาปัตยกรรม
- ทำภาพ 3 มิติ ทำเทมเพลทสำหรับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ รับทำโมเดลอาคาร
- หรือเป็นผู้ประกอบการลงทุนทำอสังหาริมทรัพย์เองเลยก็มีเยอะ
งานโมเดลอาคาร Cr. : pinterest
แต่ละหมวดไม่ได้มีข้อกำหนดเฉพาะ สถาปนิกบางคนก็ทำข้ามหมวดไปมา แล้วแต่โอกาสและความถนัด
ทุกอาชีพก็มีลักษณะคาแรคเตอร์หลักของมัน อย่างอาชีพทางสถาปัตยกรรมก็คือ ชอบงานสร้างสรรค์ และมองว่าการสร้างสรรค์ดังกล่าวเป็นตัวช่วยในการแก้ปัญหาในภาพรวมได้
ซึ่งผู้ทำงานทางสถาปัตยกรรมแต่ละคน ก็มีบุคลิกความชอบเฉพาะตัว เราก็สามารถเลือกลักษณะงานให้เหมาะสมกับความชอบของตัวเองได้
ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการสร้างสรรค์งานนะครับ
คราวหน้าจะมาเล่าว่า ถ้าอยากจะเป็นสถาปนิก ต้องทำยังไงบ้าง รอติดตามนะครับ
🐻❤🏠
***********************************
สำหรับเพื่อนๆ Blockdit ที่สนใจแนวอื่น ผมมีเขียนลงอีก 2 เพจคือ
๏ 'Bear's Books'  = ข้อคิดดีๆที่ได้จากการอ่าน
๏ 'Bear's Blog'  = ภาพถ่ายกับมุมมองของชีวิต ในรูปของ บทกลอน เรื่องสั้น หรือ ไฮกุ และ คอลัมน์ล่าสุด การ์ตูนกวนเมือง
ขอเชิญชวนให้เข้าไปแวะชมนะครับ
เผื่อจะมีบางข้อเขียนที่อาจถูกใจ
ฝากติดตาม หรือ แลกเปลี่ยนความคิดกันได้ครับ
หรือใครสนใจเฉพาะภาพถ่าย
ลองเข้าไปดูและกดติดตามได้ใน
ig : khanaad_photo  นะครับ
แล้วพบกันนะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา