14 พ.ย. 2020 เวลา 11:00 • กีฬา
ก้าวเล็กๆ ของเด็กออทิสติกและไกด์รันเนอร์
เรื่องและภาพโดย TERI2497
1
“พี่เพชร! พี่ดาว! พี่เจ้าพระยา!”
เสียงโหวกเหวกเรียกชื่อคนดังลั่นสวนตำหนักน้ำ จังหวัดชลบุรี ท่ามกลางหมู่นักวิ่งที่มาเข้าร่วมกิจกรรมซ้อมวิ่งด้วยกัน
เสียงอันชวนฉงนนั้นดังมาจาก “ขนุน” หนุ่มวัยรุ่นผู้มีภาวะออทิสติกระดับรุนแรง ข้างกายเขาคือ พิชัย วิเชียรวงศ์ ไกด์รันเนอร์ที่จับคู่วิ่งกับขนุนมาตั้งแต่ตอนออกตัว
พิชัยจับข้อมือขนุนแน่นด้วยกลัวว่าจะสะบัดแขนวิ่งออกนอกเส้นทางรอบสวนตำหนักน้ำ
ถึงแม้เพิ่งจับคู่วิ่งด้วยกันไม่นาน แต่พิชัยพอจะรู้ว่าเรี่ยวแรงของขนุนนั้นมหาศาล ถ้าไม่จับข้อมือแน่นๆ เกิดเตลิดหนีไปคงจะตามตัวกลับมาลำบากอย่างแน่นอน
1
2
กิจกรรมจับคู่วิ่งระหว่างคนพิการกับคนไม่พิการในชื่อ “วิ่งด้วยกัน” มีที่มาจากแนวคิดตั้งต้นว่าคนพิการไม่สามารถวิ่งเพียงลำพัง แต่วิ่งได้ถ้ามีใครสักคนออกมาวิ่งด้วยกัน
ไม่ว่าคนตาบอด หูหนวก มนุษย์ล้อ แขนขาอ่อนกำลัง มีปัญหาทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย หรือออทิสติก ถ้ามีเพื่อนที่รู้ใจ มีคู่หูคู่คิด สามารถลุกขึ้นมาออกกำลังกายด้วยการวิ่งได้
อารยา แดงแสง ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมทักษะชีวิตบุคคลออทิสติก จังหวัดชลบุรี ผู้ที่พาขนุนมาวิ่งออกกำลังกายครั้งนี้ อธิบายว่าขนุนเป็นออทิสติกระดับรุนแรง ตามปกติแล้วจะพูดแต่สิ่งที่ตัวเองสนใจ
“ในหัวเขามีศัพท์ไม่มากนัก นึกถึงอะไรก็จะพูดออกมา อาจจะเป็นชื่อคนรู้จัก คนภายในศูนย์ฯ หรือคนข้างบ้าน”
เมื่อแรกย้ายเข้ามาอยู่ที่ศูนย์ฯ ใหม่ๆ เวลาคนรอบข้างพูดหรือไถ่ถามสิ่งใด ขนุนจะพูดตามซ้ำๆ
“สมมติว่าเราถาม ‘ขนุนจะไปไหน?’ เขาก็จะพูด ‘ขนุนจะไปไหน’ วนไปวนมาอยู่อย่างนั้น ได้ยินอะไรก็พูดตามอย่างกับเสียงเอคโค”
ชีวิตในศูนย์ส่งเสริมทักษะชีวิตบุคคลออทิสติกช่วยให้เด็กออทิสติกเข้าใจการสื่อสารด้วยภาษา และพัฒนาทักษะพื้นฐานในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการทานอาหาร เข้าห้องน้ำ อาบน้ำ แปรงฟัน รวมทั้งเรื่องการออกกำลังกาย
ทุกวันเวลา 9.00-9.30 น. คือช่วงให้ทุกคนออกกำลังกาย ครูอารยาเล่าว่าเด็กๆ ส่วนใหญ่ชอบดนตรี ครูก็จะเปิดเพลงให้เด็กเต้นกัน เน้นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
นอกเหนือจากเรื่องเต้น ก็มีกีฬาเพียงไม่กี่ชนิดที่เด็กออทิสติกเล่นได้
“ฟุตบอลเล่นไม่ได้เพราะต้องใช้ทักษะหลายด้าน แบดมินตันก็เล่นไม่ได้เหมือนกันเพราะต้องอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างตากับมือ ที่พอเล่นได้ก็มีเปตอง ว่ายน้ำ รวมทั้งการวิ่งที่ไม่ต้องใช้ทักษะอะไรมาก”
ถึงอย่างนั้น ถ้าหากเป็นเด็กออทิสติก ก็มีเพียงไม่กี่คนที่ได้รับอนุญาตให้วิ่งตามลำพัง ส่วนใหญ่ต้องเป็นเด็กที่ฟังคำสั่งรู้เรื่อง
“บางคนอยากให้วิ่งยังต้องเอาของไปล่อท้ายสนาม เชียร์ให้วิ่งมาเอา บางคนเดินลงไปในน้ำหรือเดินเข้ากองไฟไปเลยก็มี เพราะเขายังมีความเป็นเด็ก ไม่รู้ว่าข้างหน้ามีอันตราย ไม่รู้ว่าเดินลุยเข้าไปแล้วจะเป็นอย่างไร หรืออย่างเด็กบางคนวิ่งไปแล้วก็ไม่วิ่งกลับ อย่างขนุนเองมีอยู่ครั้งหนึ่งเจ้าหน้าที่กำลังทำความสะอาดศูนย์ฯ เปิดประตูไว้ ขนุนเดินออกไปข้างนอกคนเดียวจากอ่างศิลาไปถึงเขาสามมุข เดินร้องเพลงไปจนเกือบถึงยอดเขา”
3
งานซ้อมวิ่งด้วยกันจัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน ณ สวนตำหนักน้ำ จังหวัดชลบุรี
เมื่อ พิชัย วิเชียรวงศ์ พนักงานบริษัทชิ้นส่วนรถยนต์ถูกจับคู่กับขนุน ก็เริ่มดูแลขนุนตั้งแต่นั้น
พิชัยเล่าว่า “เมื่อตอนผมมาถึง ทีมงานกำลังไล่ถามว่าใครยังไม่มีคู่วิ่ง ผมยกมือขึ้นแล้วจังหวะนั้นขนุนก็เดินเข้ามา เจ้าหน้าที่ถึงจับผมคู่กับน้อง ผมเห็นน้องเขายิ้มก็ยินดี ไม่มีปัญหา เรามาด้วยใจ อยากจะพาเขาวิ่งไปให้ถึงจุดหมาย” ไกด์รันเนอร์ (Guide Runner) เล่า
ก่อนหน้านี้พิชัยเคยจับคู่วิ่งกับคนพิการแขนขาลีบ แต่วันนี้น้องผู้พิการคนนั้นมีไกด์รันเนอร์แล้ว
ไกด์รันเนอร์และคนพิการบางคู่อาจรู้จักกันมาก่อน นัดซ้อมวิ่งด้วยกันเป็นประจำ หรือหากเป็นคนที่มาวิ่งด้วยกันเป็นครั้งแรก เจ้าหน้าที่จะอำนวยความสะดวกจับคู่ให้ โดยคำนึงถึงสมรรถภาพร่างกาย ตลอดจนระยะทางที่ทั้งสองฝ่ายต้องการจะวิ่งเป็นหลัก
ในชั่วอึดใจที่พิชัยได้พบกับขนุน ครูอารยาก็เดินเข้ามา เอ่ยปากฟากฝังพิชัยว่า “ขอให้ดูแลขนุนให้ดี” อย่าให้วิ่งหลุดไปจะตามตัวลำบาก
หลังจากอุ่นเครื่องร่างกายโดยมีขนุนเป็นผู้นำทำท่าเต้นเก้ๆ กังๆ แล้วทั้งสองคนก็ออกตัว พิชัยในฐานะไกด์รันเนอร์คว้าข้อมือขนุนแน่น วิ่งประกบคุ้มครองราวจะปกป้องไข่ในหิน
ทั้งสองคนวิ่ง วิ่ง วิ่ง เช่นเดียวกับมิตรสหายคนพิการและคนไม่พิการที่วิ่งอยู่รอบข้าง
แต่แล้วจู่ๆ ขนุนก็เกิดหยุดวิ่งเอาเสียดื้อๆ หันมาเดินทอดน่องชี้นกชี้ไม้ ร้องเรียกชื่อใครต่อใคร
“พี่เพชร! พี่ดาว! พี่เจ้าพระยา!”
ถึงไกด์รันเนอร์จะพยายามโน้มน้าวให้วิ่งต่ออย่างไรก็ไม่สำเร็จ
4
ฉับพลันทันที ขนุนก็ออกวิ่งอีกโดยไม่มีใครสั่ง
จวนครบ 1 รอบสวนตำหนักน้ำก็คว้ามือ เอกพจน์ ราษฎร์เจริญดี คนพิการหูหนวกที่วิ่งผ่านมา ให้เข้ามาร่วมวิ่งกับตัวเอง
จาก “คู่สอง” จึงกลายเป็น “คู่สาม”
เอกพจน์คนหูหนวกที่เปลี่ยนบทบาทมาเป็นไกด์รันเนอร์จำเป็นเล่าว่า ก่อนหน้านี้เขาไม่เคยรู้จักเด็กออทิสติก กระทั่งได้พบกับขนุนที่จู่ๆ ก็พรวดเข้ามาจับไม้จับมือ แสดงท่าทีว่าอยากให้วิ่งด้วยกัน
ตลอดเส้นทางนับจากนั้นจนกระทั่งครบ 3 รอบสวนตำหนักน้ำ ไกด์รันเนอร์ทั้งสองคนคอยจับแขนซ้ายแขนขวาของขนุน และมีบ้างบางครั้งที่ขนุนขอเป็นฝ่ายจับเอง
“เราจับแขนเขาก่อน แล้วบางทีเขาก็มาจับแขนเรา เห็นอย่างนี้เขาแรงเยอะมากนะ บางครั้งพยายามจะขืน เราก็ต้องต้าน ยังดีที่ส่วนใหญ่แล้วเขายอมวิ่งตามทาง หรืออย่างน้อยๆ ก็เดินไปด้วยกัน มีบ้างเหมือนกันที่เขาพยายามจะต่อต้าน แต่ก็ไม่มีการกระตุก กระชาก หรือดึงแขน”
พิชัยถ่ายทอดประสบการณ์ซ้อมวิ่งด้วยกันกับเด็กออทิสติกเป็นครั้งแรก
การวิ่งร่วมกับผู้พิการ ไม่ว่าจะเป็นคนตาบอด หูหนวก เป็นใบ้ มนุษย์ล้อ ออทิสติก หรือคนไม่พิการ แม้ว่าแต่ละคนอาจมีข้อจำกัดทางร่างกายแตกต่างกัน แต่เมื่อพวกเขาได้มารวมกัน วิ่งด้วยกัน ก็ช่วยเหลือกันและกันจนไปถึงจุดหมาย
ปลายทางของการวิ่ง นอกจากสุขภาพของคนพิการจะดีขึ้นแล้ว ยังก่อเกิดมิตรภาพระหว่างผู้คน
การวิ่งได้เชื่อมร้อยหัวใจหลายๆ ดวงเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน
#วิ่งคู่คนพิการ #วิ่งด้วยกัน #ออทิสติก #รันเนอร์ #เล่นเป็นเรื่อง #PlayNowThailand
อัพเดตข่าวสารกีฬาก่อนใคร
พร้อมมีของรางวัลพิเศษให้ร่วมสนุกกันเป็นประจำ
ร่วมไลค์ ร่วมแชร์ Play Now Thailand 🇹🇭
ฝากติดตาม https://www.youtube.com/c/KhelNowThailand

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา